know-the-risks-or-never02

บทเรียนจากอุบัติเหตุ

ตั้งแต่ขับรถมา ผมเคยประสบอุบัติเหตุรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง บนถนนมิตรภาพ แถวโรงปูน TPI จ.สระบุรี วันนั้นฝนตกพอสมควร แต่รถยังวิ่งได้ 60-80 กม./ชม. เป็นปกติ ซึ่งทุกๆ คันก็ขับกันเร็วประมาณนั้น

ความซวยบังเกิดในช่วงที่เข้าโค้งแล้วถนนลาดเอียง ผมวิ่งอยู่เลนขวาสุด ซึ่งมีน้ำขังอยู่มากพอดี รถทุกคันที่วิ่งผ่านตรงนั้น ต้องเบรกกันกะทันหัน ความซวยซ้ำสองก็เกิดเมื่อมีรถใหญ่วิ่งขนาบมาข้างซ้าย สาดน้ำสูงมากมาใส่รถทุกคันที่อยู่เลนขวาสุด จนมองไม่เห็นอะไร ยิ่งทำให้ทุกคนกระหน่ำเบรกกันหนักเข้าไปใหญ่

ณ ขณะนั้น ผมได้สัมผัสเป็นครั้งแรก ว่าอาการที่รถมันไหลเหมือนเรือ คุมไม่ได้เลยมันเป็นยังไง คือมันไหลไปตามยถากรรมจริงๆ เร็วด้วย ก่อนที่จะไปปะทะกับรถอีกคัน ซึ่งก็กำลังไหลเหมือนกัน ทันทีที่กระแทก ลิ้นชักทุกอันในรถผมเปิดออกเองอัตโนมัติ ข้าวของทะลักออกมา หน้าอกผมกระแทกกับเข็มขัดนิรภัย (ดีนะที่รัด) รู้สึกช๊อค แต่ก็ยังโชคดีที่คันหลังๆ ไม่ได้มากระแทกบี้เราซ้ำอีก

หลังจากบทเรียนครั้งนั้น ผมเป็นคนขับรถระวังขึ้นมาก โดยเฉพาะถ้าฝนตก ความระวังจะเพิ่มขึ้นอีก เพราะเรารู้แล้วว่าพอถึงเวลาคับขัน ต่อให้เรามีสติพอ ก็อาจจะควบคุมรถไม่ได้ และต่อให้เราคุมได้ คันอื่นก็ใช่จะคุมได้ เราก็พลอยซวยด้วย

แต่แทบทุกครั้ง ที่ผมกำลังระมัดระวังอยู่นั้น ผมก็มักจะโดนกดดันจากรถคันหลัง ทั้งกระพริบไฟสูงใส่บ้าง เร่งมากดดันบ้าง บีบแตรไล่บ้าง ซึ่งมันก็ชวนอึดอัดใจ ได้แต่ท่องว่า “มึงรีบมากก็หาทางแซงไปเอง แต่กูจะรักษาชีวิตและครอบครัวกู” พลอยคิดว่า “พวกมึงไม่เคยเจอสินะ” ถึงยังกล้ากันได้แบบนี้ เพราะถ้าพลาดขึ้นมา อาจไม่มีโอกาสได้แก้ตัวแล้วนะ

แล้วมันเกี่ยวกับเรื่องการเงินการลงทุนยังไง?

ทีนี้ลองมองย้อนกลับมาที่เรื่องการเงินการลงทุน ซึ่งมันอาจจะไม่คอขาดบาดตายเท่าเรื่องขับรถ แต่มันก็เป็นหายนะต่อชีวิต ได้เหมือนกันเพราะมันก็มีความเสี่ยงใหญ่ๆ ที่ถ้าเกิดขึ้นแล้วเราจะเจ็บหนักอยู่ เอาเฉพาะที่ผมได้เคยสัมผัสกับตัวเอง และคนใกล้ตัว ไล่จากที่เบสิคๆ ไปจนถึงระดับที่ซับซ้อนขึ้นก็ เช่น…

