1.หุ้น BH เป็นหุ้นโรงพยาบาลที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทยรองจาก BDMS มีมูลค่าตลาดประมาณ 138,000 ล้านบาท ในขณะที่ BDMS มีมูลค่าตลาด (Market cap) ประมาณ 419,000 ล้านบาท ซึ่งใหญ่กว่า BH ประมาณ 3 เท่าเลยทีเดียว
2.ในธุรกิจรพ.นอกจากความใหญ่ของมูลค่าตลาดแล้วก็มีจำนวนเตียงที่สามารถนำมาเปรียบเทียบถึงความใหญ่ของรพ.นั้นได้ ปัจจุบัน BH มีจำนวนเตียงจดทะเบียนทั้งสิ้น 580 เตียง ในขณะที่ BDMS มีจำนวนเตียงทั้งสิ้น 8,015 เตียง BDMS จึงถือว่าเป็นกลุ่มรพ.ที่ใหญ่กว่า BH มหาศาล (แต่ถ้านับเฉพาะ BDMS รพ.หลักจะอยู่ที่ 548 เตียง ในกรณีนี้ถือกว่าใกล้เคียงกัน)
3.หากเทียบในเชิงรายได้ BH มีรายได้รวมปี 2560 อยู่ที่ 18,530 ล้าน ในขณะที่ BDMS มีรายได้สูงกว่า BH ประมาณ 4 เท่า ที่ 77,136 ล้าน ก็ค่อนข้างสมเหตุสมผลเมื่อเทียบขนาดของ Market cap และรายได้
4.ถ้าเปรียบเทียบ BH กับรพ.ในตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ด้วยค่า PE ประมาณการปี 2018 BH จะมี PE อยู่ที่ประมาณ 31-32 เท่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 38.8 เท่า และต่ำกว่า BDMS ที่ 40 เท่า BCH ที่ 41 เท่าและ THG ที่แถวๆ 55-60 เท่า
5.จากข้อมูลถือว่า BH เป็นหุ้นรพ.ที่ถูกกว่าเพื่อนๆ พอสมควรเลยทีเดียว แต่ที่ถูกก็อาจจะเป็นเพราะการเติบโตในไตรมาส 3 ปี 2018 ของ BH ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับหุ้นรพ.อื่นๆ BH กำไรโตแค่ 7% ในขณะที่ BDMS โต 19% BCH โต 18%
6.แต่ถ้ามองในมุมของกำไรสุทธิเมื่อเทียบอัตรากำไรสุทธิ BH กลับมีกำไรสุทธิสูงกว่า BDMS มาก โดย BH มีอัตรากำไรสุทธิ (NPM) ในปี 2018 ที่ 21.28% เทียบกับ BDMS ที่ 13.24% BH ถือเป็นหนึ่งในรพ.ที่เก่งและทำกำไรได้ดีมาก
7.ที่อัตราการทำกำไรของ BH สูงกว่า BDMS สาเหตุหนึ่งมาจาก กลยุทธ์ในการทำธุรกิจที่แตกต่างกันแม้ทั้งสองจะเป็นรพ.ไฮโซเหมือนๆ กัน แต่ BDMS จับกลุ่มผู้ป่วยหลายระดับ มีโรงพยาบาลในหลากหลายพื้นที่ ขณะที่ BH เน้นจับกลุ่มผู้ป่วยที่มีรายได้สูง, ผู้ป่วยต่างชาติในเขตใจกลางเมือง และผู้ป่วยโรคร้ายแรงจึงทำให้ทำรายได้ต่อหัวได้มากกว่านั่นเอง
8.BDMS เป็นเจ้าของโรงพยาบาลถึง 46 โรงในประเทศไทย มีรายได้กระจายๆ กันไป ขณะที่ BH มีรายได้หลักมาจากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตรงนานาเท่านั้น (รายได้ 95% ของ BH มาจากที่นี่ ส่วน BDMS รายได้จากรพ.หลักที่ถ.เพชรบุรีมีสัดส่วนประมาณ 20% เท่านั้น) หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน ประท้วง หรือน้ำท่วม ตรงที่ๆ BH ตั้งอยู่การดำเนินงานของ BH จะถูกกระทบมากกว่าของ BDMS
