รับชมบน YouTube: https://youtu.be/D6SeCbmQlNs

ปี 2022 เป็นอีกปีที่ขรุขระที่สุดของตลาด Crypto โดยเฉพาะประเด็นที่หลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Crypto ไม่ว่ารายเล็กหรือใหญ่ต่างก็จ่อคิวยื่นล้มละลายเป็นแถบ ๆ มาลองดูกันว่าเมื่อบริษัท Crypto ล้มละลายจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในคลิปนี้

ตัวอย่างสถานการณ์ธุรกิจ Crypto ล้มละลาย

Future Trade Exchange (FTX)

  • นับว่าช็อกวงการ Crypto อย่างแรงสำหรับแพลตฟอร์มซื้อขาย Crypto ที่เคยประสบความสำเร็จเป็นอันดับ 2 ของโลก ด้วยมูลค่ากิจการสูงถึง 3.2 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐและฐานลูกค้ามากกว่า 1 ล้านราย
  • ในช่วงต้นปี 2022 ที่เกิดความปั่นป่วนในตลาด Crypto นั้น FTX เพิ่งจะรับบทอัศวินม้าขาวช่วยเหลือธุรกิจ Crypto ที่ได้รับผลกระทบ
  • แต่แล้วไม่กี่เดือนจากนั้น FTX กลับเป็นชนวนปัญหาใหม่ใหญ่กว่าเดิมเสียเอง  
  • จากการที่ Binance ประกาศล้มดีลควบรวมกิจการเข้ากับ FTX ทำให้เห็นถึงความเคลือบแคลงใจในการบริหารธุรกิจของ FTX ที่ Binance อาจได้พบเห็นในช่วงตรวจสอบกิจการ (Due Diligence)
  • นำไปสู่การตั้งข้อสังเกตถึงข่าวลือในช่วงก่อนหน้าที่ว่า FTX นำเงินของลูกค้าไปหมุนเวียนในบริษัทเครือเดียวกันอย่าง Alameda Research อาจเป็นความจริง
  • ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าจนเกิดการระดมถอนเงินออกจากแพลตฟอร์มเป็นมูลค่ามากกว่า 6 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐภายใน 72 ชั่วโมง จน FTX ต้องยื่นล้มละลายในที่สุด 

BlockFi

  • การประกาศยื่นล้มละลายของ FTX นำไปสู่หายนะของธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกันเป็นทอด ๆ ซึ่งรวมถึง BlockFi แพลตฟอร์มกู้ยืม Crypto ชื่อดังที่มี FTX เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่
  • ก่อนนี้ BlockFi ก็เพิ่งได้รับผลกระทบจากการให้กองทุน Crypto Hedge Fund อย่าง Three Arrows Capital (3AC) กู้ยืมเงินแต่แล้วก็ล้มละลายในเวลาต่อมาเช่นกัน 
  • นอกจาก FTX, BlockFi และ Three Arrows Capital ในปีเดียวกันนี้ยังมีอีกหลายธุรกิจที่ล่มสลายเซ่นวิกฤติความเชื่อมั่นใน Crypto ไม่ว่าจะเป็น Voyager Digital และ Celsius Network
  • เห็นได้ว่าด้วยขนาดของตลาด Crypto ที่นับว่ามีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับตลาดการลงทุนอื่น เงินในตลาด Crypto จึงหมุนเวียนในระบบที่มีเจ้าตลาดไม่กี่เจ้า เมื่อเกิดปัญหาในรายหนึ่งขึ้น ก็ย่อมส่งผลกระทบถึงรายอื่น ๆ ล้มทับกันเป็นโดมิโนอย่างรวดเร็ว 

สิ่งที่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อธุรกิจ Crypto ล้มละลาย

  • เมื่อธุรกิจ Crypto อยู่ระหว่างการพิจารณาตามกระบวนการศาลล้มละลาย นักลงทุนจะไม่สามารถถอนเงินออกจากระบบได้ เพื่อให้ธุรกิจที่ยื่นล้มละลายนั้นจัดทำแผน 
  • เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงจะดำเนินการชำระหนี้แก่ลูกหนี้ต่อไป โดยลูกหนี้ที่มีสิทธิรับชำระหนี้ก่อนก็จะได้แก่ลูกหนี้ที่มีหลักประกัน ทำให้กลุ่มลูกหนี้ที่เป็นนักลงทุนส่วนใหญ่จะได้รับชำระหนี้เป็นลำดับท้าย ๆ 
  • นอกจากนี้การชำระหนี้คืนจะมีลักษณะเป็น pro rata เช่น ถ้าบริษัทเป็นหนี้ 100 ดอลล่าร์ แต่มีสินทรัพย์ที่สามารถชำระหนี้คืนได้ 90 ดอลล่าร์ ลูกหนี้แต่ละรายก็จะได้รับชำระหนี้คืนรายละ 90%   
  • นอกจากนี้ด้วยการที่ธุรกิจ Crypto ไม่ได้รับการประกันเงินลงทุนเหมือนอย่างกรณีธุรกิจธนาคารที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของ Federal Deposit Insurance Corporation ทำให้นักลงทุนต้องรับความเสี่ยงด้วยตัวเองหากบริษัท Crypto ที่ได้ฝากสินทรัพย์เอาไว้ล้มละลาย 

กรณีธุรกิจ Crypto ล้มละลายในไทย

  • ถึงแม้ในประเทศไทยจะยังไม่มีกรณีที่ธุรกิจ Crypto ยื่นล้มละลาย แต่แนวทางการคุ้มครองผู้ลงทุนก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน นั่นคือการลงทุน Crypto จะไม่ได้รับการคุ้มครองเงินต้นเหมือนอย่างที่การฝากเงินในธนาคารจะได้รับการคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ผู้ลงทุนจึงต้องรับความเสี่ยงด้วยตัวเองเช่นกัน 
  • อย่างไรก็ตามนักลงทุนสามารถพิจารณาความน่าเชื่อถือของธุรกิจ Crypto ที่จดทะเบียนในไทยได้จากการเลือกรับบริการผ่านธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งจะได้รับการควบคุมให้ดำรงเงินทุนเพื่อรองรับความเสี่ยง การตรวจสอบการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้า การป้องกันการกระทำที่ไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขาย และมีระบบการดำเนินธุรกิจตามมาตรฐานที่ ก.ล.ต. กำหนด โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตจากแอปฯ SEC Check First 

พบความสุดพิเศษสำหรับคุณได้ในทุกวัน ทั้งบทความให้ความรู้เกี่ยวกับกองทุนรวม หุ้น คริปโตฯ และการบริการ โปรโมชั่น ของรางวัลต่างๆ ที่คัดสรรมาเพื่อมอบให้กับสมาชิก FINNOMENA เท่านั้น
👉 สมัครสมาชิกเว็บไซต์ FINNOMENA https://finno.me/register-website


มือใหม่ห้ามพลาด! คอร์สเรียนพิเศษจาก FINNOMENA U "กองทุนรวม 101 สำหรับมือใหม่"