Business DNA: สัมภาษณ์คุณปรมินทร์ อินโสม แห่ง Satang: แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตฯ ฝีมือแฮกเกอร์ชาวไทย

เกม Red Alert ยอดนิยม คือเกมที่เป็นแรงบันดาลใจให้คุณปรมินทร์ อินโสม ก้าวกระโดดเข้าสู่โลกแห่งเหรียญคริปโตเคอเรนซี่ เขาอยากรู้ว่าจะแฮกเกมได้อย่างไร จนเกิดการพัฒนาโปรแกรม เพื่อที่จะสามารถมีเงินได้อย่างไม่จำกัดในการเล่นเกม การชนะคู่แข่งถือเป็นเป้าหมายสูงสุด

ความสนใจของเขาที่มีต่อเรื่องการแฮก ได้นำเขาเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย จอห์น ฮอปกินส์ จนคว้าปริญญาโทด้านระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลในที่สุด จากนั้น คุณปรมินทร์ก็ได้กลายเป็นหนึ่งในผู้สร้างเหรียญคริปโต Firo (เมื่อก่อนเรียกว่า Zcoin)  ซึ่งเป็นหนึ่งใน 100 เหรียญที่มีการซื้อขายมากที่สุดในโลก และเขายังเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่นด้วย

บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด  (สตางค์) เป็นอีกหนึ่งบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านเหรียญคริปโตฯ ในประเทศไทย ก่อนหน้านี้ผู้ก่อตั้งบริษัทได้คิดค้นเหรียญ Zcoin ขึ้นมา ซึ่งเป็นเหรียญที่เน้นความเป็นส่วนตัว บริษัทสตางค์ ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเป็นศูนย์กลางผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย บริการหลัก ๆ ที่สตางค์มีได้แก่ Satang Pro ศูนย์กลางแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล และ Satang App กระเป๋าเงินดิจิทัลที่ออกแบบมาเพื่อเชื่อมต่อ Satang Pro เข้ากับธนาคารเพื่ออำนวยความสะดวก ในการเข้าถึงและจัดการสินทรัพย์ดิจิทัล

เส้นทางธุรกิจของคุณปรมินทร์มีที่มาที่ไปอย่างไร ร่วมแกะ Business DNA ที่ฝังอยู่ในตัวคุณปรมินทร์ผ่านบทสัมภาษณ์ฉบับนี้ได้เลยครับ

เรียนรู้เกี่ยวกับคุณปรมินทร์และ Satang เพิ่มเติมในบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม (ภาษาอังกฤษ)

Company DNA: บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

บทสัมภาษณ์นี้โฟกัสไปที่การทำความเข้าใจ DNA ของบริษัท ว่าอะไรที่ทำให้บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด มีความแตกต่างไม่เหมือนใคร เหมือนกับที่ DNA ทำให้คนแต่ละคนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ธุรกิจเองก็เช่นกัน

ทำไมคุณจึงอยากสร้างสตางค์ขึ้นมา และคุณสร้างสตางค์ขึ้นมาได้อย่างไร?

คุณปรมินทร์: ผมมองหาช่องทางที่จะใช้เหรียญดิจิทัล Firo (เริ่มแรกชื่อ Zcoin) ที่ผมสร้าง โดยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางโปรแกรมขึ้นมาเพื่อใช้มัน ในสมัยนั้นคนที่ทำโครงสร้างพื้นฐานทางโปรแกรมตรงนี้เพื่อนำไปใช้ยังมีน้อยมาก ตอนนั้นมีเจ้าหลัก ๆ แค่ 3-4 เจ้าเท่านั้น อย่าง CoinBase ในสหรัฐฯ หรือ Bitstamp ในยุโรป หรือ Bitfinnex พวกเขาเพิ่งเริ่มดำเนินธุรกิจในเวลานั้น

การสร้างแพลตฟอร์มตรงนี้ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก แต่เริ่มแรกเราตั้งใจจะสร้างให้เป็นในรูปแบบกระเป๋าเงิน แทนที่จะเป็นการแลกเปลี่ยนสกุลเหรียญเหมือนตอนนี้ เราอยากสร้างแพลตฟอร์มเพื่อให้เหรียญได้ถูกใช้งานได้จริง ๆ และด้วยความที่เราเป็นแพลตฟอร์ม เราเห็นโอกาสที่จะทำให้เหรียญของเราสามารถถูกใช้งานได้จากทั่วโลก

ตั้งแต่สร้างสตางค์จนถึงทุกวันนี้ เจออุปสรรคยากง่ายอย่างไรบ้าง?