9.จากข้อมูลล่าสุดใน 3Q18 ผู้ป่วยของ BH เป็นผู้ป่วยชาวไทยเพียง 34% เท่านั้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่ของ BH เป็นชาวต่างชาติที่ 66% นับเป็นโรงพยาบาลไทยที่มีลูกค้าเป็นผู้ป่วยต่างชาติมากที่สุดในไทย
10.BH มีลูกค้าจากชาติไหนบ้าง? (แยกโดยใช้ที่อยู่ปัจจุบัน ถ้าเป็นฝรั่งแต่อยู่ไทยก็ถือเป็นไทย) อันดับ 1. ไทย 2. เมียนมาร์ 3. สหรัฐอาหรับเอมิเรส 4. โอมาน 5.คูเวต 6.กัมพูชา 7.บังกลาเทศ 8.กาตาร์ 9.สหรัฐอเมริกา 10.เอธิโอเปีย จะเห็นว่าที่เราเคยเข้าใจว่า BH มีผู้ป่วยตะวันออกกลางเยอะ ก็ต้องบอกว่าเยอะจริงแต่ถ้าดูกันเป็นชาติๆ ไปชาติที่เยอะที่สุดคือเมียนมาร์แล้วนะ
11.รายได้จากผู้ป่วยชาติที่มีการเติบโตต่อไตรมาส (QoQ) ดีๆ ก็เช่นคูเวตโต 40%, จีน 33%, สหรัฐ 25% ในขณะที่ผู้ป่วยชาวไทยซึ่งเป็นส่วนใหญ่ลดลง 6.6% (YoY) แต่เนื่องจากเป็นสัดส่วนที่มากจึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้รายได้ไตรมาสนี้ลดลง
12.ผู้ป่วยจากจีนของ BH ก็โตเยอะแต่คาดว่ายังมีน้อยเลยไม่ติด Top 10 ตอนนี้แทบทุกๆ รพ.พูดถึงผู้ป่วยจากจีนหมด รพ.ใหญ่ๆ แต่ละที่ก็ทำกลยุทธ์ขึ้นมาเพื่อดึงดูดจีนโดยเฉพาะ จีนอาจจะกลายเป็นตลาดที่ต้องแข่งขันสูงไปแล้ว?
13.ที่ผู้ป่วยชาวไทยหายไปเหตุผลนึงก็เพราะที่ผ่านมากลุ่มรพ.เป็นกลุ่มที่กำไรดีมากกกกผู้ป่วยก็แน่นมากกก รพ.แต่ละโรงจึงพยายามกันเต็มที่ๆ จะขยายจำนวนเตียง สร้างตึกใหม่ เพิ่มให้รองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น รวมไปถึงการปรับปรุงบริการต่างๆ ให้ดีและทันสมัยยิ่งขึ้น แม้แต่รพ.ของรัฐอย่างศิริราช หรือจุฬาฯ ก็มีการเปิดตึกใหม่มารองรับผู้ป่วย
14.ปรากฏการณ์นี้จึงทำให้เกิด supply รพ.ใหม่มากมายขึ้นพร้อมๆ กัน กระทบทั้งอุตสาหกรรม ข้อดีคือผู้ป่วยมีตัวเลือกมากขึ้น ข้อเสียคืออาจทำให้การเติบโตของอุตสาหกรรมชะลอได้เพราะความต้องการรพ.เอกชนเติบโตไม่ทันเมื่อทุกรพ.พร้อมใจกันขยาย
15.โดยเฉพาะโรงพยาบาลจุฬาที่อยู่ห่างจาก BH ไม่กี่กิโล เปิดตึกใหม่เป็นโรงพยาบาลขนาด 1,250 เตียงซึ่งถือว่าเป็นขนาด “มหึมา” คุณภาพของแพทย์ที่นั่นก็ไม่ได้แพ้ BH ดังนั้นผู้ป่วยชาวไทยจึงมีอาการหวั่นไหวบ้างเมื่อหมอเก่งพอๆ กัน ตึกใหม่ แต่ราคาถูกกว่า
