จัดพอร์ต Income-portfolio

เมื่อกล่าวถึง “การจัดสรรสินทรัพย์เพื่อการลงทุน (Asset Allocation)” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “การจัดพอร์ต” นั้น โดยส่วนใหญ่ มักจะหมายถึง การจัดพอร์ตเพื่อการเติบโต (Growth Target) เป็นหลัก เช่น จัดพอร์ตเกษียณให้ได้ผลตอบแทนระยะยาวที่ 10% ต่อปี หรือ จัดพอร์ตการศึกษาบุตรให้ได้ผลตอบแทน 8% ต่อปี เป็นต้น ทั้งนี้ก็เนื่องจากผู้ลงทุนส่วนใหญ่ ยังอยู่ในช่วงของการ “สะสมเงินทุน” คือการทำเงินน้อยให้เติบโตเป็นเงินมาก โดยอาศัยการทบต้นของผลตอบแทน

อย่างไรก็ตามในการจัดพอร์ตนั้น ยังมีเป้าหมายอีกอย่างหนึ่งซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ การลงทุนเงินก้อนเพื่อแปลงให้เป็นกระแสเงินสด (Income Target) เช่น ผู้ที่มีเงินก้อน 10 ล้านบาท ต้องการจัดพอร์ตลงทุนเพื่อให้พอร์ตนั้นสร้างรายได้ (Passive Income) ให้กับค่าเฉลี่ยเดือนละ 50,000 บาท เป็นต้น ซึ่งหากอ่านดูเผินๆ เหมือนจะเป็นเป้าหมายการลงทุนสำหรับผู้มีอันจะกินอยู่ซักหน่อย แต่จริงๆ แล้ว ในท้ายที่สุดคนที่ลงทุนเพื่อให้เงินเติบโตมาตลอด ก็จำเป็นต้องปรับพอร์ตให้เป็นพอร์ตแบบจ่าย Income อยู่ดี

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็เช่น คนที่ลงทุนเพื่อเตรียมทุนเกษียณมาตั้งแต่วัยทำงานเป็นเวลาหลายสิบปี เมื่อถึงวันเกษียณอายุ ก็ต้องเริ่มใช้เงินจากพอร์ตมาเป็นรายได้เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือกับผู้ที่ลงทุนโดยมุ่งหวังอิสรภาพทางการเงิน (Financial Freedom) เมื่อทรัพย์สินโตถึงจุดหนึ่งก็สามารถปรับพอร์ตให้เริ่มจ่าย Passive Income ให้ตัวเองได้เช่นกัน โดยที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนเพื่อ Income ตั้งแต่วันแรก

ลักษณะพึงประสงค์ของ Income Portfolio

ในการออกแบบพอร์ตเพื่อจ่ายกระแสเงินสดนั้น เราสามารถกำหนด Spec ที่พึงประสงค์ให้กับพอร์ตได้ เช่นเดียวกับเวลาที่เราจะเลือกซื้อรถยนต์ คอมพิวเตอร์ หรือซื้อบ้านสักหลัง เราก็มักจะมี Spec ในใจที่อยากได้อยู่ ซึ่งในความเห็นของผมนั้น Income Portfolio ที่ดีควรมี Spec เบื้องต้น 5 ข้อ ดังนี้

1) จ่ายกระแสเงินสดได้เพียงพอกับความต้องการของเรา

ข้อนี้ต้องยกให้เป็นข้อที่สำคัญที่สุด เพราะกระแสเงินสดถือเป็น “แก่นสาร” ที่เราต้องการในการจัดพอร์ตนี้ ในการวางแผนส่วนนี้นั้นจะมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องอยู่ทั้งสิ้น 3 ตัวแปร ได้แก่ ขนาดพอร์ต อัตราการนำเงินออกจากพอร์ตที่ยั่งยืน และกระแสเงินสดต่อปีหรือต่อเดือนที่ต้องการ ซึ่งในการคำนวณก็ 3 ตัวแปรนี้ก็จะไขว้กันไปไขว้กันมา ตามความสัมพันธ์นี้

