Different-Loss-in-Different-Timing-1

 

ในช่วงที่ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนติดลบแบบนี้ เรามักจะได้ยินคนบ่นกันว่า “พอร์ตขาดทุน” บ้างก็ว่า “ติดดอย” ส่วนผมก็มักจะถูกถามว่าจะ “แก้พอร์ต” ยังไงดีเพราะตอนนี้ขาดทุนอยู่แยะ ? ซึ่งบางทีผมก็ตอบ กวนๆ ไปว่า

“ไม่ยากนะครับ วิธีแก้พอร์ตให้หายขาดทุน ก็ให้ขายหุ้น/กองทุนทั้งหมดที่ติดลบอยู่ แล้วซื้อกลับเข้าไปใหม่อีกครั้งในหุ้น/กองทุนเดิมนั่นล่ะ เท่านี้หน้าสรุปพอร์ตของเรามันก็จะไม่โชว์ผลขาดทุน สีแดงที่เคยโชว์เต็มพอร์ตก็จะหายไปแถมมูลค่าพอร์ตก็ยังใกล้ๆ เดิมด้วย แต่ก็อาจจะเสียค่าธรรมเนียมซื้อ-ขายนิดหน่อยในการทำแบบนี้เท่านั้นเอง”

ท่านผู้อ่านอ่านแล้วคงจะคิดเหมือนผมใช่มั๊ยครับว่า… จะทำเพื่อ!???


ปรากฎการณ์ยามหุ้นตก

ผมฟังคำถามแนวๆ นี้บ่อยๆ ก็ชักเริ่มสงสัยว่า คนที่ถามนี่เค้าทนเห็นผลขาดทุนบ้างไม่ได้เลยเหรอ เพราะขึ้นชื่อว่า “การลงทุน” มันต่างกับ “การออม” ชัดเจนก็ตรงเรื่อง “ความไม่แน่นอน” นี่ล่ะ โดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์การเงิน ที่ราคาเปลี่ยนแปลงแสดงให้เราดูบนหน้าจอทุกๆ วัน เพราะแม้เราจะวิเคราะห์และคัดเลือกการลงทุนที่ดีขนาดไหน ยังไงมันก็ต้องมีช่วงที่มันตกอยู่ดี… กองทุนชั้นยอดที่สุด หุ้นที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด ล้วนเคยผ่านช่วงที่ไม่ดีกันทั้งนั้น

หลายคนเลือกที่จะแก้ปัญหาเมื่อพอร์ตขาดทุนด้วยการ “อดทนรอ” ซึ่งก็ไม่ใช่วิธีที่ผิดถ้าเรามั่นใจว่ากองทุนหรือหุ้นนั้นเป็นตัวเลือกที่ดี และในระยะยาวมันจะปรับตัวขึ้นมาได้ ผมเองก็เคยได้ประโยชน์มหาศาลจากการรอ แต่ปัญหาคือบางคน “ถลำลึก” ไปจนถึงขั้นที่ไม่ยอมทำอะไรกับหุ้น/กองทุนที่เลือกไว้เลย “จะรอจนกว่ามันจะกลับมามีกำไร” ที่แย่กว่าคือ พอกลับมามีกำไรปุ๊ปก็ขายทิ้งปั๊ป ได้เป็นอิสระเสียที หลังจากที่ “ติด” มานาน

คนที่คิดแบบนี้หลายคนอาจต้อง “ติด” อยู่กับทางเลือกการลงทุนนั้นตลอดไปแบบไม่มีวันได้ออกก็มี อย่างคนที่เคยลงทุนกองทุนหุ้นจีน ในช่วงที่เศรษฐกิจจีนบูมๆ ยุคก่อนวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ บางกองตอนนี้ NAV อยู่ที่ 3 บาทกว่า การที่จะกลับไปเป็น 10 บาทเพื่อที่จะเท่าทุนได้ หุ้นจีนต้องโตขึ้นถึง 3 เท่าตัว ซึ่งแม้จะมีโอกาส แต่คงกินเวลานานมากๆๆ

