ทุกสิ่งที่ต้องรู้: กองทุน MS-CORE LTF

ทุกสิ่งที่ต้องรู้: กองทุน MS-CORE LTF

MS-CORE LTF เป็นกองทุน LTF ที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ชนะ SET50 TR Index ที่เป็นดัชนีชี้วัด  MS-CORE LTF ทำผลตอบแทนเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีได้สูงถึง 15.99% SET50 TR Index ทำได้เพียง 14.73%

การเป็นเจ้าของ MS-CORE LTF จะทำให้คุณกลายเป็นเจ้าของธุรกิจดีๆ ที่อยู่ในกองทุนนี้ด้วย เช่น ร้านสะดวกซื้อเซเว่น, สนามบินสุวรรณภูมิ, แอพโอนเงิน KPLUS ของธนาคารกสิกร, แมคโคร, ปั้มน้ำมันปตท. และร้านกาแฟมหาชนอย่างกาแฟ อเมซอน

ถ้าลงทุน 1 ล้านใน MS-CORE LTF เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ปัจจุบันเงิน 1 ล้านบาทจะกลายเป็นเงิน 4.4 ล้านบาทในเวลา 10 ปี ถือเป็นตอบแทนสูงถึง 4 เท่าตัว

ผลตอบแทนเฉลี่ยระยะยาว 10 ปีดี ผลตอบแทนเฉลี่ย 5 ปี MS-CORE LTF สามารถทำได้ 8.42%  3 ปีได้ 12.46% ยังคงชนะดัชนีชี้วัด SET50 TR Index

เมื่อเปรียบเทียบผลตอบแทนกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มแล้ว MS-CORE LTF ทำผลตอบแทนได้ดีกว่ามาก ผลตอบแทนย้อนหลังอยู่ในระดับ ดีมาก ความเสี่ยงเทียบผลตอบแทนอยู่ในระดับดีที่สุด (ผลตอบแทนสูงแต่ความเสี่ยงปานกลาง คุ้มค่าที่จะเสี่ยง) และ การปรับฐานอยู่ในระดับดีที่สุดเช่นกัน (ปรับฐานไม่แรงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย หัวใจไม่วายนะครับ) (อ้างอิงจาก Finnomena 3D Diagram)

อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจใน MS-CORE LTF คือ ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมากองทุนเคยมีผลตอบแทนติดลบแค่ครั้งเดียวเท่านั้นคือปี 2558 ติดลบไป 8.4% เทียบกับ SET50 TR Index ที่เป็นดัชนีชี้วัดติดลบไป 16% ถือว่าทำได้ดีมากแล้วแม้จะติดลบ

MS-CORE LTF มีนโยบายการลงทุนแบบ Active Management เน้นลงทุนไม่ต่ำกว่า 65%  ในหุ้นสามัญที่อยู่ใน SET50 เท่านั้น (พูดง่ายๆคือลงทุน 65% ในหุ้นใหญ่ของตลาดหลักทรัพย์ไทยแหละ) กองทุนมีความเสี่ยงอยู่ในระดับ 6

การลงทุนในหุ้นใหญ่ดีอย่างไร? ก็ดีตรงที่หุ้นใหญ่เหล่านี้มักจะมีความผันผวนน้อยกว่าหุ้นเล็ก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องให้ผลตอบแทนน้อย เพราะในมุมของกองทุนต่างชาติ หากจะเข้ามา ลงทุนในประเทศไทยมักจะเลือกหุ้นใหญ่ก่อน แต่ข้อเสียก็มีตรงที่หุ้นใหญ่จะถูกกระทบด้วยปัจจัยเชิงมหภาคง่าย เช่นการเติบโตของ GDP และ การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของแบงค์ชาติ เป็นต้น 

มาดูกันว่าหุ้นที่ MS-CORE LTF ถืออยู่มีอะไรบ้าง?

