สรุป บทที่ 8 จาก The Intelligent Investor: บทนี้ปู่บัฟเฟตต์รัก

เมื่อสองเดือนก่อน ได้อ่านสรุปการประชุมผู้ถือหุ้น Berkshire Hathaway มีหนังสือที่ปู่บัฟเฟตต์แนะนำ คือ บทที่ 8 ของหนังสือ The Intelligent Investor ซึ่งเข้ากับสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมา เลยจัดการอ่านใหม่และสรุปออกมาให้ได้อ่านกันครับ

เกริ่นนำ

ความผันผวนของราคาคือเรื่องที่นักลงทุนควรตระหนัก ตลอดศตวรรษที่ผ่านมาราคาขึ้นลงในช่วงกว้างตลอด นักลงทุนควรหาประโยชน์โดยเข้าซื้อขายหุ้น ณ ระดับพอใจ

การใช้ความผันผวนของตลาดเป็นแนวทางตัดสินใจลงทุน

นักลงทุนที่ฉลาดหากำไรจากการแกว่งตัว โดยใช้การจับจังหวะตลาด คือความพยายามคาดการณ์ทิศทางตลาด และการพิจารณาราคา คือ ซื้อเมื่อราคาต่ำกว่ามูลค่าที่เหมาะสมและขายเมื่อราคาต่ำกว่ามูลค่านั้นควบคู่กัน การกำไรโดยใช้เพียงแค่การจับจังหวะตลาดโดยปราศจากการพิจารณาราคา มันแทบเป็นไปไม่ได้เลย รวมไปถึงทฤษฎีดาว (Dow Theory) เมื่อเวลาผ่านไป ความนิยมที่มากขึ้นส่งผลให้ผลสำเร็จต่ำลง

แนวทางการซื้อถูก-ขายแพง

นักลงทุนผู้เฉลียวฉลาด คือ ผู้ซื้อหุ้นในตลาดหมี และขายออกในตลาดกระทิง แต่พฤติกรรมตลาดไม่ได้เป็นไปแบบเดิมๆ รูปแบบตลาดหมีและกระทิงแบบเดิมจะกลับมาอีกหรือไม่ ดังนั้นควรปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ในพอร์ตตามแนวทาง ที่เรียกว่า

“การจัดสรรเงินลงทุน” (Tactical Asset Allocation)

แผนการลงทุน

ในช่วงแรกของตลาดขาขึ้น มีเทคนิคที่ได้รับความสนใจในการหาประโยขน์จากวัฏจักรตลาด เรียกว่า “แผนการลงทุน” แผนเหล่านี้จะขายหุ้นอัตโนมัติเมื่อตลาดขึ้นสูง บางแผนจะทำให้ต้องขายหุ้นออกทั้งหมด บางแผนมีหุ้นติดพอร์ตทุกสถานการณ์ พวกเขาได้กำไรสูง แต่ตลาดวิ่งไปต่อและไม่มีโอกาสซื้อหุ้นกลับอีกเลย อย่างไรก็ตาม ความนิยมถึงขีดสุดในตอนที่ใช้ได้ผลน้อยที่สุด แนวทางใดๆ ที่เข้าใจง่ายและใช้อย่างกว้างขวาง จะได้ผลเพียงช่วงเดียวเท่านั้น

ความผันผวนของพอร์ตโฟลิโอของนักลงทุน

ความผันผวนของราคาเกิดขึ้นได้กับทั้งดัชนี หุ้นขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก ในช่วงที่ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก นักลงทุนจะขาดความรอบคอบและถูกครอบงำด้วยบรรยากาศของตลาดกระทิงหรือไม่? ด้วยเหตุผลในเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ การใช้ระบบในการปรับสัดส่วนการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ (Rebalancing) ขายหุ้นออกในช่วงตลาดเพิ่มสูงขึ้นและลงทุนในตราสารหนี้และทำในทางตรงกันข้ามเมื่อตลาดตกลงมา

การประเมินมูลค่าธุรกิจและการประเมินมูลค่าตลาดหุ้น

หุ้นโตเร็ว ผลดำเนินงานและอนาคตดีหลายตัว มักมีราคาซื้อขายสูงกว่ามูลค่าสินทรัพย์สุทธิหรือมูลค่าตามบัญชี (Net Asset Value หรือ Book Value) ยิ่งผลการดำเนินงานและอนาคตดูดีเท่าไร การกำหนดมูลค่าที่แท้จริงจะมีความแน่นอนน้อยลง เนื่องจากมันจะขึ้นกับอารมณ์และความแปรปรวนของตลาด ดังนั้นการคัดเลือกหุ้นควรเลือกหุ้นที่มีราคาใกล้เคียงกับมูลค่าตามบัญชี ควบคู่กับอัตราส่วนกำไรต่อราคา ฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเพียงพอ มีความสามารถในการรักษาผลกำไรตลอดระยะเวลาหลายปี ฉะนั้นหากคัดเลือกหุ้นที่ดีได้แล้ว นักลงทุนสามารถละเลยความผันผวนของตลาดไปได้เลย และยังสามารถหาประโยชน์จากแนวทางการซื้อถูกขายแพงได้อีกด้วย

ตัวอย่างบริษัท A.&P.

