รีวิวกองทุน TMBCOF: คว้าโอกาสเติบโตระยะยาวจากหุ้นจีน

ปลายปี 2018 ผมมีสัญญากับเพื่อน ๆ ไว้ว่าจะเขียนรีวิวกองทุน TMBCOF ให้ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ค่อยมีเวลา บวกกับผมยังไม่ค่อยเห็นการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลอย่างมีนัยเท่าไหร่เลยผลัดมาเรื่อย ๆ ต้องขออภัยด้วยครับ

ครั้งนี้ที่ผมคิดว่าเป็นช่วงเวลาเหมาะที่จะเข้าลงทุนในกองทุนจีนกองนี้อยู่พอสมควร เพราะหุ้นมีการปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก แม้ยังบอกไม่ได้ว่าที่ผ่านมาเป็นจุดต่ำสุดแล้วหรือไม่ แต่ก็ถือเป็นโอกาสที่น่าสนใจอันนึงที่แฟนคลับเมืองจีนไม่ควรมองข้ามครับ

จุดเด่นของกองทุน TMBCOF

  • เป็นกองทุนแบบ Active เลือกหุ้นที่ทำธุรกิจในจีนและมีการเติบโตสูง
  • มีหุ้นเด่น ๆ ของเมืองจีนครบ ในสัดส่วนที่มีนัยมาก ๆ (คือถือเยอะนั่นแหละครับ)
  • ผู้จัดการกองทุน Bin Shi ถือเป็นคนหนึ่งที่เข้าใจเมืองจีนดีมาก ๆ เพราะเศรษฐกิจจีนค่อนข้างมีเอกลักษณ์ ดังนั้นจะใช้วิธีคิดแบบเดียวกับเศรษฐกิจทุนนิยมทั่ว ๆ ไปทั้งหมดไม่ได้
  • เป็นกองทุนที่เพียบพร้อมด้วยผลตอบแทน การคุมความเสี่ยงและความผันผวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • มีกองทุนที่เป็น RMF สามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ด้วย
  • ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง ถือเป็นโอกาสในการสะสมเพื่อผลตอบแทนในอนาคต

ภาพรวมของกองทุนหุ้นจีน

จริง ๆ แล้วประเทศไทยมีกองทุนที่ลงทุนหุ้นจีนอยู่ราว ๆ 30 กองด้วยกัน ส่วนใหญ่แล้วเป็น Feeder Fund คือกองทุนที่ไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศอีกทีหนึ่ง ซึ่งกองทุนเหล่านั้นแบ่งออกเป็นกองทุนมีนโยบายแบบ Active คือคัดเลือกหุ้นลงทุนเอง กับกองทุนที่มีนโยบายแบบ Passive ลงทุนอิงกับดัชนี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อ ETF

ในเชิงนโยบายการลงทุนที่ชัดที่สุดดูจะแยกออกได้เป็น 2-3 ประเภทด้วยกันคือ 1.ลงทุนเลือกหุ้นเอง 2.ลงทุนแบบ Passive ใน ETF 3.ลงทุนในหุ้นใหญ่ตามดัชนีเช่น CSI300 (หุ้นใหญ่ 300 ตัวในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้) หรือ A50 (หุ้นจีน A-Share ใหญ่ที่สุด 50 ตัวแรกในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และเสิ่นเจิ้น)

สร้างแผนและเปิดบัญชีกองทุนรวมกับ FINNOMENA สะดวก รวดเร็ว เปิดออนไลน์ ไม่ต้องส่งเอกสารให้ยุ่งยาก พร้อมเลือกซื้อกองทุนกว่า 1,000 กอง จาก 22 บลจ. ครอบคลุมทุกบลจ. ในประเทศไทย สร้างแผนและเปิดบัญชี คลิก: https://finno.me/open-plan

รายละเอียดกองทุน TMBCOF

TMBCOF มีชื่อเต็ม ๆ ว่า TMB China Opportunity Fund เป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในกองทุนแม่ (Master Fund) UBS (Lux) Equity Fund – China Opportunity ไม่น้อยกว่า 80% ของสินทรัพย์สุทธิ ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่า TMBCOF ลงทุนในหุ้นจีนที่ Listed อยู่ในตลาดหุ้นทั่วโลก เน้นการคัดเลือกหุ้นจากมุมมองของผู้จัดการกองทุน ไม่เน้นลงทุนตามดัชนี โดยคำจำกัดความแล้วถือว่ากองทุนนี้เป็น Active Fund โดยสมบูรณ์

ข้อดีของการเป็น Active คือโอกาสที่ผู้ถือหน่วยลงทุนจะทำผลตอบแทนได้มากกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นจีนจะมีสูงกว่า การลงทุนแบบ Passive ซึ่งเน้นตามดัชนี ถ้าในระยะยาวผู้จัดการกองทุนสามารถคัดเลือกหุ้นได้อย่างเหมาะสม ผลตอบแทนจะมีแนวโน้มสูงกว่าแบบ Passive มาก แต่ในทางกลับกันถ้าผู้จัดการกองทุนไม่ค่อยเก่ง ก็อาจจะพลาดพลั้งทำให้ผลตอบแทนต่ำกว่าที่คาดไว้ได้ ดังนั้นผู้จัดการกองทุนและบริษัทจัดการกองทุนจึงมีความสำคัญสำหรับกองทุนแบบ Active มาก ๆ

นอกจากเรื่องผลตอบแทนที่มีแนวโน้มสูงกว่าแล้ว ค่าธรรมเนียมการซื้อขายและบริหารจัดการของกองทุนก็สูงกว่ากองทุนแบบ Passive ด้วย เพราะต้องใช้ทีมงานการลงทุนมาช่วยดูแล และตัดสินใจลงทุน ด้วยปัจจัยแบบนี้จึงทำให้กองทุน Active ไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่กับการซื้อ ๆ ขาย ๆ เพราะค่าธรรมเนียมมันสูง แต่เหมาะกับการถือยาว ๆให้ได้ผลตอบแทนเหนือกว่าค่าเฉลี่ย ตามการเติบโตของหุ้นในกองทุนมากกว่า

เมื่อจ่ายค่าธรรมเนียมสูงแล้วผลตอบแทนก็ควรจะต้องสูงตาม มาดูผลงานของ TMBCOF กันว่าที่ผ่านมาเป็นอย่างไร?