  • เอาเงินสวัสดิการยามเกษียณของพนักงาน หรือของตัวเองไปทุ่มลงทุนในหุ้นกู้เพียงฉบับเดียว เพราะดูแต่ดอกเบี้ยเป็นหลัก หุ้นกู้ไหนดอกเบี้ยสูงก็ลงตัวนั้น ยิ่งช่วงหลังมีหุ้นกู้แบบไม่มีอันดับเครดิต (Non-Rated Bond) ออกมาเยอะ ดอกสูงๆ กันทั้งนั้น พวกนี้ตราบใดที่ยังไม่มีปัญหาก็ยังยิ้มได้ แต่ถ้ามีปัญหาผิดนัดไม่จ่ายดอกเบี้ย ไม่จ่ายเงินต้นขึ้นมา จะแก้ยังไง ?
  • ออมเงินทั้งหมดในชีวิต (เคสที่ผมเจอนี่ยอดเงินเกินสิบล้าน) ไว้ในสหกรณ์ออมทรัพย์ซึ่งให้ดอกเบี้ยและปันผลสูง ก่อนที่จะพบว่ามีปัญหาการทุจริต และถูกห้ามไม่ให้ถอน จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้เงินคืน
  • ซื้อหุ้นบริษัทที่มีปัญหาการเงินด้วยเงินจำนวนมาก ก่อนที่หุ้นนั้นจะถูกห้ามเทรด โดยหวังว่าเมื่อกลับมาเทรดได้จะได้กำไรมหาศาลหลายสิบเด้ง แต่มันก็ไม่ได้กลับมาเทรดเสียที
  • ลงทุนแบบ DCA ในหุ้นรายตัวเพียงตัวเดียว ใช้หลักการยิ่งลงก็ยิ่งซื้อ ก็ยิ่งได้หุ้นเพิ่ม แต่กลายเป็นว่ายิ่งซื้อหุ้นมันก็ยิ่งลงต่อ ยิ่งทำนานเข้าก็ยิ่งสะสมความเสียหายมากขึ้นๆ ก็ยิ่งเพิ่มเงินลงทุนเพราะหวังจะถอนทุนคืนได้เร็วขึ้น แต่มันก็ยังไม่มีทีท่าจะขึ้นกลับมา แม้ตลาดหุ้นจะดีขึ้นบ้างแล้วก็ตาม
  • เทรดค่าเงินตามระบบ ซึ่งมีการ Back-Test ดูว่าเป็นระบบที่สามารถทำกำไรได้แค่ต้องมีวินัยซื้อขายตามนั้น ก็จะเหมือนได้เครื่องผลิตกระแสเงินสดอัตโนมัติสบายไปตลอดชาติ แรกๆ ก็เริ่มจากเงินน้อย ยิ่งทำยิ่งถูกต้อง ก็ยิ่งมั่นใจก็เพิ่มเงินมากขึ้น ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ จนในที่สุดระบบไปเจอ ภาวะตลาดที่พิสดาร เข้าให้ ส่งคำสั่งแล้วไม่ Match กลไกตัดขาดทุนเอาไม่อยู่ กลายเป็นต้องขาดทุนมหาศาล

แน่นอนว่าทุกธุรกรรมที่ผมยกตัวอย่างมาด้านบน ล้วนมีคนที่ทำแล้วประสบความสำเร็จทั้งสิ้น แต่นั่นก็เป็นความจริงเพียงด้านเดียว เพราะอีกด้านคนที่เสียหายก็ไม่ได้มีโอกาสมาเล่าหรือแบ่งปันเรื่องราวความหายนะกันสักเท่าไหร่ ซึ่งเหตุการณ์ความเสียหายแบบนี้นั้น ถ้าโดนเข้าสักครั้งหนึ่งอาจทำให้ชีวิตสะดุดไปได้หลายปี “มันไม่ใช่เรื่องที่เราสามารถจะลองผิดลองถูกได้” เพราะอาจจะไม่ได้โชคดี มีโอกาสแก้ตัว เหมือนที่ผมได้รับบทเรียนจากอุบัติเหตุคราวนั้น

แล้วควรทำอย่างไร?

