รู้จัก “ตลาดกระทิง vs ตลาดหมี” และปัจจัยที่มีผลต่อตลาดคริปโตฯ

หากคุณเป็นคนที่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ว่าจะเป็นคริปโตเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล แน่นอนว่าต้องคุ้นเคยกับคำว่า “ตลาดกระทิง” และ “ตลาดหมี” คำศัพท์เหล่านี้นักลงทุนรวมถึงนักวิเคราะห์มักใช้เพื่ออธิบายทิศทางของตลาด ในบทความนี้ เราจะขออธิบายความแตกต่างระหว่างตลาดกระทิงพร้อมปัจจัยที่สำคัญต่อตลาดให้ทุกคนได้เข้าใจมากขึ้น

ตลาดกระทิง (Bull Market) คืออะไร?

ตลาดกระทิง คือ คำศัพท์ที่อธิบายแนวโน้มของตลาดที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งหมายความว่าราคาของสินทรัพย์ดิจิทัลกำลังเพิ่มขึ้นอย่างยาวนานต่อเนื่อง เมื่อตลาดอยู่ในช่วงกระทิงนักลงทุนมักจะมองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับอนาคตของเหรียญที่พวกเขาถืออยู่และมีมุมมองเชิงบวกต่อสินทรัพย์ดิจิทัล ทำให้เกิดการตัดสินในลงทุนมากขึ้นโดยหวังว่าจะทำกำไรได้แม้ว่าราคาเหรียญจะสูงขึ้นก็ตาม ส่งผลให้ราคาจะมีแนวโน้มสูงขึ้นไปอีก ยิ่งตลาดกระทิงดำเนินต่อไปนานเท่าไหร่ ราคาก็จะยิ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นเท่านั้น

ตลาดหมี (Bear Market) คืออะไร?

ในทางกลับกัน ตลาดหมีก็คือช่วงที่แนวโน้มของตลาดอยู่ในช่วงขาลง เป็นช่วงที่ราคาเหรียญมีความลดต่ำลง ทำให้นักลงทุนมักมีความคิดด้านลบและมีข่าวที่สร้างความหวาดกลัวให้กับนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนอาจขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อหวังว่าจะลดความสูญเสียให้เหลือน้อยที่สุด

ที่มาของคำว่า “กระทิง” และ “หมี”

“ตลาดหมี” คำนี้มีที่มาจากนักนิรุกติศาสตร์ในศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการกำเนิดและความหมายของคำ ได้ยกประโยคที่เป็นสุภาษิตหนึ่งว่า ไม่ใช่เรื่องที่ฉลาดเลยที่จะ “ขายหนังหมีก่อนที่จะจับหมีได้” (It is not wise “to sell the bear’s skin before one has caught the bear.) คำว่า Bearskin จึงถูกนำมาใช้ในวลีในการ “ขาย” ภายหลัง Bearskin ถูกย่อให้สั้นลงและใช้กับตลาดหุ้นที่ถูกขายโดยนักเก็งกำไรและนักเก็งกำไรที่ขายหุ้นนั่นเอง ในยุคนั้นช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ก็ได้เกิดคำศัพท์ที่ใช้สัตว์ยอดนิยมในยุคนั้นเป็นสัญลักษณ์และอธิบายแนวโน้มของราคาปรากฏขึ้นในตลาด รวมถึงคำว่า “กระทิง (Bull)” ที่หมายถึงการซื้อเก็งกำไรโดยคาดหวังว่าราคาหุ้นจะสูงขึ้นด้วย

บางแนวคิดก็มีการเปรียบเทียบทิศทางของกราฟให้เหมือนกับอากัปกิริยาของสัตว์ชนิดนั้น ๆ เช่น กราฟในช่วงตลาดหมีจะมีทิศทางทิ้งตัวลงมาโดยเปรียบเทียบกับอาการถูกตะปบของหมีอย่างรุนแรง ส่วนกราฟในช่วงตลาดกระทิงโดยลักษณะของกราฟที่มีทิศทางทะยานขึ้นเหมือนกระทิงที่ต่อสู้ด้วยการขวิดขึ้นนั่นเอง

ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงตลาดคริปโตฯ

ความเข้าใจและการยอมรับในเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล

หากประชาชนและผู้ที่ต้องการถือครองเหรียญเริ่มมีความรู้ความเข้าใจในการลงทุน ที่สามารถมองเห็นทิศทางความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีที่จะทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลมีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวัน การส่งเสริมให้ผู้คนมีความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัลในวงกว้างจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้นักลงทุนมีทัศนคติที่ดีต่อวงการคริปโตฯ ซึ่งอาจส่งผลให้ได้รับความนิยมและการยอมรับที่เพิ่มขึ้น นำไปสู่ความต้องการและราคาที่เพิ่มขึ้น

หลักเกณฑ์และข้อบังคับ

การออกกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ จากหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบเพื่อกำกับดูแลการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อทิศทางของตลาดได้ ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED ที่ได้ออกมาตรการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เพื่อพยายามลดอัตราเงินเฟ้อตามรายงานที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเหตุให้นักลงทุนเกิดความกังวลและเลือกถอนเงินออกจาก Asset classes ที่มองว่าความเสี่ยงสูง เช่น หุ้นและคริปโตฯ ส่งผลให้ตลาดคริปโตฯเกิดความผันผวน การถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลก็เริ่มลดน้อยลง เพราะนักลงทุนต่างทยอยปรับพอร์ต เทขายสินทรัพย์ที่มีโอกาสที่จะน่าจะทำกำไรได้น้อยกว่าออกมาก่อน หรือในประเทศไทยที่ได้มีการอนุญาตให้ออกโทเค็นดิจิทัลอย่างถูกกฎหมาย และกำหนดกรอบการทำงานสำหรับการออกใบอนุญาตการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล สิ่งนี้ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่มีเสถียรภาพและโปร่งใสมากขึ้นสำหรับวงการนี้ ซึ่งเรียกความเชื่อมั่นและดึงดูดนักลงทุนให้เข้าสู่ตลาดคริปโตฯ มากขึ้นส่งผลต่อความต้องการสกุลเงินดิจิทัล ในทางกลับกันหากกฎระเบียบยังไม่เอื้ออำนวยและมีข้อกังวลก็อาจนำไปสู่ตลาดหมีได้เช่นกัน

ความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ความเชื่อมั่นของนักลงทุนนั้นมีบทบาทต่อการกำหนดทิศทางของตลาดเช่นกัน โดยเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่ระดับโลกย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนรายย่อย นักลงทุนที่อยู่ในวงการคริปโตฯ มาสักระยะอาจคุ้นชินกับข่าวที่เมื่อมีการลงทุนโปรเจกต์ในเหรียญหรือบริษัทผู้ให้บริการเทคโนโลยีบล็อกเชนของเหรียญนั้น ๆ ก็จะทำให้ราคาของเหรียญเพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการของตลาด แต่การเพิ่มขึ้นของราคาเพียงไม่กี่ครั้งยังไม่ใช่ตัวตัดสินว่าจะเปลี่ยนสภาวะตลาดให้เข้าสู่ตลาดกระทิงได้เสมอไป

ปัจจัยข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างที่เรามักเห็นได้บ่อยจากข่าวความเคลื่อนไหวในวงการคริปโตฯ แต่ยังมีอีกหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความปลอดภัยบนแพลตฟอร์มและศูนย์ซื้อขาย ความโปร่งใสของผู้ให้บริการ สภาวะเศรษฐกิจการเงินโลก รวมถึงภัยจากโรคระบาดและสงครามก็ส่งผลต่อแนวโน้มในการเปลี่ยนจากตลาดหมีสู่ตลาดกระทิง หรือตลาดกระทิงสู่ตลาดหมีได้เช่นกัน

อ้างอิง: merriamwebster, Bitkub Blog

บทความโดย: www.bitkub.com/blog


คำเตือน

คริปโตเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจํานวน โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ | สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ | ผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอดีตหรือผลการดําเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทน ของสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผลการดําเนินงานในอนาคต