VeChain: เมื่อ Blockchain เจอ Supply Chain

เราเห็นหลากหลายบริษัทมีการใช้งานบล็อกเชนเพื่อแก้ไขปัญหาในการทำงานนะครับ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันการใช้งานเทคโนโลยีบล็อกเชนส่วนมากจะอยู่ในวงการการเงิน ในวงการอื่น ๆ ก็มีการประยุกต์ใช้งานบล็อกเชนไม่น้อยเลยครับ ห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) เป็นอีกหนึ่งวงการที่กำลังเจอปัญหาอยู่ไม่น้อยในปัจจุบัน ทุกวันนี้เราเห็นสินค้าปลอม สินค้าคุณภาพต่ำ สินค้าที่ไม่ตรงกับฉลาก และปัญหาอื่น ๆ อีกครับ ซึ่งต้นตอของปัญหาเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการบันทึกข้อมูลที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง และไม่มีการตรวจสอบข้อมูลชุดนั้น วันนี้ผมจะพาทุก ๆ คนมารู้จักกับบล็อกเชนตัวหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานโดยเฉพาะ มาดูกันว่าบล็อกเชนตัวนี้จะสามารถแก้ปัญหาที่มีอยู่ได้อย่างไร และมีการใช้งานอย่างไรบ้างในปัจจุบัน ไปรู้จักกับ VeChain กันครับ

But why do we need it?

ปัญหาเรื่องการปลอมแปลงตัวสินค้า แก้ไขข้อมูลบนฉลาก หรือการผลิตและจัดส่งที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน เป็นปัญหาใหญ่ของห่วงโซ่อุปทานของทั้งโลกในปัจจุบันครับ เราจะเห็นข่าวการปลอมแปลงสินค้า โดยเฉพาะสินค้าแบรนด์เนม เช่นนาฬิกายี่ห้อดัง กระเป๋าราคาหลักแสน อยู่เรื่อย ๆ อ้างอิงจากงานวิจัยของ CoinTelegraph พบว่า 20% ของไวน์ที่ซื้อขายกันทั่วโลก มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นของปลอม (ข้อมูลวัตถุดิบ / กระบวนการผลิต ไม่ตรงกับที่แปะไว้บนฉลาก)

VeChain: เมื่อ Blockchain เจอ Supply Chain

กราฟด้านบนเป็นกราฟจากงานวิจัยของ CoinTelegraph ครับ จากกราฟจะเห็นว่าเหตุการณ์เกี่ยวกับความปลอดภัยในด้านอาหารมักจะเกิดขึ้นในประเทศที่มีดัชนี Human Development Index (HDI) สูง (ซึ่งหมายถึงเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว) และในช่วงหลัง ๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบกับประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ (เทียบกับช่วงปี 2008–2011 ที่จะกระทบแค่ 1–3 ประเทศเท่านั้น) และในหลาย ๆ เหตุการณ์มีผู้มีส่วนร่วมเป็นบริษัทอาหารขนาดใหญ่ ที่ถ้าหากพูดชื่อขึ้นมา พวกเราก็คงจะรู้จักกันดีทุกคน

ดังนั้นปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ ครับ การจัดเก็บข้อมูลที่มาของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ถือเป็นเรื่องสำคัญ และสำคัญยิ่งกว่าคือจะทำอย่างไรให้ข้อมูลที่ถูกเก็บไว้ โปร่งใส และไม่สามารถถูกบิดเบือนจากใครคนใดคนหนึ่งได้ เราจะทราบได้อย่างไรว่าไวน์ที่เราสั่งในภัตตาคารหรู เป็นไวน์ที่มาจากแหล่งผลิตชั้นยอดจริง ๆ เราจะทราบได้อย่างไรว่านมที่วางขายอยู่ตามร้านสะดวกซื้อ ผ่านกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ และมีความปลอดภัยจริง ๆ เราจะทราบได้อย่างไรว่ากระเป๋าแบรนด์เนมที่เราได้มา ไม่ใช่ของปลอม เดี๋ยวเราลองมาดูเทคโนโลยีที่อาจจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้กันครับ

What is VeChain?

