เจาะลึก Alibaba: ยักษ์ค้าปลีกออนไลน์อันดับหนึ่งของจีน

เจาะลึก Alibaba: ยักษ์ค้าปลีกออนไลน์อันดับหนึ่งของจีน

พูดถึงบริษัท e-commerce อันดับหนึ่งของจีน คงไม่มีใครไม่รู้จัก อาลีบาบา (Alibaba) ด้วยตลาด e-commerce ที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเติบโตเฉลี่ยที่สูงถึง 36.53% ต่อปี จากขนาดผู้บริโภคมหึมาด้วยจำนวนประชากร 1,370 ล้านคน และโมเดลธุรกิจที่ยอดเยี่ยม น่าจะเป็นแรงผลักดันให้ อาลีบาบา เติบโตต่อเนื่องได้อีกหลายสิบปี จากปัจจุบันที่เติบโตเฉลี่ย 59.52% (ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี) จึงเป็นบริษัทที่น่าจับตามองบริษัทหนึ่งสำหรับนักลงทุนที่สนใจหุ้นต่างประเทศ

ตั้งแต่เปิดประเทศในปี 1978 จนถึงปัจจุบันเศรษฐกิจจีนเติบโตในระดับสูงมาโดยตลอด เป็นประเทศที่มี GDP เติบโตอันดับต้นๆ ของโลก จากการคาดการณ์ของสำนักวิจัย Center for Economics and Business Research (CEBR) ในกรุงลอนดอน เศรษฐกิจจีนจะก้าวขึ้นเป็นเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกแซงหน้าสหรัฐอเมริกาภายในปี 2032 หรืออีกใน 14 ปี ข้างหน้า นอกจากเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกแล้ว จากบทวิจัยของ eMarketer ในปี 2016 คาดว่าตลาดค้าปลีกจีนจะมีขนาดใหญ่กว่าสหรัฐฯ กลายเป็นตลาดค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมียอดขายรวมทั้งสิ้น 4.886 ล้านล้านดอลลาร์ เทียบกับสหรัฐที่ 4.823 ล้านล้านดอลลาร์เท่านั้น

รูปที่ 1 ยอดขายปลีกรวมในประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา 2015-2020 ที่มา : eMarketter

และจากรายงานของ China Internet Watch ในปี 2017 ยอดขายปลีกทั้งหมดในจีนอยู่ที่ 5,781 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งมากกว่าที่ eMarketer ประมาณการไว้เสียอีก  ในจำนวนนี้มากกว่า 18.40% มาจากช่องทางออนไลน์

นอกจากนั้นจีนยังเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในโลกวัดจากยอดขายสินค้าในตลาดช็อปปิ้งออนไลน์ของจีน (Gross merchandise volume, GMV) ที่มีมูลค่ารวม 6.1 ล้านล้านหยวน หรือ 953 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่ง (47.0%) ของยอดค้าปลีกดิจิทัลทั่วโลก eMarketer คาดว่าตลาด e-commerce จีนจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะมี ยอดขาย 2.416 ล้านล้านเหรียญในปี 2020 (คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 36.35%) โดยจะเป็นการใช้จ่ายผ่านมือถือ (M-Commerce) คิดเป็น 68% ของยอดขายอีคอมเมิร์ซทั้งหมด จากปัจจุบันที่ 55.5%

จากรายงานของ eMarketer ตลาด e-commerce ที่เฟื่องฟูของจีนทำให้บริษัทที่ทำธุรกิจ e-commerce เช่น อาลีบาบา และ JD.com ได้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางการค้าปลีกแบบดั้งเดิม (Traditional Trade) ที่ยังไม่พัฒนาของประเทศเอื้อต่อการจับจ่ายผ่าน e-commerce มากกว่า เมื่อรายได้ของประชาชนและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ชนบทเพิ่มขึ้น ประกอบกับวัฒนธรรมในการซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านโทรศัพท์เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คาดว่าบริษัท e-commerce จะเติบโตตามในอนาคต

