ประกัน สินค้าการเงินสำหรับโอนย้ายความเสี่ยงที่ควรมีเป็นลำดับแรก ๆ ในการวางแผนการเงิน ที่ไม่ได้ให้แค่ความอุ่นใจ แต่ยังช่วยประหยัดภาษีอีกด้วย แต่ปัจจุบันประกันก็มีมากมายหลายประเภท แล้วยังเอามาลดหย่อนภาษีได้ไม่เท่ากันอีก แบบนี้จะเลือกยังไง แล้วจะช่วยลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่ มาหาคำตอบในคลิปนี้กันเลย

ประกันที่สามารถซื้อแล้วนำมาลดหย่อนภาษีได้ มี 3 ประเภทคร่าว ๆ

1. ประกันชีวิต 

รายละเอียด: ให้ความคุ้มครองชีวิตแก่ผู้ที่ทำประกันชีวิตเอาไว้ โดยหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น บริษัทประกันก็จะจ่ายเงินตามทุนประกัน ให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามสัญญา ซึ่งก็จะเป็นผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากการจากไปของผู้ที่ทำประกันชีวิตเอาไว้ทางใดทางหนึ่ง เช่น บุคคลในครอบครัว

ประกันชีวิตที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไป จะได้แก่ 

1. ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ : เบี้ยประกันถูก ทุนประกันสูง แต่ไม่มีเงินคืนระหว่างทาง
2. ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ : ให้เงินคืนระหว่างทาง แต่ให้ทุนประกันต่ำ และมักคุ้มครองในระยะเวลาสั้น
3. ประกันชีวิตแบบ Unit-Linked : ให้ทุนประกันสูง เบี้ยประกันถูกใกล้เคียงแบบตลอดชีพ มีความยืดหยุ่นสูง ปรับเปลี่ยนแผนการจ่ายเบี้ยประกันได้ แต่ไม่สามารถการันตีผลตอบแทน เพราะเป็นการควบการลงทุนในกองทุนรวม
4. ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term) : จะเป็นแบบที่เบี้ยประกันต่ำ ความคุ้มครองสูง แต่จะไม่มีเงินคืนและไม่มีมูลค่าเวนคืนกรมธรรม์ เป็นการจ่ายเบี้ยประกันแลกกับความคุ้มครองชีวิตล้วน ๆ

เกณฑ์การลดหย่อนภาษี

  • ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนกรณีที่มีคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ ก็สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสมาลดหย่อนภาษีได้อีก ไม่เกิน 10,000 บาท
  • ประกันชีวิตที่นำมาลดหย่อนภาษีได้ จะต้องให้ความคุ้มครองชีวิตอย่างน้อย 10 ปีเป็นต้นไป และถ้าเป็นแบบที่มีการจ่ายเงินคืนระหว่างทางก็จะต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันสะสมในแต่ละช่วงเวลา
  • ในส่วนของ Unit-Linked จะนำเบี้ยประกันมาลดหย่อนภาษีได้ เฉพาะส่วนที่เป็นค่าธรรมเนียมความคุ้มครองเท่านั้น ส่วนที่เป็นเงินในกองทุนรวม ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้

เปิดบัญชีกองทุนประหยัดภาษี SSF RMF กับ FINNOMENA สะดวก รวดเร็ว เปิดออนไลน์ ไม่ต้องส่งเอกสารให้ยุ่งยาก พร้อมเลือกซื้อกองทุนประหยัดภาษีมากกว่า 10 บลจ.
คลิก https://finno.me/open-plan

2. ประกันสุขภาพ

รายละเอียด: ให้ความคุ้มครองสุขภาพ ทั้งกรณีเจ็บป่วยด้วยโรคภัยต่าง ๆ และด้วยอุบัติเหตุ

ประกันสุขภาพที่ได้รับความนิยมหลัก ๆ ก็จะได้แก่

1. ประกันสุขภาพแบบคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล
2. ประกันชดเชยรายได้รายวัน กรณีนอนโรงพยาบาล
3. ประกันโรคร้ายแรงแบบให้เงินชดเชยเป็นเงินก้อน

