องค์กรอัตโนมัติ DAO คืออะไร?

องค์กรอัตโนมัติแบบกระจายศูนย์ DAO หรือ Decentralized Autonomous Organization คือสิ่งที่พัฒนาต่อยอดมาจาก Decentralized Application หรือ DApp ที่มาจากการประยุกต์ใช้ Smart contract ร่วมกับเทคโนโลยี Blockchain

หากเปรียบเทียบ DApp เป็นตู้ขายของอัตโนมัติทั่วไป DAO ก็คือตู้ขายของอัตโนมัติที่เมื่อรับเงินไปแล้ว ตู้จะใช้เงินที่ได้มาในการสั่งสินค้ามาเติม และคำนวณกำไรจากการขายสินค้าคืนให้กับนักลงทุนได้โดยอัตโนมัติ

แล้ว DAO แตกต่างกับองค์กรทั่วไปอย่างไร? ตัวอย่างของ DAO ที่น่าสนใจมีอะไรบ้าง? เราจะมาหาคำตอบไปด้วยกันในบทความนี้

เปรียบเทียบ DAO กับองค์กรทั่วไป

องค์กรก็คือการรวมตัวกันของคนกลุ่มหนึ่งที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการรวมตัวกันเพื่อทำธุรกิจ สำหรับโครงสร้างขององค์กรทั่วไป หรือ Traditional Organization จะมีการแบ่งลำดับชั้น (Hierarchy) ที่ชัดเจน โดยผู้ที่อยู่ในตำแหน่งสูงสุด อย่าง ผู้บริหาร ประธาน หรือผู้ถือหุ้น มักจะมีอำนาจในการตัดสินใจสูงกว่าผู้มีตำแหน่งรองลงมา ส่วนกฏระเบียบทุกอย่างสำหรับองค์กร ไม่ว่าจะเป็นขอบเขตความรับผิดชอบ การจ่ายเงินเดือนพนักงาน หรือนโยบายการทำงานต่าง ๆ จะถูกเขียนขึ้นมาในรูปแบบลายลักษณ์​อักษร และมีการผูกมัดทางกฏหมายเพื่อรับรองว่าองค์กรจะดำเนินงานได้ตามวัตถุประสงค์

ในขณะที่กฏระเบียบต่าง ๆ ของ DAO จะถูกเขียนขึ้นมาในรูปแบบของชุดคำสั่งทางคอมพิวเตอร์ และอยู่บนเครือข่าย Blockchain ที่มีการเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Decentralized) นั่นจึงทำให้ทุกคนที่อยู่ในเครือข่ายสามารถตรวจสอบได้ว่าชุดคำสั่งของ DAO นั้น ๆ มีหลักการทำงานอย่างไร เชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน จากนั้น DAO จะทำงานผ่าน Smart contract หรือสัญญาอัจฉริยะที่สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเองเมื่อครบเงื่อนไขที่กำหนด โดย DAO บางตัวจะมีเหรียญหรือโทเคนดิจิทัลที่เป็นของเครือข่าย DAO นั้น ๆ เรียกว่า Native Token หรือบางครั้งก็เรียกว่า Governance Token เพื่อใช้แทนสิทธิ์ในการออกเสียงโหวตข้อเสนอต่าง ๆ หรือเป็นรางวัลสำหรับผู้มีส่วนร่วมภายในเครือข่าย ซึ่งโทเคนเหล่านี้ก็สามารถนำไปแลกเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ ผ่านการใช้บริการของ DeFi ได้ด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างของ DAO ที่น่าสนใจ

องค์กรอัตโนมัติ DAO คืออะไร?

เพื่อให้เห็นภาพรวมว่า DAO ที่เกิดขึ้นมาแล้วในปัจจุบัน มีตัวไหนที่น่าจับตาบ้าง และแต่ละตัวถูกสร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์อะไร สำหรับ DAO ที่น่าสนใจ มีดังต่อไปนี้:

องค์กรอัตโนมัติ DAO คืออะไร?

1. The DAO

โปรเจ็กต์ DAO ตัวแรก ๆ บนเครือข่าย Ethereum สร้างขึ้นโดย Slock.it และเปิดตัวในเดือนเมษายน ปี 2559 The DAO เป็นโปรเจ็คเกี่ยวกับการระดมทุน (Crowdfunding) ตัวหนึ่งที่เคยใหญ่ที่สุดของ Ethereum โดยมีนักลงทุนสนใจร่วมลงทุนกับ The DAO มากกว่า 11,000 คน โดยคอนเซ็ปท์ของ The DAO คือการมอบอำนาจให้นักลงทุนมีส่วนร่วมตัดสินใจว่าควรนำเงินลงทุนไปลงกับโปรเจ็กต์ไหน หากโปรเจ็กต์ได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนครบตามเงื่อนไขที่กำหนด Smart contract ของ The DAO ก็จะดำเนินการโอนเงินทุนที่รวบรวมได้ไปให้กับเจ้าของโปรเจ็กต์ และเมื่อโปรเจ็กต์ที่ได้เงินทุนไปสามารถสร้างผลกำไรได้ The DAO ก็จะจัดการแบ่งสัดส่วนของกำไรและจ่ายคืนให้กับนักลงทุนโดยอัตโนมัติ

