เจาะลึก!!! "Holding Foreign Companies Accountable Act" กฏหมายที่อาจเพิกถอนหุ้นจีนในสหรัฐฯ

หนึ่งในข่าวใหญ่ที่นักลงทุนทั้งกองทุนรวมและหุ้นต่างประเทศหลาย ๆ คนอาจจะกังวลในช่วงที่ผ่านมานอกจาก COVID-19 แล้วก็คงหนีไม่พ้นความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่เข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกที ซึ่งมีหลากหลายประเด็นที่น่าพูดถึงเสียเหลือเกิน

แต่ในวันนี้ จะมาขอพูดถึงหนึ่งประเด็นที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 กว่าวันที่ผ่านมา ก็คือการผ่านร่างกฏหมายของวุฒิสภาสหรัฐฯ ที่ชื่อว่า “Holding Foreign Companies Accountable Act” ออกมา ที่มีเนื้อหาสาระสำคัญก็คือ บริษัทต่างชาติที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐฯ นั้นต้องปราศจากการครอบงำจากรัฐบาลต่างชาติ

ซึ่งแน่นอนว่าการจะเป็นเช่นนั้นได้ บริษัทเหล่านั้น ก็จะต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้และผ่านมาตรฐานของคณะกรรมการดูแลการบัญชีของบริษัทมหาชน (PCAOB) ซึ่งเป็นองค์กรตรวจสอบของสหรัฐฯ ที่ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2002 และทำการตรวจสอบข้อมูลทางบัญชีของบริษัทต่าง ๆ อยู่แล้ว 3 ปีต่อเนื่อง

หากทำไม่ได้แล้วก็มีสิทธิ์ที่จะถูกเพิกถอนการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ได้

ซึ่งตัวกฏหมายฉบับนี้นั้น จริง ๆ แล้วไม่ได้ระบุประเทศไหนเป็นพิเศษแต่อย่างใด แต่ด้วยความขัดแย้งที่เร่งตัวขึ้นหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมานั้น ทำให้นักลงทุน และนักวิเคราะห์อดเชื่อไม่ได้ว่า ท้ายที่สุดแล้วนั้นกฏหมายฉบับนี้ถูกผ่านออกมาเพื่อสร้างแรงกดดันต่อจีนโดยตรง

โดยที่ผ่านมานั้นคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของจีน (กลต.) ก็อ้างว่าให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีตลอดมา แต่แน่นอนว่ากฏหมายแต่ละประเทศนั้นมีเนื้อหาสาระที่แตกต่างกันมาก ทำให้ก่อนหน้านี้พระราชบัญญัติ Sarbanes-Oxley ที่เป็นจุดเริ่มต้นในการตรวจสอบบัญชีและจัดตั้ง PCAOB นั้นยังไม่ครอบคลุมบริษัทในบางประเทศ หากการตรวจสอบของ PCAOB ไปขัดแย้งกับกฏหมายพื้นฐานของประเทศนั้น ๆ เช่น จีน เบลเยี่ยม และฝรั่งเศส ที่ไม่ให้บริษัทสอบบัญชีในประเทศนั้น ๆ ส่งเอกสารทางบัญชีให้กับองค์กรระหว่างประเทศ หรือต่างประเทศอื่น ๆ

แต่เมื่อข่าวการผ่านร่าง “Holding Foreign Companies Accountable Act” ของวุฒิสภาออกมานั้นมีการให้อำนาจเพิ่มเติมก็คือ จะต้องผ่านการตรวจสอบของ PCAOB 3 ปี ทำให้นักลงทุนเป็นกังวลกัน ว่าบริษัทจีนทั้งหลายที่ซื้อขายกันอยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่าง Alibaba, Netease, TAL Trip.com และเจ้าอื่น ๆ นั้นจะมีชะตากรรมเช่นไรต่อไป ก็ต้องบอกว่าถือว่ามีทั้งจุดที่น่ากังวลและมีจุดที่ไม่ต้องกังวลมากนักหลายส่วนด้วยกันประกอบไปด้วย

