bblam---vietnams-investment-opportunities

เมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) เปิดตัวเป็นทางการตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ขนาดจีดีพีของประเทศสมาชิกทั้ง 10 เมื่อรวมกันแล้วใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก (ข้อมูลปี 2558) ย่อมทำให้ภูมิภาคนี้เป็นหนึ่งในตลาดลงทุนที่ต้องจับตา แต่หากจะเจาะจงไปยังบางประเทศที่เห็นอนาคตทางธุรกิจอันสดใส ก็คงต้องมองไปยังเวียดนาม

ประเทศเวียดนามกลายเป็นประเทศที่น่าลงทุนในอันดับต้นๆ ของอาเซียน ด้วยแรงหนุนของการย้ายฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากค่าแรงในประเทศยังต่ำ ในขณะที่ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคภายในกำลังยกระดับขึ้น แม้ขนาดเศรษฐกิจจะเป็นลำดับที่ 6 ของกลุ่มอาเซียน ด้วยจีดีพี 1.86 แสนล้านดอลลาร์ แต่กลับมีประชากรมากจนเฉียด 91 ล้านคน เป็นอันดับที่ 3 ในภูมิภาค เป็นรองเพียงอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เท่านั้น (ข้อมูลปี 2558)

จากประเทศที่อดีตเคยเป็นสนามรบที่ดุเดือดที่สุดแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก มาวันนี้กลับกลายเป็นประเทศที่พร้อมจะก้าวกระโดดมายืนอยู่หัวแถวได้อย่างเต็มภาคภูมิ ด้วยความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอันน่าตื่นตาตื่นใจ เพราะตลอด 15 ปีที่ผ่านมา จีดีพีเติบโตปีละไม่ต่ำกว่า 5% มาโดยตลอด และในปีล่าสุดอยู่ที่ 6.7% นอกจากนี้รายได้เฉลี่ยต่อประชากร (GDP per capita) ยังปรับขึ้นตลอดเช่นกัน โดยล่าสุดตกราว 2,100 ดอลลาร์ (ข้อมูลปี 2558)

ความเจริญเติบโตดังกล่าวได้แรงหนุนจากเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติ (FDI) ที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน หลังเข้าเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลก (WTO) ในปี 2552 ทำให้ FDI จาก 7,600 ล้านดอลลาร์ เพิ่มเป็น 9,200 ล้านดอลลาร์ ในปี 2558 และในฐานะฐานการผลิตสินค้าไฮเทค ล่าสุด Apple Inc. เตรียมเข้าไปจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) สำหรับเอเชีย ด้วยเงินลงทุนกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ หลังเปิดบริษัทลูกไปเมื่อปลายปีก่อน ขณะที่ Samsung ก็กำลังเตรียมเปิดศูนย์ R&D ในฮานอยเช่นเดียวกัน ด้วยเงินลงทุนราว 300 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติยังไหลสู่เวียดนามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากนโยบายที่เปิดรับการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น รวมทั้งได้บรรลุความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) ที่ช่วยลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศอีกด้วย

Capture01

Source: World Bank, General Statistics Office of Vietnam

พลังทางเศรษฐกิจของเวียดนามนั้นยังมาจากโครงสร้างประชากร นั่นคือมีสัดส่วนประชากรวัยแรงงาน (15-64 ปี) ประมาณ 70% โดยมีอายุเฉลี่ยประชากรแค่ 29.6 ปี ซึ่งถือเป็นประเทศที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว พร้อมจะขับเคลื่อนบ้านเมืองให้เติบโตต่อไปอีกไกล เพราะโครงสร้างประชากรเช่นนี้จะยังดำเนินต่อไปอย่างน้อย 1-2 ทศวรรษ เพียงเท่านี้ก็พอมองออกแล้วว่า เวียดนามนั้นมีเสน่ห์ไม่น้อยหน้ากว่าชาติไหนๆ เลย

หากมุ่งเจาะเฉพาะด้านแล้ว ธุรกิจค้าปลีกเป็นภาคหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ด้วยศักยภาพที่พร้อมเติบโตอย่างรวดเร็ว ตลาดค้าปลีกในเวียดนามนั้นมีขนาดใหญ่ด้วยกำลังการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น ตามปัจจัยของประชากรซึ่งกล่าวไปข้างต้น รวมทั้งกำลังซื้อที่ยกระดับขึ้นตามรายได้ อีกทั้งพฤติกรรมที่เฟ้นเลือกสินค้าคุณภาพ และยังคำนึงถึงความสะดวกสบายในชีวิตมากขึ้น เช่น รับประทานอาหารนอกบ้านเพิ่มขึ้น หรือเริ่มใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น วัยรุ่นเวียดนามเริ่มจับจ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยเพื่อสนองรสนิยมมากขึ้น Cimigo ศึกษาพบว่า คนรุ่นใหม่ของเวียดนามใส่ใจติดตามเทรนด์ทางสังคมขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะความสนใจต่อเทคโนโลยียุคใหม่

