A-Academy เกษียณ วางแผนการลงทุน

ท่านใดที่เคยขับรถไกลมากๆ กินเวลา 4-5 ชั่วโมงขึ้นไป ไม่รู้ว่าเคยรู้สึกเหมือนผมมั๊ยครับ คือมันทั้งเบื่อ อยากจะไปให้ถึงเร็วๆ บางทีก็ง่วง ยิ่งบางช่วง เช่น ช่วงขับรถขึ้นเขาแล้วเจอรถบรรทุกเยอะๆ ก็ต้องเจอรถติดไปอีกร่วมชั่วโมง แต่สุดท้ายเราก็กัดฟันขับจนถึงที่หมายได้ในที่สุด

การลงทุนระยะยาวเพื่อบรรลุเป้าหมายเกษียณก็คล้ายๆ กัน หลายคนต้องลงทุนต่อเนื่องยาวนาน ไม่ใช่แค่ 2-3 ปี แต่อาจมากถึง 20-30 ปี ระหว่างเส้นทางก็ยังมี อุปสรรค ความเบื่อหน่าย ความอึดอัด และสิ่งยั่วใจ ที่พร้อมจะทำให้แผนการลงทุนของเรามีอันต้อง “ล้มเลิก” ไปอีกหลายประการ ที่ไม่แน่ใจคือลำพังแค่กัดฟันอดทนไปเรื่อยๆ จะพาเราไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ในวัยเกษียณหรือไม่ ?

ในบทความนี้ผมจึงอยากแชร์แนวคิดเรื่องการเตรียมตัวเตรียมใจยังไง ให้สามารถลงทุนไปได้จนสุดทางจริงๆ ซึ่งไม่ใช่แค่การอดทนแน่นอน ทั้งนี้ผมขออุปมาอุปมัยเทียบเคียงไปกับการขับรถทางไกล ดังนี้ครับ

1. ศึกษาเส้นทางให้ทะลุปรุโปร่ง

การขับรถจากจุด A ไปจุด B อาจไปได้หลายเส้นทางฉันใด การลงทุนระยะยาวสู่วัยเกษียณก็มีความซับซ้อนฉันนั้น ดังนั้นก่อนจะเริ่มออกเดินทาง เราควรจะทำความเข้าใจเส้นทางที่เราเลือกเดินให้ถ่องแท้ก่อน ซึ่งก็มีตั้งแต่

