หลายคนอาจเคยเข้าใจว่า ฟรีแลนซ์เป็นอาชีพอิสระที่ต้องพึ่งพาตัวเอง 100% แต่ไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว ปัจจุบันได้มีกองทุนที่เข้ามาช่วยรองรับสวัสดิการเงินบำนาญให้กับฟรีแลนซ์โดยตรงแล้ว นั่นก็คือ กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. นั่นเอง มาดูรายละเอียดกันเลย 

กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) คืออะไร?

  • กอช. เป็นกองทุนที่ทำหน้าที่คล้ายกับกองทุนเงินชราภาพจากประกันสังคม เป็นกองทุนที่การันตีเงินบำนาญให้กับสมาชิกเมื่อได้ออมตามเงื่อนไข
  • ต่างกันตรงที่ กอช. เป็นกองทุนที่จัดตั้งมาเพื่อฟรีแลนซ์ที่ไม่มีระบบสวัสดิการอื่น ๆ ในรัฐรองรับโดยเฉพาะ
  • ไม่บังคับออม นั่นก็คือสมาชิกสามารถเลือกออมได้เองตามความสมัครใจ
  • เมื่อครบอายุเกษียณที่ 60 ปี ก็จะจ่ายเงินให้ในรูปแบบเงินบำนาญรายเดือนเท่านั้น

สิ่งที่พิเศษมาก ๆ สำหรับการออมใน กอช.

  • เราจะมีสิทธิได้รับเงินสมทบจากรัฐบาลให้ตามขั้นอายุของเรา ยิ่งอายุมาก รัฐก็จะยิ่งช่วยสมทบให้มาก
    • ถ้าอายุ 15-30 ปี รัฐจะช่วยออมให้ถึง 50% สูงสุดไม่เกิน 600 บาทต่อปี
    • อายุ 30-50 ปี รัฐจะช่วยออมให้ 80% ไม่เกิน 960 บาทต่อปี
    • อายุ 50-60 ปี รัฐจะช่วยออมให้อีกเท่าตัวเลย สูงสุดไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี
  • ยิ่งไปกว่านั้น นี่เป็นสวัสดิการเงินเกษียณที่มีการการันตีผลตอบแทนขั้นต่ำให้ นั่นคือจะไม่ต่ำกว่าผลตอบแทนฝากประจำ 12 เดือนของ ธนาคารขนาดใหญ่ในประเทศเฉลี่ยกัน เพียงแต่ในระหว่างทาง เงินใน กอช. ก็จะถูกนำไปลงทุนต่อในหลักทรัพย์ประเภทต่าง ๆ เพื่อให้คาดหวังผลตอบแทนที่เพียงพอกับการนำมาจ่ายเป็นเงินบำนาญให้ในอนาคต
  • ดังนั้นก่อนที่จะถึงช่วงรับเงินบำนาญ เราอาจได้เห็นตัวเลขผลตอบแทนการลงทุนติดลบบ้างในบางช่วงเวลา ซึ่งเกิดจากความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ที่กองทุนเข้าลงทุนนั่นเอง

ยอดเงินบำนาญ พิจารณาจากอะไรบ้าง?

  • พิจารณาจ่ายตามยอดเงินสะสมยอดสุดท้ายก่อนเริ่มรับบำนาญ
    • หากกองทุนมีเงินสะสมยอดสุดท้ายตั้งแต่ 150,000 บาทเป็นต้นไป จะมีสิทธิรับเงินบำนาญรายเดือนขั้นต่ำ 600 บาท สูงสุดประมาณ 7,200 บาทตลอดชีพ โดยไม่สนว่าเงินที่ได้สะสมมาจริง ๆ เหลืออยู่เท่าไหร่
    • ถ้ายอดเงินสะสมสุดท้ายน้อยกว่า 150,000 ก็จะได้รับบำนาญ 600 บาทต่อเดือนไปจนกว่าเงินที่สะสมในกองทุนจะหมดลง

วิธีคำนวณเงินบำนาญรายเดือนในอนาคต ถ้าออมใน กอช. อย่างสม่ำเสมอ

  • สามารเข้าแอปฯ ของ กอช. แล้วดูตรงเมนูคำนวณเงินบำนาญได้เลย
  • จะมีให้กรอกข้อมูลอายุที่เริ่มสะสมเงิน และจำนวนเงินที่จะสะสม กรอกแล้วก็จะขึ้นผลการคำนวณมาให้ว่า เราจะคาดการณ์เงินบำนาญรายเดือนได้เป็นจำนวนเท่าไร 

เงื่อนไขสำคัญ สำหรับคุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครเป็นสมาชิก กอช.

  • จะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุระหว่าง 15 – 60 ปีเท่านั้น แปลว่าเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาก็เริ่มต้นออมผ่าน กอช. ได้
  • จะต้องไม่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญอื่น ๆ อย่าง กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และประกันสังคม ยกเว้น ประกันสังคมตามมาตรา 40 ทางเลือก 1 สามารถสมัครเป็นสมาชิก กอช. ได้ เนื่องจากเป็นผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิเงินชราภาพจากประกันสังคมอยู่แล้ว
    • ส่วนกรณีที่ตอนสมัคร กอช. ยังไม่ได้เป็นสมาชิกระบบบำเหน็จบำนาญที่ไหน แต่ต่อมาได้เข้าเป็นสมาชิกประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กบข. เงินที่เราได้ออมไว้ก่อนก็ไม่หายไปไหน เพียงแต่หากมีการออมเพิ่มเข้ามาใน กอช. ในช่วงที่มีสวัสดิการส่วนอื่นรองรับอยู่แล้ว ก็จะไม่ได้รับเงินสมทบจากรัฐบาลเพิ่มนั่นเอง

ช่องทางสมัคร สำหรับผู้ที่สนใจออมเงินกับ กอช.

  • สามารถสมัครทุกขั้นตอนได้ผ่านทางแอปพลิเคชั่น กอช. แบบที่ไม่ต้องใช้เอกสารเลยสักแผ่น
  • หรือจะสมัครด้วยตัวเองผ่านจุดให้บริการต่าง ๆ ก็ได้ เช่น ธนาคาร ธอส., ธ.ก.ส., ออมสิน กรุงไทย หรือเคาน์เตอร์เซอร์วิสและตู้บุญเติม
  • สมัครเรียบร้อยแล้วก็เริ่มออมได้เลย ครั้งละอย่างน้อย 50 บาท รวมกันสูงสุดไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี โดยจะทยอยออมเป็นเดือน ๆ ไปก็ได้ หรือออมเป็นรายปีก้อนเดียวทีเดียวก็ได้
  • เงินที่ได้สะสมในแต่ละปีก็สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ด้วย
  • นอกจากนี้ ระบบของ กอช. ก็ไม่ได้บังคับว่าในแต่ละครั้งจะต้องออมเท่าไร และไม่บังคับว่าจะต้องออมต่อเนื่องเป็นความถี่เท่าไร ก็คือสะดวกจะออมตอนไหน จะออมเมื่อไร ก็แล้วแต่ใจเราได้เลย

ข้อแนะนำเพิ่มเติมสำหรับสมาชิก กอช.

  • ผลตอบแทนของ กอช. ที่การันตีไม่ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก มีแนวโน้มที่จะสร้างผลตอบแทนให้น้อยลงในยุคดอกเบี้ยต่ำ ดังนั้นการออมเงินผ่าน กอช. ช่องทางเดียวไม่เพียงพอสำหรับแผนเกษียณของใครหลาย ๆ คนแน่นอน
  • นอกจากนี้ สมาชิกจะไม่สามารถขอรับเป็นเงินบำเหน็จได้ จะต้องรอรับเป็นเงินบำนาญรายเดือนเท่านั้น
  • สำหรับรายละเอียดอื่น ๆ ที่น่าสนใจ สามารถติดตามได้จากเว็บไซต์กองทุนการออมแห่งชาติ https://www.nsf.or.th/ หรือ Facebook กองทุนการออมแห่งชาติได้เลย

คำแนะนำเพื่อให้แผนเกษียณของแต่ละคนเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งใจ

  • แนะนำให้วางแผนเกษียณให้เห็นจำนวนเงินเป้าหมายก่อน แล้วนำมาหักลบกับเงินบำนาญที่คาดหวังได้จาก กอช.
  • ถ้ามีส่วนต่างที่ต้องออมเพิ่ม ก็จะได้กำหนดแนวทางการลงทุนเพิ่มเติมต่อไปได้ อย่างเช่นด้วยการลงทุนระยะยาวในกองทุนรวม ซึ่งก็สามารถเปิดบัญชีซื้อขายกองทุนรวมกับ FINNOMENA ได้เลย โดยไม่ต้องใช้เอกสารสักแผ่นเช่นกัน