ในเมื่อเราไม่สามารถลองผิดลองถูกกับบางเรื่องอย่างมั่วๆ ได้ สำหรับผมเองเมื่อต้องเผชิญกับ “โอกาสที่อาจแฝงด้วยวิกฤติ” นั้น ผมจะต้องคิดเผื่อเสมอว่า กรณีที่เลวร้ายที่สุด (Worst-Case Scenario) มันสามารถเกิดอะไรได้บ้าง แล้วถ้าเกิดขึ้นเราจะจัดการอย่างไร ซึ่งผมมีลำดับในการพิจารณาดังนี้

  1. ถ้ามันมีโอกาสที่ผลลัพธ์มันจะผิดไปจากที่เราคิด แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวไม่ถาวร ถ้าอดทนรอไหวแล้วผ่านเหตุการณ์นั้นไปได้ก็จะมีผลประโยชน์ที่ดีรออยู่ มัน มีโอกาสเลวร้ายได้มากขนาดไหน (How Deep) แล้วต้องรอนานแค่ไหน (How Long) ซึ่งก็ต้องหาข้อมูล เช่นศึกษาจากประวัติศาสตร์ และ/หรือ จากหลักวิชาการต่างๆ แบบที่ต้องไม่มองโลกในแง่ดีเกินไป ถ้าเราตอบได้ แล้วเรารับได้ การตัดสินใจนั้นก็น่าเสี่ยงที่จะทำ ซึ่งถ้าเทียบเป็นการขับรถเร็วในตอนฝนตก ผมประเมินแล้วว่าเลวร้ายสุดคือตาย ดังนั้น ยังไงผมก็ไม่เสี่ยง
  2. ถ้าเกิดความเสียหายขึ้น แล้วเราจำเป็นต้องยุติหรือเข้าแทรงแซงความเสียหายนั้นกลางคัน เราสามารถทำได้หรือไม่ เช่น ถ้าเราเข้าลงทุนอะไรบางอย่าง แล้วต้องขายทิ้งแบบปัจจุบันทันด่วนให้ครบปริมาณที่เราซื้อไป สภาพคล่องมันมีเพียงพอมั๊ย เพราะสินทรัพย์บางอย่างโดยธรรมชาติเป็นของที่ซื้อง่ายขายยาก แม้อยากจะเลิกก็เลิกไม่ได้เสียแล้ว
  3. โอกาสนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ และเราสามารถฝึกฝนให้เชี่ยวชาญได้หรือไม่ ถ้าทำได้เราอาจเริ่มต้นด้วยวงเงินที่ไม่มากก่อน ถือเป็นการทดลองเล็กๆ (Small-Scale Experiment) แบบที่ถ้าเสียหายหมดก็ไม่เป็นไร เพื่อที่เมื่อทดลองมากพอแล้ว เราจะได้ตอบตัวเองได้ว่าเราจะไปต่อ หรือว่ายุติมันไว้แค่นี้ เพราะเราไม่จำเป็นต้องคว้าทุกโอกาสที่เข้ามา บางทีการปฏิเสธสิ่งที่ไม่แน่นอน เพื่อรักษากระสุน (เงินทุน เวลา หรือกำลังใจ) ไว้รับโอกาสที่มันชัดเจนจริงๆ ก็มีประโยชน์มากกว่า

ซึ่งสุดท้ายไม่ว่าเราจะตัดสินใจยังไง มันก็จะมีคนที่กล้าเสี่ยงกว่าเราเสมอ เหมือนกับที่ตอนฝนตกก็จะยังมีคนที่กล้าขับรถเร็วๆ อยู่ดี

สิ่งสำคัญจึงไม่ใช่การมองไปที่คนเหล่านั้นตอนที่เค้า (อาจจะบังเอิญ) ประสบความสำเร็จแล้วมานึกเสียดาย ว่ารู้งี้เราทำบ้างก็ดี แต่คือการหันกลับมาพิจารณาตัวเราเองมากกว่า ว่าเราพร้อมหรือยังที่จะทำแบบนั้น

เพราะถ้ายังไม่พร้อมแล้วเสี่ยงไปทำ ต่อให้ประสบสำเร็จมันก็อาจแค่ฟลุ๊ค และอาจทำให้เรา “มั่นใจตัวเองเกินเหตุ” ในครั้งถัดๆ ไป ซึ่งอาจจะไม่ฟลุ๊คอีกแล้วก็ได้