VeChain: เมื่อ Blockchain เจอ Supply Chain

VeChain เป็นชื่อของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่เสนอผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการห่วงโซ่อุปทาน (supply chain management) ในรูปแบบ blockchain-as-a-service โดยนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาผนวกกับ Internet of Things (IoT) เพื่อช่วยให้เข้าใจถึงที่มาและวิธีการจัดการสินค้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยารักษาโรค เครื่องจักร รถยนต์ เครื่องแต่งกาย ฯลฯ

VeChain: เมื่อ Blockchain เจอ Supply Chain

VeChain เริ่มต้นในปี 2017 โดยวิศวกรไฟฟ้าชื่อ Sunny Lu โดยคุณ Sunny เคยเป็น Chief Information Officer ประจำบริษัท Louis Vuitton China และมีประสบการณ์ทำงานในวงการ supply chain กว่า 20 ปี VeChain เริ่มต้นจากการเป็นโปรเจกต์ที่อยู่บนเครือข่ายบล็อกเชนของ Ethereum แต่ในปี 2018 บริษัทฯ ได้สร้างบล็อกเชนของตัวเองขึ้นมา มีชื่อว่า VeChainThor และใช้งานบล็อกเชนของตัวเองตั้งแน่นั้นเป็นต้นมา เป้าหมายของบริษัทคือการสร้างเครือข่ายของบริษัทต่าง ๆ โดยใช้บล็อกเชนเป็นตัวเชื่อมต่อ ในปัจจุบันก็มีบริษัทหลายแห่งมาจับมือเป็นพันธมิตรกับ VeChain เช่น Walmart, Bayer, BMW, Haier, H&M และ PwC เป็นต้น โดยในปัจจุบัน VeChainThor อยู่ภายใต้การดูแลของ VeChain foundation ครับ

วิธีการของ VeChain คือการติดแท็กอิเล็กทรอนิกส์ เช่น QR code หรือ barcode ไว้กับตัวสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของสินค้า (กรณีเป็นสินค้าพวกอาหารหรือสินค้าอื่น ๆ ที่ต้องป้องกันการปนเปื้อน) จากนั้นจะมีคนทำการบันทึกข้อมูลของสินค้านั้น ๆ เช่น ชื่อ ส่วนประกอบ วันที่ผลิต สถานที่ผลิต ลงบนบล็อกเชนของ VeChain และในระหว่างการขนส่ง ก็จะมีคนคอยสแกนแท็กนั้น ๆ ซึ่งเมื่อสแกน ก็จะมีการบันทึกข้อมูลสภาพแวดล้อมตามที่ตั้งค่าไว้ (เช่น ถ้าเป็นการขนส่งอาหารก็อาจจะบันทึกอุณหภูมิ) ซึ่งเมื่อข้อมูลดังกล่าวถูกบันทึกลงบนบล็อกเชนแล้ว ก็จะถูกเปิดเผยแก่บุคคลอื่น และจะไม่สามารถถูกแก้ไขได้ ดังนั้นเมื่อสินค้าถูกจัดส่งมาถึงร้านค้าปลีก หรือร้านอาหารต่าง ๆ ร้านเหล่านั้นก็จะสามารถตรวจสอบได้ว่าสินค้าที่ถูกจัดส่งมา ถูกผลิตที่ไหน ถูกจัดส่งมาอย่างไร มีสภาพแวดล้อมระหว่างจัดส่งเป็นอย่างไรบ้าง เป็นการเพิ่มความมั่นใจในคุณภาพของสินค้าครับ