คุณปรมินทร์: ปัญหาแรกเลยตอนที่เริ่มทำสตางค์ขึ้นมาก็คือเรื่องการมียอดผู้ใช้ เพราะว่าลูกค้าไม่มาสมัคร ไม่มีตลาด และยังไม่เข้าใจตลาดอย่างเต็มที่ หรือตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างที่เราคิด

อาทิตย์นึงตอนนั้นมีสมัครมาแค่ 1-2 ราย มันไม่ใช่อย่างที่เราคิด เราคิดว่าอย่างน้อยมันน่าจะเป็นหลัก 10 ที่มาสมัคร มีแค่เพียงสองคนที่สมัครมาและก็ไม่ได้ใช้งานเลย สิ่งที่เราทำคือสังคมของกระเป๋าเงิน เพื่อให้คนส่งคริปโตฯ หากัน แต่สิ่งที่ผู้ใช้ใช้ก็คือสมัครเพื่อฝากบิทคอยน์ ทำให้สิ่งที่เราคิดกับสิ่งที่เกิดขึ้นมันคนละเรื่องกันเลย

ตอนนั้นตลาดยังไม่พร้อม

ตลาดยังไม่พร้อมสำหรับการทำสังคมของกระเป๋าเงินสำหรับคริปโตฯ เพราะคนไม่ได้สนใจจะส่งเหรียญหากัน

ทำให้เราต้องย้อนกลับมา มองดูว่าตลาด ณ ปัจจุบันต้องการอะไรกันแน่ เราก็เลยเห็นว่าตลาดส่วนใหญ่สนใจเรื่องการซื้อขายมากกว่า เราจึงผันตัวเราจากการทำกระเป๋าเงินมาเป็นการแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยน แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่ได้ทิ้งความคิดเรื่องกระเป๋าเงิน เราแค่เปลี่ยนแนวคิดเท่านั้น

การหมุนเงินเพื่อฝากและโอน

แทนที่จะเป็นสังคมกระเป๋าเงินก็เป็นการฝากเข้าฝากออกธรรมดาส่งหากันได้  จนมาเป็น Satang App และ Satang Pro สำหรับ Satang App เราสร้างมาเพื่อที่จะสามารถเอาเหรียญ Firo ไปใช้จ่ายตามร้านค้าต่าง ๆ ที่มี QR Code หรือ Promtpay โดย Promtpay เป็นบริการโอนเงินในไทยที่เชื่อมต่อกับธนาคารต่าง ๆ เพื่อให้คนทั่วไปได้ใช้บริการการโอนเงินระหว่างธนาคาร โดยใช้เพียงหมายเลขโทรศัพท์มือถือ หรือเลขบัตรประชาชนเท่านั้น

หลังจากที่ผมเปิดบริษัทสตางค์ คอร์ปอเรชั่น เพื่อเป็นแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยน เราจำเป็นต้องจ้างโปรแกรมเมอร์เพิ่ม ผมจะต้องระดมทุน  จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนโครงสร้างบริษัทสตางค์ใหม่ โดยใช้ชื่อว่า TDAX หรือ Thai Digital Asset Exchange เราได้เงินลงทุนมา 5 ล้านบาท จากนักลงทุนที่สร้าง Firo มาด้วยกัน

Leader DNA: คุณปรมินทร์ อินโสม

คลิกเพื่อดูรูปขนาดเต็ม

Business DNA: สัมภาษณ์คุณปรมินทร์ อินโสม แห่ง Satang: แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตฯ ฝีมือแฮกเกอร์ชาวไทย

ช่วยแนะนำตัวเองหน่อยครับ

คุณปรมินทร์: ผมเริ่มสนใจที่จะศึกษาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ตอนที่ผมเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ผมเรียนรู้ว่าจะประกอบคอมพิวเตอร์อย่างไร ใช้งานอย่างไร และใช้โปรแกรมอะไรบ้าง

ตอนผมเรียนที่โรงเรียนปทุมคงคาที่เอกมัย ผมได้ศึกษาหาข้อมูลไปเรื่อย ๆ จนถึงขั้นว่าจะแฮกคอมพิวเตอร์เหมือนในหนังเรื่อง Minority Report ในสมัยก่อนได้อย่างไร

ในสมัยที่ยังไม่มี Google

ในสมัยนั้นยังไม่มีกูเกิล ผมก็เลยไปสืบเสาะติดตามกลุ่มคนที่อยู่ในวงการแฮกอยู่แล้ว บังเอิญได้ไปรู้จักกับรุ่นพี่คนนึง ซึ่งเรียนอยู่ที่ลาดกระบังฯ ด้านวิศวฯ เทคโนโลยีสารสนเทศ

