ATMX ยักษ์จีนท้าชนสหรัฐ EP3: Xiaomi ผู้สร้างทุกอย่างต่อจากพระเจ้า

เมื่อก่อนเราอาจจะยี้ หากสินค้ามาจากจีน แต่มาในตอนนี้ หลายคนมีข้อแม้หนึ่ง คือ หากเป็นแบรนด์ Xiaomi ก็ยอมรับได้ (โดยบางคนหารู้ไม่ว่าก็เอายี่ห้อจีน ที่คัดแล้ว มาปั๊มแบรนด์) เป็นหนึ่งในเหตุผลของการลงทุนใน Xiaomi ที่ดีที่สุด … แต่คุณรู้หรือไม่ รายได้หลักมาจากยอดขายมือถือ ดังนั้นเราตั้งสติ มารู้จักบริษัทกันก่อนจะลงทุน

Overview

Xiaomi แบรนด์จีนชื่อคุ้นหู ก่อตั้งโดย Lei Jun ที่มีความเชื่อว่า ผู้ผลิตชาวจีนจำนวนมากสามารถสร้างสินค้าดีราคาถูกได้แต่ขาดการยอมรับจากต่างประเทศ (ส่วนใหญ่คือถูกแต่พังง่าย) เขาจึงเกิดไอเดียจะสร้างแบรนด์ให้มีชื่อเสียง มีมาตรฐานรองรับให้สินค้าอื่น จะช่วยให้สามารถบุกตลาดต่างประเทศง่ายขึ้น

นี่เป็นจุดกำเนิดของ Xiaomi ที่คัดเลือกสินค้าคุณภาพดีจากผู้ผลิต เอามาแปะแบรนด์ Xiaomi และขอเก็บส่วนแบ่งกำไร รวมถึงขอหุ้นในบริษัทของผู้ผลิตสินค้านั้นด้วย !!

ตัวอย่างคือ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Xiaomi Roborock สร้างโดยบริษัท Roborock และยัง IPO เข้าตลาดหุ้นจีนไปด้วย

แทบไม่ได้ลงทุนอะไรใหม่ ขอเพียงคัดเลือกผู้ผลิตดี ๆ เข้าพอร์ต แล้วมาทำการตลาดให้ เปิดตัวสินค้าใหม่ ทุกวัน !! จึงเกิดรายได้มหาศาลแบบกระจายความเสี่ยง

Xiaomi ลงทุนในบริษัทอื่นรวม 310 บริษัท เน้นที่บริษัทสัญชาติจีน ซึ่งเมื่อปีที่แล้วลูก ๆ เหล่านี้มีตัวดังที่เข้า IPO แล้วด้วย เช่น Roborock, Kingsoft Cloud, Xpeng และการที่ตลาดหุ้นจีนกับฮ่องกงพุ่งแรงในไตรมาส 4 ช่วยให้เงินลงทุนของ Xiaomi เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลดีต่อราคาหุ้นด้วย (แต่ตอนนี้หุ้นจีน ฮ่องกงก็ถล่มลงมาค่อนข้างเยอะ)

ตรงนี้เองทำให้จำนวนและประเภทสินค้าของ Xiaomi เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ อุปกรณ์ต่าง ๆ ของ Xiaomi ยังสามารถเก็บข้อมูล และทำงานประสานกันให้ด้วย เกิดเป็น Mi Ecosystem ทำตัวเองเป็น Platform ระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค

ฟังดูสวยหรู แต่ Ecosystem จะสมบูรณ์ได้ ก็ต้องมี Smartphone หรือ OS สักอย่าง ซึ่งแน่นอนทาง Xiaomi มือถือนั้นโด่งดังและขายดีมาก ๆ จนตอนนี้กำลังพยายามไต่ขึ้นเบอร์ 1 โลกให้ได้

