Sui: บล็อกเชน Layer-1 ใหม่แกะกล่อง

บล็อกเชนบนโลกนี้มีอยู่หลายบล็อกเชนนะครับ แต่ละบล็อกเชนก็จะมีจุดเด่นจุดด้อยที่แตกต่างกันไป ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คนมีความเห็นตรงกันครับว่าในอนาคต เทคโนโลยีบล็อกเชนน่าจะได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้น และจะมีการใช้งานที่หลากหลายขึ้น แต่คงจะไม่ใช่ทุกบล็อกเชนที่จะอยู่รอดจนถึงวันนั้น มีปัจจัยหลายอย่างครับที่เป็นตัวบ่งบอกว่าบล็อกเชนหนึ่งตัวจะมีศักยภาพเติบโตไปถึงจุดที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายได้หรือไม่ ปัจจัยแรกอาจจะเป็นตัวผู้ก่อตั้งเอง มีประวัติการทำงานเป็นอย่างไรบ้าง มีความคุ้นเคยกับบล็อกเชนและคริปโตเคอร์เรนซีมากน้อยแค่ไหน ปัจจัยที่สองอาจจะเป็นเรื่องโครงสร้างและเทคโนโลยีของบล็อกเชน ว่าสามารถเพิ่มขีดความสามารถของบล็อกเชนได้สูงแค่ไหน และปัจจัยสุดท้าย คงจะเป็นเสียงตอบรับจากชุมชนผู้ใช้งานครับ บล็อกเชนส่วนใหญ่จะมีการเปิดขายโทเคนก่อนที่จะเปิดใช้งานบล็อกเชนจริง ๆ (pre-sale) โดยเราเห็นจากข้อมูลในอดีตครับว่ายิ่งการเปิดขาย pre-sale ได้รับการตอบรับมากเท่าไร ก็มีแนวโน้มที่บล็อกเชนจะมีการขยายฐานผู้ใช้งานได้กว้างมากเท่านั้นครับ

ในช่วงปลายเดือนเมษายน-ต้นเดือนพฤษภาคม 2023 ที่ผ่านมา มีการเปิดขายโทเคนจากบล็อกเชนตัวหนึ่ง ซึ่งผู้ก่อตั้งเคยมีประวัติทำงานกับ Meta (ชื่อเดิมคือ Facebook) และเคยมีส่วนร่วม กับโปรเจกต์ Diem ซึ่งเป็นอดีตโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีของ Meta ครับ การเปิดขายดังกล่าวได้รับความสนใจจากฐานผู้ใช้งานคริปโตเคอร์เรนซีเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ตลาดคริปโตในปัจจุบันจะไม่ได้อยู่ในช่วงขาขึ้นก็ตาม ด้วยปัจจัยด้านตัวผู้ก่อตั้งโปรเจกต์ เทคโนโลยีที่ใช้ รวมกับเสียงตอบรับจากชุมชนผู้ใช้งาน ทำให้โปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีโปรเจกต์นี้เป็นโปรเจกต์ที่น่าจับตามองพอสมควรครับ วันนี้พาทุก ๆ คนมารู้จักกับ Sui กันครับ

What is Sui?

Sui: บล็อกเชน Layer-1 ใหม่แกะกล่อง

Sui เป็นบล็อกเชน layer-1 ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยมีเป้าหมายที่จะเป็นบล็อกเชนที่ง่ายต่อการใช้งานจากทั้งฝั่งนักพัฒนาและผู้ใช้งานทั่วไป โดยนักพัฒนาสามารถพัฒนาแอปพลิเคชันบนบล็อกเชน Sui ได้อย่างหลากหลาย ตัวบล็อกเชนมีความเร็วสูง และมีต้นทุนการทำธุรกรรมที่ต่ำครับ ตัวบล็อกเชนของ Sui ถูกสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด ไม่ได้มีการคัดลอกหรือนำโปรแกรมจากบล็อกเชนใดมาปรับปรุงครับ