16.ราคาค่าบริการ BH สูงขนาดไหน? คิดซะว่าถ้าคุณเป็นหวัดแล้วไปหาหมอที่รพ.ทั่วๆ ไปคุณจะเสียเงินไม่เกิน 1,500 แต่ถ้าคุณมา BH คุณจะเสียเงินประมาณ 2 เท่าหรือ 3,000 บาท ถ้าคุณคลอดลูกที่รพ.ทั่วๆ ไปอย่างแพงจะอยู่ที่แถวๆ 40,000-50,000 ไปรพ.กรุงเทพจะอยู่ที่แถวๆ 70,000 แต่ถ้าคุณมา BH จะต้องจ่ายประมาณ 100,000 บาท
17.อย่างไรก็ตามในแต่ละวัน BH ยังมีผู้ป่วยเข้ารักษาพยาบาลมากถึงวันละ 3,114 รายต่อวัน กว่า 71% จ่ายเงินค่ารักษาเองด้วย !!! ถือว่าลูกค้าของ BH เป็นระดับ AAA จึงไม่น่าแปลกที่ BH สามารถขึ้นราคาค่ารักษาพยาบาลได้เรื่อยๆ เพราะขึ้นแค่ไหนลูกค้าก็จ่ายได้อยู่ดี
18.ที่ผ่านมา 8 ปี BH ขึ้นราคาค่ารักษาได้อย่างต่อเนื่อง ขึ้นราคามามากกว่า 12-13 ครั้ง BH ขึ้นราคาเฉลี่ยปีละ 5% ทำให้ที่ผ่านมารายได้เติบโตดีส่วนหนึ่งก็เพราะการขึ้นราคาค่ารักษาด้วย ตอนนี้ด้วยปัญหาหลายๆ อย่างทำให้จำนวนผู้ป่วยของ BH ไม่เติบโต ก็น่าสนใจดีว่าในสถานการณ์แบบนี้ BH จะยังขึ้นราคาได้อีกหรือไม่?
19.ซึ่งแม้จะขึ้นราคาได้ก็จะมีผลเป็นดาบสองคม ข้อแรกยิ่งขึ้นราคาผู้ป่วยที่เป็นโรคหนักมากๆ อาจตัดสินใจไปรักษาที่อื่นแทน ถ้าเป็นคนไทย BH จะเจอคู่แข่งจากทั้งรพ.รัฐและเอกชนของไทยที่กำลังขยายอย่างต่อเนื่อง (อย่างรพ.จุฬาที่ยกตัวอย่างไปแล้ว)
20.ในกรณีชาวต่างชาติ BH ก็จะเจอคู่แข่งซึ่งเป็นรพ.เอกชนชั้นนำด้วยกันเช่น BDMS หรือ BCH ที่ในช่วงหลังก็หันมาใช้วิธีเดียวกันกับ BH ในการหาผู้ป่วยชาวต่างชาติจาก Agency และเสนอราคาให้บริการที่ถูกกว่า BH แพงกว่า BDMS โดยเฉลี่ยประมาณ 20-30% และแพงกว่า World Medical Center ของกลุ่ม BCH ถึง 70-100% เลยทีเดียว
21.หากจำนวนผู้ป่วยลดลงจะยิ่งสร้างปัญหาให้กับ BH ซึ่งมีแผนจะขยายรพ.อย่างต่อเนื่องในอีก 5 ปีข้างหน้าโดยมีงบลงทุนประมาณ 13,000 ลบ. 3 ปีที่ผ่านมาอัตราการครองเตียงของ BH ลดลงเรื่อยๆ จาก 76% ในปี 2558 มาเป็น 64.2% ในปี 2560 สะท้อนถึงจำนวนผู้ป่วยที่ลดลง
22.ทีมผู้บริหารของ BH น่าจะรู้ดีถึงปัญหาข้อนี้ ปีที่ผ่านมาเลยมีการลดต้นทุน, รัดเข็มขัด, ปรับปรุงการบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายลง (ดูจากรายได้ที่ลดลง 1.6% แต่ต้นทุนกิจการรพ.ลดลงถึง 7.8%) แม้แต่แผนขยายรพ.ครั้งใหญ่ที่เคยคิดว่าจะเริ่มลงทุนในปี 2019 ก็เลื่อนไปเป็นปี 2020 และยังมีบอกไว้ด้วยว่าจะขยายต่อเมื่อจำเป็น คือเมื่อคนไข้เริ่มเต็มนั่นแหละ แต่คำถามคือเมื่อไหร่ล่ะ?