รูปที่ 2 ส่วนแบ่งตลาดค้าปลีกอีคอมเมิร์ซทั่วโลก จีน เทียบกับสหรัฐฯ , 2015-2020 (% จากทั้งหมด) ที่มา : eMarketer

นอกจากจีนแล้ว เอเชียแปซิฟิกโดยรวมยังคงเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยมียอดขายคาดว่าจะสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญในปี 2016 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าเป็น 2.725 ล้านล้านเหรียญภายในปี 2020 ตามการคาดการณ์ของ eMarketer ภูมิภาคนี้จะมียอดค้าปลีกอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในโลก จากการขยายตัวของชนชั้นกลาง โทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นระหว่างผู้ค้าอีคอมเมิร์ซ การปรับปรุงด้านโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยให้อีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้นในภูมิภาคนี้ได้อีกมาก เอเชียแปซิฟิกยังเป็นผู้นำตลาดค้าปลีกโดยมีรายได้รวม 8.997 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2016 ซึ่งคิดเป็น 40.8% ของยอดรวมทั่วโลก ประเทศที่มีผู้บริโภคจำนวนมากในจีนอินเดียและอินโดนีเซียจะผลักดันยอดค้าปลีกในช่วงสี่ปีข้างหน้าเนื่องจากรายได้ของประชากรในประเทศเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจที่เติบโต ทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซในเอเชียเป็นอีกตลาดที่บริษัทอีคอมเมิร์ซทั่วโลกให้ความสนใจ

แล้วอาลีบาบาซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกออนไลน์อันดับหนี่งของจีนมีโมเดลธุรกิจ (Business Model) และผลประกอบการเป็นอย่างไรบ้าง

Alibaba ยักษ์ค้าปลีกออนไลน์อันดับหนึ่งของจีน

โมเดลธุรกิจของอาลีบาบา

อาลีบาบาประกอบด้วยกลุ่มบริษัทย่อย 9 บริษัท โดยธุรกิจหลักคือการเป็นแพลต์ฟอร์มทางการค้าสำหรับผู้ที่ต้องการขายสินค้าออนไลน์ทั้งในประเทศและขายไปต่างประเทศ ธุรกิจระบบรับชำระเงิน โฆษณา และคลาวด์ ดังนี้

Taobao ทำธุรกิจแฟลต์ฟอร์มค้าปลีกแบบ C2C (Customer to Customer)  โดยให้คนที่ต้องการขายสินค้ามาเปิดร้านค้าออนไลน์บนแฟลต์ฟอร์มได้ฟรี และจะเก็บค่าใช้จ่ายเมื่อผู้ขายต้องการทำการตลาดหรือโฆษณาสินค้า ปัจจุบันเถาเป่ามีคนขายสินค้าในระบบประมาณ 400 ล้านราย

Tmall ทำธุรกิจแพลตฟอร์มค้าปลีกแบบ B2C (Business to Customer) โดยให้ร้านค้าแบรด์ดังเข้ามาขายของในแพลตฟอร์ม จะเก็บค่าใช้จ่ายเป็นเปอร์เซ็นต์ของยอดขายและเก็บค่าบริการรายปี

Aliexpress ทำธุรกิจแพลต์ฟอร์มค้าปลีกระหว่างประเทศ โดยส่งสินค้าจากผู้ขายในจีนไปจำหน่ายให้ผู้ซื้อประเทศต่างๆ โดย Aliexpress จะเรียกเก็บค่าคอมมิชชั่นเป็นร้อยละของมูลค่าการทำธุรกรรมในช่วง 5% – 8% และเก็บค่าธรรมเนียมคงที่อีกจำนวนหนึ่งอีกด้วย

1688.com  เป็นแพลต์ฟอร์มค้าส่งในประเทศจีน ก่อตั้งในปี 2010 มี ซัพพลายเออร์มากกว่า 500,000 ซัพพลายเออร์ในระบบ มีสินค้ากว่า 150 ล้านชนิด รายได้ของ 1688.com มาจากค่าบริการสมาชิกและค่าใช้จ่ายเรียกเก็บจากบริการเสริม เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลและบริการด้านการตลาดออนไลน์

