กับดักตลาดหุ้น

“ตลาดหุ้น” เป็นสถานที่แห่งความมั่งคั่ง ซึ่งได้สร้างความรํ่ารวยให้กับคนจำนวนมากตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา เราอาจจะเห็นญาติสนิทเรากำไรจากหุ้นถึง 7 หลักในระยะเวลาไม่นาน หรือเพื่อนที่ทำงานได้กำไรหลายเท่าจากหุ้น IPO ทำให้หลายๆคนคิดไปว่าการเข้ามาเล่นหุ้นนั้นจะต้องทำให้รํ่ารวยจึงตบเท้าเข้าตลาดหุ้นมาเพื่อที่หวังว่าซักวันจะ “รวยหุ้น” แต่เมื่อเข้ามาเล่นหุ้นได้ซักระยะหนึ่งคนส่วนใหญ่ก็มักจะต้องผิดหวังเมื่อพบว่าตลาดหุ้นนั้นไม่ต่างอะไรกับบ่อนพนันถูกกฏหมายที่มีตัวเลขวิ่งขึ้นลง เดี๋ยวเขียวเดี๋ยวแดงเดี๋ยวได้เงินเดี๋ยวเสียเงินได้ตลอดทั้งวัน สิ่งที่พึ่งได้คงมีแต่ “โชค” เท่านั้นที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้ แต่นั่นก็เป็นเพียงมุมมองเพียงด้านเดียวของตลาดหุ้น

วอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้เคยกล่าวไว้ว่า ตลาดหุ้นจะเป็นการพนันหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการกระทำของคน ถ้าคนที่เข้ามาในตลาดหุ้นคิดจะพนัน ตลาดหุ้นก็จะไม่ต่างกับบ่อนการพนัน แต่ถ้าคนที่เข้ามาในตลาดหุ้นคิดที่จะลงทุนเพื่อสร้างชีวิตอย่างมั่นคง เมื่อนั้นตลาดหุ้นก็จะไม่ใช่บ่อนการพนัน
แต่แค่มองเห็นโอกาสและเปลี่ยนแนวคิดมองตลาดหุ้นใหม่เป็นโอกาสการลงทุนแทนการพนันก็จะทำให้สำเร็จแล้วหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าไม่ เพราะหนทางการลงทุนไม่เคยโรยด้วยกลีบกุหลาบแต่กลับเต็มไปด้วย “กับดัก” ที่พร้อมจะทำลายคุณและเงินลงทุนของคุณได้ทุกเมื่อ

กับดักในตลาดหุ้นก็มีหลายแบบด้วยกัน วันนี้ผมจะขอพูดถึงกับดักยอดนิยม ที่นักลงทุนทุกคนจะต้องเผชิญนั่นก็คือกับดักของมูลค่าที่เรียกว่า “หุ้นถูก” และ “หุ้นแพง” ในตลาดหุ้นนั้นเราไม่วัดความถูกแพงของหุ้นด้วยราคาแต่จะวัดด้วยคุณค่าของหุ้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็อยู่ในรูปของ “ผลกำไรตอบแทนต่อเงินลงทุน” นักลงทุนอาจจะใช้วิธีอย่าง ราคาหุ้นหารด้วยกำไร (P/E) เป็นตัวชี้วัด เช่นหุ้น A มี P/E ที 20 เท่าแต่หุ้น B มี P/E 10 เท่า หมายความว่าหุ้น B นั้นถูกกว่าและหุ้น A แพงกว่าในเชิง P/E แค่นี้เราก็รู้แล้วว่าหุ้นตัวไหนถูกตัวไหนแพง แต่ในความเป็นจริงแล้วหุ้นแต่ละตัวมีลักษณะที่ ต่างกันมากตั้งแต่ประเภทธุรกิจไปจนถึงการเติบโต ทำให้ไม่สามารถประเมินความถูกแพงออกมาเป็นตัวเลขตายตัวได้ซะทีเดียวแล้วจะเปรียบเทียบกันยังไงล่ะทีนี้? นี่ละครับสถานการณ์ที่จะทำให้คุณต้องเผชิญกับ “กับดัก” โดยไม่รู้ตัว

