รับชมบน YouTube: https://youtu.be/CEbFgrXIHrI

เศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกมักกำหนดอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายไม่เกิน 2% แต่เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นก็สร้างความยากลำบากในการควบคุม จนนักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ รวมถึงธนาคารแห่งอเมริกาออกมาเปิดเผยว่าอาจต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปีกว่าเงินเฟ้อจะกลับมาที่ 2% หรือแม้กระทั่งหลังจากนี้อัตราเงินเฟ้อเป้าหมายอาจไม่ควรอยู่ที่ 2% อีกต่อไปแล้วก็ได้ เป็นเพราะอะไรติดตามได้ในคลิปนี้

สถานการณ์เงินเฟ้อที่ผ่านมา และมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญ

  • ถึงแม้ว่าจะมีบางช่วงที่อัตราเงินเฟ้อชะลอความร้อนแรงลงบ้างแล้ว กลุ่มสินค้าที่มีราคาอ่อนไหวต่อเงินเฟ้ออย่างน้ำมัน เสื้อผ้า และรถยนต์มือสองก็เริ่มมีระดับราคาลดลง เริ่มเกิดความสมดุลใน Demand และ Supply ของสินค้ากลุ่มต่าง ๆ ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดี
  • แต่กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินยังคงยืนยันว่าราคาสินค้าและบริการจะยังคงเพิ่มสูงจนถึงอีกประมาณหนึ่งปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อย
  • รวมถึงธนาคารแห่งอเมริกาที่ได้แสดงความเห็นว่า โดยสถิติแล้วเมื่ออัตราเงินเฟ้อแตะระดับ 5% เป็นต้นไป นั่นเท่ากับระยะเวลาประมาณ 10 ปีกว่าเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ จะกลับมามีอัตราเงินเฟ้อตามเป้าหมายที่ 2% 

เหตุผล 3 ข้อ ที่ต้องรออีกประมาณ 10 ปีกว่าเงินเฟ้อจะกลับมา 2%

1) ระดับค่าจ้างที่ไม่ลดลงตามการชะลอตัวของเงินเฟ้อ (Sticky Wage Inflation)

  • โดยอัตราการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างสำหรับลูกจ้างระดับปฏิบัติการยังคงอยู่ที่ประมาณ 6% ทั้งที่อัตราตามเป้าหมายอยู่ที่ไม่เกิน 3%
  • สาเหตุสำคัญคาดว่าเกิดจากการขาดแคลนแรงงาน
  • โดยคาดการณ์กว่ากลุ่มลูกจ้างอายุตั้งแต่ 55 ปีเป็นต้นไปจะยังคงขาดแคลนประมาณ 1 ล้านตำแหน่ง
  • ซึ่งจะยังคงสร้างแรงกดดันต่ออัตราค่าจ้างต่อไป  

2) อุตสาหกรรมพลังงานที่ได้รับทุนสนับสนุนน้อยกว่าที่ควรเป็นเวลานาน

  • ตั้งแต่ประมาณปี 2015 เป็นต้นมาเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานลดลงต่ำว่า 500 billion USD มาโดยตลอด ทั้งที่ก่อนนั้นเคยมีทุนสนับสนุนสูงถึงประมาณ 750 billion USD
  • การได้รับเงินทุนสนับสนุนที่น้อยส่งผลให้ต้นทุนในกระบวนการผลิตพลังงานสูงขึ้นถึงประมาณ 40%
  • ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤติพลังงานก็จะทำให้ราคาพลังงานพุ่งสูงอย่างฉุดไม่อยู่
  • โดยธนาคารแห่งอเมริกายังคงคาดการณ์ราคาน้ำมันที่ประมาณ 100 USD ต่อบาร์เรลในปี 2023

3) อโลกาภิวัฒน์ (De-globalization) และสังคมสูงวัย

  • โดยธนาคารแห่งอเมริกามองว่าปัจจัยนี้มีความท้าทายกว่าเรื่องอัตราค่าจ้างหรือต้นทุนพลังงานเสียอีก
  • เพราะสองปัจจัยดังกล่าวอาจชะลอได้โดยอาศัยนโยบายการเงินและเห็นผลได้ในระยะสั้น แต่ปัจจัยเรื่องสังคมสูงวัยเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยนโยบายการเงินและหวังผลได้เร็วเช่นนั้น
  • โดยในอีก 30-40 ปีจากนี้กลุ่มวัยทำงานจะมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว และจะมีอัตราการพึ่งพิงหรืออัตราส่วนระหว่างกลุ่มเด็กและผู้สูงวัยเทียบกับกลุ่มวัยทำงานที่สูงระดับ All-time high ในอีก 40 ปีข้างหน้า
  • ซึ่งเมื่อจำนวนแรงงานไม่เพียงพอความต้องการก็ส่งผลต่ออัตราการเพิ่มของค่าจ้าง และจะทำให้ปัญหาเงินเฟ้อยังคงยืดเยื้อต่อไปในระยะยาวได้ 

ความเห็นจากอดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF

  • นอกจากธนาคารแห่งอเมริกาก็ยังมีความเห็นจากอดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF ที่เสนอไอเดียว่าระดับอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายควรปรับขึ้นเป็น 3%
  • เนื่องจากในช่วงวิกฤติการณ์หลายประเทศล้วนเก็บสินค้าสำคัญให้ประชากรบริโภคภายในประเทศ (Supply Chain Localization) ความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศของโลกที่ส่งผลกระทบต่ออุปทานของเศรษฐกิจ การกระจายตัวของความคาดหวังอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงกว่า 2% มีความถี่ที่มากขึ้น และยังมีงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่ได้ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจมีระดับสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 อย่างถาวร 

เศรษฐกิจผันผวน เงินเฟ้อสูง รับมืออย่างไรดี

  • ในช่วงที่เศรษฐกิจยังมีความผันผวนสูงและปัญหาเงินเฟ้อยังดูท่าจะอยู่กับเราไปอีกยาวนานแบบนี้ ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้ทุกคนหันมาตรวจสุขภาพการเงินอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ
  • ทั้งการด้วยการสำรวจรายรับรายจ่าย เช็กเงินสำรองฉุกเฉินให้เพียงพอ คุมระดับหนี้สินไม่ให้เกินกำลัง บริหารจัดการความเสี่ยงการเงิน และรักษาวินัยการลงทุนตามแผนอย่างต่อเนื่อง

พบความสุดพิเศษสำหรับคุณได้ในทุกวัน ทั้งบทความให้ความรู้เกี่ยวกับกองทุนรวม หุ้น คริปโตฯ และการบริการ โปรโมชั่น ของรางวัลต่างๆ ที่คัดสรรมาเพื่อมอบให้กับสมาชิก FINNOMENA เท่านั้น
👉 สมัครสมาชิกเว็บไซต์ FINNOMENA https://finno.me/register-website


มือใหม่ห้ามพลาด! คอร์สเรียนพิเศษจาก FINNOMENA U "กองทุนรวม 101 สำหรับมือใหม่"