เมื่อตลาดทั้งในและนอกมีความผันผวน ขึ้นลงแรงๆ หลายครั้ง เชื่อว่าหลายๆ คนตกใจ กลัว ตื่นตระหนกอยู่ในใจ

วันนี้ผมจึงขอนำจิตใจของปุถุชนชาวดอยมาคลี่ออกเพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้นกัน เป็นบทเรียนเพื่อเสริมสร้างส่วนที่สำคัญที่สุดในการลงทุน นั่นก็คือ “จิตใจ” เรา มาเริ่มกันเลยดีกว่า

1. หลีกเลี่ยงความเสียใจ

ตัวอย่างง่ายๆ ถ้าหากคุณพบหุ้นตัวหนึ่งที่น่าสนใจมาก แต่เงินทุนหมดแล้ว คุณมีหุ้นในพอร์ตสองตัว ตัวแรกกำไร อีกตัวขาดทุน คุณจะเลือกขายตัวไหนเพื่อเพิ่มเงินทุน?

โดยส่วนใหญ่คนจะเลือกขายตัวที่กำไร เพราะอะไร?

เพราะการขายทำกำไรจะส่งผลให้คุณรู้สึกว่าตัวเองคิดถูก  เรื่องนี้ยังรวมไปถึงการทำกำไรที่เร็วเกินไปและเก็บการขาดทุนเอาไว้ มีงานศึกษาพบว่าเมื่อขายทำกำไรไปแล้ว หุ้นตัวนั้นมักให้ผลตอบแทนได้อีก 2.35% ในขณะเดียวกัน หุ้นที่ขาดทุนซึ่งเราเลือกเก็บเอาไว้นั้นจะทำผลตอบแทนต่ำกว่าตลาด 1.06%

สรุปแล้ว การเลี่ยงความเสียใจและความเจ็บใจไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นเลย ผ่านความเสียใจไปให้ได้แล้วนำประสบการณ์กลับมาพัฒนาตัวเองกันครับ

2. ความมั่นใจในตัวเองจนเกินขนาด

ความมั่นใจจนประเมินความรู้ของตัวเองจนสูงเกินไปนั้นมักเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ โดยพฤติกรรมนี้เป็นธรรมชาติของนักลงทุน และจะยิ่งมีมากขึ้นเมื่อนักลงทุนคนนั้นมีความสำเร็จในอดีตซึ่งยิ่งก่อให้เกิดความมั่นใจที่มากจนเกินไป

มีงานศึกษาชิ้นหนึ่งทำในช่วงปี 2001 สำรวจความเห็นของนักลงทุนรายย่อยต่อผลตอบแทนของตลาดในอีก 12 เดือนข้างหน้า คำตอบที่ได้รับคือ 10.3 %

แต่เมื่อถามถึงผลตอบแทนที่พวกเขาจะได้รับ คำตอบกลับเป็น 11.7% ทั้งๆ ที่หลายคนเพิ่งขาดทุนจากฟองสบู่หุ้นเทคโนโลยีมาหมาดๆ

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนมักคิดเข้าข้างตัวเองว่าสามารถทำผลตอบแทนได้สูงกว่าค่าเฉลี่ย เมื่อผสมรวมกับความสำเร็จในอดีตแล้วยิ่งไปกันใหญ่

มากกว่านั้นสิ่งนี้ส่งผลไปถึงการตัดสินใจซื้อขายที่บ่อยขึ้น ยิ่งมั่นใจยิ่งซื้อขายบ่อย โดยเฉพาะในช่วงตลาดกระทิง ยิ่งรีบตัดสินใจคว้าหุ้นแย่ๆ เข้าพอร์ต ผลตอบแทนรวมอาจไม่แตกต่างจากการซื้อขายน้อยๆ อีกทั้งยังเสียค่าคอมมิชชั่นไปอีก ซึ่งจริงๆ แล้วไม่จำเป็นเลย

ความมั่นใจนี้มักนำไปสู่การลงทุนที่เสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ และขาดการกระจายความเสี่ยงที่เราเรียกกันว่า “การจัดพอร์ตการลงทุน” ซึ่งสำคัญกว่าการซื้อขายบ่อยๆ มาก

แต่ๆ อย่าเพิ่งเข้าใจผิดนะว่าผู้เขียนสนับสนุนในถือยาวๆ เก็บหุ้นไว้ในพอร์ตเยอะๆ อะไรที่มันมากไปย่อมไม่ดี หากรู้ว่าหุ้นนี้อนาคตไม่สวย ก็รีบถอยออกมาก่อน เอาเงินไปหาโอกาสอื่นๆ ดีกว่า

3. ไม่ลืมอดีตของเรา

หลายครั้งที่นักลงทุนไม่คว้าโอกาสทองตรงหน้ารอบแล้วรอบเล่า เพราะคำว่า “อดีต”

