รับชมบน YouTube: https://youtu.be/7_n5EAd2mkQ

ใครลงทุนหุ้นต้องฟัง เมื่อหลังจากนี้จะมีการเก็บภาษีขายหุ้น จะเก็บอย่างไร ต้องเสียเท่าไร สรุปไว้ให้ทั้งหมดแล้วในคลิปนี้

ที่มาของภาษีขายหุ้น

  • เริ่มต้นจากอธิบายกันก่อนว่า ภาษีขายหุ้น เป็นภาษีธุรกิจเฉพาะ หรือภาษีที่จัดเก็บจากกิจการบางประเภทที่กฎหมายกำหนดเป็นพิเศษ เป็นคนละส่วนกับภาษีเงินได้ที่เรามักคุ้นเคยกัน ซึ่งธุรกิจเฉพาะในที่นี้ก็คือการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ หรือธุรกิจการขายหุ้นนั่นเอง
  • เดิมทีประเทศไทยมีการจัดเก็บภาษีขายหุ้นนี้มาก่อนในอัตรา 0.1% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่นซึ่งกำหนดให้ต้องจัดเก็บอีก 10% ของภาษีธุรกิจเฉพาะ ก็จะทำให้ผู้ขายหุ้นต้องเสียภาษีทั้ง 2 ประเภทรวมกันเป็น 0.11%
  • แต่ต่อมาได้มีการยกเว้นการจัดเก็บภาษีส่วนนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เพื่อสนับสนุนตลาดทุนไทย รวมเป็นเวลาประมาณ 40 ปี ที่การจัดเก็บภาษีส่วนนี้ได้รับการยกเว้นไป
  • จนปัจจุบันเมื่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เติบโตขึ้นอย่างมาก โดยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) เพิ่มขึ้นถึง 22 เท่าจาก 30 ปีก่อน ภาครัฐจึงเห็นว่าไม่จำเป็นต้องยกเว้นภาษีขายหุ้นอีกต่อไป และยังเห็นว่าการกลับมาจัดเก็บภาษีส่วนนี้ นอกจากจะช่วยเพิ่มรายได้ในประเทศได้ถึงประมาณ 20,000 ล้านบาทแล้ว ยังเป็นการบรรเทาความเหลื่อมล้ำในสังคมอีกด้วย
  • โดยคาดว่ากฎหมายว่าด้วยการจัดเก็บภาษีขายหุ้นนี้จะมีผลบังคับประมาณเดือนเมษายน 2566 เป็นต้นไป 

การคำนวณภาษีขายหุ้น

  • คำนวณจากธุรกรรมการขายหุ้นตั้งแต่บาทแรกในอัตรา 0.11%
  • เช่น หากขายหุ้นมูลค่า 1,000,000 บาท ก็จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะรวมภาษีท้องถิ่นเป็น 1,100 บาท โดยในปีแรกที่กฎหมายมีผลบังคับผู้ลงทุนจะได้รับส่วนลดค่าภาษีครึ่งหนึ่ง
  • หากรวมกันกับค่าธรรมเนียมการขายหุ้นอื่น ๆ ที่มีอยู่เดิม ได้แก่ ค่าธรรมเนียมโบรกเกอร์ ค่าธรรมเนียมตลาดหลักทรัพย์ (SET Trading Fee) 0.005% ค่าธรรมเนียมการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ (TSD Clearing Fee) 0.001% ค่าธรรมเนียมการกำกับดูแล 0.001% และภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% ของค่าธรรมเนียมข้างต้นรวมกันทั้งหมด เท่ากับว่าผู้ขายหุ้นจะต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 0.195% ในปีแรก และ 0.22% ในปีต่อ ๆ ไป 

วิธีเสียภาษีขายหุ้น

  • โบรกเกอร์ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ขายจะเป็นผู้หักภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีท้องถิ่นจากหุ้นที่ขาย พร้อมกับยื่นและและเสียภาษีแทนผู้ขายในนามของโบรกเกอร์เองโดยผู้ขายไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีอีก
  • ผู้ลงทุนจึงไม่มีภาระในการต้องยื่นและเสียภาษีส่วนนี้ด้วยตัวเอง 

ผู้ที่ได้รับยกเว้นการเสียภาษีขายหุ้น

  • ได้แก่ ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ซึ่งเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องในตลาดทุนให้มีความต่อเนื่อง (Continuous Quotes) รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนตลาดทุน
  • อย่างบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่จัดตั้งกองทุนรวมต่าง ๆ ก็เป็นหนึ่งใน Market Maker ที่จะได้รับยกเว้นภาษีขายหุ้นเช่นกัน
  • นอกจากนี้กองทุนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักประกันสวัสดิการของคนไทยก็จะได้รับยกเว้นภาษีขายหุ้นด้วย เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนการออมแห่งชาติ 

เหตุผลที่ไทยเลือกจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมการขาย ไม่จัดเก็บจากกำไรการขาย

  • ถึงแม้จะมีนักวิชาการหลายท่านท้วงติงในแง่ที่ว่าหากจะการบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำ การจัดเก็บภาษีจากกำไรการขายหุ้น
    (Capital Gain Tax) น่าจะตรงประเด็นกว่าการเก็บภาษีจากธุรกรรมการขาย (Financial Transaction Tax) แต่ทางภาครัฐได้เล็งเห็นว่าสิ่งที่ต้องนำมาประกอบการตัดสินใจคือต้นทุนในการจัดเก็บภาษี
  • เพราะการสร้างระบบเพื่อรวบรวม คำนวณและวิเคราะห์กำไรจากการขายหุ้นมีต้นทุนสูงมาก การเลือกจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมการขายจึงเหมาะสมกว่าในปัจจุบัน 

พบความสุดพิเศษสำหรับคุณได้ในทุกวัน ทั้งบทความให้ความรู้เกี่ยวกับกองทุนรวม หุ้น คริปโตฯ และการบริการ โปรโมชั่น ของรางวัลต่างๆ ที่คัดสรรมาเพื่อมอบให้กับสมาชิก FINNOMENA เท่านั้น
👉 สมัครสมาชิกเว็บไซต์ FINNOMENA https://finno.me/register-website


มือใหม่ห้ามพลาด! คอร์สเรียนพิเศษจาก FINNOMENA U "กองทุนรวม 101 สำหรับมือใหม่"