23.ช่วงพีคของ BH ตอนที่ยังมีผู้ป่วยตะวันออกกลางมากๆ อาจไม่กลับมาอีกแล้วด้วยหลายเหตุผล 1. โครงสร้างการจ่ายเงินประกันของประเทศตะวันออกกลางที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้ป่วยตะวันออกกลางที่มาประเทศไทยเริ่มต้องจ่ายเองในสัดส่วนที่มากขึ้น ผลก็คือผู้ป่วยเหล่านั้นเริ่มหารพ.ที่สามารถรักษาได้เหมือนกันในราคาที่ถูกกว่า 2. รพ.ในประเทศไทยหลายๆรพ.เห็น BH ทำดีก็ทำตามบ้าง ไปหา Agency เอาผู้ป่วยต่างประเทศเข้ามารพ.ตัวเองบ้าง บางรพ.ไม่มีรพ.ในกรุงเทพฯด้วยซ้ำไป ยังพยายามเปิดศูนย์ให้บริการในกรุงเทพฯ เพื่อจะแย่งชิงผู้ป่วยต่างชาติให้ได้ คู่แข่งในตอนนี้เยอะขึ้นกว่าตอนนั้นมาก
24.แม้ธุรกิจของ BH จะดูเหนื่อย กำไร BH จะไม่ค่อยโตแต่ก็มีธุรกิจที่เติบโตอยู่บ้าง เช่นธุรกิจศูนย์ Wellness Vitallife ที่ปัจจุบันเปิดให้บริการมา 17 ปี ดูแลลูกค้าเฉลี่ย 15,000 รายต่อปี 70-80% เป็นชาวต่างชาติ กว่าครึ่งเข้ามาใช้บริการ Vitallife จากการบอกปากต่อปาก
25.ปัจจุบัน Vitallife มีรายได้ในปี 2560 456 ลบ. เติบโตจากปี 2559 35% กำไร 126 ลบ. เติบโตสูงถึง 50% ปีนี้ฟังจากที่ผู้บริหารพูดในแถลงผลประกอบการถือว่ายังเติบโตแรงไม่ถอย Vitallife นับว่าเป็นธุรกิจดาวรุ่งของ BH แต่คงไม่ช่วยในเรื่องการเติบโตของรายได้และกำไรมากนักเพราะเล็กมาก (สัดส่วนประมาณ 3-4%) เมื่อเทียบกับรายได้ทั้งหมดของ BH นอกจากนั้นยังมีศูนย์ Wellness ของ BDMS ที่ซื้อโรงแรมปาร์กนายเลิศไป มาเปิดแข่งใกล้ๆซึ่งน่าจะเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อกับ Vitallife เลยทีเดียว
26.ผู้ป่วยลูกค้าของ BH ที่ว่ารวยแล้ว ผู้ถือหุ้นใหญ่ BH ก็รวยไม่แพ้กัน ผู้ถือหุ้นใหญ่ BH คือใคร? สิ่งที่หลายๆคนไม่รู้คือ ณ.ตอนนี้ โรงพยาบาลกรุงเทพฯ หรือ BDMS คือผู้ถือหุ้นใหญ่เบอร์ 1 ของ BH ปัจจุบันถือหุ้นอยู่ 24.88% แม้ในปัจจุบันไม่มีอำนาจในการควบคุมหรือบริหารใดๆ แต่ก็ถือว่า BDMS มีหุ้นในสัดส่วนที่มีนัยยะอย่างมาก ผู้ถือหุ้นใหญ่รองลงมาคือกลุ่มกรุงเทพประกันภัยที่ 14.65%
27.แม้ BDMS ยังไม่มีอำนาจควบคุมหรือบริหารใดๆ แต่มันน่าสนใจตรงที่ คนที่ได้ประโยชน์สูงสุดถ้า BH สามารถกลับมาเติบโตได้คือ BDMS และเจ้าของ BDMS คือคุณหมอประเสริฐที่ถือหุ้นใหญ่ BDMS อยู่ 2,893 ล้านหุ้น หรือ 18.47% ของทั้งหมด นั่นหมายความว่าคุณหมอประเสริฐมีผลประโยชน์ในหุ้น BH อยู่ในมือผ่านการลงทุนของ BDMS แล้วกว่า 33 ล้านหุ้นมูลค่ากว่า 6,500 ลบ.