ผู้ก่อตั้ง Sui คือ Evan Cheng ซึ่งในปัจจุบันดำรงตำแหน่ง CEO ของโปรเจกต์ครับ โดยคุณ Evan เคยทำงานเป็น senior manager ที่ Apple และเคยเป็น director of engineering ที่ Meta ซึ่งในขณะนั้นยังใช้ชื่อบริษัทว่า Facebook ครับ โดยในเดือนกันยายน 2021 Evan และเพื่อนอีก 4 คน (ซึ่งทั้งหมดเคยทำงานให้ Meta และมีบางคนเคยมีส่วนร่วมกับการพัฒนาโปรเจกต์ Diem ซึ่งเป็นอดีตโปรเจกต์ stablecoin ของ Meta ครับ) ได้ก่อตั้ง Mysten Labs ซึ่งเป็นบริษัทที่มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างสำหรับการใช้งาน web3 และเป็นบริษัทที่รับหน้าที่พัฒนาบล็อกเชน Sui ครับ ในปัจจุบันการพัฒนาบล็อกเชน Sui อยู่ภายใต้การดูแลของ Sui Foundation โดย Sui ผ่านการระดมทุนมาแล้วสองครั้ง คือ series A และ B ซึ่งระดมทุนไปได้ทั้งหมด 336 ล้านดอลลาร์สหรัฐครับ

Sui: บล็อกเชน Layer-1 ใหม่แกะกล่อง

ตัวบล็อกเชน mainnet ของ Sui เพิ่งเปิดใช้งานไปในวันที่ 3 พฤษภาคม 2023 ที่ผ่านมาครับ ซึ่งก่อนที่จะถึงวันเปิดใช้งาน mainnet Sui ได้รับความสนใจจากฐานผู้ใช้งานคริปโตเคอร์เรนซีมากพอสมควร สาเหตุหนึ่งมาจาก Binance ซึ่งเป็นกระดานเทรดคริปโตเจ้าใหญ่ ประกาศเพิ่ม SUI ซึ่งเป็นโทเคนประจำบล็อกเชน Sui ในโปรแกรม Launchpool ซึ่งเป็นโปรแกรมที่จะให้ผู้ใช้งานทำการล็อกโทเคนอย่าง BNB, BUSD หรือ TUSD ไว้ เพื่อแลกกับโทเคนใหม่ที่จะเปิดตัวครับ ซึ่งการประกาศดังกล่าวทำให้ชุมชนผู้ใช้งานตื่นตัว และตื่นตัวยิ่งไปกว่านั้นเมื่อ Justin Sun ผู้ก่อตั้งบล็อกเชน Tron ทำการล็อก TUSD มูลค่า 56 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับ SUI ซึ่งถือเป็นมูลค่าที่สูงมาก ๆ (แต่หลังจากนั้นได้ประกาศถอนทุนออกไปเนื่องจากคุณ Changpeng Zhao หรือ CZ ซึ่งเป็นเจ้าของ Binance กล่าวว่า Launchpool มีไว้เพื่อให้นักลงทุนรายย่อยได้มีโอกาสเข้าถึงการเปิดขายโทเคนใหม่ และจะดำเนินการบางอย่างถ้าหาก Justin ไม่ถอนการลงทุนดังกล่าว) แต่ประเด็นนี้ก็ทำให้ Sui ได้รับความสนใจจากชุมชนผู้ใช้งานไม่น้อยเลยครับ

Technology

Consensus Mechanism

บล็อกเชน Sui ใช้กลไกฉันทามติ Delegated Proof-of-Stake (DPoS) ครับ โดยในการตรวจสอบธุรกรรมจะมีผู้ตรวจสอบ ซึ่งจะต้องวาง (stake) โทเคน SUI เป็นหลักประกัน และน้ำหนักในเสียงโหวตของผู้ตรวจสอบจะขึ้นกับมูลค่า SUI ที่นำมาวางไว้ครับ

การตรวจสอบธุรกรรมในบล็อกเชน Sui จะถูกแบ่งออกเป็นรอบ ๆ แต่ละรอบจะมีระยะเวลาที่เท่ากัน ในแต่ละรอบจะมีการเลือกผู้ตรวจสอบกลุ่มหนึ่งจากผู้ตรวจสอบทั้งหมด ผู้ตรวจสอบกลุ่มนี้จะมีหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมทั้งหมดในรอบนั้น ๆ ครับ แต่ละธุรกรรมจะต้องผ่านการยืนยันจากอย่างน้อย 2 ใน 3 ของผู้ตรวจสอบ จึงจะถือว่าถูกต้อง (Sui จะเรียกกลุ่มผู้ตรวจสอบนี้ว่า quorum และเรียกชุดของธุรกรรมที่ถูกยืนยันแล้วกับ quorum ว่า certificate)