ความสนใจต่อการแฮก

รุ่นพี่คนนี้เขาเองก็สนใจเรื่องการแฮก แล้วก็เป็นนักพัฒนาด้วย เขาเป็นโปรแกรมเมอร์แถวหน้าคนแรก ๆ ของประเทศในสมัยนั้นที่สามารถใช้ PHP Programming และภาษาโค้ดดิ้ง และเขายังเขียนเว็บไซต์เกี่ยวกับการแฮกด้วย เขาเป็นผู้สอนคอร์สการแฮกคอร์สหนึ่ง และก็แนะนำให้ผมไปเรียนด้วย คอร์สนี้สอนผมถึงวิธีการแฮกวินโดว์ (Windows) ซึ่งทำให้ผมสนใจการแฮกมาจนถึงทุกวันนี้

ผมใช้เวลาหลังเลิกเรียน ในการท่องเว็บไซต์ต่าง ๆ ว่ามีเว็บไหนที่พอจะมีช่องโหว่บ้าง ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบต้องลงมือทำ ทำให้ผมได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นไม่ได้มีสอนในห้องเรียน ผมต้องเรียนรู้ด้วยวิธีของ ผมเอง

การศึกษาด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูล

พอผมเข้าเรียนในชั้นมัธยมตอนปลาย ผมตัดสินใจที่จะเรียนต่อด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ตอนนั้นผมคิดว่ามันจะเป็นพื้นฐานต่อยอดให้กับผมที่จะเรียนเฉพาะทางเกี่ยวกับการแฮกได้ และผมก็ได้เข้าไปเรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ตอนนั้นผมมีเป้าหมายชัดเจนว่าอยากเป็นแฮกเกอร์  ผมรู้สึกว่าจะต้องไปเรียนต่อต่างประเทศ  หลังจากที่ผมได้เรียนภาษาอังกฤษเพื่อเตรียมความพร้อมทางภาษาแล้ว ผมจึงได้เข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ สาขาการรักษาความปลอดภัยทางข้อมูล พ่อแม่ของผมต้องกู้เงินเพื่อส่งผมเรียน เนื่องจากมหาวิทยาลัยนี้ถือว่าแพงเป็นอันดับหนึ่งในสิบของประเทศสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว

ทำไมถึงสนใจการแฮก

คุณปรมินทร์: ผมเริ่มสนใจการแฮกหลังจากที่ผมได้เล่นเกม  Red Alert ในสมัยนั้นผมต้องไปลงโปรแกรมเพิ่มเติม เพื่อที่จะได้เงินไม่จำกัดในการซื้อของในเกม ผมอยากรู้ว่าจะแฮกเกมนี้ได้อย่างไร แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่ามันถูกสร้างหรือพัฒนามาได้อย่างไร จึงทำให้ผมมีความสนใจที่อยากจะลองเป็นคนสร้างมันขึ้นมาเองบ้าง ไม่ได้อยากเป็นแค่ผู้ใช้งานเท่านั้น

มีข้อเสียของแนวคิดของการเรียนรู้โดยการลงมือทำไหม?

คุณปรมินทร์: ถึงแม้ว่าการเรียนรู้แบบลงมือทำเองจะเป็นวิธีเรียนรู้ที่ดีอย่างหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้ให้ความรู้เราแบบเต็ม 100% คุณจะได้ความรู้เพิ่มมากขึ้นถ้าหากคุณเอาความรู้นี้ไปสอนคนอื่นต่อ ถ้าจะให้ครบวงจรการเรียนรู้ที่ดีที่สุดผมว่ามันคือการอ่าน ลงมือทำ และสอนคนอื่น

คุณจะให้คำแนะนำกับผู้ที่สนใจลงทุนในคริปโตฯ อย่างไร?

คุณปรมินทร์: อย่างแรกเลยต้องเข้าใจก่อนว่าการลงทุนในคริปโตฯ มีความเสี่ยงสูงมาก อย่าลงทุนถ้าคุณรับผลขาดทุนไม่ได้ เตรียมใจรับกับความผันผวนแบบสุด ๆ หรือถ้าหากว่าอยากเล่นอย่างปลอดภัยก็ลงทุนแค่บิทคอยน์อย่างเดียว อีกทางเลือกคือกระจายความเสี่ยงในเหรียญคริปโตฯ ที่มีสภาพคล่องลำดับ 10-20 ต้น ๆ

แล้วแต่ความต้องการของคุณเลย คุณอาจจะแบ่งเป็นอุตสาหกรรมก็ได้ เช่น เหรียญที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน หรือ Infrastructure coin อย่าง Ethereum Algogrand Cardano หรือในกลุ่มเหรียญ Privacy coin ก็ได้อย่าง Monero Zcash และ Firo เป็นต้น

อีก 5 ปีต่อจากนี้ คุณคิดว่าวงการคริปโตฯ นี้จะเป็นอย่างไร?