ผลตอบแทนที่ผ่านมาของกองทุน TMBCOF

เมื่อดูผลตอบแทนตั้งแต่ก่อตั้งกองทุนมาในปี 2014 จะเห็นว่ากองทุนนี้สามารถทำผลตอบแทน (เส้นสีแดง) ชนะดัชนีชี้วัด (เส้นประสีเทา) ได้เสียเป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันยังคงทำผลตอบแทนชนะดัชนีชี้วัดอย่าง MSCI China 10/40 ได้อยู่อย่างต่อเนื่อง

รีวิวจัดเต็มกองทุน TMBCOF

ที่มา: Fund Factsheet UBS Equity China Opportunity
ธันวาคม 2020

ผลการดำเนินงานในอดีต/ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

เมื่อเทียบระยะกลางที่ช่วงเวลา 3 ปีกองทุนก็ทำผลตอบแทนได้ที่ 54.66% ต่อปีเทียบกับดัชนีชี้วัดที่ทำได้ 30.59% ต่อปี ถือว่าชนะเยอะอย่างต่อเนื่อง

ระยะสั้น ช่วง 1 ปี กองทุนทำผลตอบแทนได้ 28.28% เทียบกับดัชนีชี้วัดที่ 30.75% ถือว่าไม่ห่างกันเกินไป

รีวิวจัดเต็มกองทุน TMBCOF

UBS (Lux) Equity Fund – China Opportunity
ที่มา: UBS.com
ธันวาคม 2020

ผลการดำเนินงานในอดีต/ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

สรุปรวม ๆ เป็นภาษาง่าย ๆ คือ

  1. กองทุนยังสามารถทำผลตอบแทนเหนือดัชนีชี้วัดได้เหมือนเดิม
  2. วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 นับว่าหนักหน่วงที่สุดในประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่ง ตอนนี้หวยออกแล้วคือผ่านมาได้แบบชิวๆ
  3. การขึ้นครั้งนี้คือโอกาสครั้งใหม่ของการเติบโตของหุ้นจีน

ปัจจุบัน TMBCOF ลงทุนใน Sector ไหน? 

ดูจาก Fund Factsheet ของกองแม่ UBS (Lux) Equity Fund – China Opportunity กองทุนมีการลงทุนใน Sector ต่อไปนี้

รีวิวจัดเต็มกองทุน TMBCOF

สัดส่วนการลงทุนตาม Sector
ที่มา: UBS.com
ธันวาคม 2020

หลัก ๆ จะเห็นว่ากองทุนลงทุนในกลุ่ม Financial, Consumer และ Communication เยอะ คือเกินครึ่งของกองทุน ดังนั้นผลตอบแทนของกองจะตามหุ้นกลุ่มเหล่านี้เป็นหลัก

TMBCOF ลงทุนในหุ้นอะไรบ้าง?

หุ้นที่ TMBCOF เข้าลงทุน 10 ตัวแรกจากข้อมูล Fund Factsheet (ธันวาคม 2020)

รีวิวจัดเต็มกองทุน TMBCOF

หุ้น 10 อันดับแรก
ที่มา: UBS.com
ธันวาคม 2020

มารู้จักหุ้นหลักที่กองทุน TMBCOF ลงทุนกันครับ

Tencent ทำธุรกิจอะไรบ้าง?

บริษัททำธุรกิจหลัก ๆ คือเป็นผู้ให้บริการ Social Platform อันดับ 1 ของประเทศจีน WeChat ถ้าไม่รู้จักว่า WeChat คืออะไร? ลองนึกภาพ LINE + Facebook + Instagram + Grab + Shopee + Booking รวม ๆ กัน WeChat เติบโตจากการเป็น Messaging Platform สู่ Super-App ที่ทำได้แทบทุกอย่างตั้งแต่ส่งข้อความ จองโรงแรม แจกอั่งเปา จนไปถึงจีบสาว

  • WeChat มีจำนวนผู้ใช้สูงถึง 1,100 ล้านคน หรือคนจีน 90% ใช้ WeChat
  • ในจำนวนคน 1,100 คนนั้น มีคน 1,000 ล้านคนเข้า WeChat ทุกวัน ตัวเลขคนเข้าใช้ทุกวันแบบนี้แม้แต่ Facebook ยังทำไม่ได้
  • ว่ากันว่าคนจีนตอนนี้ “Meet กันใน WeChat” มากกว่าในชีวิตจริง
  • UBER แอป Ride-Hailing ในจีนเคยต้องพ่ายแพ้ให้กับ Didi Chuxing เพราะถูก WeChat ถอดออกจากแอป
  • 1 ใน 3 ของปริมาณการใช้ข้อมูลทั้งหมดในจีนคือการใช้งาน WeChat
  • มีคน 900 ล้านคนใช้ WeChat ในการจ่ายเงินเป็นประจำทุกเดือน
  • คนจีนใช้เวลากว่าครึ่งในโลกออนไลน์เพื่อใช้ WeChat ส่วนที่เหลือเป็นของแอปฯ อื่น ๆ

รีวิวจัดเต็มกองทุน TMBCOF ปี 2020

สัดส่วน Time Consumption ของการใช้งาน Smart Phone
ที่มา: www.businessofapps.com

ด้วยสถิติเหล่านี้ ก็เพียงพอที่จะบอกได้ว่า Tencent บริษัทเจ้าของแอปมหากาพย์อันนี้ไม่ต่างอะไรกับมาเฟียคุมโลก Digital ของจีนเลยทีเดียว ที่ผมบอกว่าเหมือนมาเฟียเพราะ Tencent ยังมีอีกธุรกิจหนึ่งที่มอมเมาประชาชน ให้ติดกันงอมแงมไม่ใช่แค่ในจีน แต่ทั่วโลก ธุรกิจนั้นคือธุรกิจ “เกมส์ออนไลน์”

