กลยุทธ์อมตะของตำนานไอศครีมไผ่ทอง #เลือดข้นไอติมจาง

พูดถึงเรื่องของหวาน เวลานี้ทุกๆ คนคงคิดถึง “ไอศครีมไผ่ทอง” อันเนื่องมาจากดราม่า #เลือดข้นไอติมจาง จะว่าไปแล้วแบรนด์ไอศครีมไผ่ทองนั้นถือว่ายั่งยืนมากเพราะอยู่มาแล้วกว่า 60 ปี แถมมีสาขากระจายทั่วไทยไม่รู้กี่สาขา คนไทย 60 ล้านคนน่าจะเคยกินกันทุกคน วันนี้จะขอพูดถึงธุรกิจของไอศครีมไผ่ทองกัน  (ข้ามประเด็นดราม่าศึกสายเลือดก่อนนะครับ ทุกคนน่าจะหาอ่านกันได้ :P)

ไอศครีมไผ่ทองมีรายได้เติบโตทุกปี ไปช้าๆ แต่มั่นคง

  • ปี 2556 มีรายได้รวม 20 ล้านบาท และมีกำไร 3.3 แสนบาท
  • ปี 2557 มีรายได้รวม 27 ล้านบาท และขาดทุน 6.4 แสนบาท
  • ปี 2558 มีรายได้รวม 29 ล้านบาท และมีกำไร 4.4 แสนบาท
  • ปี 2559 มีรายได้รวม 38 ล้านบาท และมีกำไร 8.3 หมื่นบาท
  • ปี 2560 มีรายได้รวม 36 ล้านบาท และขาดทุน 3.5 ล้านบาท

ส่วนรายได้ของ หจก.ไผ่ทองซีกิมเช็ง ซึ่งเป็นต้นตำรับ ที่จดทะเบียนบริษัทเมื่อปี 2541 ทุนจดทะเบียน 7.5 ล้านบาท

  • ปี 2556 มีรายได้รวม 45 ล้านบาท และมีกำไร 6.1 แสนบาท
  • ปี 2557 มีรายได้รวม 49 ล้านบาท และมีกำไร 6.7 แสนบาท
  • ปี 2558 มีรายได้รวม 65 ล้านบาท และมีกำไร 1.2 ล้านบาท
  • ปี 2559 มีรายได้รวม 66 ล้านบาท และมีกำไร 1.4 ล้านบาท
  • ปี 2560 มีรายได้รวม 75 ล้านบาท และมีกำไร 1.8 ล้านบาท

ไอศครีมไผ่ทองเริ่มต้นได้อย่างน่าสนใจ

เริ่มธุรกิจง่ายๆ จากการรับไอศครีมมาขาย แต่แล้วกลับพบว่าไอศครีมที่รับมานั้นคุณภาพไม่คงที่ หวานบ้าง ไม่หวานบ้าง สู้คู่แข่งลำบาก ด้วยความหวังดีเลยไปบอกเจ้าของโรงงานไอศครีมให้ช่วยปรับปรุง แต่เจ้าของกลับบอกว่า “ถ้าทำได้ก็ไปทำเอาเอง!” จึงเป็นจุดเริ่มต้นของไอศครีมไผ่ทอง

ในช่วงแรกไอศครีมไผ่ทองไม่ได้ชื่อไผ่ทองแต่ชื่อว่า “ไอศครีมหมีบิน”

ชื่อเต็มว่าไอศครีมหมีบินเกาะต้นมะพร้าว มีไอติมรสเดียวคือรสกะทิที่คุณกิมเช็ง แซ่ซีเจ้าของลงมือทำด้วยตัวเอง หลังจากนั้นปรากฏว่าขายดีมาก คุณกิมเช็งเป็นคนมองการไกลก็เริ่มเอาเครื่องจักรมาใช้ในการผลิตไอศครีม

ธุรกิจรุ่งเรืองทำมาได้ปรับปรุงสูตรมาตลอด 20 ปีก็เปลี่ยนชื่อเพราะชื่อ “หมีบิน” ดันไปตรงกับนมตราหมีอาจทำให้คนสับสน และที่มาใช้ชื่อ “ไผ่ทอง” เพราะเป็นชื่อบ้านเดิมของคุณกิมเช็งตอนอยู่เมืองจีน และไผ่ก็ถือเป็นไม้มงคลของคนจีนด้วย

ไอศครีมไผ่ทองไม่เคยลดคุณภาพของไอศครีม ไม่ว่าการแข่งขันจะสูงแค่ไหน แต่เลือกที่จะเปลี่ยนแปลงสูตรขนมปัง, ท๊อปปิ้ง, โคนใส่ไอศครีม และเพิ่มรสชาติของไอศครีมเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยใหม่

หลายๆ คนคิดว่าไอศครีมไผ่ทองเป็นแฟรนไชส์แต่จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นซะทีเดียว เพราะไม่ได้เก็บค่าแฟรนไชส์กับคู่ค้าแต่อย่างใด เพียงแค่มีเงื่อนไขว่าถ้าซื้อของไอศครีมไผ่ทองไปขายแล้วต้องขายแต่ของไผ่ทองเท่านั้น

ส่วนเรื่องกลยุทธ์ก็ไม่มีอะไรมาก ไผ่ทองเน้นขายของดีราคาถูก ตัวแทนจำหน่ายและร้านไอศครีมที่ซื้อไปขายต่อต้องขายแล้วมีกำไร สินค้าก็ทำให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าออกรสชาติไอศครีมที่เป็นตลาดชอบ ข้อดีของกลยุทธ์แบบนี้คือทำให้คู่แข่งเข้ามาแข่งด้วยยากมากเพราะราคามันถูกอยู่แล้ว ส่วนคุณภาพสินค้าก็ดี

ภายใต้ความดุเดือดของตลาดไอศครีม แบรนด์ดังจากต่างประเทศต้องล้มหายตายจากแต่ไผ่ทองรอดมาได้ เคล็ดลับความยั่งยืนของไอศครีมไผ่ทองกลับเป็นอะไรที่ง่ายๆ แต่ทรงพลังอย่างการขายของดีราคาถูก ซึ่งบางทีอาจจะเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุดในการทำธุรกิจแต่หลายๆ คนมองข้ามก็เป็นได้

Source : http://buffettcode.com/00009-paitong/
https://www.thairath.co.th/content/1382900