ผมเคยได้ให้คำแนะนำกับบางท่าน บอกว่าเราไม่ควร “ปักใจ” ว่าจะต้อง “เอาคืน” จากกองที่เราเสียไปเพียงอย่างเดียว เพราะจริงๆ แล้วไม่มีใคร “ขัง” เราไว้ เราสามารถปรับเปลี่ยนไปลงทุนอย่างอื่นที่มีโอกาสดีกว่าได้ ท่านตอบผมกลับมาว่า “ไม่เป็นไรคุณเอ ผมตัดสินใจที่จะรอ ถือว่าลงทุนเอาไว้ให้รุ่นลูกก็แล้วกัน” คำตอบของท่านทำเอาผมสังหรณ์ทีเดียวว่าอาจจะได้รอถึงรุ่นลูกจริงๆ

ตรงกันข้าม บางท่านพอเจอผลขาดทุน ก็เครียดเหมือนกัน แต่แทนที่จะอยู่เฉยๆ แล้วให้ชะตากรรมเป็นสิ่งกำหนดผลลัพธ์การลงทุนเพียงอย่างเดียว กลับใช้โอกาสในช่วงนั้น ศึกษาหาความรู้ คิดวิเคราะห์ปรับปรุงพอร์ต จนสามารถพลิกขึ้นมาประสบความสำเร็จในการลงทุนได้อย่างงดงาม เมื่อวิกฤติผ่านพ้นไป และนี่คือสิ่งที่ท่านเหล่านั้นทำในช่วงที่พอร์ตขาดทุนครับ


1. กลัวแต่ยังสู้… รู้ว่าความสำเร็จต้องอาศัยความต่อเนื่อง

ลึกๆ แล้ว ไม่มีใครหรอกครับ ที่เห็นพอร์ตขาดทุน เงินหายไปต่อหน้าต่อตาแล้วจะไม่รู้สึกอะไรบ้างเลย อย่างผมงานหลักคือสอนการวางแผนการเงินและการลงทุน บางครั้งก็ต้องบอกลูกศิษย์ว่า “เฮ้ย… แล้วสิ่งนี้ก็จะผ่านพ้นไป” ระหว่างที่พูดนั้น ในใจก็คิดว่า “แต่พอร์ตเราก็หายไปเยอะเหมือนกันนะเนี่ย มันจะหยุดลงต่อเมื่อไรว๊า”

ที่กลัว แต่ยังอดทนอยู่ได้ ก็เพราะเราตระหนักและเข้าใจว่า สินทรัพย์การเงินโดยเฉพาะหุ้นนั้น ไม่ได้ดีตลอดเวลา ก็คล้ายๆ กับการทำธุรกิจนั่นล่ะ เพราะหุ้นลึกๆ แล้วก็คือการลงทุนในธุรกิจ อย่างเวลาวางแผนการเงินด้านต่างๆ เรามักจะประเมินว่าหุ้นจะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยแถวๆ 10% นั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องได้กำไร 10% ทุกปี ในอดีตย้อนหลังตั้งแต่ปี 2006 – 2015 (10 ปี) นั้น หุ้นให้ผลตอบแทนแบบทบต้นเฉลี่ย 10% ต่อปีจริงๆ แต่ระหว่างทางก็ไม่ได้ราบเรียบ โดยมีผลตอบแทนรายปีดังนี้

  • 2006 : -0.7%
  • 2007 : +30.4%
  • 2008 : -44.1%
  • 2009 : +69.2%
  • 2010 : +44.7%
  • 2011 : +3.0%
  • 2012 : +39.8%
  • 2013 : -3.7%
  • 2014 : +18.7%
  • 2015 : -11.5%

คำถามคือเราจะไปฝืนธรรมชาติมันได้รึเปล่าล่ะ ? ในเมื่อมันก็เป็นแบบนี้มาตลอด ในไทยก็ร่วม 40 ปีมาแล้ว (ตั้งแต่เปิดตลาดหลักทรัพย์ในปี 2518) ส่วนในสหรัฐฯ หรือประเทศที่พัฒนาแล้วย้อนหลังเป็นร้อยปีก็ผ่านวัฏจักรอย่างนี้มาเช่นกัน

ถ้าเราเจอปีขาดทุนแล้วหนีออกไป แล้วเราจะมั่นใจได้ยังไงว่าปีที่กำไรเราจะกลับเข้ามาได้ทัน แล้วจะมั่นใจได้ยังไงว่าเข้ามาปุ๊บแล้วมันจะไม่ตกลงไปอีก สุดท้ายไม่กลัวเหรอที่จะเข้ามาตอนแพง (ซื้อแพง) แล้วก็ต้องจำใจขายตอนถูก (ขายถูก) ทำซ้ำๆ เป็นวงจรอุบาทว์แบบนี้ ยิ่งแย่ไม่ใช่เหรอ ?