จุดที่อาจจะยังไม่ต้องกังวลมากนัก

1. กฏหมายดังกล่าวผ่านเพียงวุฒิสภาซึ่งอยู่ภายใต้การครองคะแนนเสียงข้างมากของรีพับลิกันเท่านั้น และยังไม่มีกำหนดการลงมติต่อในสภาผู้แทนราษฎรที่เดโมแครตครองเสียงข้างมากแต่อย่างใด ทำให้ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ว่า ร่างกฏหมายดังกล่าวจะได้คลอดออกมาบังคับใช้อย่างจริงจังหรือไม่ หรือจะล่าช้าออกไป

2. บริษัทจีนหลาย ๆ บริษัท หากตรวจสอบลงไปแล้วเจ้าของที่แท้จริงไม่ใช่คนจีน เพราะการลงทุนข้ามประเทศนั้นมีกลไกให้เลือกใช้มากมาย และหนึ่งในกลไกที่นักลงทุนมือหนัก หรือเจ้าของบริษัทชาวจีนชอบใช้กันก็คือ การจัดตั้ง Variable Interest Entity (VIE) ขึ้นมาในประเทศที่เปิดกว้างทางการเงินอย่างหมู่เกาะเคย์แมน ซึ่งมีลักษณะคล้าย Holding Company ที่มีสัญญาพิเศษกันเพิ่มเติม เช่น ไม่ต้องมีส่วนร่วมในการกำไรหรือขาดทุนในบริษัที่ไปลงทุนนั้น ๆ แลกกับการไม่มีสิทธิ์ในการลงมติในที่ประชุมผู้ถือหุ้น เป็นต้น

ทำให้หากตรวจสอบลงไปแล้ว หลาย ๆ บริษัทที่เรามองผ่าน ๆ ว่ามีสำนักงานใหญ่อยู่ที่จีน น่าจะเป็นของจีน แต่ผู้ถือหุ้นทางกฏหมายจริง ๆ อาจจะเป็นบริษัทในหมู่เกาะเคย์แมนก็เป็นได้ และเมื่อ PCAOB บังคับให้บริษัทนั้นเปิดเผยงบดุลทั้งหมด ก็จะกลายเป็นว่าได้งบดุลของ VIE ซึ่งอยู่ในหมู่เกาะเคย์แมนแทน ซึ่งอาจสร้างช่องว่างทางกฏหมาย และกลายเป็นทางรอดของบริษัทนั้น ๆ ไม่ให้ถูกเพิกถอนได้

3. หากถูกเพิกถอนจริง สุดท้ายแล้วบริษัทเหล่านั้นก็จะไปซื้อขายกันแบบต่อรองราคา (OTC) อยู่ดี ซึ่งทำให้หนึ่งในทางรอดของบริษัทเหล่านั้นระดมทุนที่อื่น มาซื้อหุ้นคืนที่สหรัฐฯ และไป IPO ที่อื่นแทน ทำให้เงินในมือของผู้ถือหุ้นก็ไม่ได้เป็นศูนย์ไปซะทีเดียว เพียงแค่อาจจะต้องลุ้นหน่อยเท่านั้นเอง ว่าจะได้ราคาดีหรือไม่

นอกจากนั้นแล้ว หลาย ๆ บริษัทที่มีความเสี่ยงก็มีการซื้อขายในมากกว่าหนึ่งตลาดอยู่แล้วด้วย เช่น China Eastern Airline ทำให้ง่ายต่อการระดมทุนมาชดเชยส่วนนี้ หรือ แม้กระทั่งบริษัทที่ซื้อขายที่สหรัฐฯ ที่เดียวก็สามารถที่จะโยกย้ายไปยังศูนย์กลางทางการเงินอื่นที่เชื่อมโยงกับจีนมากกว่าเดิม เช่น อังกฤษ หรือ ฮ่องกงก็สามารถทำได้

