เรียนรู้จากอดีตตอนที่ 3: วิกฤตปี 1929 ผลพวงที่ทำให้เกิดสงครามโลก

บทความนี้ BottomLiner เขียนสรุปภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ในปี ค.ศ. 1929 ซึ่งเป็นวิกฤตที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดสงครามโลก

ไฮไลท์

  1. รูปเป็นดัชนี Dow Jones ในปี 1926 – 1947
  2. สหรัฐพิมพ์เงินเองโดยไม่ใช้ทองคำค้ำประกัน
  3. วิกฤตครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดสงครามโลก
ความขัดแย้งหรือสงคราม เป็นสิ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่ามนุษย์ยังมีความคิดแบบเดิมเสมอ โดยเฉพาะหลังเกิดความฝืดเคืองของเศรษฐกิจขั้นรุนแรง

เศรษฐกิจบูมในยุค 1920

การเติบโตต่อเนื่องของเศรษฐกิจและตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วง 1920-1928 ทำให้ผู้คนสุขสบาย และตามมาด้วยการใช้จ่ายที่มากเกินตัว เกิดหนี้สะสมทั้งในส่วนของคนทั่วไปและบริษัท เพราะในช่วงที่เศรษฐกิจยังโต บริษัทสร้างกำไรได้ง่ายจากการกู้เงินมาลงทุนสร้างโรงงานใหม่และขายของเพิ่มขึ้น ทางด้านตลาดหุ้นในยุคนี้บูมสุด ๆ Valuation หลายตัวพุ่งทะลุเพดาน มีการกู้ margin มาลงทุนมากโขซึ่งก็ไม่ใช้เรื่องแปลกเพราะตลาดหุ้นขึ้นมาเยอะซะทุกคนต่างมองบวก

ขึ้นดอกเบี้ยชะลอเงินเฟ้อ

เมื่อเศรษฐกิจโตดี Fed จึงเริ่ม Tightening เพื่อชะลอเงินเฟ้อ ซึ่งในช่วงแรกนักลงทุนรายย่อยกลัวแต่ผ่านไปสักพักพบว่าเศรษฐกิจยังโตและตลาดหุ้นก็เดินหน้าต่อ แต่ความจริงได้เฉลย “หลังดอกเบี้ยขึ้นมาสักพัก” เหล่า Smart Money ในยุคนั้นโยกเงินออกจากทรัพย์สินเสี่ยงเพราะ Upside จำกัด หันมาถือ Bond ที่ให้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น กระทบดัชนี Dow Jones ร่วงจากเกือบ 400 จุด มาเหลือ 200 จุด ภายใน 3 เดือน (ปี 1929) สร้างความปั่นป่วนไปทั้งตลาดหุ้น ลามไปถึงการเทขายตราสารหนี้เสี่ยงสูง (คล้าย High-yield ในยุคนี้) กลับกันตราสารหนี้เสี่ยงน้อยของบริษัทคุณภาพดีและพันธบัตรรัฐบาลถูกคนรุมซื้อจากเม็ดเงินที่หนีมาจากทรัพย์สินเสี่ยง “Our economy is strong” เศรษฐกิจยังดี เป็นประโยคยอดฮิตของรัฐบาลและ Fed ในช่วงนั้น ซึ่งเป็นเรื่องไม่จริง
เรียนรู้จากอดีตตอนที่ 3: วิกฤตปี 1929 ผลพวงที่ทำให้เกิดสงครามโลก

ตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มแย่

ยอดขายค้าปลีกและภาคการผลิตไม่ดีเหมือนเคย ทำให้บริษัทหลายแห่งขอกู้จากธนาคารยากขึ้น อีกฝั่งนักลงทุนต่อรองอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้ให้สูงขึ้น จึงเกิดภาวะขาดแคลนเงินหมุนเวียนในบริษัทยิ่งซ้ำเติมก้อนหนี้ที่สูงอยู่แล้ว กระแสข่าวเศรษฐกิจฝืดเคืองสะพัดไปทั้งสหรัฐ ทำให้ผู้คนลดการใช้จ่ายและประหยัดอดออมกว่าเดิม แม้เป็นเรื่องดี แต่ในมุมมองทั้งประเทศการพร้อมใจกันประหยัดทำให้กระทบภาคการบริโภคค่อนข้างหนัก และตามที่บอกไปด้านบนว่าในช่วงบูมของเศรษฐกิจ มีโรงงานใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายกลายเป็นกำลังการผลิตส่วนเกินไม่มีการใช้งาน และที่แย่คือส่วนใหญ่เป็นการกู้มาลงทุน เนื่องจากการค้าขายระหว่างประเทศเชื่อมโยงกันบ้างในยุคนั้น แม้ไม่มากแต่การชะลอตัวในสหรัฐได้ลามให้โรงงานในอังกฤษ ยุโรปต้องปลดคนงาน เกิดคนว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทบยอดค้าปลีกในอังกฤษและยุโรปเหมือนกัน เรียกได้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจมาเยือนยุโรปกระทบเป็นลูกโซ่ลามไปทั่วโลก