Alimama เป็นแพลต์ฟอร์มการตลาดที่ขนาดใหญ่ที่สุดในจีนโดย Alimama ช่วยทำโฆษณาสินค้าออนไลน์ ให้กับลูกค้า มีรายได้จากการเก็บค่าโฆษณาเหมือนกับบริษัทโฆษณาทั่วไป

Alibaba Cloud คือ ธุรกิจคลาวด์คอมพิวเตอร์ของอาลีบาบา ให้บริการ Data Center, การวิเคราะห์ข้อมูล Big Data โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent, AI) และระบบความปลอดภัยของข้อมูล โดย Alibaba Cloud มี Data Center ด้วยกัน 14 แห่งทั่วโลก และมี Data Center ในจีนมากถึง 6 แห่ง พร้อมทั้งยังมีลูกค้าที่ใช้บริการทั่วโลกมากถึง 2.3 ล้านราย จน IDC จัดให้ Alibaba Cloud เป็นผู้ให้บริการ Cloud Infrastructure Service อันดับ 5 ของโลกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

Ant Financial เป็น Fintech ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ให้บริการชำระเงินออนไลน์ ผ่านแพลต์ฟอร์ม Alipay นอกจากนั้น Ant Financial ยังทำธุรกิจการเงินอื่น เช่น แฟลต์ฟอร์มการลงทุน Yu’ E Bao , ธนาคารออนไลน์ MYbanker, ประกันภัยออนไลน์ ZhongAn insurance,  บริษัทประเมินเครดิต Sesame Credit และแพลตฟอร์มให้กู้แบบบุคคลต่อบุคคล (Peer to Peer Lending) ZhaoCai Bao

Cainiao Network  ไช่เหนี่ยวหว่างลั่ว เป็นแพลตฟอร์มด้านลอจิสติกส์ของอาลีบาบา โดยไม่ได้มีรถขนส่งของตัวเองแต่เน้นการเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงบริษัทขนส่งต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อรองรับการจัดส่งสินค้าออนไลน์ โดยมีการใช้ AI มาวิเคราะห์การจัดการ Logistic ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น วิเคราะห์เส้นทาง และบริหารการจัดส่งสินค้า เป็นต้น

ซึ่งทั้งหมดนี้รวมกันกันกลายเป็นระบบนิเวศ (Ecosystem) ขนาดใหญ่ ประกอบด้วย การค้าออนไลน์ การชำระเงิน โลจิสติกส์และคลาวด์คอมพิวเตอร์ ในประเทศจีน ผู้บริโภคในประเทศจีนสามารถซื้อของผ่านทางแพลตฟอร์มของ Taobao หรือ Tmall และจ่ายเงินผ่าน Alipay ได้ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งสามารถจ่ายเงินแบบอเมริกันแชร์กับเพื่อนก็ได้ กล่าวได้ว่าอาลีบาบาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนจีนไปแล้วอย่างแยกกันไม่ออก

กลยุทธ์ของอาลีบาบา

เริ่มต้นเรามาทำความรู้จักกับกลยุทธ์ของบริษัทลูกของอาลีบาบากันก่อนแล้วเราค่อยไปทำความเข้าใจกับกลยุทธ์โดยรวมของอาลีบาบากัน

