Dhandho Investor Framework ลงทุนโยนหัว-ก้อยอย่างดันโด
เนื่องจากช่วงนี้เห็นหุ้นจีนลงมาเยอะจนใจเสีย เลยพยายามหา Framework นักลงทุนระดับตำนานที่น่าจะเหมาะกับช่วงนี้มาเล่าให้ฟัง ซึ่งสามารถนำวิธีคิดนี้ไปต่อยอดบนธุรกิจ หรือการลงทุนใด ๆ ก็ได้ที่เห็นว่าเข้าเกณฑ์การ ‘Dhandho’

จุดเริ่มต้น

Mohnish Pabrai (โมห์นิช พาบราย) เจ้าของแนวคิดลงทุนแบบ ‘Dhandho’ (เป็นภาษาอินเดีย มีความหมายประมาณว่า การซื้อธุรกิจเพื่อความมั่งคั่ง) Pabrai เป็นนักลงทุนเน้นคุณค่าที่ประสบความสำเร็จจากวิธี ‘Dhandho’ นี่เอง
Pabrai คือแฟนคลับปู่ Warren Buffett ตัวจริง (บ้าจัดขนาดที่ยอมจ่ายเงินราว ๆ 21 ล้านบาท เพื่อให้ได้ dinner กับ Buffett 3 ชม.) ตลอดทั้งชีวิตการลงทุนของเขาประสบความสำเร็จโดยเอาแนวคิดของปู่ Buffett มาประยุกต์แนวทางของตัวเอง
เดิมที Pabrai ประสบความสำเร็จจากการทำธุรกิจที่ปรึกษาและวางระบบ IT ที่ทำมากว่า 10 ปี ซึ่ง Pabrai ขายมันออกไปในปี 2000 และทำให้เขามีเงินเพื่อเริ่มธุรกิจกองทุนของเขาด้วยเงิน $20 M
Pabrai เป็นผู้ก่อตั้งและบริหาร Pabrai Funds ที่ทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ถึง 25% ใน 20 ปีที่ผ่านมา

อะไรคือ Dhandho?

วิถี ‘Dhandho’ มีลักษณะคือซื้อไม่บ่อย ซื้อเมื่อเจอโอกาสครั้งใหญ่เท่านั้น โดยจะเฟ้นหาหุ้นหรือการลงทุนที่ตลาดประเมินพลาดหรือยังไม่สะท้อนมูลค่าของมัน และซื้อมันในโอกาสเจ็บตัวจากการแพ้ต่ำ หรือ ความเสี่ยงต่ำหากเทียบกับผลตอบแทนที่คาดหวัง (Risk/Reward) ซึ่งโดยปกติจะเทียบ ความเสี่ยง:ต่อผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับที่ 1:3 ถึง 1:5
อธิบายง่าย ๆ คือ ถ้าคิดว่าการลงทุนครั้งนี้ เขาคิดว่าอาจขาดทุนได้ถึง 100% Pabrai จะซื้อเมื่อเทียบกันแล้ว เห็นว่าเขามีโอกาสสร้างกำไรได้ 300-500% เท่านั้น หรือถ้าการลงทุนครั้งนั้นมีโอกาสขาดทุน 20% เขาจะลงทุนเฉพาะเมื่อคาดว่าจะได้รับผลตอบแทน 60-100% เท่านั้น หากเขาแพ้ เขาก็จะปล่อยวางมันและหาเดิมพัน ‘dhandho’ ครั้งใหม่ เพราะถ้าคุณชนะครั้งเดียวก็สามารถล้างขาดทุนได้แล้ว

Dhandho Framework

โดยวิธีการหาหุ้นหรือการลงทุนแบบ ‘Dhandho’ นั้นมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
  • ลงทุนเฉพาะธุรกิจที่มีอยู่จริงแล้วเท่านั้น
  • ลงทุนบนธุรกิจที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน (ข้อนี้คล้าย Peter Lynch ที่บอกว่าถ้าอธิบายให้เด็ก 10 ขวบฟังไม่ได้ว่าทำไมถึงซื้อหุ้นตัวนั้น ให้อย่าซื้อ )
  • เลือกลงทุนบนธุรกิจที่กำลังมีปัญหา หรืออยู่บนอุตสาหกรรมที่กำลังมีปัญหา
  • เมื่อค้นพบโอกาสให้ ‘bet’ ในโอกาสนั้นให้หนัก (ข้อนี้จะคล้าย ๆ ตั๋วลงทุน 20 ใบของ Buffett ที่ตลอดทั้งชีวิตให้ซื้อหุ้นแค่ 20 ตัวเท่านั้น ดังนั้นในแต่ละครั้งให้ทำการบ้านให้หนักจนมีความมั่นใจมาก ๆ )
  • ซื้อธุรกิจด้วยราคาที่มีส่วนเผื่อความปลอดภัย (Margin of Safety)
  • ลงทุนบนสิ่งที่ความเสี่ยงต่ำ แต่มีความไม่แน่นอนสูง
  • ลงทุนบนธุรกิจที่เป็นนักลอกเลียนแบบดีกว่าธุรกิจที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี

ตัวอย่าง Dhandho

เหตุการณ์นี้ยกมาจาก Dhando Investor ซึ่งเป็นหนังสือซึ่ง Pabrai เป็นคนเขียน โดยพูดถึงตระกูล ‘Patel’ ชาวอินเดียที่อพยพมาอยู่แคลิฟอร์เนียเมื่อประมาณปี 1970 และกลายเป็นเจ้าของโรงแรมขนาดเล็กกว่าครึ่งอเมริกาและธุรกิจอื่น ๆ มากมาย โดยที่ไม่มีทั้งเงินและความรู้ตั้งต้นเลย
ช่วงต้นของยุค 70 อเมริกาอยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำอย่างมาก เนื่องจากราคาน้ำมันตอนนั้นแพงมาก ทำให้ความต้องการท่องเที่ยวตกต่ำ เพราะค่าเดินทางแพง ส่งผลให้การจ้างงานในกลุ่มโรงแรมต่ำติดดินสุด ๆ โรงแรมหลาย ๆ แห่ง ไม่มีเงินจ้างลูกจ้างและจ่ายเงินที่ไปกู้เงินมาลงทุน จนต้องปิดตัวลง และธนาคารต้องขายโรงแรมเหล่านั้นทิ้งด้วยส่วนลดกว่า 80-90% จากราคาเต็ม
2 สามี-ภรรยา Patel ทำงานหนักเพิ่มเป็นเท่าตัว เพื่อนำไปดาวน์โรงแรมที่มีปัญหาเหล่านั้น ถ้าแผนของเขาพัง เขาก็เสียแค่เงินดาวน์และไปหาโรงแรมใหม่ ขยันทำงานเก็บเงินและซื้อมันอีก
จากนั้นตระกูล Patel ก็ดำเนินธุรกิจโรงแรมเล็ก ๆ โดยไม่จ้างพนักงาน แต่ทำทุกหน้าที่เอง ทำให้โรงแรมของ Patel นั้นมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำมาก (โรงแรมอื่นก็ทยอยปิดตัวลงต่อเนื่อง เนื่องจากแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว)
เวลาผ่านไปตระกูล Patel ก็มีเงินมากพอจะซื้อโรงแรมเพิ่มอีก พวกเขาก็เข้าไปซื้อโรงแรมที่แบกค่าใช้จ่ายไม่ไหว และให้ที่อยู่กับครอบครัวอื่นที่อพยพมาแลกกับการทำงานเป็นพนักงานของโรงแรม
ตระกูล Patel ยังทำรูปแบบนี้ซ้ำไปมาบนธุรกิจที่มีปัญหา ตลอด 30 ปี ผ่านไปพวกเขาเป็นเจ้าของโรงแรมม่านรูดกว่าครึ่งอเมริกาและธุรกิจอื่น ๆ มากมาย
เมื่อเอาเรื่องของตระกูล Patel เป็น Case Study แล้วมันคือการ ‘Dhandho’ นั้นเอง พวกเขาไม่ได้พยายามสร้างสิ่งใหม่หรือเป็นเจ้าของเทคโนโลยีใหม่ ๆ แต่อย่างใด พวกเขากับทำสิ่งที่เรียบง่ายบนธุรกิจที่มีปัญหาตอนเศรษฐกิจมีปัญหาและทำซ้ำไปเรื่อย ๆ ถ้า Patel พลาดบนธุรกิจไหน เขาจะเจ็บตัวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ถ้าพวกเขาทำถูก เขาจะเป็นเจ้าของโรงแรมเพิ่งขึ้น 1 แห่ง และความมั่งคั่งก็จะเพิ่มขึ้นมหาศาล
หลายคนอ่านจนจบก็ยัง งง ๆ ยังนึกไม่ออกแล้วถ้ามันไปถูกใช้ในการลงทุนหุ้นจะเป็นอย่างไร ติดตามโพสต์ Dhandho ตอนที่ 2 จาก BottomLiner เราจะพาย้อนรอยตำนาน ‘Dhandho’ ของปู่ Warent Buffett เมื่อตอนเข้าซื้อ American Express ปี 1994 และเป็นอีก 1 การลงทุนที่มีชื่อเสียงที่สุดของ Buffett
BottomLiner