รับชมบน YouTube: https://youtu.be/qQ5AmcXrxzQ

กระแสบริษัทเอกชนระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้กำลังมา เฉพาะไตรมาสแรกของปี 2565 นี้ก็มีการออกตราสารหนี้มากถึงเกือบ 260,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราว 40% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คงจะดึงดูดความสนใจของนักลงทุนไปได้หลายท่าน วันนี้เรามาพูดคุยถึงเกร็ดความรู้สนุก ๆ เกี่ยวกับตราสารหนี้ที่แนะนำเป็นอย่างยิ่งว่าต้องรู้ก่อนลงทุนกัน

การออกตราสารหนี้หรือหุ้นกู้

  • เป็นหนึ่งในวิธีระดมทุนของบริษัทเอกชนที่ได้รับความนิยมอย่างมาก
  • ด้วยวิธีการนี้บริษัทอาจมีต้นทุนที่น้อยกว่าการกู้เงินผ่านธนาคาร
  • และขั้นตอนดำเนินการก็ไม่ยุ่งยากเท่าการออกหุ้นเพิ่มทุน ไม่ต้องกังวลกับ Dilution effect อีกด้วย
  • อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้นกู้ก็มีรายละเอียดสำคัญที่ผู้ลงทุนควรรู้ ดังต่อไปนี้

 

1. อ่านชื่อหุ้นกู้เป็น เห็นวันรับเงินคืน 

  • หากเราสังเกตชื่อของหุ้นกู้ จะเห็นตัวอักษรภาษาอังกฤษสลับกับตัวเลขไปมา ชวนให้สับสนว่ามันคือรหัสลับอะไรกันแน่
  • แต่จริง ๆ แล้วชื่อของหุ้นกู้ถูกกำหนดรูปแบบเอาไว้ เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถรู้ชื่อบริษัทที่ออกหุ้นกู้ ช่วงเวลาที่หุ้นกู้นั้นครบกำหนดไถ่ถอน และรุ่นที่ออกหุ้นกู้ได้
  • ชื่อของหุ้นกู้อาจประกอบไปด้วยชุดข้อมูล 5 ท่อน เริ่มจาก ชื่อย่อของบริษัท, ปีที่ครบกำหนดไถ่ถอน, เดือนที่ครบกำหนดไถ่ถอน (เลข 1-9 แทนเดือน 1-9 และ O,N,D แทนเดือน 10-12 ตามลำดับ), วันครบกำหนดไถ่ถอน และรุ่นที่ออกหุ้นกู้นั้น ๆ 
  • โดยที่หากเป็นหุ้นกู้ระยะสั้น ในชื่อของหุ้นกู้ก็จะประกอบด้วยชุดข้อมูลครบทั้ง 5 ท่อน
  • แต่หากเป็นหุ้นกู้ระยะยาว ก็จะประกอบด้วยชุดข้อมูล 4 ท่อน โดยจะไม่มีส่วนที่เป็นวันครบกำหนดไถ่ถอนของหุ้นกู้
  • เช่น ถ้าหุ้นกู้มีชื่อว่า AEON22DA ก็จะรู้ได้เลยว่า เป็นหุ้นกู้ระยะยาวที่ออกโดยบริษัท AEON ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2022 เดือนธันวาคม รุ่น A เป็นต้น

 

 2. หุ้นกู้ผันผวนได้ 

  • หลายคนเห็นว่าเมื่อหุ้นกู้มีการกำหนดจ่ายดอกเบี้ย และเงินต้นคืนตามอัตราและช่วงเวลาที่กำหนดไว้แล้วล่วงหน้า จึงอาจเข้าใจว่าเมื่อลงทุนในตราสารหนี้แล้ว ก็จะไม่ต้องพบกับความผันผวนการลงทุน
  • แต่ความเป็นจริงแล้วตราสารหนี้ก็เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงจากหลายปัจจัย
  • เช่น ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย โดยที่หากดอกเบี้ยในตลาดมีการปรับตัวสูงขึ้น ราคาของหุ้นกู้ที่ออกมาก่อนนั้นก็อาจมีราคาร่วงลง เพราะถือว่าขาดโอกาสจะนำเงินที่ลงทุนในหุ้นกู้นั้นอยู่ไปลงทุนในสินทรัพย์การลงทุนอื่นที่อาจให้ผลตอบแทนสูงขึ้นนั่นเอง 

 

 3. หุ้นกู้เหมือนกัน ความเสี่ยงไม่เท่ากัน 

  • หุ้นกู้มีการแบ่งประเภทย่อยลงไปอีกหลายประเภท ดังนั้นเพียงเห็นว่าเป็นหุ้นกู้เหมือนกันก็จะหยิบอัตราดอกเบี้ยมาเทียบกันทันทีไม่ได้
  • ต้องดูรายละเอียดด้วยว่าเป็นหุ้นกู้ประเภทไหน เพราะหุ้นกู้แต่ละประเภทอาจมีลำดับการได้รับชำระหนี้แตกต่างกัน หรือมีเงื่อนไขการจ่ายดอกเบี้ยแตกต่างกัน
  • เช่น หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิจะมีสิทธิดีกว่าหุ้นกู้ด้อยสิทธิ และหุ้นกู้มีหลักทรัพย์ค้ำประกันจะมีสิทธิดีกว่าหุ้นกู้ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 
  • นอกจากนี้ยังมีหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ ซึ่งเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายหุ้น ปัจจุบันเป็นที่นิยมสำหรับบริษัทในการนำมาใช้ระดมทุน แต่สำหรับนักลงทุนแล้วก็นับว่าเป็นหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูง มีเงื่อนไขการจ่ายดอกเบี้ยที่ซับซ้อน ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดเป็นอย่างดีก่อนตัดสินใจลงทุน 

 

ในปัจจุบันการออกหุ้นกู้ยังไม่ใช่แค่เพื่อการระดมทุนเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงออกถึงพันธกิจของบริษัทได้อีกด้วย เมื่อปัจจุบันมีกระแสการออกหุ้นกู้ที่เรียกว่า ESG Bond ซึ่งคล้ายกับตราสารหนี้ทั่วไป ต่างเพียงวัตถุประสงค์จะต้องเป็นการระดมทุนเพื่อนำไปใช้พัฒนานโยบายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สังคม และความยั่งยืนโดยเฉพาะ ในปี 2564 ก็ได้มีการออก ESG Bond เป็นมูลค่ามากกว่า 150,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77% จาก
ปี 2563 และคาดว่าจะยิ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้นอีกในปี 2565 นี้

พบความสุดพิเศษสำหรับคุณได้ในทุกวัน ทั้งบทความให้ความรู้เกี่ยวกับกองทุนรวม หุ้น คริปโตฯ และการบริการ โปรโมชั่น ของรางวัลต่างๆ ที่คัดสรรมาเพื่อมอบให้กับสมาชิก FINNOMENA เท่านั้น
👉 สมัครสมาชิกเว็บไซต์ FINNOMENA https://finno.me/register-website


มือใหม่ห้ามพลาด! คอร์สเรียนพิเศษจาก FINNOMENA U "กองทุนรวม 101 สำหรับมือใหม่"