Taobao และ Tmall  กลยุทธ์หลัก คือการสร้างผู้ขายในแพลตฟอร์มจำนวนมากและมีระบบสนันสนุนให้ผู้ขายขายสินค้าได้ง่าย เช่น ระบบการฝึกอบรมและให้ความรู้กับผู้ขายโดยมีมหาวิทยาลัยเถาเป่าเป็นหลัก, การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้ค้า (มีระบบจูงใจให้ผู้ค้าที่มาช่วยสอนเคล็ดลับกับผู้ค้าอื่นโดยคนที่มาให้ความรู้จะได้รับสิทธิเข้าคอร์สอบรมฟรี),  การจัดโครงสร้างของสินค้าโดยจัดสินค้าเป็นสินค้าหลักและสินค้ารอง ตามหลักการ Long Tail Effect ที่จัดแยกสินค้าเป็น 2 หมวดหมู่คือสินค้าหลักที่คนซื้อเป็นประจำและสินค้าที่เป็นตลาดเฉพาะ (Niche Market) ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่มทำให้ในแพลต์ฟอร์มของอาลีบาบามี ประเภทของสินค้า (SKU) ให้ลูกค้าเลือกซื้อมากมาย, วางกติกาเพื่อหลีกเลี่ยงการตัดราคาจากสินค้าที่เหมือนกันหรือการขายสินค้าปลอม, ใช้ AI มาช่วยวิเคราะห์ Big Data เพื่อแนะนำสินค้าที่ลูกค้าชอบให้กับร้านค้าเพื่อจัดทำโปรโมชั่น หรือ วางแผนการตลาด โดยสามารถทำการตลาดแบบรายบุคคล และการจัดกิจกรรมกระตุ้นการขาย เช่น กิจกรรม 11.11 หรือวันคนโสด ซึ่งเป็นกิจกรรมกระตุ้นยอดขายในช่วงนี้ของปีที่ปกติตลาดจะซบเซา แต่เมื่อจัดกิจกรรมวันคนโสดแล้วยอดขายในวันนี้ก็ทำสถิติสูงสุดใหม่ทุกปี

Alipay เน้นการเป็นไมโครไฟแนนซ์สำหรับทำให้คนทั่วไปเข้าถึงบริการทางการเงินได้ โดยการเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มการค้าของอาลีบาบา ทำให้เป็นบริการรับจ่ายเงินออนไลน์ที่คนจีนใช้งานถึง 520 ล้านคน ทำให้คนจีนทุกวันนี้ส่วนใหญ่แทบไม่ต้องพกเงินสดออกจากบ้านแล้ว นอกจากนี้ยังมีบริการทางการเงินอื่นๆ เช่น ประกัน กองทุนตราสารเงิน (Money Market Fund, MMF) ให้เลือกซื้อ มีระบบให้คนสามารถปล่อยกู้แบบ Peer to Peer โดยประเมินความเสี่ยงในการปล่อยกู้ด้วยการวิเคราะห์ Big Data ทำให้คนที่มีเงินเหลือสามารถหาผลตอบแทนได้ ส่วนคนที่ต้องการเงินก็มีแหล่งเงินทุนให้กู้ และธนาคารออนไลน์ นอกจากนั้น Ant Financial ยังขยายไปยังตลาดต่างประเทศโดยเกาะไปกับเทรนด์การท่องเที่ยวของคนจีนไปตามประเทศต่างๆ โดยร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทค้าปลีกท้องถิ่นทำให้คนจีนใช้บริการชำระเงินของ Alipay ได้ไม่ว่าจะไปเที่ยวที่ไหนก็มีจะจุดรับชำระเงินของ Alipay อยู่

Cainiao Network  เน้นการเชื่อมโยงลูกค้า ซึ่งก็คือ ผู้ทำธุรกิจขนส่งและลอจิสติกส์เข้าด้วยกันผ่านแพลตฟอร์มจากไช่เหนี่ยว โดยไม่ต้องมีรถขนส่งของตัวเองเลย แต่สร้างตัวเองเป็นตัวกลางในการรวบรวมธุรกิจขนส่งรายย่อยเข้าไว้ด้วยกันและสร้างระบบช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการบริหารและเพิ่มประสิทธิภาพของระบบลอจิสติกส์ ทำให้การส่งสินค้าเป็นไปอย่างรวดเร็ว และถูกต้อง (ลดการส่งสินค้าผิด) เช่น ใช้ BIG DATA วิเคราะห์ข้อมูลการขนส่งและจัดการคลังสินค้า โดยไช่เหนี่ยวเพิ่งประกาศแผนการใหญ่ที่จะตั้ง “Global Hub” ศูนย์กระจายสินค้า 5 แห่งทั่วโลก เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนให้มากที่สุด ศูนย์ขนส่งสินค้า 5 แห่งอยู่ที่ หางโจว (Hangzhou) สำนักงานใหญ่ของ Alibaba, ดูไบ (Dubai) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, กัวลาลัมเปอร์ (Kuala Lumpur) ประเทศมาเลเซีย, ลีเกอ (Liège) ประเทศเบลเยียม และมอสโก (Moscow) ประเทศรัสเซีย รวมถึงสร้าง คลังสินค้าอัตโนมัติ Wuxi Future Park ที่มีการนำเซนเซอร์อัตโนมัติ มาใช้ควบคุมสภาพแวดล้อมภายในคลังสินค้า ร่วมกับ IOT (Internet of Thing) และมีการนำ หุ่นยนต์ มาใช้ในคลังสินค้าอีกด้วย โดยเป็นคลังสินค้าไม่ต้องใช้มนุษย์เลย และให้ประสิทธิภาพดีกว่ามนุษย์มาก

