อัปเดตกองทุน TMBCOF กองทุนหุ้นจีนยอดฮิต !

จุดเด่นของ TMBCOF

  • เป็น Active Fund (มีผู้จัดการกองทุนเลือกหุ้นให้) ข้อดีคือ หุ้นจีนหลายตัวยังอยู่ในช่วงการแข่งขันที่รุนแรงและนโยบายรัฐมักเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้หุ้นที่เคยเป็นดาวเด่นกลายเป็นดาวดับ ดังนั้นการมีผู้จัดการกองทุนช่วยเลือกหุ้นให้จะสามารถปรับพอร์ตตามสถานการณ์ได้เร็วขึ้น
  • กองทุนลงทุนในหุ้นที่เป็นผู้ชนะอย่างชัดเจนและยังเหลือขนาดตลาดอีกมหาศาลให้ขยายต่อ
  • นโยบายกองทุนจะลงทุนในหุ้นที่มีรายได้เติบโตสูงจากในประเทศจีน แต่ไม่ได้ถูกจำกัดว่าจะต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จีนแผ่นดินใหญ่เท่านั้น ช่วยให้สามารถลงทุนในหุ้นคุณภาพสูงที่มักเลือกเข้าตลาดหลักของโลกอย่าง Nasdaq และ Hong Kong ตัวอย่างเช่น Alibaba เลือกจดทะเบียนในสหรัฐและฮ่องกง (ถ้าเลือกกองทุนหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่จะอด)

แล้วทำไมต้องหุ้นจีน ?!

เมื่อดูเศรษฐกิจรายประเทศในปีนี้ที่โควิดแพร่กระจายไปทั้งโลก จะเห็นชัดเลยว่าจีนเป็นเพียงประเทศเดียวที่สามารถฟื้นตัวแบบ V-Shape สำเร็จ (หดตัวแล้วฟื้นแรงเลย) GDP จีนหดตัวเพียงช่วงไตรมาส 1 แล้วฟื้นตัวดีมาตลอด สวนทางกลับเกือบทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐคู่ปรับสำคัญที่กำลังลุ้นว่าจะต้องรออีกกี่ไตรมาสกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ชัดเจน

การฟื้นตัวแบบ V-Shape ส่งผลดีมายัง TMBCOF ที่หุ้นในพอร์ตส่วนใหญ่พึ่งพาเศรษฐกิจจีน หนุนให้ผลตอบแทนกองทุน +21% แล้ว (นับตั้งแต่ต้นปี) แต่ถ้าเริ่มดูจากจุดต่ำสุดในปีนี้ (เดือนมีนาคม) กองทุนจะ +44% เลย ! (ข้อมูลจาก FINNOMENA วันที่ 18 ตุลาคม 2563 นะครับ ดูข้อมูล TMBCOF ปัจจุบัน

แล้วหุ้นในพอร์ต TMBCOF ที่ได้ผลดีจากเศรษฐกิจจีน V-Shape มีอะไรบ้างมาดูกัน

หุ้นที่ลงทุนมากสุด 5 อันดับเเรก (% ที่กองทุนถือเป็นค่าประมาณ) ข้อมูลของเดือนสิงหาคม 2563

1. Alibaba Group ถือ 10%

E-Commerce ใหญ่อันดับ 1 ในแดนมังกรนั่นเอง มีทั้ง Platform อย่าง Taobao และเว็บไซต์ห้างสรรพสินค้าอย่าง T-Mall ซึ่งล่าสุดเทศกาล 618 เพียงวันเดียวก็ได้ยอดสั่งสินค้าผ่านระบบไปกว่า 7 แสนล้านหยวน

มีการขยายธุรกิจมาในอาเซียนด้วยการลงทุนใน Lazada ที่เป็น E-Commerce อันดับต้น ๆ ในไทย ซึ่ง Alibaba ทำธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ดูแลระบบขนส่งสินค้าไปจนถึงการเก็บเงิน ทำให้สินค้าส่งถึงมือผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว

2. Tencent ถือ 10%

บริษัทเจ้าของ Social Platform อันดับ 1 ของจีน นั้นก็คือ “WeChat” นั่นเอง มีผู้ใช้งานถึง 1,100 ล้านคน ถ้าจะให้เปรียบเทียบ ก็คงเหมือนกับ LINE ที่รวมร่างกับ Facebook+Instagram+Shopee+Grab+Agoda เรียกว่าแอปฯ เดียวครบหมดทุก Social ทำให้คนจีนใช้เวลาในโลกออนไลน์ผ่าน WeChat เป็นส่วนใหญ่

นอกจากนี้รายได้อีกส่วนหนึ่งของ Tencent นั้นมาจากเกมด้วย พูดชื่อไปคนไทยจะต้องรู้จักอย่างแน่นอน เพราะนี่คือบริษัทที่สร้าง RoV นั้นเอง

3. TAL Education Group 9%

ชื่อเต็มคือ Tomorrow Advancing Life บริษัทติวเตอร์ยักษ์ใหญ่ของจีน ที่มีการติวหนังสือแบบสอนในห้องเรียนและติวผ่านทางออนไลน์ โดยมี AI มาวิเคราะห์พฤติกรรมเด็กเพื่อแนะนำหลักสูตรที่เหมาะสมที่สุด เพราะการเเข่งขันทางการศึกษาในจีนสูงมาก ธุรกิจติวเตอร์จึงมีความต้องการมากเช่นกัน รายได้ตั้งแต่ปี 2011 มีการเติบโตสูงเฉลี่ยปีละ 46% แม้จะเกิด Covid ทำให้ต้องสั่งปิดโรงเรียน แต่ TAL ก็ไม่หวั่น หุ้นยังคงทำ High ได้เรื่อย ๆ เนื่องจากเป็นผู้ได้ประโยชน์จากเด็กเรียนออนไลน์

4. Ping An Insurance ถือ 6%

บริษัทประกันรายใหญ่ที่สุดของจีน มีการใช้เทคโนโลยีมาเป็นหลักในการดำเนินธุรกิจ เเละมีการขายประกันออนไลน์ด้วย ในช่วงโควิดที่ผ่านมา ถ้าพิจารณาเพียงธุรกิจประกันภัยของ Ping An บริษัทได้ประโยชน์จากการปิดเมือง (Lockdown) เนื่องจากเมื่อไม่มีคนออกมานอกบ้าน อุบัติเหตุจึงไม่เกิด ไม่มีคนเคลมประกัน ทำให้ Ping An จึงได้กำไรเต็มเม็ดเต็มหน่วย

นอกจากนี้ยังลงทุนธุรกิจอีกมาก เช่น Lufax ให้บริการบริหารทรัพย์สินมีฐานลูกค้ากว่า 20 ล้านคน และเป็นเจ้าของ Ping An Good Doctor ที่เป็น Telemedicine Platform หรือบริการพบแพทย์ออนไลน์ที่มีผู้ใช้งานถึง 250 ล้านคน เรียกได้ว่าเป็นบริษัทที่มีการเตรียมพร้อมกับโลกยุค Digital จริง ๆ

5. Kweichow Moutai ถือ 5%

ชื่อที่คนไทยคุ้นเคย คือ เหมาไถ บริษัทจำหน่ายสุราเกรดพรีเมี่ยมที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในประเทศ ได้ชื่อว่าเป็นเครื่องดื่มประจำชาติ และด้วยเหตุผลนี้กับความนิยมดื่มที่เพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางในจีนจากการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เหมาไถได้รับความนิยมอย่างมาก จึงไม่แปลกเลยที่ Moutai นั้นได้ทำ All-Time High ตลอดแม้จะเป็นยุคโควิดก็ตาม

กองทุน TMBCOF เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่อยากตัดใจพอกันทีกับ “หุ้นไทย” แล้วเราจะทยอยอัปเดตกองทุนหุ้นต่างประเทศที่เด็ด ๆ ออกมาเรื่อย ๆ คอยติดตามกันเลย !

#เราไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ จากการเขียนบทความนี้

BottomLiner

ที่มาบทความ: https://www.facebook.com/bottomlinerglobal/posts/3943207659027672


Jessada Sookdhis
Investment Analyst (IA)
ตรวจทานบทความ

คำเตือน

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน  | สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE “@FINNOMENAPORT”