28.BH กำลังจะมีโปรเจคใหม่เป็นศูนย์ Wellness สไตล์รีสอร์ทที่บางกระเจ้า โดยทำร่วมกัน MK (มั่นคงเคหะ) เป็นคนสร้างบ้าน BH ดูแลเรื่องการดำเนินงานของศูนย์ Wellness MINT ช่วยดูแลเรื่องการจัดการศูนย์และอาหาร โปรเจคนี้เป็นโปรเจคขนาด 200 ไร่ มีวิลล่าระดับ 5 ดาว 61 หลัง ฝั่ง BH ลงทุนไม่มากแค่ 270 ลบ. รายละเอียดที่เหลทอยังไม่มีอะไรมากคงต้องติดตามต่อไป
29.BH มีการลงทุนใน บริษัท iDoctor ของสิงคโปร์เจ้าของ App Raksa ซึ่งเป็น App ให้บริการด้าน Healthcare ถือว่าเป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในมุมของเทคโนโลยี หลังจากการเป็นรพ.แรกที่นำ IBM Watson มาใช้ในการวิเคราะห์โรคมะเร็ง
30.สรุปคือปัจจุบันถือว่าหุ้น BH ไม่แพงมากเมื่อเทียบกับหุ้นรพ.อื่นๆ แต่สิ่งที่ท้าทายคือการกลับมาเติบโตอีกครั้งหนึ่งในสถานการณ์อุตสาหกรรมที่มีความยากกว่าเมื่อ 3-5 ปีที่ผ่านมา การแข่งขันก็สูงขึ้นกว่าเดิม ส่งผลกระทบทำให้จำนวนผู้ป่วยไทยลดลงเหมือนเป็นการซ้ำแผลเดิมจากการที่ BH ได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างประกันของตะวันออกกลางทำให้จำนวนผู้ป่วยลดลงใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ไหนจะการลงทุนครั้งใหญ่กว่า 13,000 ลบ. ที่กำลังจะเข้ามากระทบกับผลกำไรในอนาคต (ถ้ายังอยู่ในสถานการณ์แบบนี้นะ)
31.ภาพรวมอุตสาหกรรมดีไหม? ก็ต้องตอบว่ามีโอกาสเติบโตได้เพราะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลต่อ GDP ของประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำที่ 3.8% เมื่อเทียบกับประเทศอย่างมาเลเซียที่ 4%, สิงค์โปร 4.3%, จีน 5.3% และค่าเฉลี่ยโลกที่ 6.3% สะท้อนถึงช่องว่างในการเติบโตในอนาคต
32.ถามว่า BH จะเจ๊งไหม? อันนี้ไม่เจ๊งแน่นอนครับสบายใจได้ แล้ว BH จะถูก BDMS เข้า Takeover ไหม? อันนี้ผมเองก็ตอบไม่ได้แต่ก็ถือว่ามีโอกาส ถ้าอยากรู้คำตอบจริงๆ คงต้องไปถามคุณหมอประเสริฐว่าพี่มาจริงไหมครับ?
เชิญทุกท่านแชร์มุมมองใต้ Comment
ข้อมูลผิดพลาดตรงไหนขออภัยไว้ณ.ที่นี้ด้วยจ้า
แอดมิน Buffettcode
ที่มาบทความ: http://buffettcode.com/bh-2018/
ดูข้อมูลหุ้น BH เพิ่มเติมได้ที่ https://www.finnomena.com/stock/bh
ดูข้อมูลหุ้น BDMS เพิ่มเติมได้ที่ https://www.finnomena.com/stock/bdms
คำเตือน
ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้เขียนบทความนี้มิได้รับค่าตอบแทนหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทที่กล่าวถึงในบทความนี้แต่อย่างใด | ข้อมูลและการคาดการณ์ที่ปรากฏในบทความนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลในอดีตร่วมกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความสมบูรณ์แท้จริงและความแม่นยำของการวิเคราะห์ข้อมูลในอนาคตได้
มือใหม่เล่นหุ้นโรงพยาบาล ต้องรู้อะไรบ้าง? เรียนหุ้นออนไลน์ได้ฟรี! คลิกที่รูปได้เลย