  • ตรวจสอบปลายทางว่าใช่ที่ที่เราต้องการจะไปจริงๆ ในที่นี้ก็คือ เป้าหมายเงินทุนเกษียณที่เหมาะสม บางคนก็ตั้งเป้าต่ำเกินไป จนพอไปถึงแล้วอาจจะรู้สึกว่าพลาด รู้สึกขาดแคลน ไม่พอใช้ ขณะที่บางคนก็ตั้งเป้าสูงเกินไป จนกลายเป็นท้อแท้ บางคนมีมากพอจะเกษียณแล้ว ก็ยังรู้สึกไม่มั่นคง เพราะไปยึดติดกับเป้าหมายสูงๆ ที่ตั้งไว้
  • ดูกำลังและสมรรถนะของรถยนต์ให้เหมาะสมกับเส้นทาง การขับรถเล็กขึ้นภูเขาชันบางทีมันก็ขึ้นไม่ได้ ถ้าเรารู้ก่อนได้ ก็จะดีกว่าไปรู้เอาตอนที่ถึงทางชันแล้วต้องอ้อมไปใช้ทางอื่น ยิ่งถ้าโชคร้ายปลายทางมันขึ้นได้ทางนี้ทางเดียว เราจะได้รู้แต่แรกว่าต้องเอารถใหญ่ไป ซึ่งถ้าเทียบกับการลงทุนเพื่อเกษียณนั้น ก็เทียบได้กับ แผนการลงทุน ของเราว่าเรามีกำลังออมเท่าไร ประเมินตัวเองว่าสร้างผลตอบแทนระยะยาวได้ขนาดไหน และในเวลาที่เรามีก่อนถึงอายุเกษียณ มันพอให้เราถึงเป้าหรือไม่ ? ถ้าไม่พอเส้นทางนี้ก็ไม่ควรถูกนำมาใช้ตั้งแต่ต้น เพราะถ้าแค่วางแผนในกระดาษยังไม่สำเร็จ ก็อย่าได้หวังจะฟลุ๊คเมื่อนำไปใช้งานจริง
  • ศึกษาจุดเสี่ยง โค้งอันตราย หน้าผาสูงชัน หลุมบ่อขนาดใหญ่ ด้วยการหมั่นสังเกตป้ายและสัญลักษณ์ต่างๆ ข้างทาง เพื่อที่จะได้มีสติ ชะลอความเร็วหรือจับพวงมาลัยให้มั่นคง ซึ่งแย่หน่อยสำหรับการลงทุนที่บางทีก็ไม่ได้มีป้ายบอกชัดเจนขนาดนั้น ซ้ำร้ายบางป้ายก็ยังขัดกันเอง (เช่น นักวิเคราะห์/กูรู บางท่านบอกว่าหุ้นแพงให้ระวัง บางท่านอาจบอกว่า ณ จุดนี้ยังไม่แพง ยังลงทุนได้) สิ่งที่เราพอจะทำได้คือ รู้จักกรณีที่เลวร้ายที่สุด (Worst Case Scenario) ไว้บ้าง ว่าแผนการลงทุนที่เราเลือกนั้น เวลาสะดุด มันรุนแรงแค่ไหน เพราะจะมีบางช่วงแน่ๆ ในหลายปีที่เราลงทุนที่มันจะเกิดภาวะแบบนั้นขึ้น ถ้าเราทำความเข้าใจไว้ก่อนได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น เราน่าจะยังประคองสติได้ดีกว่าการที่ไม่เคยรู้และเตรียมใจมาก่อนเลย

และถึงแม้จะเริ่มออกเดินทางไปแล้ว ผมก็ยังคิดว่าเราควรต้องพกแผนที่นำทางชุดนี้เอาไว้กับตัวอยู่ เพื่อใช้เตือนความจำว่าเราเลือกเส้นทางไหน ตอนนี้เราอยู่ที่ไหน และอีกเดี๋ยวเรามีสิทธิ์จะเจอกับอะไร

2. เตรียมสภาพรถให้พร้อม

เมื่อการวางแผนเสร็จทางพร้อมแล้ว ก็ถึงเวลาเช็คสภาพและเตรียมรถก่อนออกเดินทางไกล บางคนก็เอารถไปเข้าศูนย์ เช็คลมยาง น้ำมันเครื่องต่างๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่ารถจะไม่ไปเสียเอากลางทาง การลงทุนเพื่อเกษียณก็จำเป็นต้องมีการเตรียมการไม่ต่างกัน ซึ่งสิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญที่ต้องเตรียมก่อนนั้นได้แก่