รูปที่ 3  Hema supermarkets
สามารถรับชมคลิกวิดีโอ Hema supermarkets ได้ที่  https://www.alizila.com/video/take-tour-hema-supermarket-experience-new-retail/

รูปที่ 4 เครื่องขายรถอัตโนมัติขนาดยักษ์ในเมืองกวางโจว (car vending machine) ที่มา The Verge
สามารถรับชมคลิปวิดีโอเครื่องขายรถอัตโนมัติได้ที่  https://youtu.be/NvJFluC3A5s

โดยภาพรวมอาลีบาบาเน้นการสร้างระบบนิเวศน์ทางการค้าออนไลน์ (E-commerce Ecosystem) ขึ้นมาเพื่อพัฒนาการค้าปลีกสมัยใหม่ (New Retail) ที่เปิดกว้างสำหรับคนจำนวนมาก และนำเทคโนโลยีต่างๆ มายกระดับบริการของบริษัทเพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ยอดเยี่ยมกับผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น AI, Big Data, Robotic, IOT หรือ Blockchain นอกจากบริการออนไลน์แล้ว อลีบาบายังมีธุรกิจ Offline อีกด้วย ไม่ใช่ร้านค้าธรรมดาแต่เป็นร้านค้าที่มีบริการที่เน้นการเชื่อมต่อโลกออนไลน์เข้ากับโลกจริง (Online to Offline, O2O)

ตัวอย่างเช่น  Hema supermarkets ที่มีอยู่ 13 สาขา โดยอยู่ในเซียงไห้ 10 สาขา ปักกิ่ง 2 สาขา และ หนิงปัว 1 สาขา ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตนี้ลูกค้าไม่ต้องพกเงินสดมาก็สามารถชำระค่าสินค้าผ่าน Alipay ได้ มีมุมอาหารทะเลพร้อมเสิร์ฟที่สดใหม่ทุกวัน และยังมีบริการส่งสินค้าถึงลูกค้าที่อยู่ในรัศมี 3 กิโลเมตรผ่านแอปฯ อีกด้วย หรือ เครื่องขายรถอัตโนมัติขนาดยักษ์ในเมืองกวางโจว (car vending machine) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง Tmall และ Ford ที่ผู้ซื้อรถยนต์สามารถทดลองขับรถยนต์ก่อนตัดสินใจซื้อ โดยเริ่มจากเลือกรถยนต์ที่ต้องการทดลองขับผ่านแอปฯ ลงทะเบียนเข้าใช้และยืนย้นตัวผ่านระบบสแกนใบหน้า หลังจากนั้นสามารถนำรถไปทดลองขับ ก่อนจะตัดสินใจซื้อและชำระเงินผ่านแอปฯ อีกเช่นกัน

Alibaba ยักษ์ค้าปลีกออนไลน์อันดับหนึ่งของจีน

วิเคราะห์ป้อมปราการทางธุรกิจ (Barrier to Entry) 