Tencent บริษัทเกมส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

รีวิวจัดเต็มกองทุน TMBCOF ปี 2020

สัดส่วนรายได้ของ Tencent
ที่มา: www.tencent.com
วันที่: 18 มีนาคม 2020

รายได้ราว ๆ 1 ใน 3 ของ Tencent มาจากค่าสมาชิกและค่าซื้อไอเท็มในเกมส์ออนไลน์ … ฟังไม่ผิดครับ “ซื้อไอเท็มในเกมส์ออนไลน์” ไม่แม้แต่จะซื้อเกมส์ คนที่จะขายอากาศได้ราคาขนาดนี้ถ้าไม่ใช่ขายไอเท็มในเกมส์ก็คงมีแค่ธุรกิจค้ายาเสพติด ต่างกันคือธุรกิจเกมส์นั้นมอมเมาอย่างถูกกฎหมาย คล้าย ๆ พวกธุรกิจเหล้า บุหรี่ ด้วยรายได้ระดับนี้ส่งผลให้ Tencent กลายเป็นบริษัทเกมส์อันดับหนึ่งของโลก เอาชนะ Sony, Nintendo, Microsoft ที่เคยครองตลาดเกมส์ในโลกมาก่อนอย่างขาดลอย

คำตอบของการเติบโตอย่างรวดเร็วนี้มาจากคำว่า “Takeover” ครับ มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่บริษัทเกมส์จากเมืองจีนจะทำเกมส์ให้คนทั่วโลกติดกันงอมแงม ดังนั้นสิ่งที่ Tencent ทำคือการใช้ความแข็งแกร่งด้านการเงิน และกระแสเงินสดที่ได้จากธุรกิจในจีนไปซื้อบริษัทเกมส์ชื่อดังต่าง ๆ ของโลกมา ผลจึงทำให้เกมส์ดัง ๆ ทั่วโลกตกอยู่ในมือของยักษ์ใหญ่จากจีนแผ่นดินใหญ่รายนี้ โดย Gamer ทั่วโลกอาจไม่รู้เลยว่านี่คือเกมส์ที่มีเจ้าของเป็นคนจีน

รีวิวจัดเต็มกองทุน TMBCOF ปี 2020

อันดับเกมส์ยอดนิยม 10 อันดับแรกของโลก
ที่มา: www.tencent.com
วันที่: 18 มีนาคม 2020

ความสำเร็จในตลาดเกมส์โลกของ Tencent พิสูจน์ได้อย่างชัดเจนเมื่อเกมส์ที่ Tencent เป็นเจ้าของติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกมาถึง 5 เกมส์หรือครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว เกมส์ที่ดังมาก ๆในเมืองไทยอย่าง PUBG ก็เป็นหนึ่งในเกมส์ที่ Tencent เป็นเจ้าของเช่นกัน

Tencent ธนาคารแห่งอนาคต

นอกจาก Social Media และ Game แล้ว Tencent ยังเป็นเจ้าของธุรกิจที่มีความสำคัญ เป็นแกนหลักในการทำธุรกรรมการเงินในอนาคต นั่นก็คือธุรกิจการเงินออนไลน์ครบวงจรที่เริ่มต้นจากการทำแอพกระเป๋าเงินออนไลน์ Tencent Pay และ WeChat Pay

ในปี 2019 ธุรกิจด้านการเงินครบวงจรของ Tencent ทำรายได้สูงถึง 1 แสนล้านหยวน หรือประมาณ 6 แสนล้านบาทไทย เติบโต 39% ธุรกิจหมวดเดียวของ Tencent มีมูลค่าเท่ากับ KBANK, SCB และ BBL รวมกัน Tencent เริ่มต้นทำธุรกิจการเงินอื่น ๆ เช่น บริการ Wealth Management เพื่อบริหารสินทรัพย์และการลงทุนให้กับลูกค้า และ Micro-Finance ให้บริการปล่อยสินเชื่อรายย่อย เป็นธนาคารแห่งโลกอนาคตที่มา Disrupt ธนาคารในโลกดั้งเดิม

ปัจจุบันแอพ WeChat Pay และ Tencent Pay มี Market share ในจีนเป็นสัดส่วนถึง 39% เป็นอันดับสองรองจาก Alipay ของ Alibaba ที่มี Market share 54% แต่ ๆ อย่างที่รู้กัน TMBCOF มีทั้ง Tencent และ Alibaba ดังนั้นใครจะชนะใครจะแพ้ คนถือ TMBCOF ก็ได้ประโยชน์เหมือนกัน

การเป็นเจ้าของ Tencent คือการเป็นเจ้าของบริษัท Social Media ที่ใหญ่ที่สุดในจีน บริษัทเกมส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และระบบการเงิน Social Banking แห่งโลกอนาคต

มังกรคู่เมืองจีนเมื่อมี Tencent ก็ต้องไม่พลาด Alibaba

เมื่อพูดถึง Alibaba คนมักคุ้นหน้าแจ๊ค หม่า ต่อมาจะนึกถึงเว็บไซต์ขายของราคาส่งสั่งตรงจากเมืองจีนได้ แต่ในปัจจุบันธุรกิจของ Alibaba ก้าวหน้าไปมากกว่านั้นมากมาย แถมแจ๊ค หม่าก็ไม่ได้บริหารงานแล้วด้วย (แต่ก็ยังคุมบริษัทอยู่ดีแหละ เหมือนที่คุณธนินท์ CP ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการ แต่ยังก็ยังมีสิทธิ์ มีเสียงในบริษัทอยู่ดี)

Alibaba ทำธุรกิจอะไรบ้าง?