  • วางแผนการเงินแบบองค์รวม (Comprehensive Planning) ก่อน อย่าคิดแค่เรื่องเกษียณ เพราะชีวิตเรามีสิ่งจำเป็นและมีอะไรที่เราต้องการหลายอย่าง การให้ความสำคัญกับเรื่องเดียวเลย เรื่องนั้นอาจสำเร็จ แต่เป็นการสำเร็จบนความล้มเหลวของเป้าหมายอื่นๆ ก็ได้ ดังนั้นลองคิดดูก่อนว่านอกจากเรื่องเกษียณมันมีอะไรอีกหรือไม่ ที่สำคัญไม่แพ้กัน เพื่อที่เราจะได้ จัดสรรงบประมาณที่มีอยู่จำกัดของเราไปทำสิ่งนั้นด้วย เพราะถ้าไม่คิดตอนนี้ วันหนึ่งข้างหน้า เราก็อาจต้องถอนเงินที่ลงทุนเตรียมเกษียณ มาจ่ายให้กับสิ่งนั้นอยู่ดี
  • อย่าเพิ่งรีบลงทุนหากยังไม่มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน มันก็เหมือนกับยางอะไหล่หรือถุงลงนิรภัยในรถยนต์ ที่ต่อให้เราไม่ได้ตั้งใจจะใช้ ก็จำเป็นต้องมีการติดตั้งก่อนออกเดินทาง ลองนึกภาพว่าเราตัดสินใจซื้อกองทุน LTF/RMF เป็นเครื่องมือลงทุนเพื่อเกษียณอายุ ซึ่งมีเงื่อนไขว่าต้องถือครองยาวๆ แต่พอซื้อปุ๊ปอีกไม่กี่เดือน เราดันมีความจำเป็นต้องใช้เงินด้วยเหตุบางอย่าง การไปขาย LTF/RMF ที่เพิ่งซื้อมาก็จะโดนปรับอีกสารพัด
  • ปิดความเสี่ยงพื้นฐานเท่าที่จะทำได้ก่อน เพราะการลงทุนเป็นการกระโดดเข้าไปรับความเสี่ยงใหม่อยู่แล้ว มันไม่ควรจะทำหากความเสี่ยงเดิมๆ ยังไม่ถูกป้องกันหรือจัดการ การทำประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ และ/หรือ ประกันอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ช่วยให้เราแปลงรายจ่ายที่ไม่แน่นอนในอนาคต ให้มากลายเป็นเบี้ยประกันที่แน่นอนในปัจจุบันได้ ดังนั้น จัดสรรเงินมาตรงนี้ก่อน เลือกแบบประกันให้เหมาะสม หากเรารู้เรื่องการลงทุนอยู่แล้ว ก็อาจเน้นประกันที่ให้ความคุ้มครองสูงแทน อย่างตัวผมเองนั้น ประกันส่วนใหญ่ที่ใช้เป็นแบบจ่ายทิ้ง ราคาไม่แพง ความคุ้มครองสูง ปีหนึ่งๆ จ่ายอยู่ประมาณ 3 หมื่นบาท เท่านี้ก็ทำให้มั่นใจขึ้นว่า ไม่ต้องไปรบกวนเงินลงทุนกลางทาง อยากลงอะไรที่เสี่ยงหน่อย หรือมีสภาพคล่องต่ำหน่อยก็ไม่เป็นปัญหา

3. รู้เวลาพัก รู้เวลาเร่ง

ขับรถไกล ง่วง เพลีย เมื่อย ยังต้องแวะพักตามปั๊ม การลงทุนเพื่อเกษียณอายุก็ไม่ต่างกันครับ จากประสบการณ์ของผมมีช่วงหนึ่งที่ จริงจังกับการลงทุนมากเกินไป จนกระทั่งมันเข้ามาเบียดเบียนวิถีชีวิต คือกินอะไรก็ต้องประหยัด ไปร้านอาหารก็ต้องสั่งให้ถูกที่สุด ไปกินข้าวกับครอบครัวไอ้ที่ควรจะจ่ายให้พ่อแม่ก็ไม่จ่าย (ตอนนั้นรู้สึกว่า พ่อแม่ก็ยังจ่ายได้ เราอยากประหยัดแล้ววันหนึ่งข้างหน้า เงินที่เราจะประหยัดนี่ล่ะจะเอามาเลี้ยงพ่อแม่… ปรากฏว่าคุณพ่อมาเสียไปก่อน T_T) เรื่องการท่องเที่ยวไม่ต้องพูดถึง กระเบียดกระเสียรซะขนาดนั้น มือถือก็ยังซื้อมือสองใช้เลย

จนถึงจุดหนึ่งเมื่อได้สัญญาณเตือนจากคนรอบข้างมากเข้า มันก็เริ่มทบทวนตัวเอง เอาแผนที่ (แผนการลงทุน) มากางใหม่ ลองปรับแผนให้มันยืดหยุ่นขึ้น ลดเงินที่จ่ายให้อนาคตลงบ้าง เอามาจัดสรรให้ความสุขและความจำเป็นในปัจจุบันเพิ่มขึ้น เริ่มมีแผนการให้รางวัลชีวิตกับตัวเองระหว่างเส้นทางการลงทุน แต่ทำแบบมีเหตุมีผล คือไม่ใช่จ่ายเพื่อความบันเทิงแบบสุดลิ่มทิ่มประตู พอมาลองคำนวณดู มันก็ไม่ทำให้เป้ามันช้าออกไปเสียเท่าไร หรือถ้าให้เวลากับมันเท่าเดิม มูลค่าเงินลงทุนที่คาดหวังในอนาคตมันก็ไม่ได้ลดมากจนน่ากลัว มันก็ค่อยๆ ปรับหาสมดุลมาเรื่อยๆ