คุณปรมินทร์: ผมมองว่ามันจะมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น ถ้าหากว่ามอง 7 ปีย้อนหลังไปปี 2013 ทุกคนรู้สึกใหม่กับแนวคิดนี้ เหมือนกับว่าทุกคนรักในเทคโนโลยีและพยายามทำให้มันเป็นธุรกิจ

แต่ในอนาคต คริปโตฯ จะถูกยกระดับไปอีกขั้น จากการเป็นแค่งานอดิเรกมาเป็นธุรกิจที่จริงจังมากขึ้น ผมคาดว่าในอนาคตทุกคนจะสามารถเข้าถึงคริปโตฯ ได้

สรุปประเด็นสำคัญ

  • รียนรู้ความต้องการของตลาดก่อนพัฒนาสินค้า – เมื่อคุณปรมินทร์เริ่มเปิดระบบกระเป๋าเงินดิจิทัลนั้น ปัญหาแรกที่ต้องประสบก็คือไม่ค่อยมีคนใช้งาน มีลูกค้าน้อยมากที่สมัครเข้ามา เนื่องจากตอนนั้นยังไม่มีตลาดด้านนี้ และคุณปรมินทร์เองก็ยังไม่เข้าใจถึงความต้องการของผู้ใช้ระบบการเงินดิจิทัลเท่าใดนัก
  • ความเสี่ยงด้านกฏหมายข้อบังคับต่าง ๆ สามารถหยุดธุรกิจของคุณได้ – ในปี 2018 บริษัทสตางค์สามารถระดมทุนได้ถึง 600 ล้านบาทให้กับ J Venture เป็นเหตุให้ กลต. ต้องประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินว่าการระดมทุนแบบนั้นจะต้องอยู่ภายใต้กฏของ ก.ล.ต.
  • หนทางของผู้บุกเบิกทางธุรกิจนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลายเสมอไป – สินทรัพย์ดิจิทัลยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ของรัฐได้จับตาดูธุรกิจนี้อย่างใกล้ชิด และแนวคิดใหม่ ๆ ก็อาจจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการ เนื่องจากข้อกำหนดกฏหมายต่าง ๆ
  • เหรียญคริปโตฯ นั้นมีความผันผวนสูง ใช่ว่าจะเหมาะกับทุกคน – การลงทุนกับเหรียญคริปโตฯ นั้นมีความเสี่ยงสูง คุณควรเลือกลงทุนต่อเมื่อคุณสามารถรับมือกับความเสี่ยงนี้ได้ สำหรับผู้เริ่มลงทุนนั้นเพื่อความปลอดภัย ควรลงทุนเฉพาะบิทคอยน์ หรืออีกทางเลือกก็คือสามารถกระจายการลงทุนกับเหรียญคริปโตฯ 20 อันดับต้น ๆ ได้
  • การสอนทำให้การเรียนรู้สมบูรณ์ – แม้ว่าการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำนั้นเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเรียนรู้ได้เต็มร้อย คุณจะได้ความรู้เพิ่มมากขึ้นจากการนำความรู้นั้นไปสอนผู้อื่น การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือเรียนรู้จากการอ่าน การลงมือทำ และการสอน

เรียนรู้เกี่ยวกับคุณปรมินทร์และ Satang เพิ่มเติมในบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม (ภาษาอังกฤษ)

บทความต้นฉบับโดย Andrew Stotz
เรียบเรียงและแปลโดย ศุภกร อร่ามอรุณศรี

ที่มาบทความ: https://becomeabetterinvestor.net/business-dna-thai-hacker-builds-cryptocurrency-exchange/


**สนใจลงทุนพอร์ต All Weather Strategy พอร์ตกองทุนรวมจัดโดย Andrew Stotz ซึ่งจะช่วยให้เราได้ผลตอบแทนจากหุ้นในระยะยาว ในขณะที่ลดความรุนแรงของการขาดทุนในช่วงภาวะตลาดขาลง หากสนใจดูข้อมูลและลงทุนในพอร์ตนี้ สามารถคลิกที่นี่ https://www.finnomena.com/port/andrew/ หรือแบนเนอร์ข้างล่างได้เลยครับ