Objects

โดยปกติ บล็อกเชนทั่วไปจะถูกออกแบบขึ้นมาโดยมีบัญชี (account) ของผู้ใช้งานเป็นหน่วยเก็บข้อมูลย่อย ๆ แต่ Sui ถูกออกแบบขึ้นโดยให้หน่วยเก็บข้อมูลย่อยดังกล่าวอยู่ในรูปแบบของ objects (ทางทีมพัฒนา Sui เองเรียกการออกแบบนี้ว่า object centric design) โดยนักพัฒนาสามารถออกแบบ object ให้เหมาะสมกับแอปพลิเคชันของตัวเองได้ครับ ตัว object แต่ละ object ก็จะมีคุณลักษณะที่แตกต่างกันตามที่ถูกกำหนดไว้ และคุณลักษณะที่ว่าจะมีความยืดหยุ่นในแต่ละ object ครับ นั่นคือสามารถเพิ่มหรือลดได้ (ทีมพัฒนาของ Sui เรียกสิ่งนี้ว่า dynamic fields) แต่จะมีคุณลักษณะหนึ่งอย่างที่มีในทุก ๆ object คือความเป็นเจ้าของ (ownership) ที่จะระบุว่าเจ้าของ object นี้เป็นใคร โดยอาจจะเป็นกระเป๋าเงินดิจิทัล หรือเป็น object อื่นก็ได้ครับ ซึ่ง object และคุณลักษณะทั้งหมดจะถูกเก็บไว้บนบล็อกเชนของ Sui โดยตรง

ความเป็นเจ้าของในแต่ละ object สามารถถูกออกแบบให้มีเพียงกระเป๋าเดียวที่เป็นเจ้าของ (owned object) หรือมีหลายกระเป๋าที่เป็นเจ้าของร่วม (shared object) ก็ได้ครับ การเป็นเจ้าของร่วมแปลว่าการจะปรับเปลี่ยนข้อมูลบางอย่างของ object หรือการโอนสิทธิความเป็นเจ้าของ จะต้องผ่านการยอมรับจากเจ้าของร่วมทั้งหมดของ object นั้น ๆ ครับ

Sui Blockchain

Sui: บล็อกเชน Layer-1 ใหม่แกะกล่อง

กลไกในการสร้างบล็อกเชนของ Sui มีความแตกต่างจากกลไกทั่วไปพอสมควรครับ ในบล็อกเชนทั่วไปจะมีการเสนอการเปลี่ยนแปลงจากสภาวะเดิมของบล็อกเชนในรูปแบบของบล็อกใหม่ ซึ่งจะถูกเสนอ ตรวจสอบ และเพิ่มเข้าบล็อกเชนทีละบล็อก ๆ ครับ ระหว่างการตรวจสอบบล็อกใหม่ ถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม (เช่นมีการทำธุรกรรมใหม่ หรือมีการเปลี่ยนข้อมูลของ object) การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะต้องรอให้บล็อกปัจจุบันผ่านการตรวจสอบ และต่อเข้ากับบล็อกเชนเรียบร้อยเสียก่อน จึงจะถูกนำเข้ากระบวนการครับ ซึ่งทีมพัฒนา Sui เห็นว่ากลไกดังกล่าวมีจุดอ่อนตรงที่การตรวจสอบบล็อกจะต้องทำเป็นลำดับ ในเมื่อไม่ใช่ทุก ๆ ธุรกรรมที่เกิดขึ้น จะมีความเกี่ยวข้องกัน (นาย A ส่งโทเคนให้นาย B เป็นธุรกรรมที่ 1 ถัดมา นาย C ส่งโทเคนให้นาย D ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกรรมที่ 1 แต่ก็ต้องรอขั้นตอนการตรวจสอบธุรกรรมที่ 1 และรอให้ธุรกรรมที่ 1 ถูกเพิ่มเข้าไปในบล็อกก่อน จึงจะตรวจสอบธุรกรรมของนาย C ได้) การตรวจสอบธุรกรรมของ Sui จึงถูกออกแบบมาให้มีลักษณะตรวจสอบแบบขนาน (parellel) ได้ครับ แปลว่าการตรวจสอบธุรกรรมสามารถกระทำพร้อมกันได้ ถ้าหากกลุ่มก้อนธุรกรรมที่ถูกตรวจสอบพร้อมกันไม่มีความเกี่ยวข้องกัน แต่สำหรับธุรกรรมที่มีลักษณะเกี่ยวข้องกับกระเป๋าหลาย ๆ กระเป๋า หรือมีความซับซ้อน Sui ก็สามารถปรับวิธีการตรวจสอบมาเป็นการตรวจสอบตามลำดับเหมือนกับบล็อกเชนทั่วไปได้ครับ