กระแสเงินสด (บาท/ปี)  = มูลค่าพอร์ต (บาท)  x อัตราการนำเงินออกจากพอร์ตที่ยั่งยืน (% ต่อปี)

ในที่นี้จะมีศัพท์ใหม่โผล่ขึ้นมาคือ “อัตราการนำเงินออกจากพอร์ตที่ยั่งยืน (Sustainable Withdrawal Rate)” ซึ่งเป็นอัตราที่เราตั้งใจจะนำเงินออกไปจากพอร์ตเพื่อใช้จ่าย (ไม่ว่าจะนำออกโดยการจ่ายเป็นดอกเบี้ย เงินปันผล หรือการขายสินทรัพย์) ส่วนคำว่า “ยั่งยืน” นั้นเสริมขึ้นมาเพื่อบอกว่า อัตราดังกล่าวต้องไม่สูงเกินไปจนทำให้พอร์ตลดค่าลงเร็วเกินไป และจะดีมากหากอัตรานี้ช่วยรักษามูลค่าพอร์ตไม่ให้ลดลงได้ด้วย

ตัวอย่างเช่น หากพอร์ตมีมูลค่า 5 ล้านบาท และมี Sustainable Withdrawal Rate= 5% ต่อปี เทียบเท่ากับกระแสเงินสด 5,000,000 x 5% = 250,000 บาท/ปี หรือประมาณ 20,000 บาท/เดือน ส่วนนี้ผมใช้คำว่าไขว้กันไปไขว้กันมาก็เพราะ ถ้าตัวแปรใดตัวแปรหนึ่งเปลี่ยนแปลงไป ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็จะเปลี่ยนไปด้วย เช่น หากเราต้องการกระแสเงินสดเป็นจำนวน “บาท” มากกว่านี้ เช่น ต้องการ 25,000 บาท/เดือน หรือ 300,000 บาท/ปี โดยที่มีเงิน 5 ล้านบาทเท่าเดิม ก็ต้องนำเงินออกจากพอร์ตให้ได้ถึง 300,000 / 5,000,000 = 0.06 หรือ 6% ต่อปี (สูตรนี้มาจากการจัดรูปย้ายข้างสมการด้านบน)

ซึ่งเมื่อได้ค่า 6% มาก็ต้องนำมาพิจารณาว่า เป็นอัตราที่เป็นไปได้หรือไม่ จะตอบข้อนี้ได้เราก็ต้องมีความรู้เรื่องผลตอบแทนของสินทรัพย์ต่างๆ ก่อนว่ามีตัวเลือกอะไรบ้างที่พอไปไหว หรือถ้าสุดท้ายเห็นว่าเป็นไปไมได้ หรือเป็นไปได้ยาก ก็จำต้องไปปรับที่มูลค่าพอร์ตแทน คือแทนที่จะมีพอร์ต 5 ล้านบาท แล้วถอนออกได้ 6% อาจต้องถอยกลับมาถอนออกแค่ 5% แล้วสะสมเงินเพิ่มจาก 5 ล้านเป็น 6 ล้านบาทแทน (คำนวณมาจาก 300,000 / 0.05 = 6,000,000 บาท ซึ่งก็มาจากการจัดรูปย้ายข้างสมการด้านบนเช่นกัน)

พอจะเห็นมั๊ยครับ ว่ามันกระทบกันไปกระทบกันมาแบบไหน จุดสังเกตคือ หากต้องการกระแสเงินสดต่อเดือนที่มาก ก็จำเป็นต้องมีขนาดพอร์ตที่ใหญ่ขึ้น หรือไม่ก็ต้องลงทุนให้สามารถนำเงินออกได้ในอัตราผลมากๆ ซึ่งตรงนี้แหละครับที่ยาก เพราะในบรรดาสินทรัพย์ที่พอจะเอามาจัดพอร์ตสร้างกระแสเงินสดได้นั้น โดยทั่วไปการนำเงินออกในอัตราประมาณ 4-5% ก็เริ่มตึงๆ แล้ว (ไว้อ่านบทความชุดนี้ไปเรื่อยๆ จะเข้าใจมากขึ้นครับ ว่าตึงยังไง)

2) ต่อสู้กับเงินเฟ้อหรือค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตได้

