กรณีศึกษา Brexit ปัญหาระดับประชาชาติ

Brexit

ปัญหาเรื้อรังที่กดดันตลาดการลงทุนในสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรมาอย่างยาวนาน ซึ่งความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลมาจากการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป จะหมายถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่สร้างความกังวลให้กับคณะเจรจาของสหราชอาณาจักรก็คือ กรณีความสัมพันธ์กับไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเด็นที่เราจะกล่าวถึงในวันนี้

ย้อนอดีตกันหน่อย

ก่อนอื่นต้องเท้าความกลับไปก่อนว่าการเข้าร่วมสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรนั้น คือ การเปิดเสรีในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การค้า การเงิน การลงทุน รวมไปถึงการเดินทางเข้าออกประเทศ และการตั้งถิ่นฐาน ทำให้ชาวยุโรปจำนวนมาก มีอิสรภาพในการเดินทางเข้าออกประเทศต่างๆ ในเครือ โดยใช้พาสปอร์ตเล่มเดียว คือ ของสหภาพยุโรป ซึ่งส่วนนี้เองที่ทำให้ประชาชนชาวสหราชอาณาจักรจำนวนมากไม่พอใจ และกลายเป็นประเด็นหนึ่งที่สำคัญ ในการเรียกร้องให้ลงคะแนนเสียงออกจากสหภาพยุโรป เพราะชาวต่างชาติจากเครือยุโรปที่ยากจนกว่านั้น เข้ามาแย่งงานของตนและก่อปัญหาอาชญากรรมจึงอยากให้ปิดพรมแดนเสรีเหล่านั้น หรืออย่างน้อยๆ ก็ต้องมีการขอวีซ่า เพื่อคัดกรองคนและลดจำนวนผู้อพยพมาแย่งงานเหล่านั้นลง ซึ่งอาจหมายถึงการส่งคนที่อพยพมาก่อนหน้านี้กลับด้วย

ซึ่งจุดนี้ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด ว่าจะแก้ปัญหาหรือตกลงกันอย่างไร

แต่จุดนี้เอง ก็ส่งผลกระทบทางตรงไปยังไอร์แลนด์ด้วย อย่างที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันนั้น โลกเรามี 2 ไอร์แลนด์ด้วยกันคือ

1. ไอร์แลนด์เหนือที่อยู่ในเครือสหราชอาณาจักร และ

2. สาธารณรัฐไอร์แลนด์

ซึ่งถูกแยกออกจากกันโดยสหราชอาณาจักร เมื่อปี 1922 หลังจากความพยายามลุกฮือหลายครั้ง ซึ่งการแบ่งดินแดนครั้งนั้นเกิดขึ้นโดยความสมัครใจ เนื่องจากบริเวณไอร์แลนด์ปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์คาธอลิคและอยากปกครองตนเอง ขณะที่ไอร์แลนด์เหนือซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร จะนับถือคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ และอยากอยู่ภายใต้การปกครองแบบเดิมมากกว่า ซึ่งก็สามารถผ่อนปรนปัญหาความแตกแยกได้ระยะหนึ่ง

แต่แล้วก็มีคลื่นใต้น้ำเกิดขึ้น ในแง่ของความไม่พอใจการแบ่งแยกดินแดน จนเกิดเป็นกองทัพ IRA (Irish Republican Army) ในขณะที่คนที่เห็นด้วยกับการอยู่กับสหราชอาณาจักรก็มีการตั้งกองกำลังป้องกันตัวเองตอบโต้กัน จนลุกลามกลายเป็นสงครามการเมือง ส่งผลให้สหราชอาณาจักรต้องส่งทหารเข้ามารักษาความสงบ ซึ่งการส่งทหารเข้ามาควบคุมสถานการณ์กลับกลายเป็นการเติมน้ำมันลงในกองไฟ ทำให้ทหารเหล่านั้นกลายเป็นเป้าโจมตีอย่างดีของกลุ่ม IRA ส่งผลให้เกิดการโจมตีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางสหราชอาณาจักรจึงต้องเพิ่มการรักษาความปลอดภัย ด้วยรั้วลวดหนาม กำแพง ปืนกล และหอคอย ซึ่งเป็นเสมือนเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดแจ้ง ถึงการแบ่งแยกดินแดน ที่ IRA ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น

ส่งผลให้ความขัดแย้งนี้กินเวลากว่า 30 ปี จนมาถึงปี 1998 ที่ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันได้ ด้วยเงื่อนไขง่ายๆ ณ ขณะนั้นแต่กลายเป็นโจทย์ยากของ Brexit ณ ขณะนี้ คือ การให้สิทธิ์แก่ไอร์แลนด์เหนือที่มีสิทธิ์โดยชอบธรรมในการถือครองสถานะพลเมืองของทั้งสองชาติทั้ง สหราชอาณาจักร และไอร์แลนด์ และการให้สิทธิ์ที่ไอร์แลนด์เหนือจะลงคะแนนเสียงกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของไอร์แลนด์ได้ตามต้องการ

ซึ่งเป็นที่น่าพอใจของทั้ง 2 ฝ่าย ทำให้สงครามกลางเมืองดังกล่าวจบลง สัญลักษณ์ของการแบ่งแยกอย่าง กำแพง รั้วลวดหนาม ที่ระบุถึงเขตแดนทางกายภาพ ถูกทลายลง ทหารสหราชอาณาจักรสามารถถอนกำลัง และพรมแดนที่เคยเป็นเครื่องแบ่งแยกดินแดนนั้นก็สูญสลายไป ทุกวันนี้ ไม่มีแม้แต่รั้วกั้น ไม่มีทหารยามเดินตรวจตรา เป็นแค่เพียงพื้นที่ต่อเนื่องกันตามปกติ เหมือนเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปนครปฐม

ความยากต่อ Brexit อยู่ที่ชาวสหราชอาณาจักรที่เห็นด้วยกับการแยกตัวนั้นต้องการให้มีพรมแดนเกิดขึ้นเพื่อคัดกรองผู้เดินทางเข้าออกดินแดน ซึ่งถ้าทำอย่างนั้นก็จะเป็นการแบ่งแยกดินแดนไอร์แลนด์อีกครั้ง และแน่นอนว่าผู้ที่มีแนวคิดในการต่อต้านการแยกชาตินั้น คงไม่พอใจเท่าไหร่นัก ขณะเดียวกันเมื่อดูการลงคะแนนเสียงในพื้นที่ไอร์แลนด์เหนือ ประชาชนส่วนใหญ่ลงคะแนนเสียงให้อยู่ในสหภาพยุโรปต่อ

เมื่อมองไปยังทางเลือกของการควบคุมชายแดน สหราชอาณาจักรสามารถที่จะสร้างพรมแดนที่ชายแดนของเกาะอังกฤษ ซึ่งจะส่งผลให้เป็นการแบ่งแยกอาณาจักรของสหราชอาณาจักร และเป็นการผิดสัญญาต่อชาวไอร์แลนด์เหนือที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร

ส่งผลให้ทั้ง 2 กรณีเป็นการขัดต่อสัญญาที่ให้ไว้ในตอนจบสงครามกลางเมือง ในแง่ของการแบ่งแยกดินแดนของไอร์แลนด์ และในแง่ของสิทธิ์ของชาวไอร์แลนด์เหนือ ทำให้สุดท้ายแล้วประเด็นนี้ยังเป็นปัญหาที่ค้างคาและกดดันการเจรจาต่อไป…