ความแตกต่างสำคัญอีกหนึ่งอย่างคือ Sui เป็นบล็อกเชนที่ตรวจสอบธุรกรรมทีละธุรกรรมครับ สำหรับบล็อกเชนทั่วไป มักจะมีการรวบธุรกรรมที่เกิดขึ้นใหม่หลาย ๆ ธุรกรรมเป็นก้อน ๆ เดียว แล้วทำการตรวจสอบธุรกรรมในก้อนนั้นพร้อมกัน เพื่อประหยัดพลังงานที่ต้องใช้ แต่การตรวจสอบทีละธุรกรรมแบบ Sui มีข้อดีตรงที่แต่ละธุรกรรมที่เกิดขึ้นใหม่จะไม่ต้องรอให้มีธุรกรรมอื่น ๆ เกิดขึ้นเพื่อจับมัดรวมเป็นก้อนครับ ทำให้ระยะเวลาที่ใช้ตั้งแต่สร้างธุรกรรมจนถึงได้รับการตรวจสอบลดลง โดยการตรวจสอบธุรกรรมของบล็อกเชน Sui มีขั้นตอนดังนี้ครับ

  1. ผู้ใช้งานสร้างธุรกรรมใหม่ และผู้ตรวจสอบ (validator) รับรู้การเกิดขึ้น
  2. ผู้ตรวจสอบแต่ละคนโหวตเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับธุรกรรมดังกล่าว และส่งผลการโหวตกลับไปยังผู้ใช้งาน
  3. ผู้ใช้งานรวบรวมผลโหวตและสรุปผลการตรวจสอบ และประกาศผลดังกล่าวไปยังผู้ตรวจสอบ
  4. ผู้ตรวจสอบอนุมัติการทำธุรกรรม ถือเป็นอันสิ้นสุด

ด้วยการออกแบบดังกล่าวทำให้ Sui เป็นบล็อกเชนที่มีความเร็วสูงครับ

Narwhal and Bullshark

โครงสร้างการตรวจสอบธุรกรรมของบล็อกเชนโดยปกติ จะประกอบไปด้วยสองส่วนหลักครับ ส่วนแรกคือ mempool ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกรรมที่ถูกสร้างขึ้นแล้ว แต่กำลังรอการยืนยันจากผู้ตรวจสอบ และอีกส่วนคือ consensus engine ซึ่งเป็นกลไกในการตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมครับ

บล็อกเชน Sui มี mempool ที่ชื่อว่า Narwhal ครับ ซึ่งจะคอยรวบรวมธุรกรรมที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบไว้ในรูปแบบของกราฟ ซึ่งทำให้การค้นหาข้อมูลทำได้ง่าย โดย Narwhal มีกลไกที่จะช่วยตรวจสอบความพร้อมใช้งาน (availability) ของข้อมูลที่เก็บไว้ นอกจากนี้การออกแบบของ Narwhal ยังช่วยให้สามารถขยายตัวเพื่อรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้นได้ง่ายอีกด้วยครับ ในส่วนของ consensus engine ของ Sui เป็นเทคโนโลยีที่ชื่อว่า Bullshark โดย Bullshark จะทำหน้าที่เรียงลำดับธุรกรรมที่เกิดขึ้น และประมวลผลธุรกรรมต่อไป อ้างอิงจากเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ Sui เทคโนโลยีสองตัวนี้ช่วยให้บล็อกเชน Sui มีความเร็วในการประมวลผลสูงสุดถึง 125,000 ธุรกรรมต่อวินาทีครับ

Bridges

Sui รองรับการเคลื่อนย้ายโทเคนข้ามบล็อกเชนผ่านสะพาน Wormhole ครับ แปลว่า Sui และบล็อกเชนใด ๆ ที่รองรับการเชื่อมต่อ Wormhole (เช่น Ethereum, AvalanchePolygonFantom และ Celo) สามารถเคลื่อนย้ายโทเคนไปมาระหว่างกันได้ โดยผู้ใช้งานที่ต้องการเคลื่อนย้ายโทเคน จะจ่ายค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมเฉพาะบล็อกเชนที่ต้องการย้ายออกเท่านั้น (สมมติว่าจะโอน ETH จาก Ethereum มาที่ Sui จะจ่ายค่าธรรมเนียมที่ฝั่ง Ethereum เท่านั้น) สำหรับใครที่อยากอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถอ่านได้ที่นี่ครับ