อย่างไรก็ตาม The DAO กลับมีช่องโหว่ในชุดคำสั่งของ Smart contract ทำให้มิจฉาชีพสามารถใช้ช่องโหว่นี้ในการดูดเงินทุนที่รวบรวมมาไปยังกระเป๋าของตัวเอง เกิดความเสียหายเป็นมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน ปี 2559 ซึ่งเป็นเวลาไม่ถึง 3 เดือนหลังจากการเปิดตัว The DAO เหตุการณ์ครั้งนั้นได้ทำให้โปรเจ็ค The DAO จบสิ้นลง เหลือไว้แค่ Recovery Address ที่นักลงทุนสามารถมาเอาเหรียญส่วนหนึ่งคืนไปได้ และสร้างผลกระทบครั้งใหญ่ต่อชื่อเสียงของ Ethereum

องค์กรอัตโนมัติ DAO คืออะไร?

2. Digix Global

Digix Global คือโปรเจ็กต์ DAO ที่สร้างขึ้นบน Ethereum ในปี 2557 โดย Digix เป็นการนำทองคำแท่งความบริสุทธิ์ 99.99% มาผูกกับโทเคนดิจิทัล DGX ในอัตรา 1 DGX = ทองคำหนัก 1 กรัม โดยทองคำจะถูกเก็บรักษาไว้ในห้องนิรภัยที่อยู่ในประเทศออสเตรเลียและแคนาดา ขณะที่สินทรัพย์ดิจิทัลจะถูกเก็บรักษาอยู่ใน Cold Storage และกำหนดให้มีการทำ Audit ทุก ๆ 3 เดือน โดยหน่วยงานที่เป็นบุคคลที่สาม ซึ่งโปรเจ็กต์นี้มีการบริหารกันแบบ DAO ผ่าน Governance token ที่เรียกว่า DGD

องค์กรอัตโนมัติ DAO คืออะไร?

3. MakerDAO

MakerDAO คือแพลตฟอร์มสำหรับการกู้ยืม (Lending Platform) บน Ethereum ที่ผู้กู้จะได้เป็นเหรียญ Dai ที่เป็น Stablecoin ออกมา โดยเหรียญ Dai จะมีอัตราคงที่อยู่ที่ 1 Dai = 1 ดอลลาร์ ผ่านการผูกมูลค่ากับสกุลเงินดิจิทัล ผู้กู้สามารถนำเหรียญ Dai ไปแลกเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์อื่น ๆ ต่อไปได้ ซึ่ง MakerDAO สามารถรักษามูลค่าของเหรียญ Dai ให้คงที่ผ่านการคิดอัตราดอกเบี้ย (Interest rate) รวมถึงการลดหรือเพิ่มอุปทานของเหรียญเพื่อรักษามูลค่าให้คงที่โดยอัตโนมัติด้วย Smart contract โดยมีหรียญ MKR ที่เป็น Governance Token ของ MakerDAO ผู้ถือเหรียญนี้จะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมออกเสียงปรับปรุงและพัฒนาแพลตฟอร์มได้

สรุป

DAO ก็คือการบริหารองค์กรรูปแบบหนึ่งที่ถูกเขียนขึ้นมาให้อยู่ในรูปแบบคำสั่งทางคอมพิวเตอร์บน Smart contract ของเครือข่าย Blockchain จึงทำให้ทุกคนในเครือข่ายสามารถตรวจสอบการทำงานของ DAO และมีส่วนร่วมในการบริหารผ่านการถือ Governance Token

DAO แต่ละโปรเจ็กต์ถูกสร้างขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน บ้างก็เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการระดมทุน บ้างก็เป็นแพลตฟอร์มสำหรับกู้ยืม และยังมีการใช้งาน DAO ในรูปแบบอื่น ๆ อีกมากมาย แล้วแต่ความคิดสร้างสรรค์ของเหล่าผู้พัฒนาหรือความต้องการของตลาด

อย่างไรก็ตาม ทั้ง DAO และ Blockchain ยังเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่และมีการพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่อง จึงยังไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่นอนว่า DAO ที่เห็นกันในปัจจุบันจะมามีส่วนสำคัญกับเศรษฐกิจในอนาคตอย่างไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับโปรเจ็ค The DAO เป็นการชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของ DAO ที่อาจเข้ามามีบทบาทในอนาคต แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นสัญญาณที่เตือนให้เห็นถึงช่องโหว่ของการเขียนคำสั่งบน Smart contract ที่มาจากความผิดพลาดของผู้พัฒนาเองด้วยเช่นกัน

อ้างอิง: Cointelegraph (What is DAO), Medium (The Story of The DAO), Digix, MakerDAO

Bitkub.com

iran-israel-war