VeChain: เมื่อ Blockchain เจอ Supply Chain

ซึ่ง VeChain ก็ได้สร้าง ToolChain ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับองค์กร เพื่อให้องค์กรสามารถใช้งานบล็อกเชนของ VeChain ได้สะดวกครับ ซึ่ง feature ใน ToolChain ก็มีหลากหลาย ตั้งแต่การทำ product lifecycle / การควบคุมห่วงโซ่อุปทาน / การบันทึกข้อมูลจากแหล่งผลิตสินค้า / การตรวจสอบขั้นตอนการผลิต และอื่น ๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับองค์กรที่ต้องการตรวจสอบและแสดงความถูกต้องของข้อมูลการผลิตครับ

Technology

Nodes

VeChain: เมื่อ Blockchain เจอ Supply Chain

Nodes บนบล็อกเชน VeChainThor จะมีอยู่ 3 แบบด้วยกันครับ คือ

  1. Authority Masternodes (AM) เป็น node ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบน VeChainThor โดย node กลุ่มนี้จะต้องทำ Know Your Customer (KYC) ก่อน, ได้รับการอนุญาตจาก VeChain foundation, และทำการวาง (stake) VET ซึ่งเป็นโทเคนประจำ VeChainThor อย่างน้อย 25 ล้านเหรียญ จึงจะตรวจสอบธุรกรรมได้ และจะได้ VTHO ซึ่งเป็นโทเคนอีกตัวหนึ่งเป็นค่าตอบแทน นอกจากนี้ AM จะมีสิทธิในการโหวตแสดงความคิดเห็นใน proposal ต่าง ๆ ของบล็อกเชนครับ โดยจำนวนเสียงในการโหวตก็จะแปรผันตามมูลค่า VET ที่ วางไว้ โดยในปัจจุบันมี node กลุ่มนี้อยู่ 101 nodes ครับ
  2. Economic X Nodes (XN) เป็น node กลุ่มที่ไม่ต้องทำ KYC และไม่ต้องผ่านการอนุญาตจาก VeChain foundation ครับ โดย node กลุ่มนี้จะไม่ได้ทำหน้าที่ประมวลผลธุรกรรม แต่จะมีสิทธิในการโหวตแสดงความคิดเห็น proposal ที่ถูกเสนอขึ้นมาเพื่อปรับปรุงบล็อกเชน เช่นเดียวกันกับ AM นอกจากนี้ XN ยังมีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเล็กน้อยครับ เช่น XN จะได้สิทธิในการเข้าถึงการทำ initial coin offering (ICO) บนบล็อกเชน และในอนาคตก็อาจจะมีสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ตามมาครับ
  3. Economic Nodes (EN) เป็น node อีกหนึ่งกลุ่มที่ไม่ต้องทำ KYC และไม่ต้องผ่านการอนุญาตจาก VeChain foundation และมีสิทธิในการโหวตแสดงความคิดเห็นใน proposal ต่าง ๆ เช่นเดียวกับ AM และ XN ครับ แต่จะมีสิทธิประโยชน์น้อยกว่า

Consensus Mechanism

VeChainThor ใช้กลไกฉันทามติ Proof-of-Authority (PoA) ซึ่งเป็นกลไกฉันทามติที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป้าหมายในการยืนยันธุรกรรมอย่างรวดเร็ว โดยจะมีความแตกต่างจากกลไกที่เรารู้จักอย่าง Proof-of-Work (PoW) หรือ Proof-of-Stake (PoS) ตรงที่ PoA จะให้ node แต่ละ node ทำการยืนยันตัวตนก่อน (เช่นในกรณีของ VeChainThor จะให้ node ประเภท AM ทำ KYC) จากนั้นในจุดเริ่มต้น แต่ละ node จะได้รับโอกาสเท่า ๆ กันในการเขียนบล็อกใหม่และได้รางวัลจากการเขียน โดยในการเขียนบล็อกแต่ละครั้งจะมีผู้นำในการเขียน เมื่อใดที่ผู้นำไม่สามารถเขียนบล็อกใหม่ได้ หรือผู้ตามไม่มีส่วนในการตรวจสอบธุรกรรม จะถูกหักคะแนน และคะแนนที่มีอยู่จะส่งผลต่อโอกาสที่จะได้เขียนบล็อกในอนาคต (คะแนนที่สูงแปลว่าความน่าเชื่อถือสูงตาม กรณีนี้ก็จะมีโอกาสได้เขียนบล็อกใหม่เยอะครับ)