ตัวอย่างง่ายๆ เช่น หุ้นตัวหนึ่งที่คุณเคยเห็นราคาที่ 10 บาท คุณไม่คว้าไว้ คุณมาเห็นอีกทีที่ 13 บาทซึ่งรอนิ่งๆให้คุณคว้ามัน แต่คุณก็ไม่คว้า รอว่าวันหนึ่งราคาจะลงมาที่เดิม

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หวังก็ไม่เคยมาอีกเลย เพราะคุณไม่ลืมอดีต

อีกกรณีหนึ่ง ราคาของหุ้นตัวหนึ่งเคยขึ้นไปที่ 25 บาท คุณกลับไม่ขาย จากนั้นราคาตกลงมาที่ 22 บาท คุณรอให้ราคากลับไปที่เดิม จากนั้นกลายเป็นว่าคุณกำไรหด จนกลายเป็นติดดอยได้ เพราะคุณไม่ลืมอดีต

นี่คือตัวอย่างสุดคลาสสิกที่เกิดกับทุกคนรวมทั้งตัวผู้เขียนด้วย เพราะเราต่างไม่ลืมอดีตอันหอมหวานที่เคยวาดฝันไว้

4. มีเพื่อนแล้ว ไม่เป็นหรอกน่า

เมื่อเราซื้อหุ้นแล้วราคาลงอย่างรวดเร็ว เรามักจะหาพวกด้วยการมองหาคนรอบๆ ตัว เพราะเราจะรู้สึกปลอดภัย

แต่เหตุการณ์นี้มักเกิดตอนที่คำว่า “ขาดทุน” มาเคาะประตู แล้วยัดเยียดคำว่า “Cut Loss” ใส่เราตอนที่ยังขาดทุนไม่มาก

จากนั้นเรากลับไปมองรอบๆ ถามเพื่อนๆ ชาวดอยของเรา แล้วปิดประตูใส่หน้าคำว่า ขาดทุน” จากนั้นก็ก่อตั้งหมู่บ้านชาวดอยขึ้นมา

หรือบางครั้งหุ้นขึ้นอย่างแรง เราต่างแห่เข้าซื้อ เกาะรถไปกับเพื่อนๆ เพราะเรารู้สึกปลอดภัยและมีพวกไงล่ะ

จากนั้นรถคันนั้นก็พุ่งสู่หน้าผาและดิ่งโหม่งโลกไป…

จะเห็นว่าการมีพวกไม่ช่วยให้เรารอดจากการเจ็บตัวจากรถที่พุ่งโหม่งโลก สุดท้ายมันก็แค่การหาคนปลอบโยนต่อการโหม่งโลกเท่านั้นละ

5. แพ้ไม่ได้ ต้องเอาคืน

เวลาขาดทุน อารมณ์ที่มักจะเกิดขึ้นคือเสียใจ ฟูมฟาย และหัวร้อน เราเริ่มใช้อารมณ์มองหาหุ้นที่จะเอามาถอนทุนคืน

ณ ตอนนั้น เราจะเริ่มปลุกความถือตัวถือตนขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นวุฒิการศึกษาหรือความสำเร็จในสายอาชีพ สิ่งเหล่านี้ถูกประกอบขึ้นมา สุ่มไฟในใจขึ้นเรื่อยๆ

สุดท้ายไฟก็ลุกโชนขึ้นมาในใจอย่างรุนแรง ผลักดันให้เรามีแรงบันดาลใจจัดการตัดสินใจคว้าดอยอีกลูกเข้ามาชื่นชมในพอร์ตซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ทำไมถึงเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น? พูดง่ายๆ สิ่งนี้เกิดจากการไม่ควบคุมอารมณ์ ไม่ศึกษาบทเรียนจากความผิดพลาด รวมไปถึงการถือตัวตนของเรา คุณต้องลืมความสำเร็จในสายอาชีพไปเลย ทิ้งหัวโขนในอาชีพไปเสีย เมื่อคุณเข้าสู่สนามรบนี้ ไม่มีตำแหน่ง ไม่มีสายบังคับบัญชา คุณพร้อมเป็นเหยื่อของลูกน้องโต๊ะข้างๆ เด็กรุ่นลูกรุ่นหลาน หรือใครก็ตามได้ทุกเมื่อ ในสนามรบตลาดหุ้นที่ถือกำเนิดมาเป็นร้อยๆ ปี

กลับมาทบทวนดูว่าเรามีส่วนไหนที่ตรงกับ 5 ข้อด้านบนไหมครับ หากมี…หวังว่าบทความนี้จะเตือนสติและเรียกกำไรเข้าพอร์ตได้มากขึ้น

สุดท้ายผมเชื่อว่าจิตใจไม่เพียงจะสำคัญกับการลงทุนเท่านั้น แต่สำคัญต่อทุกขณะที่เราใช้ชีวิตด้วย สิ่งนี้เรียกสั้นๆ ว่า “สติ” ครับ