ผลจากการที่เราให้รางวัลตัวเองบ้างระหว่างทาง มันก็เหมือนการขับรถที่ได้แวะพักเป็นระยะ คือมันสดชื่นขึ้น พร้อมที่จะเดินทางต่อไปได้ และก็รู้ด้วยว่าถ้าเหนื่อยอีกก็พักอีกได้ ซึ่งพอได้ผ่อนคลายบ้างมันกลับทำให้ได้ผลพลอยได้อีกอย่าง คือเราสามารถเลือกที่จะ “เร่งลงทุน” ได้ในบางช่วงด้วย เพราะในเมื่อได้ความสุขเล็กๆ น้อยๆ แล้ว บางช่วงที่มันควร “อด” เราก็ทำได้แบบไม่มีปัญหาอะไร เพราะมันได้ “อิ่ม” มาแล้ว

ซึ่งในช่วงที่ผมเร่งนั้น ก็มักจะเป็นช่วงที่ตลาดปรับตัวลงแรงเป็นพิเศษ เช่นในวิกฤติต่างๆ พอไปเร่งช่วงนั้นมันก็ได้ซื้อสินทรัพย์ต่างๆ ในราคาที่ดี กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แผนการลงทุนสำเร็จได้เร็วขึ้นไปซะงั้น 🙂

ลงทุนมาสิบกว่าปี ผมพบว่า การรู้จักพักรู้จักเร่งนั้น มันเป็นศิลปะการใช้ชีวิตที่ต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ จริงๆ เพราะอุปสรรคปัญหาต่างๆ และสิ่งยั่วใจต่างๆ มันก็มีการพัฒนาไปตลอด ตอนเราเริ่มลงทุนในสมัยเพิ่งเรียนจบใหม่ๆ ก็แบบหนึ่ง ทำงานแล้วก็แบบหนึ่ง มีครอบครัวแล้วก็อีกแบบหนึ่ง เราเองก็ได้เติบโตไปกับมันด้วย

4. หาอะไรทำแก้เบื่อ

ก่อนขับรถไกลๆ ถ้ามีโอกาสผมจะเตรียมอะไรที่น่าสนใจไปฟังบนรถเสมอ บางทีก็เป็นแค่เพลง บางทีก็ฟังเสียงจาก Opportunity Day บ้าง เทปรายการ Money Talk บ้าง พอให้ไม่เบื่อและเป็นการใช้เวลาที่พอมีให้เป็นประโยชน์ สังเกตว่าถ้าเจอบางเทปที่ฟังเพลินนั้น มันเหมือนเวลาผ่านไปเร็วมากจริงๆ บางทียังไม่ทันจะเบื่อเลย

ซึ่งผมว่าการลงทุนนั้น ในบางกลยุทธ์ ในบางภาวะตลาดมันก็น่าเบื่อเหมือนขับรถไกลๆ เหมือนกัน โดยเฉพาะท่านที่ใช้กลยุทธ์การลงทุนที่เน้นวินัยเป็นหลัก เช่นท่านที่เน้นจัดพอร์ตให้เหมาะสม แล้วก็ทยอยลงทุนแบบ DCA ไปเรื่อยๆ ระหว่างทางจะเหมือนกับไม่ต้องทำอะไรมาก ทุกๆ เดือน ทุกๆ ปีก็เติมเงิน แล้วก็ทำแบบเดิม มันก็มีโอกาสที่ถึงจุดหนึ่งเราจะสงสัยในวิธีการที่ตัวเองใช้ ซึ่งผมคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะใช้โอกาสนี้ในการ “เรียนรู้เพิ่ม”