กลไกนี้ช่วยให้แต่ละ node ไม่ต้องใช้ทรัพยากรการคำนวณที่สูงมาแข่งกันเหมือน PoW และในขณะเดียวกันก็ป้องกันคนที่มีเหรียญเยอะไม่ให้มีอำนาจมากเกินไปเหมือนใน PoS ครับ

เนื่องจากในปัจจุบัน VeChainThor มีจำนวน AM อยู่ที่ 101 nodes ซึ่งถือว่าไม่ได้เยอะมาก ประกอบกับการใช้กลไก PoA ทำให้ VeChainThor สามารถประมวลธุรกรรมทั่วไป (ไม่รวมธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับ smart contract) ได้มากถึง 10,000 ธุรกรรมต่อวินาที (tps) เลยครับ นอกจากนี้ VeChainThor ยังใช้งาน Ethereum Virtual Machine (EVM) เพื่อให้สามารถเขียน smart contract ได้อีกด้วย

TX Fee Delegation

ลองนึกภาพเวลาที่เราใช้งาน DApp ทั่วไปอย่าง AAVE / Uniswap หรือ Curve Finance เวลาที่เราจะทำธุรกรรมอะไรสักอย่าง ตัวเราเองจะต้องเป็นคนจ่ายค่า gas ใช่ไหมครับ TX Fee Delegation บน VeChainThor เป็นกลไกที่สามารถย้ายภาระการจ่ายค่า gas จากต้นทางคำขอทำธุรกรรม ไปยังปลายทางได้ครับ นั่นแปลว่า DApp บน VeChainThor สามารถเป็นคนจ่ายค่า gas ให้กับเราได้ โดยวิธีการจะทำได้สองแบบด้วยกัน

Multi-Party Payment (MPP)

VeChain: เมื่อ Blockchain เจอ Supply Chain

เป็นโปรโตคอลที่ถูกสร้างขึ้นมาพร้อมกับการเปิดใช้งานบล็อกเชน VeChainThor ครับ หลักการคือในการเชื่อมต่อผู้ใช้งาน (User) กับผู้ที่จะจ่ายค่า gas แทน (Payer) ทาง Payer สามารถเขียนสัญญาเพื่อเพิ่ม Master ซึ่งอาจจะเป็นตัว Payer เอง (กรณี Payer เป็นคนจริง ๆ) หรือเป็นอีกบัญชีหนึ่ง (กรณี Payer เป็น contract account เช่น DApp ต่าง ๆ) จากนั้นเมื่อเกิดการทำธุรกรรมขึ้น VeChainThor จะทำการหักค่า gas โดยไล่ลำดับจาก Master ก่อน จากนั้นหากหักจาก Master ไม่ได้ จะไปหักจาก Payer และค่อยไป User ตามลำดับครับ

VIP-191: Designated Gas Payer

เป็นการอัพเกรดบล็อกเชนที่เกิดขึ้นมาหลังจาก MPP ครับ โดยมีเป้าหมายที่จะขยายตัวเลือกบัญชีที่จะมาจ่ายค่า gas แทนผู้ใช้งาน จากเดิมที่เป็นได้แค่บัญชี Master ที่เขียนสัญญาเอาไว้ จะสามารถใช้บัญชีไหนก็ได้ครับ

Token

VET

VeChain: เมื่อ Blockchain เจอ Supply Chain

เป็นโทเคนที่ใช้ในการเก็บและส่งผ่านมูลค่าบนบล็อกเชน VeChainThor ครับ โดย node ที่ช่วยตรวจสอบธุรกรรมและเขียนบล็อกใหม่จะต้องทำการวาง (stake) VET ตามที่กล่าวไปข้างต้น นอกจากนี้ VET ยังเป็นโทเคนที่แสดงถึงอำนาจในการตัดสินใจต่าง ๆ โดยเมื่อมี proposal ใหม่เกิดขึ้น จะมีการโหวตเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยของ node ต่าง ๆ โดย node ที่ stake VET เยอะ ก็จะมีเสียงในการโหวตสูงตาม โดย VET มีปริมาณอุปทานสูงสุด (maximum supply) อยู่ที่ 86,712,634,466 เหรียญ