ความขัดแย้งเพิ่มขึ้น

ปัญหาความกินดีอยู่ดีเป็นฟางเส้นสุดท้ายให้เกิดการลุกฮือของกลุ่มชนชั้นในสังคม เพราะความโกรธในจิตใจถูกนักการเมืองหรือผู้นำการประท้วงราดน้ำมันลงง่าย ๆ ซึ่งในปลายปี 1932 สหรัฐมีเลือกตั้งประธานาธิบดีพอดี ด้วยสภาพเศรษฐกิจอันย่ำแย่ จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนขั้วจาก Republican กลายมาเป็น Franklin D. Roosevelt ของพรรค Democrat โดยนโยบายหาเสียงหลักๆไม่ได้มีอะไรซับซ้อนนัก เน้นไปที่การเปลี่ยนเพื่อสิ่งที่ดีกว่า เพราะของเดิมมันเละเทะมาก (เรื่องนี้มาเกิดขึ้นซ้ำในวิกฤตปี 2008 ที่ Obama ชนะเลือกตั้งด้วยคำคมหาเสียงสั้น ๆ เท่ ๆ “CHANGE”) เมื่อได้ประธานาธิบดีคนใหม่ การทำงานแนวใหม่ก็เปิดกว้าง เพราะไม่ต้องแบกความผิดไว้เหมือนรัฐบาลที่แล้ว ซึ่งตอนนี้นักการเงินชั้นนำของประเทศถูกนำมาช่วยวางแผนหาทางรอดจากวิกฤต ซึ่งส่วนใหญ่ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าต้องนำเงินสดหรือสภาพคล่องมาให้ธนาคารหลัก ๆ ของประเทศให้ได้ หลังจากนั้นสภาพคล่องจะถูกส่งต่อไปยังบริษัททั่วไปผ่านการกู้เงินหรือออกหุ้นกู้ เศรษฐกิจจึงจะกลับมาเดินหน้าได้อีกรอบ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่ารัฐบาลก็ไม่มีเงินเหมือนกัน แต่เกิดไอเดียเลิกการผูกค่าเงินดอลลาร์กับทองคำ เพื่อที่ Fed จะสามารถพิมพ์เงินกระตุ้นเศรษฐกิจได้อิสระ (ก่อนหน้านั้นเงินดอลลาร์ถูกผูกกับทอง ใครถือ USD นำมาแลกทองคำกับรัฐบาลได้เลย) จึงเกิดนโยบายอัดมาชุดใหญ่ยกเลิกการผูกเงินดอลลาร์กับทองคำ เปิดโอกาสให้ Fed พิมพ์เงินเองและส่งต่อให้ธนาคารหลัก ๆ ได้เลย ตามมาด้วยการอัดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจแพ็คใหญ่ดันให้สหรัฐฟื้นตั้งแต่ปี 1933 ยุติภาวะล้มเหลวทางการเงิน

พ้นวิกฤตแต่ความโกรธของประชาชนยังอยู่

“แก้แค้น 10 ปีก็ไม่สาย” อาจจะเป็นคำคมของคนยุคนั้นด้วย เพราะแม้วิกฤตจะผ่านไปแล้ว แต่ความขัดแย้งของคนในสังคมยังสูงอยู่ ลามไปถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศ เช่น นาซีเยอรมันได้ฮิตเลอร์เป็นผู้นำในปี 1933 ทำให้หลังจากนี้ไม่นานเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1939 โดยเหมือนกับทุกครั้งก่อนสงครามใหญ่ ก่อนหน้านั้นจะมีสงครามการค้า, กีดกันไม่ส่งมอบทรัพยากรให้ประเทศคู่อริ, ยึดทรัพย์สินของฝ่ายตรงข้าม เกิดขึ้นก่อน BottomLiner ขอเรียกเรื่องแบบนี้ว่า “มนุษย์ยังมีความคิดแบบเดิมเสมอ” รอติดตามสถานการณ์ตลาดหุ้นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ในตอนหน้าครับผม
ลงทุนใน Megatrend ที่ใช่ บนเวลาที่ถูกต้อง โดย Optimize ความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ได้รับ ในระดับที่ควบคุมได้ โดย BottomLiner
ดูรายละเอียดพอร์ต >>> https://finno.me/guruport-bottomliner

BottomLiner

ที่มาบทความ: https://www.facebook.com/bottomlinerglobal/posts/pfbid037RcKPAQMqKvNovZDdnwQkG3CquXR7Me6LoqimxuEaRGfGej5nxwQU55hxpZstKRzl