บัตรเครดิตเค้าให้จ่ายขั้นต่ำได้ แต่ทำไมถึงไม่ควรจ่ายขั้นต่ำ !? ทำไมการจ่ายขั้นต่ำถึงน่ากลัวขนาดนั้น ก็ในเมื่อธนาคารเค้าก็บอกตัวเลขสำหรับการจ่ายขั้นต่ำมาให้เอง ใครที่กำลังมีคำถามในใจแบบนี้ มาหาคำตอบกัน

วิธีการทำงานของบัตรเครดิต

  • ทุกครั้งที่เราจ่ายบัตรเครดิต ก็เสมือนว่าธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตได้ทำรายการจ่ายเงินแทนเราให้กับร้านค้าไปก่อนแล้ว ซึ่งก็จะหมายความว่า จริง ๆ แล้วเราน่าจะกำลังเป็นหนี้บัตรเครดิตทุกครั้งที่ได้ใช้บัตร
  • แต่ตามสัญญาการใช้บัตรเครดิตจะมี “ระยะเวลาปลอดหนี้” หรือ Grace Period มาให้ โดยที่หากยังไม่พ้นระยะเวลาตรงนี้ไป ก็จะยังไม่ถูกนับว่าเราเป็นหนี้บัตรเครดิต และดอกเบี้ยก็จะยังไม่ถูกคำนวณเลย เหมือนว่าธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตเค้าจ่ายเงินให้เราก่อนตลอดทั้งเดือน แบบฟรี ๆ

ผลลัพธ์จากการจ่ายแค่ขั้นต่ำ

  • เท่ากับการที่เราจ่ายบัตรเครดิตไม่ครบจำนวน ภายในวันครบกำหนดชำระ
  • ทำให้เกิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมา ก้อนในเวลาเดียวกัน
  • ยกตัวอย่างว่า สมมติเราใช้บัตรเครดิตรูดซื้อสินค้าไป ราคา 10,000 บาท เมื่อถึงวันครบกำหนดชำระ เราเลือกจ่ายแค่ขั้นต่ำ 5% คือ 500 บาท
  • จะเกิดดอกดอกเบี้ยก้อนแรก คือก้อนที่คำนวณจากเงินราคาสินค้า 10,000 บาททั้งจำนวน ที่เราเคยให้ธนาคารออกเงินให้ร้านค้าก่อน เมื่อไม่จ่ายคืนให้ครบจำนวนในวันนี้ ธนาคารก็ขอคิดดอกเบี้ยเป็นรายวันย้อนไปถึงวันที่ได้ใช้บัตรแบบเต็มจำนวน
  • ก้อนที่สอง คำนวณจากเงินต้นคงเหลือหลังจ่ายขั้นต่ำ เช่น ตามตัวอย่างเมื่อได้จ่ายขั้นต่ำไป 500 บาทจากราคาสินค้า 10,000  เหลือเงินต้นคงเหลือ 9,500 บาท ธนาคารก็จะคำนวณดอกเบี้ยจากเงินต้นก้อนนี้เป็นรายวันไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงวันครบกำหนดจ่ายบัตรเครดิตรอบถัดไป เพราะวันที่เราได้จ่ายขั้นต่ำ ถือว่าเป็นการทำรายการในรอบการใช้บัตรครั้งถัดไป
  • สมมติว่าเราใช้วิธีจ่ายขั้นต่ำ 5% ไปเรื่อย ๆ มันก็ถูกวนเป็นรายการใหม่ในรอบการใช้บัตรเครดิตครั้งต่อไปไปเรื่อย ๆ เอาเฉพาะแค่รายการนี้รายการเดียว ก็หาทางลงยากแล้วว่าจะวนจ่ายจนเคลียร์บัตรจนครบได้เมื่อไหร่
  • ส่วนมากเวลาใช้บัตรเครดิต ใคร ๆ ก็ใช้รูดซื้อกันมากกว่ารายการเดียวอยู่แล้ว ก็ยิ่งทำให้หาทางออกจากวงจรบัตรเครดิตได้ยากขึ้
  • นอกจากนี้เมื่อได้จ่ายขั้นต่ำไปครั้งนึง ธนาคารเค้าก็จะไม่มี “ระยะเวลาปลอดหนี้” ให้อีกต่อไป หมายความว่าทุกยอดใช้จ่ายหลังจากนั้น จะถูกคิดดอกเบี้ยเป็นรายวันวนไปเรื่อย ๆ อีกเช่นกัน
  • และที่สำคัญ อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตสูงมาก โดยทั่วไปจะอยู่อัตรา 16% ต่อปี และยังถูกคำนวณเป็นรายวันอีกด้วย

วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของบัตรเครดิต

  • สร้างความสะดวกสบายให้ผู้ใช้จ่าย ทำให้ไม่ต้องพกเงินสดจำนวนมากไปไหนมาไหน
  • ได้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่พ่วงมากับบัตร เช่น ส่วนลด สะสมแต่ม ร้านค้า ที่จอดรถ ที่นั่งพักส่วนตัวในสนามบิน หรือสิทธิผ่อนจ่าย 0% เป็นต้น
  • ทำให้ผู้ที่มีบัตรเครดิตสามารถคงสภาพคล่องเอาไว้กับตัวเองได้นานที่สุด สมมติว่าเราเป็นฟรีแลนซ์ที่รับจ้างผลิตสินค้าบางอย่าง แทนที่จะต้องลงทุนซื้อวัสดุอุปกรณ์โดยใช้เงินสดของตัวเอง ก็สามารถใช้บัตรเครดิตรูดจ่ายก่อนได้ พอถึงวันที่ได้รับเงินค่าจ้างผลิตสินค้าจากผู้ว่าจ้าง ก็สามารถนำค่าจ้างที่ได้มาไปจ่ายค่าบัตรเครดิตต่อได้เลย ทำให้สามารถสร้างงานสร้างรายได้ได้ โดยที่ยังไม่ต้องเข้าเนื้อตัวเองก่อนเลยสักบาท เป็นต้น

คำแนะนำในการใช้บัตรเครดิต

  • สิ่งสำคัญคือการวางแผนการใช้บัตรให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าที่สุด
  • ดังนั้นใครที่มีบัตรเครดิตก็ควรจ่ายค่าบัตรเครดิตให้เต็มจำนวน หลีกเลี่ยงการจ่ายขั้นต่ำเท่าที่จะทำได้