อันดับ 1 พลังงานและสาธรณูปโภค 25.56% อันนี้เป็นกลุ่มใหญ่ของตลาดหลักทรัพย์ไทยมานานแล้ว ใจจริงผมไม่ค่อยชอบกลุ่มนี้เท่าไหร่เพราะผลประกอบการค่อนข้างผันผวน แต่จะกองทุนไหนก็มีการถือหุ้นกลุ่มนี้สูงใกล้ๆกันหมด อารมณ์เหมือนเป็นไฟลต์บังคับ

อันดับ 2 ธนาคาร 16.14% กลุ่มนี้ดีกว่ากลุ่มแรกเพราะราคาไม่แพง แม้ในระยะสั้นจะมีผลกระทบจากการปรับตัวครั้งใหญ่เข้าสู่ดิจิตอล แต่ในระยะยาวน่าจะกลับมาเติบโตได้บ้าง ทั้งนี้ทั้งนั้นประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่การเติบโตของเศรษฐกิจอิงอยู่บนธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างมาก ดังนั้นก็น่าจะยังดีไปอีกนานพอสมควร

อันดับ 3 ปิโตรเคมีและเคมีภัณท์ 8.03% แม้ผลประกอบการจะผันผวน แต่ผมชอบกลุ่มนี้มากกว่ากลุ่มพลังงาน ถ้าหุ้นในกลุ่มนี้ปรับตัวไปขายสินค้า High value ที่มี Margin สูงๆได้ก็จะช่วยให้การเติบโตสูงขึ้นในขณะที่ความผันผวนลดลง ปัจจุบันก็ค่อยๆเห็นบริษัทในกลุ่มนี้เริ่มปรับตัวกันบ้างแล้วถือเป็นสัญญาณที่ดี

อันดับ 4 ขนส่งและโลจิสติกส์ 7.67% ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเกินครึ่งของหุ้นกลุ่มนี้คือ AOT เป็นกลุ่มที่ผมคิดว่ามีอนาคตไกลมาก เพราะอยู่ใน Trend ของ Digital และ Tourism

อันดับ 5 พาณิชย์ 7.17% กลุ่มนี้เติบโตได้เรื่อยๆ มีความผันผวนต่ำ กระแสเงินสดดี อนาคตคงมีการนำเอาเทคโนโลยีมาช่วย

กองทุนนี้มีหุ้นที่ผมชอบ 3 ตัวในสัดส่วนที่สูง

หุ้นตัวแรก CPALL ถืออยู่ 6.05% สุดยอดหุ้นในตำนานเจ้าของร้านเซเว่น หนึ่งในบริษัทที่ผมคิดว่าจะได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างจริงจัง ในระยะยาว CPALL น่าจะยังเติบโตได้อย่างไม่มีปัญหาด้วยพื้นฐานที่แข็งแกร่งในหลายๆด้าน การมี CPALL ในพอร์ทถือว่ามี MAKRO ด้วยเพราะ MAKRO เป็นบริษัทย่อย

ปัจจุบัน MAKRO กำลังเปิดตลาดใหม่ด้วยการบุกประเทศกัมพูชาและอินเดีย ในช่วงแรกคงมีผลกระทบระยะสั้นจากการลงทุนอย่างหนักบ้าง แต่ในอนาคตถ้าประสบความสำเร็จได้ก็จะเป็นโอกาสสร้างผลตอบแทนมหาศาล

หุ้นตัวที่สอง KBANK ถืออยู่ 6.04% หุ้นแบงค์รายใหญ่ของไทยที่มีฐานลูกค้าหลักคือ SME เจ้าของแอพจ่ายเงินยอดนิยม KPLUS Mobile Payment คือ หนึ่งในเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนชีวิตคนแน่นอน ปัจจุบันนี้มี App จ่ายเงินที่คนนิยมใช้กันมากๆก็ KPLUS, SCB Easy และ LINE Pay หนึ่งในผู้ชนะก็คงอยู่ใน 3 รายนี้ นี่คือสิ่งที่น่าสนใจที่สุดของ KBANK