VTHO

VeChain: เมื่อ Blockchain เจอ Supply Chain

เป็นโทเคนที่ใช้จ่ายเป็นค่า gas เวลาที่ทำธุรกรรมต่าง ๆ บนบล็อกเชน VeChainThor ครับ เป็นโทเคนที่ไม่ได้มี maximum supply โดยจะถูกผลิตขึ้นมาเรื่อย ๆ ตามปริมาณ VET ที่ถูก stake ไว้ โดยจะมีสมการเบื้องหลังปริมาณการผลิต VTHO ใหม่ ที่ขึ้นอยู่กับปริมาณ VET ที่ถูก stake, ค่า gas ปัจจุบัน รวมถึงค่าคงที่อื่น ๆ ที่จะถูกกำหนดมาจาก VeChain foundation (ซึ่งจะถูกปรับแต่งเป็นรอบ ๆ ไป) ครับ

และจะมีความต้องการ (demand) เพิ่มขึ้นตามจำนวนการทำธุรกรรมบนบล็อกเชนที่เพิ่มขึ้น โดยในการทำธุรกรรมหนึ่งครั้ง 70% ของ VTHO ที่ถูกจ่ายเป็นค่า gas จะถูกเผา (burn) และอีก 30% ที่เหลือ จะเป็นรางวัลให้กับ AM node ที่เป็นคนเขียนบล็อกใหม่ครับ ซึ่งการ burn ก็จะช่วยลดอุปทานของ VTHO ทำให้ปริมาณไม่เฟ้อจนเกินไปครับ

Use Cases

VeChain: เมื่อ Blockchain เจอ Supply Chain

VeChain มีการจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทหลายแห่งครับ รวมถึงรัฐบาลหรือหน่วยงานภาครัฐของหลาย ๆ ประเทศอีกด้วย ในบทความนี้ผมจะยกตัวอย่างการจับมือสักเล็กน้อยครับ ส่วนใครที่อยากอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทหรือหน่วยงานอื่น ๆ สามารถตามไปอ่านต่อได้ที่นี่เลย

Pandemic Health Passport

Vechain มีการจับมือกับรัฐบาลของประเทศซานมารีโน ซึ่งเป็นประเทศขนาดเล็กในทวีปยุโรป เพื่อออกแบบหลักฐานการฉีดวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ในรูปแบบของ Non-Fungible Token (NFT) บนบล็อกเชน VeChainThor ครับ ซึ่งหลักฐานดังกล่าวก็เป็นไปตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป โดยหลักการคือพาสปอร์ตจะมี QR code ซึ่งเก็บข้อมูลประวัติการฉีดวัคซีนเอาไว้ (ซึ่งจะถูกบันทึกโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของรัฐบาล เมื่อเราฉีดวัคซีน) ซึ่งบุคคลที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสาธารณสุขสามารถสแกน QR code เพื่อดูข้อมูลรายบุคคลได้ ส่วนบุคคลอื่น ๆ สามารถสแกนเพื่อตรวจสอบว่าคน ๆ นี้ฉีดวัคซีนมากี่เข็มแล้วได้ครับ

Air Trace

เป็นโปรเจกต์ที่ PwC ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาระดับโลก มาพัฒนาบนบล็อกเชนของ VeChain โดยเป็นแพลตฟอร์ม low code ที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการติดตามคุณภาพอากาศในประเทศจีน และข้อมูลชุดดังกล่าวสามารถถูกใช้ร่วมกับข้อมูลการผลิตและขนส่งสินค้าต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบสภาวะแวดล้อมในแต่ละขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทานได้ และด้วยการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ทำให้ข้อมูลดังกล่าวมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ครับ ซึ่งการที่เป็นแพลตฟอร์ม low code ก็แปลว่าองค์กรหรือหน่วยงานทั่วไปสามารถเข้ามาใช้แพลตฟอร์มนี้ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