Deloitte รายงานความเติบโตของภาคค้าปลีกว่า จากยอดขายในปี 2552 เพียง 43 ล้านดอลลาร์ มาสู่ 66.5 ล้านดอลลาร์ ในปี 2556 ขยายตัวถึงกว่า 60% และยังประเมินว่าจะเติบโตต่อไปอีกราว 60% หรือที่ 109 ล้านดอลลาร์ ในปี 2560

และแม้เวียดนามจะเปิดให้ต่างชาติลงทุนในธุรกิจได้เต็ม 100% มาตั้งแต่ปี 2552 แล้ว แต่ปัจจุบันสัดส่วนร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมยังครองตลาดกว่า 90% เนื่องด้วยร้านค้าปลีกของต่างชาติ 100% “สาขาแรก” สามารถเปิดบริการได้ไม่ยากนัก แต่หากจะเปิดหรือขยายสาขาเพิ่มเติมก็ต้องทำเรื่องขออนุญาตต่อทางการ ซึ่งอาจใช้เวลาดำเนินการค่อนข้างนานและยุ่งยาก ดังนั้นผู้ประกอบการค้าปลีกต่างชาติจึงนิยมขยายกิจการด้วยการขายแฟรนไชส์แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่น หรือเปิดบริษัทร่วมทุนกับกิจการของคนเวียดนามแทน ซึ่งช่วยให้กิจการค้าปลีกเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและราบรื่นขึ้น

Capture02

Source: Deloitte

ในเวลานี้ ผู้ประกอบธุรกิจร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ของญี่ปุ่นหลายเจ้ากำลังพิจารณาว่า ถึงเวลาแล้วที่จะขยายธุรกิจในเวียดนามอย่างจริงจัง ทั้ง FamilyMart และ Ministop ที่ดำเนินกิจการร้านสะดวกซื้อกว่า 130 แห่งทั่วเวียดนาม ได้เตรียมแผนขยายสาขาเพิ่มอีก 50% ภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ยักษ์ใหญ่อย่าง 7-Eleven ก็วางแผนเปิดสาขาแรกของเวียดนามในปีหน้า (2560) โดยกำลังอยู่ระหว่างศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงพิจารณาหาทำเลที่เหมาะสม รวมทั้ง Lawson เอง ก็กำลังสำรวจตลาดท้องถิ่นเพื่อหาโอกาสทางการค้าเช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่ผู้ประกอบการไทยเองยังเล็งเห็นโอกาส และพร้อมเริ่มต้นดำเนินการแล้ว เช่น B’sMart ของ BJC ที่วางแผนจะเปิดสาขาให้ได้ 205 แห่ง ภายในปี 2561

ด้วยพัฒนาการทางสังคมของความเป็นเมืองที่กำลังขยายตัว (Urbanization) ราว 33% (ข้อมูล World Bank ปี 2557) จะช่วยขยายขอบเขตของตลาดค้าปลีกให้กว้างขวางออกไปเรื่อยๆ ขณะที่โครงสร้างคมนาคมขั้นพื้นฐานที่กำลังเร่งรัดย่อมส่งผลต่อการบริหารต้นทุนของผู้ประกอบการอีกด้วย ทั้งหมดปูทางไปสู่ความยั่งยืนของธุรกิจในระยะยาว

ภาคธุรกิจค้าปลีกของเวียดนามนั้นโดดเด่นและน่าสนใจ ด้วยโอกาสการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและโครงสร้างประชากรที่แข็งแรง รวมทั้งเข้าสู่ยุคเปิดกว้างทางการค้าระหว่างประเทศมากขึ้นของประเทศ ในอีกไม่นานเกินรอ ภาคธุรกิจค้าปลีกจะกลายเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนศรษฐกิจของเวียดนามได้อย่างเต็มตัว

เขียนโดย ฐาปณัฐ สุภาโชค
Fund Management กองทุนบัวหลวง

ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ : http://www.bblam.co.th/PR/index.html