รับชมบน YouTube: https://youtu.be/ndsP99Pql_Q

ดอกเบี้ยนโยบายขึ้นปุ๊บ ดอกเบี้ยบ้านก็ขึ้นตามปั๊บ แบบนี้แปลว่าเราจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยบ้านได้มากขึ้นด้วยรึเปล่า แล้วยังมีประเด็นดอกเบี้ยบ้านที่น่าสนใจและใคร ๆ อาจยังไม่รู้อยู่อีกบ้าง ติดตามในคลิปนี้

เมื่อสถาบันการเงินทยอยปรับเพิ่มดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านเพิ่มขึ้น

  • แน่นอนว่าหากอยู่ในช่วงที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยแบบลอยตัวแล้วก็จะทำให้ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายแต่ละปีเพิ่มตามไปด้วย และนั่นก็เท่ากับการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีด้วยดอกเบี้ยบ้านที่เพิ่มขึ้นด้วยจริง ๆ
  • เพียงแต่หากดอกเบี้ยบ้านที่จ่ายแต่ละปีเกินโควตา 100,000 บาทไปแล้ว การจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นก็ไม่ทำให้ลดหย่อนภาษีด้วยดอกเบี้ยบ้านได้มากขึ้นแต่อย่างใด
  • อย่างไรก็ตามการที่ดอกเบี้ยบ้านเพิ่มขึ้นแล้วทำให้ลดหย่อนภาษีได้มากขึ้นแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องดีแต่อย่างใด
  • เพราะภาษีที่ประหยัดได้จริงก็จะไม่เกิน 30% ของดอกเบี้ยที่จ่ายทิ้งไปเท่านั้น
  • ถ้าให้เลือกได้ การที่ดอกเบี้ยถูกลงแล้วลดหย่อนภาษีได้น้อยลงมักจะช่วยประหยัดเงินของเราได้มากกว่า 

เช็กความเข้าใจในเรื่องประเด็นการลดหย่อนภาษีด้วยดอกเบี้ยบ้าน

  • ถึงแม้จะเรียกว่าเป็นค่าลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยบ้าน แต่ชื่อเต็มที่แท้จริงคือดอกเบี้ยเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างที่อยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกัน
    • ดังนั้นจึงไม่จำกัดเฉพาะการซื้อบ้านเดี่ยว แต่รวมถึงคอนโด ห้องชุด หรืออาคาร และไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์มือหนึ่งหรือมือสอง
    • นอกจากนี้หากได้กู้ซื้อบ้านพร้อมกันหลายหลังก็สามารถรวบรวมดอกเบี้ยของทุกหลังมาลดหย่อนรวมกันได้เพียงแต่จะใช้สิทธิลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท และไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นบ้านหลังแรกของผู้กู้เท่านั้น
  • เมื่อวัตถุประสงค์ของการให้สิทธิลดหย่อนภาษีคือเพื่อให้ทุกคนได้มีที่อยู่อาศัย ดังนั้นหากเป็นกรณีกู้เงินเพื่อซื้อที่ดินอย่างเดียว โดยไม่ได้มีบ้านหรืออาคารเพื่ออยู่อาศัยรวมอยู่ด้วย จะไม่สามารถนำดอกเบี้ยมาใช้ลดหย่อนภาษีได้
    • เช่นเดียวกับการกู้เพื่อต่อเติมบ้านหรือซื้อเฟอร์นิเจอร์ก็ไม่สามารถลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน
  • กรณีกู้ร่วมกับผู้อื่น สิทธิในการนำดอกเบี้ยมาลดหย่อนก็จะต้องถูกหารเฉลี่ยตามจำนวนผู้ร่วมกู้ โดยไม่สนว่าใครเป็นคนจ่ายดอกเบี้ยจริงเท่าไหร่
    • เช่น กรณีกู้ร่วมกัน 2 คน และดอกเบี้ยจ่ายตลอดปีรวมกันเป็น 120,000 บาท ถึงแม้ในความเป็นจริงจะผ่อนจ่ายโดยคนเดียว แต่สิทธิในการนำดอกเบี้ยมาลดหย่อนภาษีก็จะอยู่ที่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อคน เป็นต้น
    • และสังเกตได้ว่าถึงแม้ดอกเบี้ยจ่ายจะเป็น 120,000 แต่สิทธิลดหย่อนดอกเบี้ยบ้านจำกัดไว้ที่ 100,000 บาท และเมื่อเป็นการกู้ร่วมกัน 2 คน สิทธินำดอกเบี้ยบ้านมาลดหย่อนภาษีของแต่ละท่านก็จะถูกจำกัดไว้ที่ 50,000 บาทต่อคน ไม่ใช่ 60,000 ต่อคนแต่อย่างใด
  • ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ผู้ที่จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีด้วยดอกเบี้ยบ้านจะต้องแจ้งความประสงค์ต่อสถาบันการเงินผู้เป็นเจ้าหนี้ เพื่อให้นำส่งข้อมูลของผู้มีเงินได้ต่อกองเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมสรรพากรต่อไป
    • จากเดิมที่ผู้กู้หากประสงค์ลดหย่อนภาษีด้วยดอกเบี้ยบ้านก็อาจดาวน์โหลดเอกสารจากช่องทางของสถาบันแล้วนำไปแนบเป็นหลักฐานประกอบการยื่นภาษีด้วยตัวเอง  

พบความสุดพิเศษสำหรับคุณได้ในทุกวัน ทั้งบทความให้ความรู้เกี่ยวกับกองทุนรวม หุ้น คริปโตฯ และการบริการ โปรโมชั่น ของรางวัลต่างๆ ที่คัดสรรมาเพื่อมอบให้กับสมาชิก FINNOMENA เท่านั้น
👉 สมัครสมาชิกเว็บไซต์ FINNOMENA https://finno.me/register-website


มือใหม่ห้ามพลาด! คอร์สเรียนพิเศษจาก FINNOMENA U "กองทุนรวม 101 สำหรับมือใหม่"