DCA แบบจับจังหวะ ดีกว่า DCA ธรรมดาจริงหรือ?

กลยุทธ์การลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน Dollar-cost averaging ถือว่าเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่ดีมากในระยะยาว เนื่องจากเป็นการลงทุนโดยไม่สนใจสภาวะตลาด ไม่สนใจราคาหุ้นหรือราคากองทุน อาศัยหลักการที่ เมื่อราคาของสินทร์พย์ปรับตัวลงมาในจุดที่ถูกลง ทำให้สามารถซื้อได้จำนวนสินทรัพย์มากขึ้นในขณะที่ใข้เงินเท่าเดิม ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยของเราน้อยอย่างมีนัยสำคัญในระยะยาว

ตัวอย่างการ DCA แบบธรรมดา โดยสินทรัพย์ที่ใช้คือ SET Total Return Index (รวมปันผล) ซึ่งมีกองทุนหุ้นดัชนี SET Index ในหลายๆ บลจ. ลงทุนอยู่ โดยให้มูลค่าดัชนีเริ่มที่ 10 บาท คล้ายๆกับกองทุนที่เพิ่งจัดตั้ง

จากรูปจะพบว่า ผลการ DCA จะมีต้นทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ จาก 10 บาทในตอนแรก เพิ่มขึ้นไปเป็นประมาณ 32 บาทเท่านั้น ขณะที่ดัชนีปัจจุบันอยู่ที่ 109 บาท

สมมติว่ามีการลงทุนเดือนละ 5,000 บาท ผลจากการ DCA ในระยะยาวทุกเดือน เดือนละ 5,000 บาท ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จะคำนวณต้นทุนได้ที่ 967,000 บาท มูลค่าการลงทุนปัจจุบัน 3,244,000 บาท หรือเป็นกำไร 2,277,000 บาท (+235.5%) ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก

ต่อมาก็มีแนวคิดการลงทุนโดยการประยุกต์จากวิธี DCA เพื่อพยายามลดต้นทุนลงไปอีก โดยพยายามจับจังหวะซื้อในช่วงที่ราคาตก โดยใช้ Indicator ช่วยในการตัดสินใน เช่น Simple Moving Average (SMA), Exponential Moving Average (EMA) เป็นต้น วันนี้จึงมาลองชำแหละการ DCA ผสมกับการจับจังหวะ ว่าดีจริงหรือไม่ จึงขอใช้เส้น SMA200 เป็นเส้นตัดสินใจในการ DCA

เส้น SMA200 คำนวณโดยการนำดัชนีของมันเองย้อนหลัง 200 วันมาเฉลี่ยกัน ถ้าดัชนีสูงกว่าเส้น SMA200 แปลว่าราคาอยู่ในสภาวะขาขึ้น หรือแพงขึ้น ถ้าดัชนีต่ำกว่าเส้น SMA200 แปลว่าราคาอยู่ในสภาวะขาลง หรือกำลังถูกลง จึงมีสมมติฐานที่จะ DCA ในเฉพาะช่วงเวลาที่ดัชนีต่ำกว่าเส้น 200 วันเท่านั้น

เนื่องจากจะเห็นว่า ช่วงเวลาที่จะได้ซื้อ (สีเขียว) มีค่อนข้างน้อย จึงให้เพิ่มเงินที่ซื้อเมื่อมีสัญญาเป็น 20,000 บาทต่อเดือน (เทียบกับเดือนละ 5000 บาทในกรณีไม่จับจังหวะ) ซึ่งจะได้กราฟต้นทุนเฉลี่ย ดังนี้

จากรูปจะพบว่า ผลการ DCA จะมีต้นทุนเฉลี่ยคงที่เมื่อไม่มีสัญญาณซื้อ และเพิ่มขึ้นเมื่อมีสัญญาณซื้อ เพิ่มขึ้นไปเป็นประมาณ 35 บาท มากกว่าการ DCA แบบไม่จับจังหวะที่ 32 บาท

สมมติว่ามีการลงทุนเฉลี่ยเดือนละ 20,000 บาททุกครั้งที่มีสัญญาณ ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จะคำนวณต้นทุนได้ที่ 1,181,000 บาท มูลค่าการลงทุนปัจจุบัน 3,665,000 บาท หรือเป็นกำไร 2,484,000 บาท (+210.3%) ซึ่งน้อยกว่าการ DCA แบบไม่จับจังหวะที่ 235.5%

ทำไมการลงทุนแบบ DCA ธรรมดา จึงได้ต้นทุนดีกว่า???

ให้สังเกตุในช่วงราคาที่วงกลมสีแดง ถ้าเราลงทุนอยู่ในช่วงเวลานั้น เราจะรู้สึกว่าราคาปรับตัวขึ้นมาทำจุดสูงสุดซึ่งแพงมาก เราเลยเลี่ยงการลงทุนในเวลานั้น แต่เราไม่เคยตระหนักถึงเรื่อง “เวลาการลงทุน” ของเรา ว่าเราตั้งใจลงทุนระยะยาว ทำให้จุดที่รู้สึกว่าแพง มักจะมีจุดที่แพงกว่าในอนาคตเสมอ เราจึงควรซื่ออย่างสม่ำเสมอไม่ว่าตลาดจะเป็นอย่างไร

เมื่อมาดูในสภาวะปัจจุบัน ตลาดหุ้นไทยทำจุดสูงสุดใหม่กว่า 1,800 จุด ซึ่งหลายๆคนมองว่าแพงแล้ว  คำถามคือ “แล้วในอีก 20 ปีข้างหน้า มันจะแพงกว่านี้รึเปล่า”

ตารางสรุปผลการลงทุน

จากการทดลองดังกล่าวแล้วพบว่าจริงๆแล้วหนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้การลงทุนนั้นประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่เป็นการต้องใช้วิธีการที่ยุ่งยากซับซ้อนในการจับจังหวะในการลงทุนที่มากจนเกินไป หากแต่เป็นเรื่องของ “ความมีวินัย” “ความอดทน” และ “ความสม่ำเสมอ” ในการลงทุนนั่นเอง การลงทุนนั้นจึงเปรียบเสมือนการวิ่งมาราธอนระยะยาว ขอให้เรามีวินัย มีความอดทน และมีความสม่ำเสมอ ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ไม่ยากครับ