เรื่องมือถือกลับมาโตก้าวกระโดดนั้น เรียกว่าส้มหล่นโดยแท้จริง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการแบน Huawei สมัย Trump ส่งผลให้ Xiaomi เข้ามาแย่ง Market Share ของ Huawei ไป บวกกับกับการที่ศาลสหรัฐมีคำตัดสินว่าการแบนไม่ให้ลงทุนใน Xiaomi นั้นไม่ถูกต้องและคำกล่าวหาว่าบริษัทร่วมมือกับรัฐบาลจีนนั้นไม่มีน้ำหนักเพียงพอ จึงเท่ากับว่า “Xiaomi ชนะคดีทันที และได้รับการปลดแบน” ส่งผลให้ราคาหุ้นพุ่งทะยานในเดือนที่เเล้ว

ทุกอย่างฟังดูดีไปหมดครับ แต่มีปัญหาอยู่อย่างหนึ่ง คือ ก็เล่นขายมือถือดีขนาดนี้ กลายเป็นรายเดือนหลักมาจาก smartphone จน IoTs ตามกันไม่ทัน โดนทิ้งห่าง หากมือถือขายไม่ดีขึ้นมา ก็คงแย่แน่นอน ซึ่งตลาดไม่ชอบอะไรแบบนี้ ตลาดชอบแบบ หุ้นเทคโนโลยี สร้าง platform ecosystem ของตัวเอง

ก็น่าเสียดายว่า ทาง Xiaomi ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า MIUI จะประสบความสำเร็จ เพราะไม่สามารถดันรายได้ค่าโฆษณา หรือบริการอื่น ๆ จากตรงนี้ขึ้นมาได้มากนัก ส่วนหนึ่งก็ต้องมองว่าไม่ใช่เจ้าของ OS MIUI มันเป็นเหมือน add on มากกว่า ส่วนฝั่งธุรกิจ Connected TV ฝั่ง Ads ในจีน ก็ยัง งง ชีวิตอยู่เช่นกัน แม้ Xiaomi จะมีผู้ใช้งาน Smart TV ไล่ ๆ ตาม Roku มาเลย

ปัญหากดดันการเติบโตในปีนี้

Chip Shortage เป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้ผลิตมือถือและอุตสาหกรรมอย่างมาก Xiaomi เป็นแบรนด์มือถือรายแรกที่ออกมายอมรับ โดยผู้บริหารบอกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกระทบทั้งอุตสาหกรรมมือถือ ทำให้ Xiaomi ต้องลดการโฆษณาลงไป เพราะถ้ายังทำการตลาดเท่าเดิมมือถือที่มีอยู่จะไม่พอขายแน่นอน และจะทำให้ Growth ที่ดูว้าว ๆ ต้องลดลงไปด้วย ก็ไม่มีของขายนี่นะ ทำยังไงได้

จากการพยายามวิเคราะห์หาผู้ที่ได้ประโยชน์จากชิปขาดตลาด สรุปแนวโน้มในอนาคตได้ว่าแบรนด์มือถือทั้งหมดจะกักตุนวัตถุดิบและหาสินค้าทดแทนในส่วนที่ขาด ซึ่งผลดีจึงมีแนวโน้มจะตกไปยังโรงงานผลิตชิปทั้งหลาย (แต่ที่สงสัยก็คือหุ้นกลุ่มนี้ราคาถล่มตามกระแสชิปขาดตลาดมาด้วย หรือผมจะพลาดอะไรไป ?)

ทิ้งท้ายแบบนี้ว่า เชื่อว่าคุณหรือคนรอบตัวต้องเป็นลูกค้า Xiaomi ตั้งแต่มือถือ หุ่นยนต์ เครื่องดูดฝุ่น เครื่องฟอกอากาศ เตาอบไอน้ำ ยันแปรงสีฟัน

ลงทุนในสิ่งที่คุณเป็นลูกค้า ย่อมได้เปรียบเสมอ

BottomLiner

ที่มาบทความ: https://www.facebook.com/bottomlinerglobal/posts/4603267313021700

อ่านบทความชุด ATMX ยักษ์จีนท้าชนสหรัฐ ตอนก่อนหน้า

ATMX ยักษ์จีนท้าชนสหรัฐ EP1: Meituan รายได้ยังโตแรง CEO บอกปัญหารัฐบาลเคลียร์กันได้ ไม่มีปัญหา

ATMX ยักษ์จีนท้าชนสหรัฐ EP2: Alibaba ยิ้มออก Ant Group ลูกรักกำลังจะกลับมา!!