รับชมบน YouTube: https://youtu.be/M2D1v1iY5QA

เงินเฟ้อ หรือภาวะเศรษฐกิจที่ราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น หากเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่มากจนเกินไปและสอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจก็นับว่าเป็นสมดุลที่ดี แต่จะเริ่มเป็นปัญหาใหญ่เมื่อเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็วจนเกินไป อย่างใน 3 เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่หยิบมาเล่าให้ฟังในวันนี้

เหตุการณ์ที่ 1: ประเทศกรีซ ปี ค.ศ. 1944

  • มีจุดเริ่มต้นจากสงครามโลกครั้งที่ 2
  • การถูกยึดครองโดยฝ่ายอักษะได้นำพากรีซสู่หนี้สาธารณะมูลค่ามหาศาล
  • กรีซสร้างผลผลิตอุตสาหกรรมได้น้อยลงเพราะขาดแคลนวัตถุดิบ และต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อบำรุงกองทัพทหาร
  • จนกระทั่งกรีซเริ่มขาดดุลงบประมาณอย่างหนักประมาณ 790 ล้านดรัชมาซึ่งเป็นสกุลเงินกรีกขณะนั้น เทียบเท่าประมาณ 84 ล้านบาทไทยในปัจจุบัน
  • ในช่วงเวลานั้นอัตราเงินเฟ้อในกรีซสูงถึง 13,800% ต่อเดือน นั่นหมายถึงสินค้าและบริการจะมีราคาแพงขึ้นเป็น 2 เท่าในทุก 4 วัน

เหตุการณ์ที่ 2: ซิมบับเว ปี ค.ศ. 2008

  • มีจุดเริ่มต้นจากการที่ผู้นำประเทศมีนโยบายจัดสรรที่ดินใหม่ โดยใช้วิธียึดที่ดินจากชาวนาเชื้อสายยุโรป แล้วมอบเป็นกรรมสิทธิแก่ประชาชนเชื้อสายซิมบับเวียน
  • กระบวนการที่เกิดขึ้นฉับพลันเช่นนี้ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรของประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว
  • ประกอบกับการที่ภาครัฐใช้วิธีปรินท์เงินจำนวน 21 ล้านล้าน ZWD (Zimbabwean dollar) เพื่อชำระหนี้ IMF และอีก 60 ล้านล้าน ZWD เพื่อจ่ายเงินเดือนแก่ข้าราชการและทหาร
  • จนกระทั่งในจุดหนึ่งที่ประเทศเริ่มขาดแคลนอาหาร พลังงาน และอุปกรณ์การแพทย์ อัตราเงินเฟ้อยิ่งเร่งตัวสูงขึ้นจนถึงระดับ 7.9 หมื่นล้านเปอร์เซ็นต์ต่อเดือน ราคาสินค้าและบริการเพิ่มเป็นสองเท่าในทุก ๆ 24 ชั่วโมง 

เหตุการณ์ที่ 3: ฮังการี ปี ค.ศ. 1946

  • มีที่มาจากการที่สถานะทางการเงินของฮังการีส่อแววอ่อนแอตั้งแต่ครั้งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่หรือ The Great Depression เรื่อยมาจนสงครามโลกครั้งที่ 2
  • ผลจากการแพ้สงครามก็ทำให้ธนาคารกลางของประเทศถูกควบคุมและต้องปรินท์เงินเพื่อบรรณาการแก่ผู้ชนะสงครามตามจำนวนที่ต้องการโดยไม่ค้ำประกันด้วยสินทรัพย์มีค่า
  • ในขณะนั้นอัตราเงินเฟ้อในฮังการีทวีความรุนแรงจนถึงระดับ 1.36 หมื่นล้านล้าน % ต่อเดือน หรือเท่ากับราคาสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในทุก ๆ 16 ชั่วโมง
  • จนท้ายที่สุดก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการออกสกุลเงินใหม่ที่ยังคงใช้จนถึงปัจจุบัน เรียกว่า Forint ซึ่งได้รับการค้ำประกันมูลค่าด้วยทองคำและสกุลเงินต่างประเทศสกุลเงินอื่น และคาดหมายไว้ว่าในอนาคตก็จะถูกแทนที่ด้วยสกุลเงินยูโรในที่สุด 

สถานการณ์ปัจจุบัน

  • ปัญหาเงินเฟ้อทวีความรุนแรงในทั่วโลกจากหลายปัจจัยที่เกิดขึ้นพร้อมกัน ได้แก่
    • การอัดฉีดเงินของประเทศมหาอำนาจเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงวิกฤติการณ์โควิด-19
    • การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคในบางประเทศที่ทำให้ผู้คนเริ่มเดินทางทั้งในและระหว่างประเทศมากขึ้น
    • การยกระดับมาตรการควบคุมโรคในบางประเทศที่ทำให้ช่องทางขนส่งสินค้าถูกจำกัดลง
    • ปัญหาความไม่ลงรอยกันระหว่างบางประเทศ ส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกต่างเผชิญปัญหาอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น 2 เท่าเป็นอย่างน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเริ่มต้นของวิกฤติการณ์โควิด-19
  • เช่นเดียวกับสถานการณ์ในประเทศไทย ที่ก็กำลังเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงที่สุดในรอบหลายปี นับว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของภาครัฐในการวางแผนและกำหนดนโยบาย เพื่อให้สถานการณ์ไม่ทวีความรุนแรงจนเกินกว่าจะควบคุมได้ในท้ายที่สุด 

พบความสุดพิเศษสำหรับคุณได้ในทุกวัน ทั้งบทความให้ความรู้เกี่ยวกับกองทุนรวม หุ้น คริปโตฯ และการบริการ โปรโมชั่น ของรางวัลต่างๆ ที่คัดสรรมาเพื่อมอบให้กับสมาชิก FINNOMENA เท่านั้น
👉 สมัครสมาชิกเว็บไซต์ FINNOMENA https://finno.me/register-website


มือใหม่ห้ามพลาด! คอร์สเรียนพิเศษจาก FINNOMENA U "กองทุนรวม 101 สำหรับมือใหม่"