แม้ Alibaba กับ Tencent จะทำธุรกิจเหมือนกันหลายอย่าง แต่ในความเป็นจริงแล้ว 2 บริษัทนี้มีจุดเด่นที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง Tencent เด่นด้าน Social Media และ Game ส่วน Alibaba กินขาดในเรื่อง E-commerce และระบบ Cloud ถ้า Tencent เปรียบเหมือน Facebook Alibaba จะเหมือน Amazon มากกว่า

Platform E-commerce ของ Alibaba เรียกได้ว่าครบวงจรเลยทีเดียว ไม่ได้มีแต่ค้าส่ง แต่มี Market Place ที่คนจีนขายของผ่านเป็นประจำชื่อ Taobao มีเว็บห้างสรรพสินค้าออนไลน์ชื่อ T-Mall 2 Platform นี้รวมกันมีคนเข้าใช้บริการถึงเดือนละ 755 ล้านคนเลยทีเดียว Alibaba ยังมีการขยายธุรกิจมาใน S.E. Asia ด้วยการเป็นเจ้าของซื้อของออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย Lazada

Alibaba มีการทำธุรกิจที่ไม่เหมือน Amazon อย่างหนึ่งคือ Amazon ใช้วิธี Outsource ให้ Partner ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องเช่นขนส่ง แต่ Alibaba เน้นทำเองหมดทุกอย่างตั้งแต่ ขาย-จัดส่ง-เก็บเงิน และนี่คือสาเหตุว่าทำไม การซื้อของจากเมืองจีนใน Lazada ถึงส่งเร็วกว่าในอดีตมาก หนึ่งในเหตุผลคือการทำ Vertical Integration ในทุก ๆ Service นี่แหละครับ

ด้วยเหตุผลนี้จึงไม่แปลกใจที่นับวันสัดส่วนของค้าปลีกดั้งเดิมในจีนจึงลดลงเรื่อย ๆ กลายเป็นซื้อของออนไลน์มากขึ้น ปัจจุบันเกือบ ๆ 1 ใน 5 ของสินค้าอุปโภคบริโภคที่คนซื้อทั้งหมดในจีนซื้อผ่าน Platform Online แล้ว จากเมื่อ 5 ปีก่อนยังอยู่แถวๆ 1 ใน 20 อยู่เลย

รีวิวจัดเต็มกองทุน TMBCOF ปี 2020

การเติบโตของ FMCG Online
ที่มา: www.alibabagroup.com
วันที่: 24 กันยายน 2019

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้ผมเชื่อมาก ๆ ว่าในอนาคต E-commerce Platform ของ Alibaba จะเข้ามาแทนค้าปลีกแบบดั้งเดิมอย่างเสร็จสรรพ อย่างตอนนี้ก็เริ่มมีข่าวมาเรื่อย ๆ ว่าห้างดังหลายห้างในจีนขายกิจการ และคนซื้อก็คือ Alibaba นั่นเอง

จุดเด่นของประเทศจีนคือความรวดเร็ว ผมเห็นสิ่งนั้นใน Alibaba

ธุรกิจ Cloud ได้ชื่อว่าเป็นธุรกิจใหม่ นำโดยผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Amazon Web Service (AWS) และ Microsoft แต่เชื่อหรือไม่ว่าเพียงระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี Alibaba กลายเป็นผู้เล่นอันดับ 3-4 ในอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างสูงนี้

รีวิวจัดเต็มกองทุน TMBCOF ปี 2020

สัดส่วน Market Share ของตลาด Cloud ทั่วโลกในปี 2018
ที่มา: www.alibabagroup.com
วันที่: 24 กันยายน 2019

ธุรกิจ Cloud คือบริการจัดเก็บข้อมูลและประมวลผลผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ลองนึกภาพสมัยก่อนถ้าเราอยากจะเก็บรูปที่ถ่ายไว้เราต้องไปหา Harddisk มาเก็บใช่ไหมครับ แต่ปัจจุบันนี้ไม่ต้องแล้ว ทุกอย่างถูกเก็บอยู่บนระบบ Cloud ที่อัพเกรดเรื่องความเร็ว และการประมวลผลอย่างต่อเนื่อง ยิ่งอินเตอร์เน็ตเร็วแค่ไหน คนยิ่งใช้ข้อมูลมากขึ้น ระบบจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลบนเครือข่ายก็ต้องใหญ่ขึ้น

ตอนนี้แบรนด์ใหญ่ ๆในจีนมักจะใช้บริการ AliCloud ของ Alibaba เจ้าดัง ๆ ก็เช่น ByteDance เจ้าของแอปฯ Tiktok, Xiaomi บริษัท Gadget / มือถือชื่อดัง หม้อไฟเมืองจีน Haidilao หรือแม้แต่ยักษ์ใหญ่จองโรงแรม Booking.com เรียกได้ว่าไม่ใช่แค่คนจีนที่ใช้บริการ Alibaba แต่บริษัทจีนก็ต้องพึ่งพิง Alibaba เช่นกัน

ธุรกิจสุดท้ายของ Alibaba ที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือบริษัท Ant Financial เจ้าของแอปฯ จ่ายเงินออนไลน์ชื่อดัง AliPay ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ทำได้แค่การจ่ายเงินแล้ว แม้จำนวนผู้ใช้งานของ Alipay จะใกล้เคียงกับของกลุ่ม Tencent มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในเชิงลึกผมยังเชื่อว่าระบบการเงินของ AliPay นั้น Advance กว่าของ Tencent หลายเท่าตัว

เงินของคนเกิน 1,200 ล้านคนอยู่บนระบบของ Ant Financial

คนจีนเกือบทั้งประเทศใช้ Alipay แยกแบบละเอียดคือเป็นคนจีน 900 ล้านคนและประเทศอื่น ๆ อีก 300 ล้านคน (ซึ่งอาจจะเป็นคนจีนที่อยู่ต่างประเทศก็ได้) ซึ่งตอนนี้มีบริการซื้อประกัน สินเชื่อ บริการตรวจสอบเครดิต และบริการบริหารสินทรัพย์ บริการเสริมเหล่านี้มีผู้ใช้รวม ๆ กันประมาณ 700 ล้านคน 80% ของผู้ใช้ Alipay ใช้บริการ Alipay มากกว่า 3 หมวดบริการ คือนอกจากใช้เป็นแอพจ่ายเงินแล้ว ยังกู้เงินและซื้อประกันใน Alipay ด้วย และประมาณ 40% ของผู้ใช้ทั้งหมดใช้บริการมากถึง 5 หมวดบริการ

