สรุปวิกฤตศรีลังกา เกิดจากอะไร? น่ากังวลไหม?

ศรีลังกากำลังเผชิญวิกฤตที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ​ โดยทางรัฐบาลศรีลังกาได้ประกาศว่าจะไม่ชำระหนี้ในเวลาที่กำหนดแล้ว วิกฤตที่เกิดไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นปุบปับ แต่มีปัญหาและสัญญาณอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานแล้ว เพียงแต่โรคระบาดและ ราคาน้ำมัน ดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐเป็นตัว trigger จุดระเบิดขึ้น

  • ศรีลังกามีสัดส่วนรายได้จากภาคบริการสูงถึง 60% ของ GDP การมาของโรคระบาดจึงกระทบภาคบริการและการท่องเที่ยวเต็ม ๆ 
  • แน่นอนว่าประเทศที่พึ่งพารายได้จากต่างชาติมาก ๆ ค่าเงินจึงอ่อนค่าลง โดยหลังจาก covid ระบาด ค่าเงิน  Sri Lankan Rupee (LKR) อ่อนค่าลงมาแล้วกว่า 10%
  • ก่อนเกิดโควิดนั้นศรีลังกามีหนี้ต่อ GDP ที่สูงถึง 86% อยู่แล้ว โดยเป็นหนี้ในสกุลเงิน US Dollar เป็นส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ 2012 เป็นต้นมาเกือบเท่าตัว และเมื่อหลังเกิดการระบาด จำเป็นต้องใช้เงินเพิ่มเพื่อประคองเศรษฐกิจ ทำให้หนี้สินของศรีลังกาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • ปัจจุบันนโยบายของสหรัฐกำลังอยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี ทำให้เงินดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอีกต่อเนื่อง กระทบก้อนหนี้สกุล US Dollar ของศรีลังกาให้ขยายขึ้นตาม (ต้องหาเงิน Sri Lankan Rupee มากขึ้นเพื่อชำระหนี้ก้อนเดิม)
  • การใช้นโยบายประชานิยม ลงทุนโครงการใหญ่ต่อเนื่องมาหลายรัฐบาล อีกทั้งยังคงลดภาษีต่อเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจเติบโตเร็ว การบริโภคในประเทศสูงมาก (จนเกินไป) ประชาชนเสพติดนโยบายประชานิยม และรัฐบาลก็ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้รับความนิยมต่อเนื่อง
  • ศรีลังกาใช้น้ำมันวันละประมาณ 130,000 Barrels ต่อวัน ในขณะที่การพยายามเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันในประเทศ หลังรัฐบาลเริ่มโครงการใหม่ในปี 2019 สามารถเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันจาก 50,000 เป็น 100,000 Barrels ต่อวันเท่านั้น ทำให้ต้องนำเข้าน้ำมันเฉลี่ย 30,000 Barrels ต่อวัน
  • เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้นแต่ยังจำเป็นต้องนำเข้ามา ค่าเงินศรีลังกาอ่อนลง การส่งออกและรายได้ของคนในประเทศยังไม่ฟื้นตัว ในขณะที่รัฐก็ยังใช้จ่ายฟุ่มเฟือยและขาดความแข็งแรงทางการคลัง 

ทั้งหมดส่งผลให้เกิด twin deficits หรือการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และขาดทุนทางการคลังพร้อมกัน

ปัจจัยต่าง ๆ ส่งผลให้ศรีลังกาไม่สามารถหาเงินมาใช้หนี้ได้อีกต่อไป มีการกำหนดอัตราส่วนการซื้อน้ำมันที่ประชาชนสามารถซื้อได้ต่อวัน รวมถึงมีการตัดไฟประมาณ 10-13 ชม.

ซึ่งการตัดไฟก็ส่งผลต่อภาคการผลิตที่คิดเป็น 27% ของ GDP เป็นลูกโซ่และส่งผลให้สิ่งของต่าง ๆ ขาดแคลนอย่างหนัก โดยปัจจุบันค่าเงินของศรีลังกาอ่อนค่ามาแล้วกว่า 45% ตั้งแต่ก่อนเกิดโรคระบาด และอ่อนค่ากว่า 60% ตั้งแต่ปี 2015

จะเป็นอย่างไรต่อ?

จริง ๆ แล้วศรีลังกายังมีความสามารถในการหารายได้อยู่ แต่ต้องหวังพึ่งปัจจัยภายนอกด้วย เช่น ราคาน้ำมันลดลง และสถานการณ์โรคระบาดทั่วโลกดีขึ้นหนุนท่องเที่ยวฟื้น  ก็จะทำให้รอดพ้นจากการเป็นประเทศล้มละลายได้ แต่ศรีลังกาอาจไม่รอดจนถึงวันนั้น หากไม่มีความช่วยเหลือจากต่างชาติ ซึ่งดูมีความเป็นไปได้ว่าจะมาจาก 3 ทางคือ สหรัฐ จีน หรือ IMF

แต่หากดูจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีความเป็นไปได้มากที่สุดว่าจะเป็นจีนที่เข้าช่วยเหลือในครั้งนี้ และแน่นอนว่าโลกนี้ไม่มีของฟรี การช่วยเหลือแบบมัดมือชกไร้ข้อต่อรอง จะบีบให้ศรีลังกาต้องนำข้อเสนอที่คุ้มค่ามาให้จีน ซึ่งเริ่มมองกันว่าจะขอตั้งฐานทัพในประเทศซึ่งเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์สำคัญคุมมหาสมุทรอินเดีย

สิ่งที่น่าติดตามต่อจากนี้คือ ไม่ใช่มีแค่ศรีลังกาที่ตกอยู่ในสถานการณ์นี้ ทั้งโลกยังมีอีกหลายประเทศอยู่ในสถานการณ์คล้าย ๆ กัน 

การเกิดวิกฤตในศรีลังกาอาจไม่ได้ส่งผลต่อประเทศอื่นมากนัก แต่หากเมื่อไรที่เริ่มมีการล้มเป็น domino ตามมา อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาอีกมากมายในอนาคต

BottomLiner

ที่มาบทความ: https://www.facebook.com/bottomlinerglobal/posts/5622893094392445