เฟดขึ้นดอกเบี้ย ยึด Data Dependent ไม่เป็นมิตรต่อลงทุน ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’

ผ่านกันไปเป็นที่เรียบร้อย กับการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งใน Event ใหญ่ของโลกการเงินและการลงทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ จากสถานะความเป็นเส้นเลือดใหญ่ของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ ซึ่งหมายถึงการเป็นสกุลเงินหลักที่ทั่วโลกยังคงให้ความเชื่อมั่นในการถือครองเพื่อเป็นทุนสำรอง และใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าในปัจจุบัน ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ นั้น ไม่ว่าจะเป็นไปในทางที่ดี หรือ แย่ก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและการลงทุนทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ย้อนความกลับไปก่อนการประชุมสักประมาณ 1 สัปดาห์ ตลาดมีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การปรับตัวลงของราคาน้ำมัน และความกังวลเศรษฐกิจชะลอตัวจะกดดันให้ FOMC นั้นชะลอท่าทีที่แข็งกร้าวต่อการใช้นโยบายการเงินลง อย่างน้อยที่สุดก็คือคาดหวังว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น จะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ครั้งสุดท้าย ก่อนที่ในเดือนธันวาคมจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.50% และทยอยลดลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งหยุดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 และเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวนั้น FOMC จะกลับมาลดดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้งก่อนปลายปี 2023

แต่ผลสุดท้ายแล้วนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในการประชุม FOMC ที่ผ่านมานนั้น อาจกล่าวได้ว่า โดยส่วนใหญ่แล้วนั้นค่อนข้างผิดความคาดหวังของตลาดไปเสียมาก โดยหลัก ๆ แล้วมีเพียงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่ม 0.75% สู่ระดับ 3.75% -4.0% ที่เป็นไปตามคาดการณ์ของตลาดแบบ 100% หากแต่สิ่งอื่น ๆ ที่ Fed พยายามสื่อสารออกมานั้น เรียกได้ว่าค่อนข้างผิดความคาดหวังในเชิงบวกของตลาดพอสมควร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคาดหวังว่า Fed จะค่อย ๆ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยน้อยลงนั้นเป็นไปตามคาดการณ์บางส่วนคือ การที่ FOMC เริ่มพิจารณาถึงความเป็นไปได้ แต่ก็ผิดคาดในหลากหลายจุด อาทิ

  • การที่เจอโรมม์ พาเวลล์ ประธาน Fed ในฐานะตัวแทน Fed ระบุชัดว่าเมื่อพิจารณาจากข้อมูลล่าสุดนั้น ยังเร็วเกินไปที่จะคิดถึงเรื่องการหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ย และยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีกไกล (ways to go)
  • การที่ เจอโรมม์ พาเวลล์ ยืนยันท่าทีเดิม ด้วยถ้อยคำใหม่คือ เงินเฟ้อที่สูงนั้นส่งผลต่อตลาดแรงงานมากกว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้ Fed เต็มใจที่จะใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวมากเกินไป ดีกว่าที่จะตึงตัวน้อยเกินไป หรือ ผ่อนคลายเร็วเกินไป

แต่ถึงอย่างนั้นเจอโรมม์ พาเวลล์ก็ไม่ได้ปิดตายความเป็นไปได้ที่จะค่อย ๆ ลดโทนลงแต่อย่างใด เพราะท้ายที่สุดแล้วนั้น Fed ยังได้ยืนยันถึงหลักการ Data Dependent อย่างหนักแน่นผ่านทั้งการแถลงการณ์ที่ผ่านการร่างและตรวจสอบเป็นอย่างดีว่า

“ในการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยในอนาคตนั้น คณะกรรมการจะพิจารณาอย่างถี่ถ้วนถึงผลสะสมของนโยบายการเงินในอดีต ผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อจากนโยบายการเงินที่ล่าช้า ตลอดจนพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเงิน”

ซึ่งการย้ำว่า Fed นั้นจะตัดสินใจตามข้อมูลที่ได้รับนั้นสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งต่อในการลงทุนในสินทรัพย์ทั่ว ๆ ไป และสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหลาย กล่าวคือ Fed เลือกที่จะเปิดช่องเอาไว้ ทำให้ Fed มีความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินได้ยืดหยุ่นตามสถานการณ์มากยิ่งขึ้น

  • ทั้งในโหมดปัจจุบัน ที่พยายามอย่างยิ่งยวดในการเอาเงินเฟ้อลง เพื่อป้องกันผลกระทบต่อการจ้างงานหรือเศรษฐกิจในระยะยาว
  • ทั้งในโหมดที่เงินเฟ้ออาจเริ่มชะลอตัวลงมาแล้ว แต่ยังไม่มั่นใจว่าจะ “เอาอยู่” จริงหรือไม่ ก็สามารถที่จะค้างดอกเบี้ยเอาไว้ได้ก่อน
  • ไปจนกระทั่งหาก Fed ประเมินแล้วว่าเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบมากเกินไป และเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าแล้ว ก็สามารถที่จะลดดอกเบี้ย เสริมสภาพคล่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้

ซึ่งความยืดหยุ่นนี่เอง ที่จะช่วยลดข้อครหา และความคลางแคลงใจต่อ Fed ที่ก่อนหน้านี้มักถูกโจมตีว่า “Behind The Curve” จากการที่ยืนยันอย่างต่อเนื่องว่าเงินเฟ้อเพียงชั่วคราว ก่อนที่จะเปลี่ยนท่าทีในช่วงปลายปี 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งการเปลี่ยนท่าทีดังกล่าวนั้นเป็นความพยายาม “กล่อม” ตลาด และเอาตลาดไม่อยู่ จนต้องยอมรับความจริงในที่สุด ว่าเงินเฟ้อไม่ “ชั่วคราว” อีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ท่าทีดังกล่าวนั้น กลับไม่เป็นมิตรต่อนักลงทุนอย่างเรา ๆ เท่าใดนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนแบบรันเทรนด์ เพราะความ Data Dependent จะทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่รายงาน โดยเฉพาะการจ้างงาน รายได้ เงินเฟ้อ และ คาดการณ์เศรษฐกิจ จะสร้างความผันผวนได้อย่างต่อเนื่อง ยากที่จะรันเทรนด์ได้สุดแนวโน้ม ทำให้ในแง่ของการเก็งกำไรแล้ว อาจเหมาะสมกับนักลงทุนที่เล่นรอบ หรือ Swing Trade เสียมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินทรัพย์ดิจิทัลที่ผันผวนสูงกว่าสินทรัพย์ทั่ว ๆ ไป ที่อาจทำให้เกิดรอบได้ถี่มากกว่า

สำหรับนักลงทุนระยะยาวอาจใช้การทยอยสะสมไม้น้อย ๆ เพื่อบริหารความเสี่ยงไม่เข้าหนักจนเกินไป แต่ก็ไม่พลาดราคาที่ไม่สูงมาก จนกว่าข้อมูลที่ Fed Dependent นั้นจะกดดันให้ต้องกลับลำอีก

แล้วจังหวะนั้น Fed และเราจะได้ Win ไปด้วยกัน…

บทความนี้ถูกเรียบเรียงและเผยแพร่ในเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2022
https://www.bangkokbiznews.com/finance/cryptocurrency/1038937