สถิติของผู้ใช้ถือเป็นบททดสอบหนึ่งที่บอกว่าบริการใหม่ที่ Alipay ออกมาได้โดนใจผู้ใช้มากๆ สาเหตุที่ผมพอเดาได้คือการใช้ Big Data มาวิเคราะห์บอกถึงพฤติกรรมของผู้ใช้และความน่าจะเป็นของบริการใหม่ ๆ ที่ออกมาว่าบริการไหนน่าจะ “โดน”

รีวิวจัดเต็มกองทุน TMBCOF ปี 2020

รูปแบบการทำธุรกิจของ Ant Financial
ที่มา: www.alibabagroup.com
วันที่: 9 มิถุนายน 2017

เพราะ Alipay คือ Digital Financial Infrastructure บริษัทโครงสร้างพื้นฐานศูนย์กลางการเงินของทุก ๆ บริการใน Alibaba ดังนั้นข้อมูลทั้งหมดจึงมารวมศูนย์ที่นี่ ไม่ว่าคนจะเงินเยอะ เงินน้อย ทำธุรกิจประเภทไหน ซื้อ-ขายอะไรในชีวิตประจำวัน ข้อมูลเชิงพฤติกรรมเหล่านี้ถูกนำไปเก็บและเอามาวิเคราะห์เพื่อใช้ในการพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ ตลอดเวลา

ที่สำคัญตอนนี้ Ant Financial ยังมีการไปถือหุ้นร่วมเป็นเจ้าของแอพจ่ายเงินในอีก 8 ประเทศ คือ Kakao Pay ในเกาหลีใต้, GCash ฟิลิปปินส์, TouchnGo มาเลเซีย, Dana อินโดนีเซีย, bKash บังกลาเทศ, easypaisa ปากีสถาน, paytm รายใหญ่จากอินเดีย และ Truemoney แอปฯ ยอดนิยมของคนไทย ซึ่งปัจจุบันแอปฯ เหล่านี้ครอบคลุมประชากรกว่าครึ่งโลกเป็นจำนวนคน 3,600 ล้านคนเลยทีเดียว

ธุรกิจของ Alibaba มีหลากหลายมากๆทั้งบริษัทขนส่งดิจิตอล ซูเปอร์มาร์เก็ตแบบไร้คน ธุรกิจส่งสินค้าและอาหาร คล้าย ๆ LINEMAN ขออนุญาตนำไปพูดในอีกบทความหนึ่งนะครับ ไม่งั้นจะยาวเกินไปติดตามกันไว้ได้ครับ

โดยรวม Alibaba กับ Tencent นี่เคยติดอันดับบริษัทที่ใหญ่ที่สุด 10 อันดับของโลก เทียบเคียง Google, Microsoft หรือ Apple เลยนะครับ ยุคนี้กลับมาเป็นยุคปลายักษ์ Digital กินปลาใหญ่ กินปลาเล็ก ถือว่าเป็น 2 ยักษ์ใหญ่ของจีนที่คนลงทุนในจีนห้ามพลาดจริง ๆ

หุ้นอื่น ๆ ของ TMBCOF ต่างก็เป็นหุ้นที่เติบโตและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

TAL Education บริษัทติวเตอร์ออฟไลน์และออนไลน์ขนาดยักษ์ อันดับหนึ่งของโลก

อันนี้ผมไม่มีข้อมูล Backup แต่คิดว่าในโลกนี้ไม่น่ามีบริษัทติวเตอร์ขนาดใหญ่ระดับนี้อีกแล้ว ด้วยระดับ Market Cap 30,000 ล้านเหรียญ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 990,000 ล้านบาท เทียบเท่าบริษัทอย่าง PTT และ AOT ได้เลย

รีวิวจัดเต็มกองทุน TMBCOF ปี 2020

รูปแบบการเรียนการสอนของ TAL Education
ที่มา: 100tal.com
วันที่: มกราคม 2020

TAL รับติวเด็กตั้งแต่ชั้นประถมไปจนถึงจบมัธยม มีวิชาที่ติวตั้งแต่วิชาพื้นฐานอย่างเลขและอังกฤษไปจนถึงวิชาอย่างเคมีและชีวะ บริษัททำรายได้ปีละ 3,200 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 105,600 ลบ.ไทย รายได้ปีละแสนล้านจะไม่ให้ขึ้นแท่นบริษัทติวเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้อย่างไร?

ที่สำคัญถ้าเรารู้จักคนจีนดีพอ เราจะรู้ว่าคนจีนเป็นคนที่จริงจังและเอาเป็นเอาตายกับการเรียนมาก ๆ ประเทศจีนเป็นประเทศที่ลำบากมาก ๆในอดีตมากก่อน ถ้าเราเคยดูหนังจีนจะรู้ว่า ย้อนเวลากลับไปสัก 50 ปีที่แล้วคนที่จะมีชีวิตที่ดีได้ในประเทศจีนต้องเป็นข้าราชการเท่านั้น หรือถ้าย้อนกลับไปเยอะ ๆ หน่อยก็คือต้องไปสอบเป็นจอหงวน การจะเข้าเป็นข้าราชการได้ต้องมีความรู้ สิ่งนี้เลยติดหัวคนจีนในสมัยนั้นมาว่าถ้ามีลูกจะต้องมีความรู้มาก ๆ เพื่อชีวิตโตไปจะได้ไม่ลำบาก คนจีนจึงแข่งขันกันเรียนอย่างเอาเป็นเอาตาย ผนวกกับจำนวนประชากรมหาศาลในจีน ทำให้บริษัทที่ทำธุรกิจกับความรู้ใหญ่มาก ๆ

รีวิวจัดเต็มกองทุน TMBCOF ปี 2020

Momentum การเติบโตของรายได้ที่ยังโตไม่หยุด
ที่มา: 100tal.com
วันที่: มกราคม 2020

แม้ปัจจุบันคนจะเปลี่ยนโหมดการเรียนรู้มาเป็นออนไลน์แทน คลาสเรียนแบบสอนฟรีมีเต็มไปหมด จะทำให้ธุรกิจของ TAL กระทบหรือไม่? ผมคิดว่ามีโอกาสเหมือนกันแต่ในปัจจุบัน Momentum การเติบโตยังดี และ TAL ก็มีการปรับตัวมาสอนออนไลน์มากขึ้น จึงคิดว่าในระยะสั้นอาจมีผลกระทบบ้าง แต่ในระยะยาวยังไม่มีนัยกระทบ

Ping An Insurance ร่วมเป็นเจ้าของบริษัทที่เจ้าสัวธนินท์เลือกแล้ว !

