ในตอนที่แล้ว เรียนรู้จากวิกฤต: สรุป Subprime Crisis 2008 แบบเข้าใจง่าย เราได้เล่าเรื่อง Subprime Crisis ปี 2008 แบบเข้าใจง่ายกันไปแล้ว น่าจะช่วยให้ทุกคนเห็นภาพมากขึ้น
แต่นอกเหนือจากที่เราเล่าไป ยังมีรายละเอียดลึกลงไปอีกว่าทำไมวิกฤตครั้งนี้ ถึงเกิดขึ้นได้สร้างความเสียหายได้มากที่สุดในรอบหลายร้อยปี แถมถูกจัดให้เป็น Top 5 วิกฤตการเงินที่ร้ายแรงที่สุดในโลก และรุนแรงกว่าที่หลายฝ่ายคาดคิดกันไว้มาก สาเหตุหลัก ๆ เพราะมีเครื่องมือการเงินที่เพิ่ม Leverage ให้สินทรัพย์ต่าง ๆ ทำให้ฟองสบู่ครั้งนี้ใหญ่มโหฬารกว่าครั้งไหน ๆ นั้นเอง จริง ๆ เครื่องมือเหล่านี้ ถูกอธิบายไว้แล้วในหนัง The big Short แต่เผื่อยังไม่เห็นภาพกัน BottomLiner จึงหยิบมาเล่าเพิ่มเติม แบบให้เห็นภาพง่าย ๆ
ปล. ตอนแรกตั้งใจว่าตอนที่ 2 จะเล่าหนังอย่างละเอียด แต่เกรงว่าจะทำให้ ดูหนังไม่สนุกกันจึงเลือกหยิบบางส่วนจากหนังมาขยายแทน
รีวิว TheBigShort สั้น ๆ
หนังเรื่องนี้จริง ๆ เป็นหนังที่นักลงทุนทุกท่านควรดูอย่างน้อยสัก 1 รอบ นอกเหนือไปจากการเข้าใจเรื่องการเงินและวิกฤตที่เกิดขึ้นแล้ว ยังทำให้เราอารมณ์ในการลงทุน ทั้งความโลภ ความประมาท ความกลัวที่อยู่คู่กับการลงทุนตลอดเวลา สิ่งที่ตัวหนังทำได้ดีคือการเล่าเรื่องการเงินที่ซับซ้อนได้อย่างเข้าใจง่าย แถมยังเต็มไปด้วยมุขจิกกัดที่เจ็บจี๊ดตลอดทั้งเรื่อง นักแสดงคุณภาพเพียบทั้ง Christain Bale, Ryan Gosling, Steve Carell, Brad Pitt ทั้งหมดรวมกันทำให้หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก และคว้ารางวัลไปมากกว่า 20 รางวัลจากหลายเวทีทั่วโลก
กลับมาที่ Subprime Crisis สิ่งแรกที่ต้องรู้จักคือ MBS (Mortgage-Backed Security: หลักทรัพย์ที่มีการค้ำประกัน) โดยกลไกของมันคือ สถาบันการเงินจะนำเงินไปปล่อยกู้ (ในกรณีนี้คือให้กู้ซื้อบ้าน) จากนั้นนำก้อนหนี้มามัดรวมกันเแล้วตั้งเป็น MBS ขึ้นมา ซึ่งเจ้า MBS นี้สามารถนำไปขายต่อให้นักลงทุนที่สนใจ รับผลตอบแทนจากการปล่อยกู้และรับความเสี่ยงแทนสถาบันการเงิน โดยสถาบันการเงินจะได้นำเงินก้อนกลับมาจากการขาย MBS และมาปล่อยกู้ต่อ