สุดท้ายการที่ทนอยู่ได้ ผมมักจะถามตัวเองว่า การลงทุนที่เราทำอยู่นี้ มันมีความหมายกับชีวิตมั๊ย อนาคตมันจะเติบโตเป็นบางอย่างที่ให้อิสระ ให้ความมั่นคงกับเรามั๊ย ? ถ้ามันใช่ เราก็มีหน้าที่ที่จะต้องอดทนอยู่กับมันให้ได้ เพียงแต่ก็ต้องอยู่อย่างมีปัญญา อาศัยศรัทธาอย่างเดียวก็น้อยเกินไป

2. รื้อฟื้นทบทวนพอร์ต คัดออกหุ้นแย่ กองห่วย

ในช่วงเวลาแย่ๆ แบบนี้ มักเป็นช่วงที่ทำให้เรามองโลกตามความเป็นจริงได้ดีเป็นพิเศษ จากเดิมที่อาจจะมองโลกสวยเกินไปในช่วงขาขึ้น เราจึงควรใช้โอกาสช่วงนี้ล่ะครับ มองเข้าไปในพอร์ตการลงทุนที่เราลงทุนอยู่ดีๆ มองข้ามผลขาดทุนไปให้ได้ เพราะนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว กลับไปแก้ก็ไม่ได้ อย่าเอามาเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจ

ลองทบทวนดูสิ ว่าวันนี้เงินเราอยู่ในหุ้นอะไร กองทุนไหนบ้าง กี่บาท คิดเป็นสัดส่วนกี่ % ในพอร์ต มีตัวไหนลงทุนหนักเป็นพิเศษมั๊ย ? ลองค่อยๆ จัดลำดับออกมา เสร็จแล้วทบทวนมันใหม่ทั้งหมด เริ่มถามคำถามตัวเองว่า

  • เราลงทุนในหุ้น/กองทุนนี้ไปเพราะอะไร ?
  • เหตุผลนั้น ณ ปัจจุบัน มันยังเป็นจริงอยู่มั๊ย ?

หลายครั้งผมได้รู้จักกับหุ้นที่ตัวเองลงทุนได้ลึกซึ้งขึ้นก็ในช่วงขาลงแบบนี้ ก็เพราะสถานการณ์มันบีบให้เราต้องใส่ใจมากกว่าเดิม นาทีนี้มันเป็นความเป็นตายของพอร์ต บางตัวที่เคยรู้จักแค่ภาพใหญ่ๆ ของมัน ก็เริ่มเจาะลงไปดูละเอียดขึ้น หลายครั้งพบว่าเราเข้าใจผิดมาตลอด ที่เราเคยคิดว่าดี ตอนนี้ไม่ดีแล้ว ปัจจัยต่างๆ ที่เคยเป็นบวกต่อหุ้นนี้สมัยที่เราเคยวิเคราะห์ไว้ครั้งแรกๆ ในสถานการณ์วิกฤติแบบนี้ ปัจจัยบวกเหล่านั้น หายไปหมดแล้ว และบางปัจจัยก็หายไปถาวร… ถ้าเป็นกรณีแบบนี้ เราก็ไม่ควรให้หุ้นนี้ได้ไปต่อ

ในทางกลับกัน เราเช็คทุกอย่าง เรากลับมั่นใจขึ้นว่า หุ้นที่เราเลือกไว้มันดีจริง ในสถานการณ์แย่ๆ แบบนี้ แม้หุ้นจะตก แต่ผลประกอบการทุกอย่าง ยังคงเติบโตได้อย่างดี หรือปรับลงน้อยมาก ผู้บริหารบริษัทยังคงพยายามทำทุกอย่าง เพื่อแก้สถานการณ์ หุ้นอย่างนี้ ก็สมควรเก็บไว้ในพอร์ต และถ้าไม่มีตัวเลือกอื่นที่ดีกว่า ก็อาจพิจารณาลงทุนเพิ่มด้วยซ้ำ เพราะเท่ากับได้ซื้อของดีจริง ในราคาที่ถูกลงมามาก