SUI

Sui: บล็อกเชน Layer-1 ใหม่แกะกล่อง

เป็นโทเคนประจำบล็อกเชน Sui ครับ โดยมีปริมาณอุปทานสูงสุดอยู่ที่ 1 หมื่นล้านโทเคน อ้างอิงจาก CoinGecko ในปัจจุบัน (พฤษภาคม 2023) SUI มีปริมาณอุปทานหมุนเวียนในปัจจุบัน (พฤษภาคม 2023) อยู่ที่ประมาณ 528 ล้านโทเคน และมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 701 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับที่ 69 ในบรรดาคริปโตเคอร์เรนซีทั้งหมด โดยปริมาณอุปทานของ SUI จะมีบางส่วนที่เปิดให้หมุนเวียนตั้งแต่วันแรกที่เปิดใช้งาน mainnet และบางส่วนที่จะทยอยเปิดให้หมุนเวียนในอนาคตในรูปแบบผลตอบแทนของการมีส่วนร่วมบนบล็อกเชนครับ

ความต้องการใช้งานของ SUI จะมาจากสามส่วนหลัก ๆ ครับ ส่วนแรกมาจากการที่ผู้ตรวจสอบใช้ SUI วาง (stake) เป็นหลักประกันเพื่อรับสิทธิในการตรวจสอบธุรกรรม ซึ่งการวาง SUI จะได้รับสิทธิในการโหวตออกเสียงสำหรับร่างการอัปเกรดใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากชุมชนผู้ใช้งานด้วยครับ สำหรับผู้ใช้งานที่ไม่ได้ต้องการจะเป็นผู้ตรวจสอบเองสามารถฝาก (delegate) SUI ของตนเองให้กับผู้ตรวจสอบได้เช่นกัน โดยผลตอบแทนของการ stake และ delegate จะถูกคำนวณจากค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมที่ได้รับมาจากผู้ใช้งานที่ทำธุรกรรม ส่วนที่สองคือการใช้ชำระเป็นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมสำหรับทุก ๆ ธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชน Sui และส่วนสุดท้ายมาจาก storage fund ครับ เนื่องจาก Sui เป็นบล็อกเชนที่เก็บข้อมูลทุกอย่างบนบล็อกเชน จึงจำเป็นที่จะต้องมีต้นทุนการเก็บข้อมูลในส่วนนี้เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งก้อน โดยสำหรับผู้ใช้งานที่ทำธุรกรรม ต้นทุนส่วนนี้จะถูกรวมกับต้นทุนส่วนการคำนวณต่าง ๆ เป็นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมที่ต้องจ่ายเรียบร้อยแล้วครับ โดยในทุก ๆ ธุรกรรม ต้นทุนส่วนนี้จะถูกจ่ายให้กับ storage fund ซึ่งเป็นกองทุนกลางที่ทำหน้าที่รวบรวม SUI จากส่วนนี้ไว้ และกระจายต่อให้กับผู้ตรวจสอบที่ตรวจสอบธุรกรรมต่อไปครับ

Use Cases

Gaming

ถึงแม้ความนิยมในเกมบนบล็อกเชน (GameFi) ที่มีจุดขายในเรื่องความกระจายศูนย์ และการที่ผู้เล่นจะเป็นเจ้าของไอเทมต่าง ๆ ในเกมอย่างแท้จริง จะลดลงไปในช่วงปีที่ผ่านมา แต่อุตสาหกรรมเกมและความบันเทิงก็ยังมีขนาดใหญ่ และมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ นะครับ บล็อกเชน Sui เองก็มีโอกาสที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในวงการ GameFi ด้วยจุดเด่นในเรื่องความเร็วในการประมวลผลธุรกรรม ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญสำหรับเกม ที่ความเร็วในการประมวลผลถือเป็นเรื่องที่ผู้เล่นให้ความสำคัญครับ ซึ่งในปัจจุบันก็มีเกมจำนวนหนึ่งที่กำลังพัฒนาอยู่บนบล็อกเชน Sui ครับ