VeCarbon

เป็นผลิตภัณฑ์ Software-as-a-Service (SaaS) ของ VeChain ที่มีเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งสอดคล้องกับ Sustainable Development Goals (SDG) ซึ่งเป็นแผนของสหประชาชาติ โดย VeCarbon จะช่วยคำนวณปริมาณคาร์บอนที่ถูกปล่อยออกมาในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่วัตถุดิบ กระบวนการผลิต การจัดเก็บ การขนส่ง จากนั้นบันทึกข้อมูลลงบนบล็อกเชน VeChainThor โดยข้อมูลดังกล่าวก็จะถูกเปิดเผย ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์กับตัวบริษัทเองในกรณีที่บริษัทปล่อยคาร์บอนต่ำ ก็อาจจะดึงดูดความสนใจจากบริษัทหรือหน่วยงานอื่น ๆ ได้ครับ โดยในปัจจุบันบริษัทที่ใช้งาน VeCarbon ก็มาจากหลากหลายอุตสาหกรรม เช่นวัสดุก่อสร้าง, อาหารและเครื่องดื่ม, กระดาษ เป็นต้นครับ

The Ongnuid Banner Traceability Platform

เป็นโปรเจกต์ที่ VeChain ทำร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน (Inner Mongolia) ซึ่งเป็นหนึ่งในเขตปกครองตนเองภายในประเทศจีน โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มขีดความสามารถในการติดตามสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม โดยในเขตดังกล่าวมีการผลิตผลิตภัณฑ์การเกษตรและปศุสัตว์อย่างเช่นข้าว เนื้อวัว เนื้อแกะ อยู่เยอะ ในปัจจุบันมีองค์กรท้องถิ่นทั้งหมด 12 แห่ง ใช้งานแพลตฟอร์มนี้ โดยข้อมูลการเพาะเลี้ยง สภาพอากาศ และกระบวนการผลิตทั้งหมด จะถูกบันทึกลงบนบล็อกเชนของ VeChain เพื่อเป็นการยืนยันผู้บริโภคว่าผลิตภัณฑ์นี้ถูกส่งมาจากบริษัทนี้จริง ๆ ครับ

Roadmap

เป้าหมายของ VeChain คือการสร้างเครือข่ายขององค์กรโดยใช้บล็อกเชนเป็นตัวเชื่อม ดังนั้นสิ่งที่ทางทีม VeChain จะทำก็ต้องเป็นการขยายเครือข่ายดังกล่าวครับ โดยในปัจจุบันบริษัทที่เป็นพันธมิตรกับ VeChain ส่วนมากจะอยู่ในประเทศจีน และมีบริษัทในทวีปยุโรปอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งทางผู้ก่อตั้ง VeChain ก็เคยกล่าวไว้ครับว่าต้องการจะขยายเครือข่ายไปยังประเทศในโลกตะวันตกมากขึ้น

นอกจากนี้ VeChainThor ยังเจอปัญหาเช่นเดียวกันกับบล็อกเชนที่มีค่า tps สูง ๆ นั่นคือปริมาณการทำธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจะส่งผลกระทบกับขนาดของบล็อกเชนที่ใหญ่ขึ้นเกินกว่าที่ node หลาย ๆ node จะสามารถเก็บข้อมูลได้ ซึ่งทางทีมงาน VeChain เองก็เคยระบุถึงปัญหานี้มาก่อนครับ ซึ่งหนึ่งความเป็นไปได้นั่นคือการเก็บประวัติการทำธุรกรรมใน decentralized storage อย่างเช่น Arweave (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Arweave ได้ที่นี่)