กองทุนรวมก็นำมาประเมินใหม่ได้เหมือนกัน อย่างน้อยๆ ก็ควรเทียบว่าในช่วงที่ผ่านมาผลประกอบการของกองที่เราลงทุนเมื่อเทียบกับการปรับตัวลงของตลาดเป็นยังไง ลงน้อยกว่า มากกว่า หรือพอๆ กัน การจะประเมินในส่วนนี้ เราอาจต้องให้น้ำหนักกับผลตอบแทนระยะสั้น 3-6 เดือน มากกว่าผลตอบแทนระยะยาวๆ 3-5 ปี เพราะสถานการณ์แย่ๆ มันเพิ่งเกิดในช่วงนี้ อาจลองจำลองสถานการณ์ดูก็ได้ว่า ในบรรดากองทุนที่มีนโยบายเหมือนกัน ถ้าเราต้องเลือกใหม่วันนี้ กองทุนเดิมยังจะถูกเลือกอีกรึเปล่า เราจะได้มั่นใจว่าเราไม่ได้กอดของแย่ๆ ไว้ในวิกฤติ

3. เปิดหูเปิดตา เสาะแสวงหาเพชรในตม

นอกจากของเดิมที่ถืออยู่ สิ่งที่ควรทำเป็นอย่างยิ่งก็คือการเปิดหูเปิดตา มองหาตัวเลือกใหม่ๆ เพราะหุ้นเดิมๆ ที่เราเคยไม่สนใจ อาจเพราะมันแพงไป ตอนนี้ราคาอาจจะถูกลงมากจนน่าสนใจแล้ว ในทางกลับกันวิกฤติบางอย่าง กลับส่งผลดีกับหุ้นบางตัวเป็นพิเศษ บางทีก็เกี่ยวกับเรื่องค่าเงิน เกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ เกี่ยวกับรสนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ฯลฯ

คนที่ลงกองทุน เคยลงแต่หุ้นไทยหนักๆ ก็อาจจะได้พบว่ามีหุ้นประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน หรือบางทีอาจไม่ใช่หุ้นด้วยซ้ำ แต่มีสินทรัพย์บางอย่าง ที่ให้ผลตอบแทนและความเสี่ยงที่เหมาะกับเรามากกว่า ก็สามารถที่จะปรับเปลี่ยนไปได้

หัวใจของมันคือ “ถ้าเราไม่ยึดติด พร้อมที่จะเปิดรับ ปรับเปลี่ยน” วิกฤติแต่ละครั้ง อาจเป็นเรื่องสนุกและท้าทาย แทนที่จะต้องนั่งเศร้าอยู่อย่างเดียว

4. เร่งทำในสิ่งที่ควบคุมได้

ใน 2 ข้อที่ผ่านมานั้น แม้จะพยายามอย่างสุดความสามารถ ยังไงก็ยังเป็นการทำสิ่งที่อยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุมของเราอยู่ดี แต่ในข้อสุดท้ายนี้นั้น เราต้องย้อนกลับมามองครับว่า มีอะไรบ้างที่เรามีอำนาจควบคุมเต็มที่บ้าง เพราะสิ่งนั้นอาจเป็นสิ่งที่เราสมควรทำในเวลาแย่ๆ แบบนี้ เช่น