คนไทยอาจไม่เคยได้ยินชื่อประกันผิงอัน แต่ถ้าเป็นคนจีนจะรู้จักกันดีเพราะ Ping An เป็นประกันอันดับ 1 ของจีน และอันดับ 2 ของโลกเป็นรองเพียง Berkshire Hathaway ของ Warren Buffett ในปี 2012 กลุ่ม CP ของเจ้าสัวธนินท์ได้เข้าซื้อหุ้น Ping An จาก HSBC โดยถือหุ้นรวมเป็นสัดส่วน 9.9% มูลค่าประมาณ 5.9 แสนล้านบาท คาดว่าจะเป็น Wealth หลักของกลุ่ม CP เลยทีเดียว

Ping An เป็นผู้นำในธุรกิจประกันชีวิตและประกันทั่วไปของจีนซึ่งกำลัง Digitalized ตนเองเพื่อเข้าสู่ยุค Internet เต็มตัว Ping An เป็นเจ้าของธุรกิจ Digital ยุคใหม่หลายธุรกิจด้วยกัน เช่น

  • Lufax – ธุรกิจ Digital Wealth Management ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีลูกค้ากว่า 20 ล้านราย และเงินลงทุนภายใต้การจัดการ 60,000 ล้านเหรียญ Lufax ยังมีธุรกิจสินเชื่อออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีนด้วย
  • Ping An Wanjia Clinic – Platform เบื้องหลังการทำงานของคลินิก 50% ทั่วเมืองจีน
  • Ping An Health Connect – Platform บริหารจัดการระบบประกันสุขภาพของรัฐบาล ซึ่งครอบคลุม 50% ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนจีนทั่วประเทศ
  • Ping An Good Doctor – Platform Telemedicine ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีผู้ใช้แล้ว 250 ล้านคน ซึ่งบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงด้วย ปัจจุบันมูลค่าประมาณ 490,000 ล้านบาท (ใหญ่กว่า BDMS) ล่าสุดรายได้จากธุรกิจ Online Medical Service โตสูงถึง 109%

รีวิวจัดเต็มกองทุน TMBCOF ปี 2020

ตู้โรงพยาบาลและจ่ายยาของ Ping An Good Doctor
ที่มา: caixinglobal.com 

Lee Yuansiong Co-CEO ของ Ping An Insurance ได้กล่าวไว้ว่า “รูปแบบธุรกิจของเราคือการเป็น 7-11 ของผลิตภัณท์ทางการเงินครบวงจร” นอกจากนั้นยังขยายไปในธุรกิจ Healthcare ยุคใหม่ด้วย เป็นอีก Deal ของเจ้าสัวธนินท์ที่ผมว่าคู่ควรแก่การติดตามมาก ๆ ครับ

Kweichow Moutai เหล้าจีนดีกรี Blue Label

“ถ้าพระเจ้าสร้างโลก ที่เหลือสร้างโดยจีน” คือคำกล่าวติดตลกที่ผมเคยได้ยินนักลงทุนรุ่นพี่บอก ดูในความเป็นจริงก็อาจจะเป็นอย่างนั้น เพราะจีนคือประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก และเป็นประเทศที่กำลังเป็นว่าที่เขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกเช่นกัน ดังนั้นไม่ว่าจีนทำอะไร มักจะทำให้ธุรกิจนั้น ๆใหญ่ที่สุดในโลกได้ไม่ยากนัก

รีวิวจัดเต็มกองทุน TMBCOF ปี 2020

ขนาดและรูปแบบต่าง ๆ ของเหมาไถ
ที่มา: Nikkei Asian Review

หุ้นตัวนี้ก็เป็นอีกตัวที่มาพร้อมกับดีกรีใหญ่ที่สุดในโลก “เหล้าขาวเหมาไถ” และน่าจะเป็นบริษัทที่เก่าแก่ที่สุดในพอร์ตของ TMBCOF ด้วยเพราะเหมาไถนั้นมีประวัติยาวนานถึง 2,000 ปี ตั้งแต่ในสมัยราชวงศ์ฉิง เลยทีเดียว

เหมาไถเป็นเหล้าขาวประเภทหนึ่งที่ผลิตจากน้ำในแม่น้ำฉื่อสุ่ย เมืองเหมาไถ มณฑลกุ้ยโจว ในประเทศจีนเท่านั้น แบบเดียวกับที่เหล้าคอนญัคต้องผลิตมาจากเมืองคอนญัค ประเทศฝรั่งเศส และวิสกี้ที่ต้องมาจากสก็อตแลนด์เท่านั้น

รีวิวจัดเต็มกองทุน TMBCOF ปี 2020

ประธานาธิบดี Nixon
ที่มา: caixinglobal.com

เหมาไถเป็นต้นแบบสุราจีนที่มีความหอมแบบดั้งเดิม จึงถึงยกย่องว่าเป็น “สุราประจำชาติจีน” และเป็นเครื่องดื่มที่ใช้รับรองแขกระดับประเทศเช่นประธานาธิปดีริชาร์ด นิกสันและ บิล คลินตันเป็นต้น จากตอนนั้นเป็นต้นมาเหมาไถกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการเจรจาและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