บริษัทที่ดีไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการลงทุนที่ดีในทุกครั้งไป นักลงทุนที่อยากสำเร็จก็พยายามค้นหากิจการที่ยอดเยี่ยมอย่างบัฟเฟตต์แต่มักจะหลงลืมไปว่าราคาที่ซื้อนั้นเหมาะสมแค่ไหน สำหรับหุ้นคุณภาพดีๆ เติบโตสูง มีความแข็งแกร่งในตลาดหลักทรัพย์ไทยของเรานั้นหลายๆตัวมี P/E สูงมากเมื่อเทียบกับหุ้นตัวอื่นๆ แต่แล้ววันหนึ่งเหตุการณ์กลับทำให้เราพบว่าหุ้นเหล่านั้นกลับไม่ได้ดีจริง กว่าจะรู้ตัวก็โดนกับดัก “หุ้นแพง” สาเหตุส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นเพราะกำไรไม่ได้เติบโตอย่างที่คาดไว้ ปัจจัยสำคัญของการซื้อหุ้นแพงคือการเติบโตที่แน่นอน ราคาหุ้นสามารถขึ้นได้อย่างมหาศาลเมื่อเกิดความแน่นอน แต่ในทางกลับกันก็ลงได้มาก เมื่อการเติบโตที่แน่นอนนั้นหายไปหรือเกิดเหตุให้หมดความเชื่อมั่นก็สามารถทำให้ราคาลงหนักได้เช่นกัน นี่คือกับดัก “หุ้นแพง” ที่ผมคิดว่ารุนแรงที่สุด การลงทุนในหุ้นประเภทนี้เราต้องมั่นใจว่าการเติบโตในอนาคตต้องมาพร้อมกับความแน่นอนจริงๆเท่านั้น ซึ่งเป็นส่วนน้อยมากๆนอกจากการเติบโตแล้วยังคงต้องตรวจสอบให้ดีว่าราคาที่ซื้อนั้นเหมาะสมหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่แล้วถ้ามันดูเหมือนหุ้นแพงมันก็คงเป็นหุ้นที่แพงเกินไปจริงๆ

ส่วนในเรื่องของ “หุ้นถูก” นั้นมักจะมีจุดเด่นคือความคุ้มค่าและความเสี่ยงที่ดูเหมือนจะตํ่าโดยมี P/E ตํ่า, มี P/BV ตํ่า หากกับดัก “หุ้นแพง” มาจากอนาคตที่สวยหรู กับดัก “หุ้นถูก” ที่อันตรายก็มักจะอยู่ในอดีตที่ยํ่าแย่ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้หุ้นอยู่ในราคาถูก สิ่งที่เรามักจะคิดคือหุ้นตัวนี้น่าจะไม่แย่ไปกว่านี้อีกแล้วและเมื่อเวลาผ่านไปก็น่าจะกลับไปเติบโตได้ความเสี่ยงน่าจะตํ่า แต่บางครั้งเหตุการณ์ก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น ปัจจัยสำคัญ คือสาเหตุที่ทำให้หุ้นตัวนี้ราคาถูกและทำการประเมินว่ามีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่จะถูกลงไปอีก ด้วยผลประกอบการที่แย่กว่าเดิมหรือโอกาสที่กำไรกลายเป็นขาดทุน หุ้นบางตัวอยู่ในอุตสาหกรรมสินค้าโภคภัณท์ กำไรผันผวนมากขึ้นลงตามราคาตลาดโลกทำให้การประเมินกำไร เป็นไปไม่ได้เลยแบบนี้ก็ควรหลีกเลี่ยง หากลงทุนกับหุ้นประเภทนี้การเลือกเฉพาะบริษัทที่เราเห็นว่าปัญหาจบลงแล้วแน่นอน, อยู่ในอุตสาหกรรมที่ประเมินกำไรได้ ง่ายและไม่มีความเสี่ยงใหญ่ๆที่จะทำให้บริษัทถึงกับ “เจ๊ง” เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากกว่าความถูกของหุ้น

วอร์เรน บัฟเฟตต์เคยกล่าวไว้ว่า “ผมจะไม่พยายามก้าวข้ามรั้วสูง 7 ฟุตแต่จะหารั้วสูง 1 ฟุตที่ผมเดินข้ามได้ง่ายๆ” หุ้นจำนวนมากในตลาดกว่าเป็นหุ้นที่เข้าข่ายยากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นเพราะลักษณะกิจการที่เข้าใจยาก ราคาหุ้นที่แพงจนประเมิน ลำบากหรือ เป็นหุ้นที่ถูกแต่ก็ไม่รู้ว่าระหว่างปัญหาที่เจอกับบริษัทอันไหนจะจบก่อนกัน ไม่ต่างกับหนทางที่เต็มไปด้วยกับดัก ดังนั้นประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่า “ทำ” อย่างไรเราจะหลบกับดักได้หมดแต่อยู่ที่ทำความเข้าใจสิ่งที่อยู่ตรงหน้าและ “เลือก” อย่างไรจึงจะเจอทางที่มีกับดักน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย เพราะการเจอกับดักหนึ่งครั้งจะเกิดความสูญเสียที่อาจจะเล็กน้อยแค่พอเสียใจหรืออาจจะใหญ่หลวงจนทำให้เราต้องจบอาชีพนักลงทุนได้เลย