การลงทุนดังกล่าวจะมีสินทรัพย์จากลูกหนี้เป็นหลักประกัน และหนี้บ้านถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ ทำให้นักลงทุนตอนนั้นมองกันว่ามีความปลอดภัย (ถ้าลูกหนี้ไม่เบี้ยวหนี้ ทิ้งบ้านหรือบ้านราคาลดลงอย่างรุนแรง) โดยทั่วไปแล้ว MBS จะให้ผลตอบแทนที่มากกว่าธนบัตรรัฐบาลเนื่องจากมีความเสี่ยงสูงกว่า และอัตราผลตอบแทนจะมากขึ้นตามเครดิตของผู้มากู้ ยิ่งเครดิตแย่ ยิ่งผลตอบแทนสูง (ความเสี่ยงโดนเบี้ยวหนี้สูงกว่า)
ปัญหาแรกที่เป็นต้นต่อของวิกฤต Subprime 2008 คือธนาคารปล่อยกู้ให้กับผู้มีเครดิตต่ำ (เสี่ยงสูง) แต่ดันประเมินหุ้นกู้นั้นว่ามีความเสี่ยงต่ำ และหุ้นกู้เสี่ยงสูงจำนวนมากได้เรทติ้งดีกว่าที่ควร สถาบันการเงินเชื่อว่าบ้านเป็นสินทรัพย์ที่คนจะทิ้งเป็นอย่างท้าย ๆ หากมีปัญหาการเงิน มันจึงมักถูกประเมินว่าเป็นหลักทรัพย์ที่มีอัตราหนี้เสียต่ำกว่าสินทรัพย์อื่น ๆ
ถ้าเปรียบ MBS เหมือนหุ้นรายตัวในตลาดหุ้น CDO (A collateralized debt obligation) ก็เหมือนกองทุนนั้นเอง เพียงแต่เป็นกองทุนที่ขายให้สถาบันการเงิน สิ่งที่เกิดขึ้นก่อนจะเกิดวิกฤตคือมีการสอดไส้ MBS ที่ขายไม่ออก หรือเกรดต่ำ ไว้ในกอง CDO ด้วย พบว่า CDO บางตัวที่ได้รับความประเมินว่ามีความมั่นคงมากระดับ AAA จากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทั้ง Fitch, Moody’s หรือ S&P แต่ CDO เหล่านั้นกลับเต็มไปด้วยสินเชื่อที่ปล่อยให้ผู้มีเครดิตต่ำกว่าเกณฑ์มากกว่าครึ่ง หลังสถาบันการเงิน ซื้อ CDO ไป MBS ที่ขายไม่ออก ก็จะมีเงินไหลเข้ามา และขายออกตามไปด้วย ซึ่งในหนัง The Big Short เปรียบเทียบว่า เหมือนเอาปลาใกล้เน่าที่ต้องทิ้ง มาปรุง แล้วก็ตุ๋นเป็นซุป สามารถเสริฟในร้านอาหารหรูได้ ทั้งที่จริง ๆ เป็นวัตถุดิบชั้นเลว
ในเมื่อ MBS และ CDO ถูกสร้างมาเพื่อสถาบันการเงิน แต่แน่นอนว่ามีคนอื่น ๆ อยากเข้าถึงเครื่องมือนี้เหมือนกัน synthethic CDO จึงเกิดขึ้น synthethic นั้นหมายความว่า มันไม่ใช่ของจริง แต่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์เดียวกัน ทำให้ผู้ซื้อ-ขาย รายย่อยสามารถได้กำไรจากการส่วนต่างราคา ถ้าเครื่องมือ MBS และ CDO เหมือนหวย Synthetic CDO ก็ไม่ต่างจากหวยใต้ดินที่คนไปแทงขึ้น-ลงกันนอกกระดาน เพียงแต่มันบ้ากว่านั้นมาก
ในหนัง The Big Short อธิบายใหัเห็นภาพ โดยสมมุติเหตุการณ์ว่ามีการพนันเกิดขึ้น และคนในวงคนหนึ่ง มือขึ้นตลอด ได้ไพ่แต้มขึ้นเสมอ ชนะติดกันรัว ๆ จนทำให้คนรอบวงรู้สึกว่าเขาจะชนะต่อไปได้เรื่อย ๆ ทีนี้คนรอบวงจึงอยากมีส่วนร่วม