Sui: บล็อกเชน Layer-1 ใหม่แกะกล่อง

ยกตัวอย่างเช่น Wandering Warrior ที่เป็นเกมลักษณะ Roguelike หรือเกมที่ตัวละคร NPC ในเกมจะโต้ตอบกับผู้เล่นก็ต่อเมื่อผู้เล่นมีการกระทำบางอย่างก่อนเท่านั้น ตัวเกมถูกพัฒนาโดยบริษัท Quark Lab โดยเกมจะอนุญาตให้ผู้เล่นมีที่ดินเป็นของตัวเอง สามารถสร้างและต่อเติมไอเทมต่าง ๆ และสามารถต่อสู้กับผู้เล่นคนอื่น ๆ ครับ หรืออย่าง Kaiju Legends ซึ่งเป็นเกมมัลติเวิร์สที่ผสมผสานแนวคิดของของเล่นและงานศิลปะเข้ากับเกม ตัวเกมในปัจจุบันกำลังพัฒนาอยู่บนบล็อกเชน Ethereum ซึ่งในอนาคตจะมาพัฒนาบนบล็อกเชน Sui ด้วยครับ บนบล็อกเชน Ethereum ตัวโปรเจกต์ได้มีการเปิดขาย NFT รอบแรก จำนวน 7,777 ชิ้น และขายได้ทั้งหมดแล้วครับ

Finance

ว่าด้วยเรื่องการทำธุรกรรมทางการเงิน ปัจจัยที่หลาย ๆ คนให้ความสำคัญคือเรื่องของความเร็วครับ ซึ่งบล็อกเชน Sui เองก็น่าจะตอบโจทย์นี้ได้อย่างดี ในปัจจุบันก็มีแอปพลิเคชัน DeFi หลายตัวที่กำลังพัฒนาอยู่บนบล็อกเชน Sui ครับ ยกตัวอย่างเช่น ObjectSwap หรือ SeaSwap ที่เป็นกระดานเทรดกระจายศูนย์, StakedNFT ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกู้ยืม ที่สามารถนำ NFT ไปวางเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันเพื่อกู้ยืมได้ เป็นต้น

Social

สื่อออนไลน์เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่บล็อกเชนน่าจะเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในอนาคตครับ ด้วยลักษณะของบล็อกเชนที่อนุญาตให้เจ้าของคอนเทนต์มีสิทธิในการควบคุมคอนเทนต์ของตัวเอง ซึ่งแตกต่างจากแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ที่ใช้งานกันอยู่ทุกวันนี้ ที่สุดท้ายเจ้าของคอนเทนต์ต่าง ๆ ไม่ใช่ตัวผู้สร้าง แต่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มครับ นั่นทำให้ในปัจจุบันหลาย ๆ บล็อกเชนเริ่มมีการพัฒนาแอปพลิเคชันในรูปแบบนี้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น Lens Protocol ของ Aave ที่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการสร้างแอปพลิเคชันสื่อออนไลน์บนบล็อกเชนของ Polygon ครับ

Sui: บล็อกเชน Layer-1 ใหม่แกะกล่อง

ในฝั่งของ Sui ก็มีแอปพลิเคชันรูปแบบนี้หลายตัวที่กำลังพัฒนาอยู่ครับ ยกตัวอย่างเช่น Universal Basic Asset ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันในรูปแบบ SocialFi ซึ่งทำงานคล้ายคลึงกับเว็บไซต์สื่อออนไลน์ แต่ใช้งานเทคโนโลยี zero-knowledge (ZK) proof เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ใช้งานครับ

Roadmap

Protocol Stabilization

ด้วยความที่เป็นบล็อกเชนเกิดใหม่ Sui เองก็ยังมีหลายจุดที่ต้องการการพัฒนาต่อไปครับ เป้าหมายของทีมพัฒนา Sui จึงเป็นการปรับปรุงโครงสร้าง รวมถึงวิธีการทำงานเพื่อให้ตัวบล็อกเชนมีความเสถียรขึ้น ซึ่งการปรับปรุงส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับฝั่งหลังบ้าน (backend) ครับ อ้างอิงจากเว็บไซต์ของ Sui การปรับปรุงดังกล่าวจะครอบคลุมหลายด้านครับ ยกตัวอย่างเช่นการสร้าง REST data model ของบล็อกเชนที่ชื่อว่า SuiJSON ซึ่งเป็นรูปแบบการรับส่งข้อมูลให้สำเร็จ, การสร้าง data type ที่เป็นประเภทข้อมูลหลักบนบล็อกเชน, การปรับปรุง shared objects, และการกำหนดค่าธรรมเนียมธุรกรรม (gas cost) อ้างอิงครับ