  • เพิ่มการออมการลงทุนในช่วงแย่ๆ แบบนี้
    คำว่าเพิ่มได้หมายความว่าให้เร่งรีบซื้อนะครับ แต่เป็นการเตรียมกระสุนเอาไว้ให้พร้อม เมื่อเราเจอการลงทุนที่ดี หรือเมื่อสถานการณ์ตลาดมันเอื้ออำนวยขึ้นแล้ว เราจะได้สามารถเพิ่มการลงทุนได้ ในต้นทุนที่ต่ำ และฟื้นจากวิกฤติได้อย่างงดงาม ซึ่งการจะออมได้เพิ่มขึ้น เราก็ต้องสามารถหารายได้ และดูแลการใช้จ่ายได้ดีขึ้น โดยแต่ละคนก็มีวิธีการแตกต่างกันไป บางคนยามหุ้นตก อาจจะออมน้อยกว่าปกติ เพราะไม่มีกำลังใจ แต่หันไปใช้จ่ายเพื่อความบันเทิงเยอะขึ้น ให้เหตุผลว่าเป็นการผ่อนคลาย แต่สำหรับผม ช่วงแบบนี้ผมอยากเก็บเงินไว้ก่อนดีกว่า เวลาโบนัสมาแทนที่จะเอาไปเที่ยวหนักๆ ก็เก็บไว้รอลงทุน งานพิเศษอะไรที่เข้ามา ตอนนี้ก็รับๆ ไปก่อน เพราะรู้ว่าเงินที่ได้มาทุกบาท มันเป็นกระสุนที่พร้อมจะเอาไว้ลงทุนในหุ้นดีๆ ที่เล็งไว้ เรื่องบันเทิง ไว้รอวันหน้า เมื่อวิกฤติผ่านไป ค่อยให้รางวัลตัวเอง จากผลกำไรที่ทำได้ ก็ยังไม่สาย
  • กำหนดมูลค่าพอร์ตต่ำสุดที่ยอมรับได้ กรณีวิกฤติลากยาว และ/หรือ ลงลึก
    แม้เราจะควบคุมให้หุ้นไม่ตกไม่ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้ก็คือการเลือกที่จะ “อยู่” หรือ “ไม่อยู่” ในตลาด บางท่านอาจงงๆ ว่า อ้าวแล้วมันจะไม่ขัดกับข้อ 1 ที่แนะนำให้ลงทุนให้ต่อเนื่องเหรอ คำตอบคือมันคนละมุมกันครับ ในข้อ 1 นั้น ผมกลัวว่าท่านจะหนีไปเลย เพราะความกลัว แล้วกว่าจะกลับมาก็สายไป แต่ในกรณีนี้นั้นมันเป็นการ บริหารพอร์ตให้ไม่ต้องเผชิญผล “ขาดทุนหนัก (Large Loss)” และพร้อมจะกลับมาลงทุนต่อเนื่องทันทีที่ประเมินว่าสถานการณ์คลี่คลาย เพราะการขาดทุนหนักๆ นั้นมีข้อเสียกับพอร์ตมาก อย่างถ้าเราขาดทุนสัก 15% (เงิน 100 ลดลงไปเหลือ 85) เราต้องใช้กำไรประมาณ 17.65% ในการกลับมาเท่าทุน ซึ่งก็พอๆ กับที่ขาดทุนไป แต่ถ้าเราปล่อยให้พอร์ตไหลลงไปขาดทุนสัก 50% (เงิน 100 ลดลงไปเหลือ 50) เราต้องใช้กำไรถึง 100% ในการกลับมาเท่าทุน ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก หรือไม่ก็รอนานเกินไป

บทสรุป

4 แนวทางข้างต้นนั้น ก็เป็นสิ่งที่ผมอยากฝากไว้ให้ท่านผู้อ่านลองไตร่ตรองทบทวนดูนะครับ ว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง อะไรที่เราเห็นด้วยก็จะได้ทำ ส่วนอะไรที่ไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไรครับ เพราะคนเราแต่ละคนคิดไม่เหมือนกันจึงเกิดการซื้อขายกันในตลาดขึ้น แต่ขอให้ทบทวนให้ดีก็แล้วกัน ว่าหลักคิดที่ท่านยึดถือนั้น มันมีประโยชน์จริงๆ เพราะหลักคิดบางอย่างเช่น “ไม่ขาย ไม่ขาดทุน” นั้น มันก็เอาไว้พูดกันขำๆ เฉยๆ นะครับ คนที่คิดแบบนี้ส่วนใหญ่เค้าดองหุ้นและกองทุนแดงๆ ไว้เต็มพอร์ตแบบไร้อนาคตกันอยู่เลยนะ

ส่วนท่านไหนที่มีแนวคิดดีๆ อยากแบ่งปันและแลกเปลี่ยนก็สามารถพิมพ์ไว้ได้ในคอมเม้นต์ด้านล่างนะครับ จะเป็นประโยชน์ต่อท่านอื่นๆ ด้วยครับ