สรุปความเห็น Ray Dalio ต่อสงครามในยูเครน
บทความนี้ BottomLiner จะขอมาสรุปความเห็นของ “Ray Dalio” ผู้ก่อตั้งและบริหารกองทุน Bridgewater Associates เฮดจ์ฟันด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีต่อสงครามรัสเซียยูเครน โดย Ray จะโฟกัสใน 2 เรื่องเป็นหลัก ดังนี้

1. สงครามจะขยายวงกว้างเกินยูเครนไปเป็นประเทศสมาชิก NATO หรือไม่?

การถล่ม Sanction จากฝั่งตะวันตกส่งผลกระทบต่อรัสเซียแน่นอน โดยปัญหาเศรษฐกิจจะทำให้ภายในประเทศรัสเซียเองนั้น Putin ถูกท้าทายจากขั้วการเมืองตรงข้าม ซึ่งเป็นการบีบให้ Putin จะต้องตอบโต้ฝั่งตะวันตกทางใดทางหนึ่ง (ยังไม่เปิดไพ่ว่าจะทำอะไร)

2. จีนจะช่วยรัสเซียแค่ไหน?

ถ้าตัดเรื่องกำลังทหารแล้ว รัสเซียแทบจะไม่ได้มีอะไรที่สู้ตะวันตกได้ โดยเฉพาะการถูกรุม Sanction ทางเศรษฐกิจ การเปิดรับการช่วยเหลือจากจีนเป็นเรื่องค่อนข้างจำเป็น และช่วงที่ผ่านมาทั้ง Xi และ Putin นัดพบปะกันบ่อยครั้ง เพราะถูกตะวันตกหาเรื่องทั้งคู่ โดยเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ตอนนี้เป็นการถูกตัดออกจากระบบ SWIFT ที่กระทบรัสเซียโอนเงินเข้า-ออกประเทศไม่ได้ ซึ่งฝั่งจีนเองมีทางช่วยอย่างการเปิดระบบ Digital Yuan ให้รัสเซียร่วมใช้ หรือการให้เข้าร่วมระบบชำระเงินแบบอื่น ถ้าจีนช่วยเหลือจะเป็นการเพิ่มปริมาณการใช้เงินหยวนอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่จีนต้องการนำมาต่อกรกับ US dollar อยู่แล้ว
กำลังทหารตัดสินปัญหาระดับประเทศเสมอ เพื่อให้เข้าใจความขัดแย้งระหว่างประเทศ เราต้องรู้ก่อนว่าในระดับนานาชาตินั้น กำลังทหารมักถูกนำใช้เพื่อจัดการปัญหา เนื่องจากปัญหาระหว่างประเทศไม่มีศาล ตำรวจ หรือกฎหมาย ที่ชัดเจนเหมือนการปกครองในประเทศ (อันนี้ BottomLiner เสริมให้ว่าศาลโลก ตำรวจโลก เป็นเพียงตัวแทนของชาติตะวันตก ที่มักจะใช้จัดการกับปัญหาเล็ก ๆ เท่านั้น ดูได้เลยว่าความขัดแย้งระดับมหาอำนาจด้วยกันแทบไม่เคยนำเรื่องขึ้นศาลเพราะฝ่ายเสียเปรียบจะไม่ยอมอยู่ดี)
ความขัดแย้งระหว่างประเทศมักเริ่มจากมาตรการทางเศรษฐกิจก่อน เช่น แบนสินค้าคู่แข่ง Sanction ซึ่งถ้ายังลดระดับความขัดแย้งไม่ได้ ส่วนใหญ่มักลงเอยด้วยสงคราม และผู้ที่มีกำลังทหารเหนือกว่าจะเป็นผู้ชนะและมีสิทธิ์กำหนดว่าผู้แพ้ควรทำอย่างไร
เราเห็นแล้วว่าช่วงที่ผ่านมา Super Sanction ถูกใช้ลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย ซึ่งเป็นสัญญานลบว่าอีกไม่นานสงครามจะขยายตัวเกินยูเครน โดยจนถึงตอนนี้ยังไม่มีการตอบโต้จริงจังจากรัสเซีย (นอกจากขู่ยิงนิวเคลียร์) แต่เป็นเรื่องน่ากังวลเพราะเป็นความเสี่ยงที่ยังไม่มีใครรู้ว่าจะลงเอยแบบไหน
ตอนนี้คู่ขัดแย้งทุกประเทศทั้ง สหรัฐ EU รัสเซีย ยูเครน ถูกมัดมือชกกันหมด เพราะสถานการณ์บังคับให้คุณต้องสู้หรือจะประกาศยอมแพ้ แต่ทุกการตัดสินใจมีต้นทุนที่ต้องจ่าย ถ้าเลือกสู้ย่อมแลกด้วยเงินและชีวิตคน ถ้าเลือกยอมแพ้ ศักดิ์ศรีประเทศจะเสียหายหนัก เพราะนานาชาติจับตาดูอยู่
สถานการณ์ความเสี่ยงแบบนี้ทำให้ Ray นึกถึงวิกฤตนิวเคลียร์ Cuba ในปี 1962 ซึ่งรัสเซียพยายามนำหัวรบนิวเคลียร์มาติดตั้งใกล้สหรัฐ ซึ่งในช่วงความตึงเครียดดูราวกับว่าทั้งสองฝ่ายจะไม่มีใครยอมใคร แต่สุดท้ายก็เจรจาถอยหลังคนละก้าวกันได้ จึงหวังว่าปัญหายูเครนจะยังพอเหลือพื้นที่เจรจา