สมัยที่ผมเริ่มศึกษาการลงทุนใหม่ มีหลายๆ ครั้งที่ตื่นเต้นกับหลายๆ “สูตรลับการลงทุน” ที่มีผลการศึกษาว่าดีอย่างนั้นอย่างนี้ รวยอัตโนมัติบ้างล่ะ สร้างกระแสเงินสดระหว่างทางมั่งล่ะ ชนะตลาดสม่ำเสมอมั่งล่ะ เป็นบวกทุกปีมั่งล่ะ พอผ่านไปหลายๆ ปีเข้า ก็ได้พบสัจธรรมหนึ่งว่า “ไม่มีกลยุทธ์หรือเทคนิคใดๆ ที่ให้ผลดีได้ตลอดเวลา หรือต่อให้มีจริงมันก็ใช้ไม่ได้กับทุกคน” อีกข้อสังเกตหนึ่งก็คือในขณะที่เรากำลัง “อิน” กับกลยุทธ์ใดกลยุทธ์หนึ่งอยู่ ก็มีแนวโน้มที่เราจะมองว่ากลยุทธ์นั้นมันวิเศษ ส่วนเทคนิคอื่นนั้นมันด้อยกว่าไม่น่าคบหา ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่วิธีคิดที่ดี

ผมแก้เบื่อด้วยการ เรียนรู้เพิ่มเรื่อยๆ และเรียนแบบเปิดใจ ไม่ตั้งธง ไม่อคติไปก่อน เรียนความรู้มือสองจากในหนังสือ จากใน YouTube แล้วแบ่งเงินมาฝึกฝน สร้างเป็นประสบการณ์มือหนึ่งของตนเอง ฝึกมองข้อดีข้อเสียของแต่ละกลยุทธ์แบบไม่ถือหางหรือเข้าข้างใครเป็นพิเศษ

ผลจากการไม่หยุดเรียนรู้ทำให้เรามี “วิวัฒนาการ” จากวันแรกๆ ที่เคยบูชา Index Fund สุดใจ อาศัยวิธี DCA เป็นกลยุทธ์เดียวในการลงทุน ก็หันมาเทิดทูนการลงทุนหุ้นแบบ VI ถึงจุดหนึ่งก็เริ่มชอบการลงทุนเป็นพอร์ตแบบหลายสินทรัพย์ (Multi-Asset Portfolio) และจากที่เคยให้น้ำหนักแต่ผลตอบแทนระยะยาว ก็เริ่มสนใจกลยุทธ์การลงทุนระยะสั้น จากที่เคย Anti การจับจังหวะ ก็ฝึกฝนกลยุทธ์การเทรดแนว Trend Following

ถึงจุดนี้ ผมไม่สามารถตอบใครได้แบบสั้นๆ ง่ายๆ แล้วว่าผมลงทุนแนวไหนกันแน่ เพราะแนวไหนมันก็ดีทั้งนั้นเมื่อเราฝึกฝนจนเข้าใจจริงๆ มันเหมือนเราเชี่ยวชาญอาวุธหลายแบบ และยังรู้ด้วยว่าช่วงเวลาแบบไหนที่เราควรใช้อาวุธแบบไหน การลงทุนมันก็สนุกขึ้น คุยกับใคร อ่านบทความของกูรูท่านไหนก็เข้าใจในมุมมองของเค้า

ใครที่ลงทุนยาวๆ แล้วเบื่อๆ ผมอยากให้ลองแก้เบื่อด้วยการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ดูนะครับ อย่าไปปิดกั้นมาก และไม่จำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องการลงทุนอย่างเดียว เพราะยังมีอีกหลายๆ มิติในชีวิตที่เราควรรู้ และมันมีอะไรมากกว่าการแค่ลงทุนจากจุดนี้เพื่อที่จะร่ำรวยมีเงินพอใช้ตอนเกษียณ เราไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง จัดสรรดีๆ วางแผนดีๆ เราอาจเลือกได้ทุกอย่างเลยครับ