จากการวิเคราะห์ของผู้เขียนเอง คิดว่าอาลีบาบามีป้อมปราการที่แข็งแกร่งอย่างน้อย 4 อย่าง คือ

แบรนด์ที่แข็งแกร่ง

แข็งแกร่งจากการเป็นบริษัทที่ทุกคนรู้จักและระบบสนับสนุนผู้ขายที่ดี ทำให้อาลีบาบาน่าจะเป็นตัวเลือกแรกๆ สำหรับการขายสินค้าผ่านแพลต์ฟอร์มออนไลน์

ต้นทุนการเปลี่ยนย้าย (Switching Cost)

เนื่องจากแพลตฟอร์มค้าปลีกของอาลีบาบาเป็นแพลตฟอร์มที่มี Transaction สูง มีสินค้าจำนวนมากทำให้เป็นตัวเลือกแรกๆ ของลูกค้าในการค้นหาสินค้าที่ต้องการ และมีระบบสนับสนุนผู้ขายที่ดีและเชื่อมโยงกับบริการอื่น เช่น ระบบชำระเงินของ Alipay ทำให้การย้ายไปขายในแพลต์ฟอร์มใหม่อาจจะทำให้ยอดขายของผู้ขายไม่ดีเท่าเดิมจึงเป็น Switching Cost ของธุรกิจนี้

พลังจากเครือข่าย (Network Effect)

เหตุผลคือการมีปริมาณผู้ซื้อ ผู้ขายและสินค้าจำนวนมาก ประกอบกับการที่อาลีบาบาเติบโตมาก่อนยิ่งทำให้มีคนเข้ามาใช้เครือขายมากกว่าผู้ใช้รายอื่นๆ

ความได้เปรียบทางด้านข้อมูล (Data Advantage)

เป็นความได้เปรียบจากการเป็นแพลตฟอร์มค้าปลีกอันดับแรกๆ ของจีน ทำให้มีการสะสมข้อมูลต่างๆ ของลูกค้ามาก่อน ส่งผลให้มีปริมาณข้อมูลมหาศาล สามารถนำข้อมูลที่มีมาทำกระบวนการ Machine Learning เพื่อสร้าง AI ที่ใช้ในการวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าเพื่อกำหนดแผนการตลาดได้ดีกว่าบริษัทที่เริ่มต้นทีหลัง (Machine Learning ยิ่งมีข้อมูลจำนวนมากป้อนให้ AI ได้เรียนรู้ยิ่งทำให้ AI มีความสามารถมากขึ้น) และความได้เปรียบเรื่องข้อมูลยังส่งผลให้ความได้เปรียบ 3 ข้อข้างต้นขยายกว้างขึ้นด้วย

เรามาดูงบการเงินและอัตราส่วนทางการเงินของอาลีบาบากันบ้างดีกว่า

จากงบกำไรขาดทุนของ BABA (ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ของ Alibaba) ย้อนหลัง 5 ปี

  • รายได้ เติบโตเฉลี่ย 51.21% ต่อปี
  • กำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ย 59.52%  ต่อปี
  • กระแสเงินสดจากการดำเนินการ เติบโตเฉลี่ย  54%  ต่อปี
  • กระแสเงินสดอิสระ เติบโตเฉลี่ย  54.61%  ต่อปี
  • ROE เฉลี่ย 5 ปี เท่ากับ 15.15%
  • De ปี 2017 เท่ากับ 0.82
  • Debt Ratio หรืออัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ในปี 2017 เท่ากับ 0.48
  • PE ปี 2017 เท่ากับ 47.96
  • PEG ปี 2017 เท่ากับ 0.81

รูปที่ 5 รายได้ กำไรจาการดำเนินการ อัตรากำไรจากการดำเนินการ กำไรสุทธิ กระแสเงินสดจาการดำเนินการ และกระแสเงินสดอิสระของอาลีบาบาย้อนหลัง 5 ปี ที่มา : MorningStar

 

รูปที่ 6 ROE, ROA และ ROIC ของอาลีบาบา ที่มา : MorningStar

รูปที่ 7 PE Ratio, PBV Ratio และ Price to Cash Flow Ratio ของอาลาบาบา ที่มา : MorningStar