หุ้นตัวที่สาม AOT ถืออยู่ประมาณ 5.31% ประเทศไทยเป็นประเทศที่เน้นการท่องเที่ยวอยู่แล้ว โดยการท่องเที่ยวมีมูลค่าสูงถึง 10% ของ GDP ด้วยเหตุนี้ AOT จึงเปรียบเสมือนหุ้นที่ไม่มีวันตาย แถมยังโตวันโตคืน AOT มีรายได้หลักๆจากสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง ทั้งสองสนามบินนี้กำลังจะขยายความสามารถในการรองรับผู้โดยสารด้วยการเพิ่มสุวรรณภูมิเฟส 2 และ Terminal 2 ซึ่งจะทำให้รองรับผู้โดยสารเพิ่มได้อีก 1 เท่าตัวจาก 45 ล้านคนเป็น 90 ล้านคน สนามบินดอนเมืองจะปรับปรุง Terminal 1 ใหม่เพื่อรองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 10 ล้านคน เป็นรวม  40 ล้านคน

นอกจากการขยายสนามบินแล้ว AOT ยังมีแผนที่จะรับโอนสนามบินเพิ่มจากกรมอากาศยาน และเพิ่มค่าธรรมเนียมผู้โดยสารเพิ่มเติมด้วย ซึ่งจะทำให้เป็นผลบวกกับการเติบโตของกำไรทันที ด้วยปัจจัยดังกล่าวทำให้ AOT เป็นหุ้นขนาดใหญ่อันดับ 2 ของประเทศไทย มูลค่า 9 แสนล้านบาทที่มีการเติบโตที่ชัดเจนที่สุดในระยะยาว

ปล.แม้ผมจะไม่พูดถึงหุ้นที่ MS-CORE LTF ถือเยอะที่สุดซึ่งก็คือ PTT ถืออยู่ 10.52% เพราะผมไม่ชอบธุรกิจพลังงาน แต่อีกใจหนึ่งก็ต้องไม่ลืมว่า PTT ยังมีสุดยอดธุรกิจเครื่องดื่มอย่างร้านกาแฟ Amazon และร้านค้าปลีก Jiffy ซึ่งซ่อนอยู่ใน PTTOR บริษัทย่อยของ PTT

สรุปแล้ว MS-CORE LTF เป็นกองทุน LTF ที่มีผลตอบแทนย้อนหลังที่โดดเด่นอย่างชัดเจน ในขณะที่การเลือกหุ้นเติบโตเข้ากองทุนก็สามารถเลือกได้ดี แม้หุ้นที่เลือกจะเป็นหุ้นใหญ่แต่หุ้นแต่ละตัวก็มีปัจจัยเติบโตที่ชัดเจน อยู่บนเมกะเทรนด์โลกที่กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ระยะสั้นอาจมีความผันผวน เหวี่ยงขึ้นลงให้ใจหายบ้าง แต่ระยะยาวยังคงคาดว่าจะเป็นหนึ่งในกองทุน LTF ที่ทำผลตอบแทนได้โดดเด่นอย่างต่อเนื่องคุ้มค่าความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องเผชิญ

ข้อมูลจาก Fund Factsheet 28/09/2018

ดูข้อมูลกองทุน MS-CORE LTF เพิ่มเติมได้ที่ https://www.finnomena.com/fund/MS-CORE%20LTF/

หมายเหตุ: หากสนใจซื้อ LTF & RMF โปรดติดต่อ บลจ. ของกองทุนที่ท่านสนใจ
FINNOMENA ยังไม่มีบริการซื้อขายกองทุน LTF & RMF จ้า


Jessada Sookdhis
Investment Analyst (IA)
ตรวจทานบทความ

คำเตือน

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยงและคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน| ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้เขียนบทความนี้มิได้รับค่าตอบแทนหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทที่กล่าวถึงในบทความนี้แต่อย่างใด | ข้อมูลและการคาดการณ์ที่ปรากฏในบทความนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลในอดีตร่วมกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความสมบูรณ์แท้จริงและความแม่นยำของการวิเคราะห์ข้อมูลในอนาคตได้