เกณฑ์การลดหย่อนภาษี

  • ประกันสุขภาพแบบชดเชยรายได้รายวัน กรณีนอนโรงพยาบาล จะเป็นแบบเดียวในนี้ที่ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
  • ประกันโควิดที่หลายคนน่าจะได้ซื้อกันไว้ ก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามเงื่อนไข
  • สำหรับใครที่ซื้อประกันสุขภาพประเภท UDR ที่ย่อมาจาก Unit Deducting Rider ซึ่งเป็นประกันสุขภาพประเภทที่ซื้อพ่วงกับประกันชีวิตแบบ Unit-Linked ได้เท่านั้น ก็จะนำมาลดหย่อนภาษีได้ เฉพาะส่วนที่เป็นค่าธรรมเนียมเพื่อความคุ้มครองสุขภาพ
  • ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท เพิ่มขึ้นมาจากก่อนหน้านี้ที่ลดหย่อนได้ 15,000 เท่านั้น และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้ว จะนำมาลดหย่อนรวมกันได้ไม่เกิน 100,000 บาท
  • สำหรับใครที่คุณพ่อคุณแม่ ที่มีเงินได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท ก็สามารถซื้อประกันสุขภาพให้คุณพ่อคุณแม่ แล้วนำมาลดหย่อนภาษีได้รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท โดยไม่ต้องพิจารณาอายุของคุณพ่อคุณแม่ และถ้ามีพี่น้อง ก็สามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่มาหารแบ่งกันเพื่อยื่นลดหย่อนภาษีของแต่ละคนได้

3. ประกันบำนาญ 

รายละเอียด: ให้ความคุ้มครองในรูปแบบการการันตีรายได้หลังเกษียณเป็นหลัก ประกันลักษณะนี้จะมีลักษณะกำหนดให้จ่ายเบี้ยประกันต่อเนื่องไปจนกว่าจะเริ่มรับเงินบำนาญ คือเมื่ออายุครบ 55 ปีเป็นอย่างน้อย แล้วจะการันตีเงินเกษียณเป็นงวดรายปีไปเรื่อยๆ จนกว่าจะครบสัญญา

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับประกันบำนาญ

1. เป็นการล็อกผลตอบแทนแบบการันตีในระยะยาว ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่ผลตอบแทนสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ
2. ประกันบำนาญก็อาจไม่เหมาะกับการวางแผนความคุ้มครองชีวิตเสียทีเดียว เพราะถึงมีความคุ้มครองชีวิตด้วย แต่ก็ให้ความคุ้มครองน้อยมากเมื่อเทียบกับเบี้ยประกันที่ได้จ่าย รวมถึงทุนประกันแต่ละปีก็ไม่แน่นอน คือจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงที่จ่ายเบี้ยประกัน และลดลงเรื่อย ๆ เมื่อเริ่มรับเงินบำนาญแล้ว

เกณฑ์การลดหย่อนภาษี

  • ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ และไม่เกิน 200,000 บาท
  • เมื่อรวมกับสิทธิลดหย่อนภาษีเพื่อการเกษียณอื่นๆ เช่น Provident fund, กบขและ RMF ก็จะนำมาลดหย่อนได้ไม่เกิน 500,000 บาท
  • ถ้าส่วนประกันชีวิตและประกันสุขภาพยังไม่ครบ 100,000 ก็สามารถนำเบี้ยประกันบำนาญส่วนที่เกินโควต้า 15% หรือ 200,000 มาโปะในช่องประกันชีวิตและสุขภาพได้

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการวางแผนการเงินด้วยประกัน

  • สำหรับกลุ่มประกันชีวิตและประกันสุขภาพ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อโอนย้ายความเสี่ยง แนะนำให้กำหนดงบเบี้ยประกันไม่เกิน 15% ของรายได้ต่อปี เพื่อให้แผนการเงินไม่อึดอัดจนเกินไป
  • สำหรับประกันบำนาญ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการเกษียณเป็นหลัก แนะนำให้วางแผนเกษียณก่อน เพื่อให้รับรู้ความต้องการรายได้หลังเกษียณของตัวเอง จะได้วางแผนซื้อสินค้าการเงินที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงประกันบำนาญได้สอดคล้องกันต่อไป
  • การซื้อประกัน สามารถซื้อเกินจากเกณฑ์การลดหย่อนภาษีได้ โดยจะไม่ต้องรับโทษทางภาษี ไม่เหมือนอย่างกรณีการซื้อกองทุน SSF หรือ RMF ดังนั้นควรวางแผนซื้อประกันจากการประเมินความจำเป็นของตัวเองเป็นหลัก

เปิดบัญชีกองทุนประหยัดภาษี SSF RMF กับ FINNOMENA สะดวก รวดเร็ว เปิดออนไลน์ ไม่ต้องส่งเอกสารให้ยุ่งยาก พร้อมเลือกซื้อกองทุนประหยัดภาษีมากกว่า 10 บลจ.
คลิก https://finno.me/open-plan

อ่านเพิ่มเติม ลดหย่อนภาษี: ทุกเรื่องที่ต้องรู้ รวบรวมมาให้แล้ว!

สรุปวิธีคำนวณภาษี: รายได้เท่าไรต้องเสียภาษีเท่าไร?