  • คู่ A เริ่มพนันกันว่า คนในวงคนนั้นจะชนะในเกมต่อไป ตั้งเงินเดิมพันไว้หากชนะได้ 1 เท่า หากแพ้จะจ่าย 3 เท่า
  • คู่ B มองว่าคู่ A ที่แทงพนันนั้น มีโอกาสชนะพนันสูงมาก จึงแทงพนันต่อว่า คนแทงพนันในคู่ A จะชนะ
มันเป็นแบบนี้ต่อกันเป็นลูกโซ่ จนอัตราพนันขึ้นไปสูงถึงราว ๆ ชนะได้ 1 / แพ้เสีย 20 เท่า และเรารู้ดีว่าไม่มีใครโชคดีไปได้ตลอด…
ทีนี้ลองนึกว่าถ้าเป็นคุณ คุณจะทำอย่างไร
สมมติว่า คุณเคยซื้อ MBS ที่ให้ดอกเบี้ย 3% ซึ่งมากกว่าธนบัตรแต่มีความเสี่ยงสูงกว่า แต่อยู่มาวันหนึ่ง ธนบัตรรัฐบาลดันให้ดอกเบี้ยเท่ากันที่ 3% คุณจะทำอย่างไรต่อ?
คำตอบที่ควรจะเป็นคือ เราก็ย้ายเงินจาก MBS ไปซื้อ ธนบัตรรัฐบาลสิ ผลตอบแทนเท่ากันเสี่ยงน้อยกว่า นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐในปี 2003 – 2007 ในตอนแรก เมื่อเริ่มมีการขึ้นดอกเบี้ยนั้น การขยับอัตราผลตอบแทนของ MBS และ DBO ขึ้นมามาให้มากกว่าธนบัตรนั้นยังทำได้ปกติ แต่เมื่อดอกเบี้ยยังขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ ถึงจุดหนึ่งมันก็ไปต่อไม่ไหว เพราะการเพิ่มผลตอบแทนของ MBS และ DBO ก็ได้มาจากการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการขอกู้ซื้อบ้านสูงขึ้นนั้นเอง
เมื่อ MBS และ DBO ถูกเทขายมาซื้อธนบัตร ทำให้สภาพคล่องในระบบหายไป เงินสถาบันการเงินเอามาปล่อยกู้ได้ง่าย ๆ ตอนนี้ไม่ง่ายแล้ว เมื่อการอนุมัติเงินกู้ยากขึ้น ค่าใช้จ่ายการกู้ซื้อบ้านสูงขึ้น คนก็ซื้อน้อยลง บ้านที่สร้างไว้ไม่มีคนซื้อ ก็ลด แลก แจกแถม เพื่อให้ขายออก สุดท้ายราคาบ้านทั้งตลาดก็เข้าสู่ขาลง และลดลงไปกว่า 30% จากจุดสูงสุด
อสังหาราคาลดลง 30 %โดยเฉลี่ยก็ถือว่ามากแล้ว แต่ความพินาศจริง ๆ มันมาจาก Synthetic CDO นั้นเอง หาก CDO มีมูลค่า 1 ล้านบาท มันถูกนำไปแทงพนันกันที่มูลค่า 20 ล้านบาท และมันทำให้ความเสียหายที่ควรจะมีไม่เกินมูลค่าของ CDO ทั้งหมดไปไกลกว่านั้นมาก สุดท้ายแล้วแม้แต่สถาบันการเงินระดับโลกยังทนความยั่วยวนของผลตอบแทนทรัพย์สินเหล่านี้ไม่ได้ เอาเงินของตัวเองมาซื้อด้วย ทำให้เมื่อเกิดการถล่มของราคา สถาบันการเงินของสหรัฐต้องล้มละลายกันเพียบ
บทความนี้อาจจะยาวสักหน่อย หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านนะครับ

BottomLiner

ที่มาบทความ: https://www.facebook.com/bottomlinerglobal/posts/5647637601917994

iran-israel-war