“ทุกปัญหาและความขัดแย้งแก้ไขได้ ด้วยเหมาไถ” – เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ กล่าวกับ เติ้งเสี่ยวผิง

เหมาไถผลิตด้วยกระบวนการดั้งเดิม ผลิตเพียงปีละครั้ง ใช้วัตถุดิบเช่นข้าวสาลี ข้าวฟ่าง ผ่านกระบวนการ 165 ขั้นตอน ใช้เทคนิคเฉพาะ 82 วิธี นึ่ง 9 ครั้ง หมัก 8 ครั้ง กลั่น 7 ครั้ง และใส่ไว้ในหม้อดินเป็นเวลา 5 ปี เพื่อให้ได้รสชาติแอลกอฮอลล์ที่นุ่มนวล ด้วยตำนาน กระบวนการผลิตที่ซับซ้อน และปริมาณการผลิตที่จำกัด ทำให้เหมาไถ 1 ขวดมีราคาเริ่มต้นที่สูงถึง 9,000 บาท

รีวิวจัดเต็มกองทุน TMBCOF ปี 2020

วิธีการผลิต Moutai แบบดั้งเดิม
ที่มา: moutaithailand.com

ปี 2019 กำไรของ Moutai ยังเติบโต 17% จากรายได้ที่เติบโต และอัตราการทำกำไรที่ดีขึ้น ในปี 2020 คาดว่ารายได้จะเติบโตไม่น้อยกว่า 10% ถือเป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่ยังเติบโตได้ Double-Digit ปกติจะหายากในประเทศไทย แต่พอไปจีนแล้วการเติบโตระดับนี้เหมือนเป็นเรื่องธรรมดาไปเลย

Yihai International Holding เบื้องหลังความสำเร็จของบริษัทสุกี้และหม้อไปทั่วโลก

เนื่องจากบริษัทนี้เป็นบริษัทที่อยู่เบื้อหลังเสียเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่แปลกที่คนมักจะไม่ค่อยรู้จัก แต่ถ้าพูดถึงลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทนี้ ผมคิดว่าทุกคนต้องร้องอ๋อ ! บริษัทเป็น Supplier ของเชนหม้อไฟรายใหญ่ของจีน Haidilao สินค้าหลักของบริษัทคือเครื่องปรุงสำเร็จต่างๆที่ใช้ในหม้อไฟ สัดส่วน 65.7% เครื่องปรุงต่าง ๆ 9.2% และอาหารสำเร็จรูป Ready-to-Eat 23.3%

รายได้เครื่องปรุงหม้อไฟราว ๆ 38% มาจากบริษัทที่เกี่ยวข้องกันคือ Haidilao นั่นเอง นั่นก็หมายความว่าการเติบโต 1 ใน 3 ของบริษัทนี้อิงอยู่กับ Haidilao ที่กำลังขยายสาขาแบบดุดัน ทำให้ได้ประโยชน์ยอดขายโตตามไปด้วย

รีวิวจัดเต็มกองทุน TMBCOF ปี 2020

ภาพราคาหุ้น Yihai International
ที่มา: tradingview.com

รายได้ปี 2019 ของ Yihai โตสูงถึง 59% ที่ผ่านมาหุ้นขึ้นมาจากแถว ๆ 4 ฮ่องกงดอลลาร์ มาเป็น 60 ฮ่องกงดอลลาร์ มีการลงไปปรับฐานช่วง COVID-19 เล็กน้อย หลังจากนั้นดีดตัวอย่างรุนแรงกลับมาปิดที่ราคา All-time-high ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด หุ้นตัวนี้มีโอกาสเป็นหุ้นนำตลาดในช่วงหลัง COVID-19 เลยทีเดียวเพราะแม้สถานการณ์จะดูลบ แต่หุ้นกลับไม่ลงเลยแม้แต่น้อยนับว่าแข็งแกร่งมาก ๆ

โดยภาพรวมหุ้นที่กองทุน TMBCOF ถือค่อนข้างหลากหลาย แต่ละตัวเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมของตนเองอย่างชัดเจน การเติบโต 2-Digit มีให้เห็นแทบทุกตัว ทั้งนี้ต้องให้ Credit กับผู้จัดการกองทุนคุณ Bin Shi ด้วยที่เลือกหุ้นได้อย่างแม่นยำ

Bin Shi ผู้จัดการกองทุนจีนแท้ เรทติ้ง AAA

Bin Shi เป็นหนึ่งในสมาชิกทีม Global Emerging Market and Asia-Pacific Equities ที่ UBS Asset Management ในฮ่องกง โดยเขาเป็นคนดูแลกองทุนหุ้นจีนทั่วโลก ก่อนเขามาทำงานที่ UBS เขาเคยทำงานที่ Boshi Fund Management ซึ่งเป็นบริษัทจัดการกองทุนรวมที่ใหญ่ที่สุดในจีนแห่งหนึ่ง ก่อนหน้านั้นเขาเคยทำงานอยู่ในสหรัฐฯ ถึง 8 ปี ในฐานะ Portfolio Manager และ นักวิเคราะห์ ปัจจุบันเขาทำงานอยู่กับ UBS มาได้ 14 ปีแล้ว

Bin Shi ดูแลกองทุนของ UBS ทั้งสิ้น 4 กอง

  • UBS (Lux) Equity Fund China Opportunity
  • UBS (Lux) Investment China A Opportunity
  • UBS (Lux) Equity Fund Greater China
  • UBS (Lux) Equity Sicav All China Opportunity 

ทุกกองทุนทำผลตอบแทน 1 ปีติดอันดับที่ 8-14 จากกองทุนจีนทั้งสิ้น 133 กอง ถือว่าเป็นสถิติที่ไม่ธรรมดา ส่วนตัว Bin Shi เองนอกจากจะมีเรทติ้ง AAA แล้วยังทำผลตอบแทนติดอันดับ 3 ของโลก จากผู้จัดการกองทุนที่ลงทุนในจีนทั้ง 105 คน