รูปที่ 8 การเติบโตของของยอดค้าปลีกจีนเปรียบเทียบปีต่อปี (YoY) ที่มา : Trading Economics

Alibaba ยักษ์ค้าปลีกออนไลน์อันดับหนึ่งของจีน

สุดท้ายคือปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง ขอยกมา 2 ปัจจัย

1. การเติบโตของตลาดค้าปลีกและตลาดค้าปลีกออนไลน์จีนที่เริ่มชะลอตัวลง หลังจากเติบโตอย่างร้อนแรงมาเป็นเวลานาน ตรงนี้อาจจะส่งผลต่อการเติบโตของอาลีบาบาได้

2. ความพยายามในการเปิดตลาดจีนของบริษัทเทคโนโลยีอเมริกา เพราะว่าปัจจุบันตลาดจีนยังไม่เปิดให้บริษัทเทคโนโลยีอเมริกาเข้าไปทำตลาดได้เต็มที่ ทั้งนี้ก็เพื่อบ่มเพาะบริษัทเทคจีนให้เติบโตและแข็งแกร่งพอสำหรับการแข่งขัน แต่ว่าจากปัจจัยเรื่องสงครามการค้า เราคาดว่าเป้าหมายหนี่งของอเมริกานอกจากลดการขาดดุลการค้าแล้วยังต้องการยื่นเงื่อนไขให้รัฐบาลจีนยอมเปิดตลาดจีนให้แก่บริษัทเทคโนโลยีอเมริกาอีกด้วย ซึ่งถ้าเปิดตลาดได้จริงก็เป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่ควรนำมาพิจารณา อย่างไรก็ดีปัจจัยนี้ยังต้องคอยจับตาดูต่อไปถึงท่าทีของรัฐบาลจีนและสหรัฐฯ

จากการเติบโตของอุตสาหกรรมค้าปลีกจีนที่เติบโตในระดับสูงโดยเฉพาะ E-Commerce และอาลีบาบา ที่เติบโตขึ้นจนเป็นระบบนิเวศทางการค้าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ประกอบกับกลยุทธ์การเติบโตที่ล้ำหน้า และป้อมปราการทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง (Barrier To Entry) ในมูลค่าที่ไม่แพงจนเกินไปที่ PE 47.96 และ PEG 0.81 แม้ว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงบางประการแต่เราเชื่อว่าบริษัทอย่างอาลีบาลาเป็นบริษัทที่แข็งแกร่งและสามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้ จึงเป็นหุ้นเติบโตตัวหนึ่งที่น่าติดตามต่อไปครับ

อธิบายคำศัพท์

GMV  คือ Gross Merchandize Volume หรือยอดขายสินค้า online รวม คำนวณ จาก จำนวนชิ้นที่ขายได้ คูณราคาขาย

แหล่งที่มา
https://www.emarketer.com/Article/China-Eclipses-US-Become-Worlds-Largest-Retail-Market/1014364
ตัวเลขค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซจีน
https://www.chinainternetwatch.com/24417/ecommerce-market-2018/
Business Model
https://www.feedough.com/alibaba-business-model-how-does-alibaba-make-money/
กลยุทธ์
http://www.fintech.co.th/ant-financial/ 
http://www.xinhuanet.com/english/2018-01/02/c_136867491.htm
งบการเงิน
https://www.morningstar.com/stocks/xnys/baba/quote.html
การเติบโตของของยอดค้าปลีกจีนเปรียบเทียบปีต่อปี (YoY)
https://tradingeconomics.com/china/retail-sales-annual
Trade War และความพยายามในการเปิดตลาดจีนของบริษัทเทคโนโลยี่อเมริกา cr. : FINNOMENA Live by BottomLiner and BuffetCode
https://www.facebook.com/finnomena/videos/708275736184733/UzpfSTE1NjA5MTU3ODA2OTgyMTo3MDk3OTA1MzYwMzMyNTM/

iran-israel-war