Sui Improvement Proposals (SIPs)

Improvement proposals เป็นหลักการที่บล็อกเชนทั่วไปใช้ในการกำหนดทิศทางความเป็นไปของตัวโปรเจกต์ครับ วิธีการคือบุคคลบางกลุ่ม (อาจจะเป็นผู้ใช้งานทั้งหมด หรือบุคคลที่ถูกเลือก ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของบล็อกเชนนั้น ๆ) จะเสนอร่างอัปเกรดขึ้นมา และชุมชนผู้ใช้งานบล็อกเชนจะมีสิทธิโหวตเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างอัปเกรดนั้น โดยน้ำหนักการโหวตสำหรับบล็อกเชนที่ใช้กลไกฉันทามติ Proof-of-Stake จะขึ้นกับมูลค่าโทเคนที่ถูกวาง (stake) ไว้เป็นหลักประกันครับ

ทีมพัฒนาของ Sui เองกำลังสร้าง web forum ไว้สำหรับชุมชนผู้ใช้งานได้เสนอร่างอัปเกรด ปรึกษาหารือ และโหวตแสดงความคิดเห็นกันอยู่ครับ เมื่อสร้างเสร็จ กลไกการโหวตที่เราเห็นตามบล็อกเชนทั่วไป ก็จะมีให้ใช้งานบน Sui ครับ

Concerns

Complexity

Sui: บล็อกเชน Layer-1 ใหม่แกะกล่อง

บล็อกเชนของ Sui ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมดครับ ซึ่งมีข้อดีตรงที่นักพัฒนาสามารถเพิ่มกลไกหรือปรับแต่งโครงสร้างให้เป็นไปตามต้องการได้อย่างอิสระ แต่สิ่งนั้นทำให้บล็อกเชนของ Sui มีความซับซ้อนพอสมควรครับ ยกตัวอย่างเช่นกลไกการตรวจสอบธุรกรรม ที่จะต้องสร้างมาเพื่อรองรับการตรวจสอบสองแบบ แบบแรกคือการตรวจสอบแบบขนานที่สามารถตรวจสอบธุรกรรมหลาย ๆ ธุรกรรมที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกัน เพื่อเพิ่มความเร็วในการประมวลผล กับอีกแบบหนึ่งที่จะต้องตรวจสอบธุรกรรมเพียงหนึ่งธุรกรรมในหนึ่งช่วงเวลา สำหรับธุรกรรมที่มีความซับซ้อน หรือมีความเกี่ยวข้องกับผู้ใช้งานหลายคน การมีชุดโปรแกรมตรวจสอบสองชุด เพิ่มความซับซ้อนและความยุ่งยากในการดูแลตัวโปรเจกต์พอสมควรครับ

Obsession

ประเด็นนี้ไม่ใช่ประเด็นเกี่ยวกับตัวโปรเจกต์หรือตัวบล็อกเชนครับ แต่เป็นประเด็นเรื่องการเห่อของใหม่ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่วงการคริปโตเคอร์เรนซี แต่เกิดขึ้นกับหลากหลายสินทรัพย์ เช่นหุ้น IPO บางตัวที่ราคาพุ่งทะยานไป 20–30% ในวันแรกของการซื้อขาย หรือสินค้าบางชนิดที่มูลค่าตลาดมือสองในวันแรก ๆ ที่วางจำหน่ายพุ่งสูงขึ้นผิดปกติเนื่องจากมีจำนวนจำกัด เรื่องเหล่านี้เป็นผลจากการเห่อของใหม่ครับ กลับมาที่เรื่องคริปโตเคอร์เรนซี เราจะเห็นโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีหลายโปรเจกต์ครับ ที่ในวันแรกที่เปิดให้ซื้อขายโทเคน ราคาพุ่งทะยานไปหลายสิบหรือหลายร้อยเท่า แต่หลังจากนั้นราคาก็ค่อย ๆ ขยับลงเรื่อย ๆ ไม่เคยกลับขึ้นไปแตะจุดเดิมอีกเลย เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้เป็นปกติครับ และมีความเป็นไปได้หลายสาเหตุ เช่นทีมพัฒนาโปรเจกต์ไม่สามารถทำตามแผนงานที่กำหนดไว้ได้ ก็จะส่งผลเชิงลบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนครับ ดังนั้นสำหรับโปรเจกต์คริปโตหน้าใหม่ ทุก ๆ คนควรจะระวังในจุดนี้ด้วยครับ