4. หากเกิดเหตุการณ์ข้อ 3 ขึ้น ก็จะเป็นการลด Market Cap ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ เอง และไปเพิ่ม Market Cap ของประเทศปลายทาง ทำให้ในระยะยาวแล้ว MSCI จะต้องมีการปรับน้ำหนักการคำนวณใหม่ และทำให้มีเม็ดเงินลงทุนของ ETF หรือกองทุน Passive ไหลไปที่นั้น ๆ แทน สหรัฐฯ ก็เสียผลประโยชน์เสียอีก

5. แม้กระทั่งกลุ่มบริษัทในสหรัฐฯ เองก็อาจจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับกฏหมายฉบับนี้ เพราะหลาย ๆ บริษัททั้งกลุ่มบริหารหลักทรัย์ และ บริษัททั่ว ๆ ไป ก็มีสัดส่วนการถือครองในบริษัทเหล่านั้น อาทิ Blackrock และ Vanguard บริษัทบริหารหลักทรัย์รายต้น ๆ ของโลก เจ้าพ่อ ETF มีทรัพย์สินภายใต้การบริหาร (AUM) เฉพาะ ETF มากกว่า 2.56 ล้าน ๆ ซึ่งโดยลักษณะของ ETF แล้วนั้น ต้องลงทุนให้ใกล้เคียงกับดัชนีมากที่สุด ยังไม่รวมกลุ่มกองทุนดัชนีต่าง ๆ ที่มีเม็ดเงินมหาศาลไม่แพ้กัน

ทำให้บริษัทบริหารหลักทรัย์มีน้ำหนักในบริษัทกลุ่มเสี่ยงถูกเพิกถอนเป็นจำนวนมาก ชนิดที่ว่าเปิดมาต้องเห็น 1 ใน 2 เจ้านี้ติดผู้ถือหุ้นอยู่เสมอ ยังไม่รวมไปถึงบริษัทอื่น ๆ เช่น Walmart และ Google ที่ถือหุ้นอย่าง JD.com บางส่วนด้วย ทำให้แนวโน้มที่บริษัทเหล่านี้จะต่อต้านกฏหมายดังกล่าวมีค่อนข้างมาก เพราะกระทบกับบริษัทเหล่านี้โดยตรง

จุดที่อาจจะน่ากังวลพอสมควร

1. Market Cap ของกว่า 150 บริษัทจีนที่ซื้อขายในสหรัฐฯ นั้นคิดเป็นเพียง 3.3% ของทั้งตลาดเท่านั้นเอง ทำให้แม้จะมีการไหลออกของ Fundflow บางส่วนหากการคำนวณของ MSCI เปลี่ยนไปตามที่ได้กล่าวถึงก่อนหน้านั้น ผลกระทบก็จะอยู่ในวงจำกัด

2. หลาย ๆ บริษัทของจีนที่ซื้อขายในสหรัฐฯ นั้น เป็นรัฐวิสาหกิจ (SOEs) โดยตรง เช่น China Life, China Eastern Airlines ซึ่งไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าอยู่ภายใต้การครอบงำของรัฐบาลกลางจีน

3. รัฐบาลสหรัฐฯ อยู่ภายใต้การนำของนายโดนัลด์ ทรัมป์ จุดนี้ทำให้ยากเหลือเกินที่จะคาดเดาได้ว่าทรัมป์นั้นจะปรี๊ดแตก และยกระดับความตึงเครียดหรือไม่ และเมื่อไหร่ ทำให้ท้ายที่สุดแล้วนั้น แม้เหตุผลของแนวโน้มที่จะไม่ส่งผลเสียมีมาก แต่ความเป็นไปได้ของการเล่นแรงครั้งนี้ก็ยังมีอยู่…

#แอดลุง

AKN Blog

Source : Marketwatch, Forbes, Investopedia, the motley Fool

ที่มาบทความ: https://www.facebook.com/aknblog/posts/3010627755657482