Concerns

VeChain: เมื่อ Blockchain เจอ Supply Chain

ถึงแม้ว่า VeChain จะเป็นโปรเจกต์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่เป็นปัญหาใหญ่ของโลก และมีการใช้งานจริงแล้ว ตัวโปรเจกต์เองก็ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ครับ ชุมชนของ VeChain ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีน และ VeChain เองก็ยังมีโปรเจกต์ร่วมกับบางหน่วยงานของรัฐบาลจีนอีกด้วย ซึ่งก็แน่นอนว่าจีนเป็นประเทศที่ไม่ค่อยจะเป็นมิตรกับคริปโตเคอร์เรนซีเท่าไรนัก ก่อนหน้านี้ทุก ๆ คนน่าจะเคยเห็นข่าวการแบนการใช้งานคริปโตเคอร์เรนซีจากรัฐบาลจีน ถึงแม้ว่าช่วงนี้ข่าวดังกล่าวจะซา ๆ ลงไปบ้าง แต่ก็ยังวางใจไม่ได้ครับ นอกจากนี้ ตามที่กล่าวไปด้านบนว่า VeChain มีแผนที่จะขยายเครือข่ายไปยังบริษัทโลกตะวันตก แน่นอนว่าฐานใหญ่ก็ต้องเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็อาจจะไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจกับประเทศจีนที่ดีนัก ดังนั้นการขยายฐานผู้ใช้งานของ VeChain ก็อาจจะลำบากได้ครับ ในขณะเดียวกัน VeChain ตั้งเป้าหมายเป็นพันธมิตรกับบริษัทใหญ่ แต่ก็ไม่ใช่ว่าบริษัทใหญ่ทุกแห่ง จะเปิดรับกับเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ทาง VeChain นำเสนอครับ ยังมีบริษัทหลายแห่งที่นำเสนอผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการจัดการห่วงโซ่อุปทาน แต่ใช้เทคโนโลยีอื่น ๆ เข้ามาช่วย ซึ่ง VeChain เองก็จะต้องแข่งขันกับบริษัทกลุ่มนี้ ซึ่งก็มีความท้าทายไม่น้อยเลยครับ

Summary

ปัญหาเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานกระทบกับคนทุกคนบนโลกครับ ไม่ว่ายังไงพวกเราก็ต้องกินอาหาร ต้องซื้อสินค้า ดังนั้นเราทุกคนต่างได้รับผลกระทบจากการบิดเบือนข้อมูลต่าง ๆ ในกระบวนการผลิตและจัดส่งสินค้าแต่ละประเภท VeChain ถือเป็นผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่ประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยการใช้งานแพลตฟอร์ม VeChain จะทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจต่อสินค้าที่วางขายอยู่ตามร้านค้าปลีกต่าง ๆ มากขึ้น ผู้บริโภคจะสามารถทราบถึงข้อมูลการผลิต แหล่งที่มา สภาพแวดล้อมการจัดส่ง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ถูกบันทึกลงบนบล็อกเชน ทำให้มีความโปร่งใส ดังนั้น VeChain จึงดูเป็นทางออกที่สดใสสำหรับปัญหานี้ครับ อย่างไรก็ตาม การจะโน้มน้าวให้บริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ หันมาใช้งานเทคโนโลยีตัวนี้ ถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย VeChain ก็ยังมีบริษัทคู่แข่งที่เสนอผลิตภัณฑ์สำหรับการจัดการห่วงโซ่อุปทานในรูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่บล็อกเชน ซึ่งก็ดูเป็นผลิตภัณฑ์ที่บริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ดูจะมีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีมากกว่า ดังนั้นการเติบโตของเครือข่าย VeChain ถือว่ายังมีคู่แข่งอยู่อีกเยอะครับ ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าจะสามารถเติบโตได้ตามที่หวังไว้หรือเปล่า

Further Read

CodeBreaker

ที่มาบทความ: https://link.medium.com/cwazJfLPArb


คำเตือน

การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง อาจสูญเสียเงินลงทุน ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจและศึกษาข้อมูล รวมทั้งลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

iran-israel-war