นอกจากการจ่าย Income ในวันนี้ได้เพียงพอต่อความต้องการแล้ว ต้องไม่ลืมว่าราคาสินค้าและบริการต่างๆ ปรับตัวขึ้นตลอดตามภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) นั่นอาจทำให้พอร์ตที่เราอุตส่าห์จัดให้จ่าย Income ได้พอใช้ในวันนี้ จ่ายเงินให้เราไม่พอใช้ในวันข้างหน้าก็เป็นได้

ซึ่งการป้องกันปัญหาดังกล่าว ก็มีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ที่เราเลือกใช้ เช่น การเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่ Income นั้นมีการเติบโตได้ตามเงินเฟ้อหรือมากกว่าเงินเฟ้อ อาทิการเลือกใช้หุ้นปันผล และ/หรือ Property/REITs/Infra Fund ที่เงินปันผลมีการเติบโตได้ ตัวอย่างเช่น ในวันนี้หากเราลงทุนแล้วได้เงินปันผล 10,000 บาท หากมี Dividend Growth ประมาณ 3% ต่อปี ในปีหน้า เงินปันผลก็อาจเพิ่มขึ้นเป็น 10,300 บาทได้ ถือเป็นการชดเชยเงินเฟ้อ (Inflation Hedging) วิธีหนึ่ง

อีกวิธีหนึ่งเช่น การไม่นำผลตอบแทนที่หาได้ออกมาใช้ทั้งหมด โดยคงเหลือส่วนหนึ่งเก็บไว้ในพอร์ต เพื่อให้ “ฐานเงินทุน” ของพอร์ตมีขนาดใหญ่ขึ้น คือแม้จะนำเงินออกในอัตราเท่าเดิม แต่ตัวเงินที่ได้ก็ยังสูงขึ้นพอชดเชยเงินเฟ้อได้ ยกตัวอย่างเช่น พอร์ตมูลค่า 10,000,000 บาท จัดพอร์ตลงทุนให้ได้ตอบแทน 8% ต่อปี และนำออกไปใช้เพียง 5% ต่อปี ปีแรกพอร์ตจะได้กำไร 800,000 บาท นำออกไปใช้ 500,000 คงเหลือไว้ในพอร์ต 300,000 บาท

ในปีถัดไปพอร์ตก็จะโตขึ้นเป็น 10,300,000 บาท และถ้ายังลงทุนได้ 8% ต่อปี และนำไปใช้ 5% ต่อปีอยู่ ปีนี้จะได้ผลตอบแทน 824,000 บาท นำออกไปใช้ 515,000 คงเหลือเงินไว้ในพอร์ต 309,000 บาท จะเห็นว่า เงินที่นำออกไปใช้ก็เพิ่มขึ้น (ชดเชยเงินเฟ้อได้) และพอร์ตในปีถัดไปก็จะเพิ่มขึ้นอีก (เพราะมีการทิ้งผลตอบแทนที่หาได้บางส่วนไว้ในพอร์ต) ซึ่งหากเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ พอร์ตก็จะสามารถจ่าย Income ได้อย่างยั่งยืน โดยไม่กลัวเงินเฟ้อ

ในทางกลับกันหากเราเลือกใช้แต่เครื่องมือที่ให้ผลตอบแทนคงที่ (Fixed Income Instrument) เช่น เงินฝาก พันธบัตร หุ้นกู้ สมมติว่าได้ผลตอบแทนที่ 4% ต่อปี แล้วลงทุนไป 10,000,000 บาท ผลตอบแทนก็จะได้ปีละ 400,000 ไปเรื่อยๆ ทุกๆ ปีไม่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาข้าวของต่างๆ แพงขึ้น ซึ่งก็ถือว่าเสี่ยงที่ปีหลังๆ เงินจะไม่พอใช้ แต่เครื่องมือกลุ่มนี้ก็มีข้อดีตรงที่ผลตอบแทนค่อนข้างแน่นอนจริงๆ ต่างกับพวกที่เงินปันผลโตตามเงินเฟ้อได้ ที่เสี่ยงสูงกว่าและมีอะไรให้จัดการมากกว่า

3) มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี ไม่ทุ่มลงทุนในสินทรัพย์หรือตราสารใดตราสารหนึ่งจนน่ากลัว

เรื่องของการกระจายความเสี่ยง (Diversification) นั้น ผมได้เคยเขียนถึงไปอย่างละเอียดในบทความชื่อ แบบไหนกันที่เขาเรียกว่ากระจายความเสี่ยง ไปแล้ว อยากขอให้ทุกท่านลองกลับไปทบทวนดูก่อน เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันมากขึ้นนะครับ

ปัญหาหลักๆ เรื่องการกระจายความเสี่ยงที่กระทบกับการจัดพอร์ตแบบ Income ได้มากคือ การทุ่มลงทุนในตราสารที่ให้ Yield สูง โดยละเลยเรื่องการกระจายความเสี่ยง เพียงเพื่อจะให้ตอบโจทย์ “ปริมาณ” กระแสเงินสดที่อยากได้ ซึ่งในยามปกติมันก็ไม่มีปัญหาครับ แต่ในยามที่มีความเสี่ยงเกิดขึ้น พอร์ตแบบนี้แทนที่จะจ่าย Yield ให้เราได้สูงได้ ไปๆ มาๆ นอกจาก Yield จะไม่ได้แล้ว พอร์ตก็อาจจะขาดทุนหนักด้วยซ้ำ เช่น การทุ่มลงทุนหนักๆ ใน

  • ลงทุนในหุ้นกู้อันดับความน่าเชื่อถือต่ำ (Non-Investment Grade / Non-Rated Bond) แล้วหุ้นกู้นั้นมีการผิดนัดชำระหนี้ (Default)
  • Property / REITs / Infra Fund ที่ให้ผลตอบแทนสูง แล้วทรัพย์สินของกองทุนมีปัญหา เช่น มีเพลิงไหม้ น้ำท่วม การประท้วงปิดสถานที่ หรือกระทั่งบางกองเป็นกองทุนประเภทสิทธิการเช่า (Leasehold) ซึ่งหากถือระยะยาวมูลค่าของกองสามารถลดลงจนกลายเป็น 0 ได้ แต่เราเข้าไปลงทุนโดยดูแต่ Yield เป็นหลัก ขาดการจัดการเรื่องความเสี่ยง
  • หุ้นปันผลสูงบางตัว ที่มี Dividend Yield สูง แต่มีแหล่งที่มาของกำไรที่ไม่สม่ำเสมอ เช่นจะปันผลสูงได้ต่อเมื่อมีกำไรพิเศษ หรือต่อเมื่อสามารถขายสินค้าและบริการได้เท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม โดยที่สินค้าและบริการนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีการซื้อซ้ำ (Non-Recurring Income)

นอกจากสินทรัพย์การเงินในตลาดทุนแล้ว กระทั่งสหกรณ์ออมทรัพย์ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวบางท่านมาก สหกรณ์บางแห่ง (ที่มีปัญหาและเป็นข่าว) ก่อนที่จะเกิดปัญหา ก็จ่ายดอกเบี้ยและเงินปันผลให้กับผู้ฝากเงินและสมาชิกสหกรณ์ในอัตราที่สูงมาก และพอเกิดปัญหาก็แทบไม่ได้รับเงินคืนเลยก็ยังมี ดังนั้น อย่าละเลยเรื่องการกระจายความเสี่ยงเป็นอันขาด นะครับ

4) มีความผันผวนของราคา (มูลค่าพอร์ต) ไม่มากนัก

ตราสารการเงินส่วนใหญ่ ล้วนมีความผันผวนด้านราคา (Price Risk) มาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น ดังนั้น แม้เราจะลงทุนโดยมุ่งหวังกระแสเงินสดเป็นหลัก แต่ถ้ามูลค่าพอร์ตแกว่งรุนแรงเกินไปเราก็อาจทนไม่ไหว แม้บางท่านจะกล่าวว่า ตราบใดที่พอร์ตยังสร้างกระแสเงินสดให้เราได้อยู่ มูลค่าจะแกว่งบ้างก็ไม่เป็นไร แต่ลองนึกภาพว่าถ้าพอร์ตจ่ายกระแสเงินสดให้เราแค่ 5-6% ของเงินต้น แต่พอแกว่งทีย่อลง (Drawdown) ร่วมๆ  20-30% คงจะทำให้เราหวั่นไหวได้เหมือนกัน ดังนั้น ก็ต้องควรออกแบบพอร์ตให้การแกว่งมันอยู่ในจุดที่เรารับได้ไว้ด้วยเช่นกัน

