buffett-code-mister-donut-vs-dunkin-donut

ร้านขนมสุดฮิตของคนไทยในตอนนี้คงหนีไม่พ้น “After You”

ด้วยความแปลกใหม่ของ Honey Toast และรสชาติที่ถูกปากคนไทย

ไม่ใช่แค่ After You แต่เรายังมีร้านขนมผุดขึ้นมากมายมีทั้งแพนเค้ก, ไทยากิ, ไอศครีมใหม่ๆ, นํ้าแข็งใสบิงซู

แต่หากเราย้อนเวลากลับไปซักเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว หนึ่งในขนมหวานยอดฮิตของวัยรุ่นในตอนนั้นคือ “โดนัท”

Mister Donut คือร้านโดนัทร้านแรกที่เปิดในประเทศไทยในปี 2521 นำเข้ามาโดยตระกูลจิราธิวัฒน์ นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น เปิดสาขาแรกที่สยามสแควร์

หลังจากนั้นประมาณ 3 ปี Dunkin Donut ก็ตามเข้ามาเปิดโดยเลือกสถานที่เป็นสยามสแควร์เช่นกันเพราะเป็นที่ๆเป็นแหล่งรวมของวัยรุ่นและ Trend ใหม่ๆ

ในสมัยนั้นร้านโดนัทเป็นสถานที่นัดพบสุดอินเทรนด์ เทียบเท่าหรือยิ่งกว่า Starbucks ของสมัยนี้ซะอีก

ตลาดโดนัทในช่วงแรกเติบโตอยู่บนพื้นฐานของเทรนด์,การเป็นแฟชั่นและตลาดพรีเมี่ยม

เมื่อทั้งสองประสบความสำเร็จที่สยามฯก็เริ่มเปิดสาขาครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ

2 รายใหญ่แข่งกันไปแข่งกันมาอยู่ 10 กว่าปีสุดท้าย Dunkin Donut เป็นผู้ชนะในยกแรกด้วยส่วนแบ่งการตลาดกว่า 70%

ส่วนหนึ่งที่ส่วนแบ่งตลาดของ Dunkin Donut เยอะเพราะมีการขายผ่านร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 ด้วย

กลยุทธที่ใช้กันในตอนแรกนั้นคือ “Me Too” strategy ใครออกอะไรทำอะไรอีกฝ่ายทำบ้าง เหมือนกันจนคนซื้อก็งง

โดยหลักๆแล้วแม้จะมีการออกสินค้าใหม่ไปๆมาๆแต่ก็วนๆอยู่ในแป้ง 2 ชนิดคือแป้งเค้กและแป้งยีสต์

อย่างที่บอกไปแล้วว่าตลาดโดนัทในช่วงแรกนั้นเป็นตลาดที่ค่อนข้างพรีเมี่ยมช่องทางการขาย และร้านก็จะกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ

Mister Donut เป็นรายแรกที่เริ่มทำตลาดโดนัทที่เป็นแมส โดยการขยายสาขาออกไปต่างจังหวัดทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของ Mister Donut เริ่มสูงขึ้น

จนกระทั่งปี 2547 Mister Donut ได้ออกแป้งสูตรใหม่มาขายเรียกว่า พอนเดอริง

พอนเดอริงมีรูปร่างที่แปลกใหม่ รสชาติก็ไม่เหมือนเดิมมีความนุ่มหนึบมากกว่าโดนัททั่วไปผลักดันให้ยอดขายของ Mister Donut โตมากถึง 30% จากปกติที่โตแค่ปีละ 10% พอๆกับอุตสาหกรรม โดยในตอนนั้นมียอดขายประมาณ 3 ล้านชิ้นต่อเดือน

ความสำเร็จของพอนเดอริงพลิกให้มิสเตอร์ โดนัทพลิกกลับมาชนะด้วยส่วนแบ่งการตลาดที่ 60% จากที่เคยมีแค่ 30% เท่านั้น

นอกจากนั้นยังส่งผลให้ตลาดโดนัทเติบโตเกินกว่า 1,000 ล้านบาทเป็นครั้งแรกด้วย

หลังจากพอนเดอริง Mister Donut ยังมีการออกสินค้าใหม่ๆโดยอิงความเป็นญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องเช่น โดนัทซูชิ ฟรุตโตะเบอร์รีเป็นต้น

ในปี 2553 โดนัทมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 2, 200 ลบ. Mister Donut มีส่วนแบ่ง 63% Dunkin Donut 30% แบรนด์อื่นๆอย่าง Bapple, Krispy Kreme, Daddy Dough มีส่วนแบ่ง 8%

ปัจจุบันมูลค่าตลาดของโดนัทอยู่ที่ 3,500 ลบ. เติบโตปีละประมาณ 7-10% มีรายใหญ่อยู่ 4 รายคือ Mister Donut มี 340 สาขา, Dunkin Donut 295 สาขา, Daddy Dough 21 สาขาและ Krispy Kreme 26 สาขา โดยคนที่เป็นผู้นำยังคงเป็น Mister Donut ที่ส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 60%

ยอดขายของ Mister Donut ในร้านจะเป็นยอดขายจากโดนัท 80% และเครื่องดื่มที่ 20% โดยพอนเดอริงยังคงเป็นสินค้าที่ขายดีที่สุดของบริษัทคือคิดเป็น 40% ของยอดขายทั้งหมด

จากข่าวล่าสุด กลุ่ม PTT ได้ซื้อ Daddy Dough ไปแล้วกำลังจะขยายในปั้มปตท.เพิ่มมากขึ้น, Dunkin Donut เองก็เข้าตลาดหลักทรัพย์ไทยไปแล้วภายใต้ Mudman (MM) ส่วนเบอร์หนึ่งอย่าง Mister Donut เองก็มีแผนที่จะ Synergy กับกลุ่ม Central เอา Mister Donut กลับเข้าไปขายในร้านสะดวกซื้อนั่นก็คือ Family Mart นั่นเอง

แม้ศึกระหว่าง Mister Donut และ Dunkin Donut จะจบไปแล้วหลายปีโดยมีผู้ชนะคือ Mister Donut จนถึงทุกวันนี้ แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันเราจะเห็นว่าแม้ศึกจะจบแต่สงครามยังไม่จบเพราะแต่ละรายก็เตรียมอาวุธหนักไว้เพื่อจัดการกับคู่แข่งในศึกครั้งต่อไป

สงครามโดนัทครั้งนี้ดูเหมือนจะไม่จบง่ายๆและจะยังดำเนินไปอีกนาน

[ติดตามกลยุทธธุรกิจมันส์ๆและการลงทุนได้ที่เพจ BUFFETTCODE]

Source:

http://www.thaismescenter.com/มวยถูกคู่-mister-donut-vs-dunkin-donuts/

http://positioningmag.com/13290

http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9570000057013

http://marketeer.co.th/archives/88987

http://info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=79012

http://thairetail.blogspot.com/2010/10/donut-krispy-kreme.html

http://www.mfa.go.th/business/th/news/84/12574-สงครามโดนัทเริ่มต้นแล้ว–(ฐานเศรษฐกิจ).html

http://www.icons.co.th/newsdetail.asp?lang=EN&page=newsdetail&newsno=26696

https://board.postjung.com/1000514.html

ที่มาบทความ : http://buffettcode.com/โดนัท/