รับชมบน YouTube: https://youtu.be/ywCruenz9EQ

ใครที่ติดตามข่าวการลงทุนต่อเนื่องคงมองเห็นว่าเริ่มต้นปีนี้มาก็มีหลายปัจจัยที่ทำให้ตลาดการลงทุนเกิดความกังวลขึ้นมาพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเงินเฟ้อ สงคราม ราคาน้ำมัน การขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และโควิด-19 ทำให้ไม่ว่าใครก็คงต้องตื่นตัวมองหาหนทางรับมือสำหรับการจัดการแผนการลงทุนในสภาวะเช่นนี้ วันนี้ก็เลยจะหยิบยก 3 กลยุทธ์ที่ถูกนำมาใช้ในช่วงเวลาผันผวน เผื่อจะได้นำไปปรับใช้ให้เหมาะกับแนวทางของนักลงทุนแต่ละท่านกัน 

กลยุทธ์ที่ 1 การ Selling out

  • Selling Out เป็นกลยุทธ์ที่นับว่าเพลย์เซฟที่สุด คือการขายสินทรัพย์การลงทุนที่มีแนวโน้มว่าจะเข้าสู่ช่วงขาลง โดยเปลี่ยนสถานะมาถือเงินสด หรือตราสารหนี้อายุสั้นอย่างตั๋วเงินคลังเอาไว้แทน เพื่อรอจังหวะกลับเข้าไปซื้อสินทรัพย์ลงทุนในช่วงที่ตลาดฟื้นตัว
  • อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นข้อจำกัดนั่นคือนักลงทุนส่วนใหญ่ หรือจะเรียกว่านักลงทุนทุกท่านเลยก็ว่าได้ ก็คงไม่มีใครที่รู้จังหวะเวลาที่เหมาะสมได้แน่ชัด สามารถขายและเข้าซื้อในเวลาที่ถูกต้องแม่นยำได้ทุกครั้งนั่นเอง 

กลยุทธ์ที่ 2 ย้ายมาถือสินทรัพย์ลงทุนที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์ของตลาด

  • โดยทั่วไปแล้วมักได้แก่ หุ้น Defensive stocks หรือหุ้นที่ทนทานต่อทุกสภาวะตลาด เช่น หุ้นกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม
  • โดยพิจารณาประกอบกับงบการเงินของธุรกิจว่ามีความมั่นคง ภาระหนี้น้อย มีกำไรและจ่ายปันผลสม่ำเสมอ หรือลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างทองคำและน้ำมัน เป็นต้น  
  • หรืออีกรูปแบบการลงทุนหนึ่ง ซึ่งนับว่าเป็นเครื่องมือการลงทุนที่ถูกสร้างเพื่อให้เกิดโอกาสทำกำไรช่วงขาลงโดยเฉพาะ นั่นคือการลงทุนในตลาดอนุพันธ์ เช่น การขายฟิวเจอร์ส (Short Futures) ซื้อพุทออปชัน (Long Put Options) หรือขายคอลออปชัน (Short Call Options)
  • อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของกลยุทธ์นี้นั่นคือ อาจไม่ใช่ผู้ลงทุนทุกคนที่มีความเข้าใจในธุรกิจ สินทรัพย์การลงทุน และเครื่องมือการลงทุนที่อาศัยองค์ความรู้ที่เฉพาะเจาะจงเช่นนี้ และการลงทุนในสิ่งที่ไม่มีความรู้ก็เป็นอีกความเสี่ยงการลงทุนที่น่ากลัวที่สุดเช่นกัน 

กลยุทธ์ที่ 3 คือการออกไปช้อปปิ้งเพิ่ม

  • ในแง่หนึ่งการเกิดวิกฤติย่อมมีโอกาส อย่างสถานการณ์ที่ตลาดการลงทุนอยู่ในช่วงขาลงก็อาจเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้ซื้อสินทรัพย์ลงทุนที่สนใจในราคาที่ถูกลง
  • อย่างไรก็ตามสิ่งที่ควรทำการบ้านคือการศึกษาสินทรัพย์ที่จะเข้าซื้อเพิ่มว่ายังมีโอกาสในการเติบโตหลังจากผ่านพ้นวิกฤติจริงหรือไม่
  • ตัวอย่างปัจจัยที่ใช้สังเกตศักยภาพของหุ้นที่น่าซื้อเก็บในช่วงวิกฤติก็อย่างเช่น มีแนวโน้มการเติบโตของกำไรที่ชัดเจน พื้นฐานของธุรกิจยังไม่เปลี่ยนแปลง อัตราส่วน P/E Ratio และราคาหุ้นร่วงลงเยอะเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า และมีปัจจัยในระดับมหภาคสนับสนุน เช่น เป็นธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากนโยบายภาครัฐหรือความร่วมมือระหว่างประเทศ
  • หรือแม้กระทั่งพอร์ตการลงทุนเดิมของเรา ถ้าหากยังคงมองเห็นว่าพื้นฐานของสินทรัพย์การลงทุนยังไม่เปลี่ยนแปลง และมีแนวโน้มเติบโตตามกรอบเวลาที่ได้กำหนดไว้ ก็ใช้วิธีทยอยช้อปปิ้งด้วยการ DCA อย่างต่อเนื่องตามแผนเดิมก็ได้เช่นกัน

จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะกลยุทธ์ไหนก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น แต่การที่เราจะกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะกับตัวเองได้ ก็คงต้องเริ่มจากความเข้าใจเป้าหมายการลงทุน และการรับความเสี่ยงการลงทุนของตัวเองให้ได้ก่อน เพราะผู้ลงทุนแต่ละคนก็จะมีแผนการลงทุนที่แตกต่างกันตามสถานการณ์ เงื่อนไขและข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเลือกกลยุทธ์ไหนก็ไม่มีถูกไม่มีผิด มีแต่แผนการลงทุนส่วนตัวของตัวแต่ละคนที่ต้องดูแลให้ผ่านพ้นวิกฤติไปให้ได้ก็เท่านั้น

พบความสุดพิเศษสำหรับคุณได้ในทุกวัน ทั้งบทความให้ความรู้เกี่ยวกับกองทุนรวม หุ้น คริปโตฯ และการบริการ โปรโมชั่น ของรางวัลต่างๆ ที่คัดสรรมาเพื่อมอบให้กับสมาชิก FINNOMENA เท่านั้น
👉 สมัครสมาชิกเว็บไซต์ FINNOMENA https://finno.me/register-website


มือใหม่ห้ามพลาด! คอร์สเรียนพิเศษจาก FINNOMENA U "กองทุนรวม 101 สำหรับมือใหม่"