Summary

Sui เป็นโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีที่มีความไม่ธรรมดาในหลาย ๆ แง่มุมครับ เริ่มตั้งแต่ผู้ก่อตั้งที่เคยทำงานให้ทั้ง Apple และ Meta รวมถึงมีทีมงานที่เคยมีส่วนร่วมพัฒนาโปรเจกต์ Diem มาก่อน ทำให้มีความคุ้นเคยกับบล็อกเชนเป็นอย่างดี ตัวโปรเจกต์ถูกสร้างขึ้นจากศูนย์ แปลว่านักพัฒนามีความเข้าใจโปรแกรมสูง และสามารถออกแบบและพัฒนาตัวบล็อกเชนให้เป็นไปตามความต้องการได้ เทคโนโลยีของ Sui ถือว่าแตกต่างจากบล็อกเชนอื่นพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูลในรูปแบบของ object การตรวจสอบธุรกรรมที่สามารถตรวจสอบแบบขนานกัน หรือตรวจสอบทีละธุรกรรม ขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกรรมที่ถูกสร้างขึ้น เป็นกลไกที่มีความซับซ้อน และไม่มีโปรเจกต์ไหนที่ออกแบบกลไกการตรวจสอบแบบนี้มาก่อนครับ รวมถึงเทคโนโลยีอย่าง Narwhal และ Bullshark ร่วมกับโครงสร้างของบล็อกเชน ทำให้ Sui เป็นบล็อกเชนที่มีความเร็วสูงมาก ๆ และน่าจะรองรับการใช้งานที่มากขึ้นได้ในอนาคตครับ

แต่ถึงแม้ว่าจะมีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ามาก ๆ Sui เองก็มีข้อควรระวังอยู่บางจุดครับ จุดที่ใหญ่ที่สุดคงเป็นเรื่องความซับซ้อนของการออกแบบเอง เพราะโครงสร้างที่ซับซ้อนขึ้น นำมาสู่การดูแลรักษาที่ยุ่งยากขึ้นอยู่แล้วครับ ต้องรอดูต่อไปว่าถ้าหากโครงสร้างของบล็อกเชนมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ตัวบล็อกเชนจะยังสามารถดำเนินไปอย่างไม่มีจุดผิดพลาดได้หรือไม่ นอกจากนี้ด้วยความที่ Sui เป็นบล็อกเชนที่ใหม่มาก ๆ (ในวันที่ผมเขียนบทความนี้คือ mainnet มีอายุยังไม่ถึง 1 สัปดาห์) แน่นอนว่าโปรเจกต์จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนและผู้คนในวงการคริปโตเคอร์เรนซีมากเป็นพิเศษอยู่แล้วครับ ซึ่งโดยปกติความสนใจนี้จะค่อย ๆ ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป และด้วยความใหม่ของตัวบล็อกเชน ทำให้ในปัจจุบันยังไม่มีแอปพลิเคชันมาเปิดใช้งานบนบล็อกเชน Sui ครับ ซึ่งในอนาคตจะต้องมีแอปพลิเคชันมาเปิด มิเช่นนั้นบล็อกเชน Sui จะไม่มีผู้ใช้งาน และไม่เติบโตต่อครับ คงต้องรอดูกันต่อไปว่า Sui จะสามารถดึงดูดทั้งนักพัฒนาและผู้ใช้งานเข้ามามากน้อยแค่ไหน และจะยังสามารถดำเนินต่อไปโดยไม่มีจุดผิดพลาดได้หรือไม่ แต่สำหรับในตอนนี้ Sui เป็นหนึ่งในโปรเจกต์คริปโตหน้าใหม่ที่ได้รับความสนใจสูงสุดไปแล้วครับ

CodeBreaker

ที่มาบทความ: https://link.medium.com/NSJY08Z4Czb


คำเตือน

การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง อาจสูญเสียเงินลงทุน ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจและศึกษาข้อมูล รวมทั้งลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้