สงครามโลกส่งผลต่อการลงทุนอย่างไร?

ยกตัวอย่างสงครามโลกครั้งที่ 2 การปิดตัวชั่วคราวของตลาดหุ้นเกิดขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งนักลงทุนมักไม่สามารถซื้อ-ขายหุ้นหรือตราสารการลงทุนได้ นอกจากนี้สกุลเงินของประเทศคู่ขัดแย้งมักจะใช้จ่ายกับประเทศคู่ตรงข้ามไม่ได้ ทำให้ทอง โลหะมีค่า จะเข้ามามีบทบาท หรือจะเป็นการค้าขายแบบแลกสินค้าและสินค้ากันโดยตรง ทางด้านตลาดหุ้นที่ยังเปิดอยู่จะเคลื่อนไหวตามผลงานในสนามรบ ยิ่งชนะมากหุ้นก็ขึ้นมาก เพราะผู้แพ้ในสงครามหมายความว่าจะถูกยึดทรัพย์สินประเทศและลดอำนาจลงอย่างหนัก
มาตรการควบคุมจะถูกนำมาใช้มากกว่าภาวะปกติ เช่น การควบคุมเงินทุนเข้าออก ขึ้นภาษีเพื่อนำเงินไปใช้ในสงคราม และควบคุมการผลิตให้เน้นไปยังสินค้าจำเป็นต่อสงครามก่อน
สุดท้ายแล้วอดีตสอนเราว่าในทุกสงคราม “จงทิ้งสกุลเงินของประเทศและซื้อทอง” เพราะเมื่อเกิดสงครามจริง ๆ จะมีการใช้เงินมหาศาล ซึ่งตามมาด้วยการก่อหนี้เกินขนาดและพิมพ์เงินเข้าระบบจนเงินแทบจะไร้ค่า
จากการอัพเดตพอร์ตลงทุน Bridgewater จะเห็นว่าเน้นไปลงทุนกลุ่ม Consumer staple หรือสินค้าปัจจัย 4 ของมนุษย์ที่ต้องใช้ในทุกวัน คงพอบอกเราได้ว่าเขามีมุมมองเชิงลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต เน้นหุ้นชัวร์ไว้ปลอดภัยกว่า

BottomLiner

ที่มาบทความ: https://www.facebook.com/bottomlinerglobal/posts/5544110678937354