สำหรับท่านที่จะจัดพอร์ต Income โดยเน้นลงทุนในเงินฝาก พันธบัตร หุ้นกู้เป็นหลัก อาจมีปัญหาเรื่องนี้น้อย เพราะระหว่างทางที่ถือตราสารเหล่านั้น แม้ราคาจะมีแกว่งบ้าง แต่หากเราถือจนครบอายุ (Hold to Maturity) การแกว่งนั้นก็ไม่เป็นผล เพราะเราจะได้เงินต้นคืนทั้งจำนวนครบถ้วนแน่ๆ แต่มันเสียตรงที่ตราสารกลุ่มนี้ให้ Yield น้อยนี่สิ ครั้นพอจะแบ่งเงินไปยังตราสารกลุ่มอื่นๆ ความผันผวนก็จะเริ่มถูกเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ

การตัดสินใจส่วนผสมในจุดนี้ จึงเป็นเสมือนการถ่วงน้ำหนัก เพื่อหาสมดุลระหว่างผลตอบแทนที่ต้องการและความเสี่ยงที่รับได้ หรือสำหรับบางท่านที่มีทักษะในการลงทุนสูง นอกจากการแบ่งเงินไปยังสินทรัพย์ต่างๆ ให้เหมาะสมแล้ว อาจสามารถทำการซื้อ/ขาย เพื่อเข้าแทรกแซง ลด และจำกัดความผันผวนของมูลค่าพอร์ตร่วมไปด้วยได้ (เช่น ลดสัดส่วนสินทรัพย์ที่แพง และ/หรือ ขายตัดขาดทุนสินทรัพย์ที่ราคาหลุดแนวรับ เพื่อลด Drawdown และซื้อกลับในราคาที่เหมาะสม เป็นต้น)

5) มีสภาพคล่องสูงพอที่จะไถ่ถอน หรือเลิกลงทุนได้กลางคัน (ในกรณีที่จำเป็น)

ลักษณะอันพึงประสงค์ข้อสุดท้ายนี้ถือเป็นเรื่องเล็กๆ แล้วสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่กับผู้ลงทุนบางท่าน สภาพคล่องอาจมีความสำคัญมากกว่าที่คิด เช่น ในบางครั้งเราอาจต้องขายพอร์ตเกษียณเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลหรือค่าใช้จ่ายรายการใหญ่ๆ หากในตอนนั้น เราลงทุนอยู่แต่ในตราสารที่ขายออกก่อนกำหนดไม่ได้ หรือถ้าขายได้ก็ได้เงินช้ามาก (อาจต้องทยอยขาย หรือต้องหาคนมารับซื้อต่อเอง ไม่มีตลาดรองรองรับ) การป้องกันไว้ก่อน ด้วยการไม่ลงทุนในสินทรัพย์ที่สภาพคล่องต่ำก็เป็นแนวทางในการป้องกันที่ดี

สำหรับในบทความอีก 2 ตอนต่อไป เราจะมาเรียนรู้วิธีการในการจัดพอร์ต Income สองแนวทางใหญ่ๆ คือวิธี Yield Approach และวิธี Total Return Approach กันนะครับ ลองดูซิว่าแต่ละวิธีจะตอบโจทย์ลักษณะอันพึงประสงค์ทั้ง 5 ข้อนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนท่านใดที่ตอนนี้ยังไม่มีเงินก้อน ก็อ่านไว้เป็นข้อมูลและแรงบันดาลใจก่อนได้ครับ ว่าเมื่อมีแล้วเราจะจัดการกับมันอย่างไร ให้จ่าย Passive Income ให้เราใช้อย่างคุ้มค่าและยั่งยืน