รีวิวจัดเต็มกองทุน TMBCOF ปี 2020

ภาพเรทติ้งของ Bin Shi
ที่มา: citywireasia.com

ด้วยความที่ผลตอบแทนของกองทุนโดดเด่น ผู้จัดการกองทุนมีความสามารถ ทำให้กองทุนแม่ของ TMBCOF กองทุน UBS (Lux) Equity Fund China Opportunity มีเงินไหลเข้าในช่วง 3 เดือนถึงกุมภาพันธ์ เป็นจำนวนเงิน 802 ล้านเหรียญ ติดอันดับกองทุนที่เงินไหลเข้ามากที่สุดแห่งหนึ่ง

TMBCOF อยู่ในมือของผู้จัดการกองทุนที่พร้อมทั้งความสามารถและประสบการณ์

ภาพรวมการเติบโตของประเทศจีน

แม้การเติบโตของจีนจะชะลอตัวลง แต่ภาพรวมของเศรษฐกิจจีนยังไม่เปลี่ยน จีนยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตของเศรษฐกิจสูงสุดอยู่ดี ขนาดประชาการมากที่สุดในโลก เทคโนโลยีล้ำสมัย การบริหารจัดการนโยบายที่แม้จะเป็นสไตล์ “รวบรัดอำนาจการตัดสินใจ” ไว้ที่รัฐบาลกลาง แต่ก็อาจจะเป็นระบบที่เหมาะสมในการบริหารจัดการประชากรกว่า 1,300 ล้านคนแล้วก็ได้ ไม่มีทฤษฎีไหนบอกว่าประเทศต้องเป็นระบอบทุนนิยมประชาธิปไตยแบบ 100% ถึงจะประสบความสำเร็จ ประเทศยุโรปหลายๆประเทศก็ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย 100% แต่ประชาชนก็มีชีวิตที่ดี มีการศึกษาที่ดีได้ ประเทศจีนเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ผมคิดว่าค่อนข้างมี “เอกลักษณ์เฉพาะตัว” สูง ดังนั้นจะมองเศรษฐกิจจีนด้วยสายตาชาวตะวันตก ก็อาจจะไม่เหมาะสมนัก มีแต่คนจีนแบบ Bin Shi ที่จะเข้าใจเมืองจีน และเศรษฐกิจจีนได้ดีพอ

ความเสี่ยงของประเทศจีน 

ความเสี่ยงของประเทศจีนมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Shadow Banking, ปริมาณหนี้ที่สูงกว่าที่รายงาน, การปกครองแบบเบ็ดเสร็จของสี จิ้นผิงและพรรคคอมมิวนิสต์ที่ก็ไม่แน่ใจว่าจะยังสำเร็จในระดับเดิมไหมในอนาคต ในยุคที่ Internet เป็นใหญ่ กำแพงเมืองจีน Digital จะบล๊อค Internet และชาวจีนออกจากโลกได้ไปอีกกี่ปี และถ้าบล็อกไม่ได้แล้วอะไรจะเกิดขึ้น? สิ่งเหล่านี้คือความเสี่ยงที่น่าจับตามองของประเทศจีน ซึ่งผมจะขออนุญาติสรุปความเสี่ยงและภาพรวมการเติบโตของจีนอีกครั้งในบทความหน้าครับ รายละเอียดมากจริง ๆ

ขอทิ้งท้ายด้วยสิ่งที่น่าสนใจของบทความหน้าสั้น ๆ ว่า หลังจากการแพร่ระบาดของโรค SARS ในปี 2003 GDP จีนโตไป 4 เท่าครับ นั่นหมายความว่าถ้าเศรษฐกิจมันจะโต ให้มีโรคระบาดก็ทำอะไรการเติบโตไม่ได้ ตอนนี้การใช้ถ่านหินซึ่งเป็น Indicator หลักในการบ่งบอกถึงการใช้พลังงาน หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนกำลังมีการกลับตัวอย่างรวดเร็ว ความหนาแน่นของการจราจรบนท้องถนนจีนก็เพิ่มขึ้นอย่างเร็วเช่นกัน

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคของจีนที่เปลี่ยนจาก Offline ไปเป็น Online จะทำให้หลาย ๆ Sector อย่าง ติวเตอร์ออนไลน์ บริการทางการเงิน และบริการสุขภาพได้ประโยชน์ บริษัทใหญ่ ๆจะได้ประโยชน์จากการล้มตายของบริษัทคู่แข่งเล็ก ๆ นี่เป็นภาพรวมคร่าว ๆ ของบทความถัดไป

แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้า รับรองว่าเจาะลึก รายละเอียดจัดเต็มอีกแน่นอนครับ !

BuffettCode

สร้างแผนและเปิดบัญชีกองทุนรวมกับ FINNOMENA สะดวก รวดเร็ว เปิดออนไลน์ ไม่ต้องส่งเอกสารให้ยุ่งยาก พร้อมเลือกซื้อกองทุนกว่า 1,000 กอง จาก 22 บลจ. ครอบคลุมทุกบลจ. ในประเทศไทย สร้างแผนและเปิดบัญชี คลิก: https://finno.me/open-plan

ที่มา:

https://www.ubs.com/au/en/asset-management/insights/emerging-markets-and-china/2020/china-out-of-lockdown-recovery.html
https://www.zdnet.com/article/daily-active-user-of-messaging-app-wechat-exceeds-1-billion/
https://www.statista.com/statistics/255778/number-of-active-wechat-messenger-accounts/
https://www.businessofapps.com/data/wechat-statistics/
https://www.businessinsider.com/china-fintech-alipay-wechat
https://www.digitalinsuranceagenda.com/thought-leadership/the-vision-behind-ping-ans-success-story/
https://www.scmp.com/business/money/investment-products/article/2043685/ping-adds-10000-china-clinics-its-health-care
https://www.caixinglobal.com/2019-03-01/ping-an-healthcare-still-in-the-red-despite-strong-revenue-growth-101386135.html

Jessada Sookdhis
Investment Analyst (IA)
ตรวจทานบทความ

คำเตือน

ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน |  ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน |  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทหารไทย จำกัด และ บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE “@FINNOMENAPORT”