ในปี 1938 หุ้นของบริษัท A.&P. มีราคาอยู่ที่ 36 เหรียญ และกลับไปที่ 117.5 เหรียญ ในปีถัดมา

ปี 1938 แม้มีเงินสดถึง 85 ล้านเหรียญ เงินทุนหมุนเวียนสุทธิ 134 ล้านเหรียญ เป็นบริษัทค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา มีผลกำไรดีต่อเนื่องหลายปี กลับกลายเป็นว่ามูลค่าของบริษัทในกรณีดำเนินกิจการต่อยังต่ำกว่าเลิกกิจการและนำสินทรัพย์ขายทอดตลาดอีก

เพราะเหตุผล 3 ข้อ 1. มีการพูดถึงการใช้กฎหมายพิเศษกับเครือข่ายค้าปลีก 2. ผลกำไรลดลง 3. ตลาดตกต่ำ ข้อแรกกังวลเกินไป สองข้อหลังเป็นเรื่องชั่วคราว ปี 1961 หลักแตกหุ้นราคาอยู่ที่ 70.5 เหรียญ เท่ากับ 705 เหรียญ ของปี 1938 ค่า P/E 30 (Dow jones 23) บ่งบอกการคาดการณ์อันสดใส แต่เมื่อกำไรไม่ตามคาด ราคาตกเหลือ 18 เหรียญ ในปี 1972 ซึ่งเป็นไตรมาสแรกที่ขาดทุนในประวัติศาสตร์ การมองโลกโดยไม่อยู่บนพื้นฐานการสร้างผลกำไร มันผิดพลาดเพียงใด

เรื่องนี้ให้บทเรียน 2 ข้อ 1. ตลาดมักผิดอยู่บ่อยๆ 2. เวลาเปลี่ยนคุณภาพบริษัทเปลี่ยน นักลงทุนควรตรวจสอบเป็นระยะๆ ควรละเลยความผันผวนของตลาด หันไปใส่ใจต่อเงินปันผลและผลการดำเนินงาน

ข้อพิจารณาเพิ่มเติม

การใช้ราคาเฉลี่ยวัดความสามารถผู้บริหารยังไม่มีแนวทางประเมินที่ได้รับการยอมรับ แต่ผู้บริหารจะไม่มีความสัมพันธ์กับปัจจัยพื้นฐานและมูลค่าพื้นฐานเลยหรือ? ฉะนั้นผู้บริหารที่ดีจะก่อให้เกิดราคาตลาดเฉลี่ยที่ดี ผู้บริหารที่แย่จะก่อให้เกิดราคาตลาดเฉลี่ยที่แย่

ความผันผวนของตราสารหนี้

มีการยกตัวอย่างตราสารนี้ของบริษัทรถไฟ พบว่าอัตราผลตอบแทนและราคามีการเปลี่ยนแปลงในช่วงกว้างตลอดระยะเวลาหลายสิบปี (อัตราผลตอบแทนและราคาเปลี่ยนแปลงในทางตรงกันข้าม) ย้ำถึงบทเรียนเรื่องความผันผวน ดังนั้นการคาดการณ์ราคาหุ้นเป็นไปได้ยาก ตราสารหนี้ก็เช่นเดียวกัน นักลงทุนต้องไม่ตัดสินใจบนพื้นฐานความผันผวนของตลาด

สรุป

ความแตกต่างระหว่างนักลงทุนและนักเก็งกำไร คือ นักเก็งกำไรสนใจการคาดการณ์ทิศทางตลาดและหากำไรจากการคาดการณ์ ขณะที่นักลงทุนเน้นซื้อและถือครองหุ้นในราคาที่เหมาะสม ความผันผวน คือ โอกาสเพื่อซื้อหุ้นราคาต่ำๆและขายออกที่ราคาสูงๆ และไม่ควรงดซื้อหุ้นจนกว่าราคาจะสูงมากแบบไร้เหตุผล เพราะทำให้เสียโอกาส หากมีหุ้นชั้นดีก็ไม่ควรตื่นเต้นกับความผันผวน

“อย่าซื้อหุ้นทันทีหลังจากราคาเพิ่มสูงขึ้นมาก และไม่ควรขายทันทีหลังจากราคาตกต่ำอย่างหนัก”

ความคิดเห็นเพิ่มเติม บทที่ 8

ดอกเตอร์เจคคิวส์และมิสเตอร์มาร์เก็ต

มิสเตอร์มาร์เก็ต คือ การอธิบายราคาหุ้นอันผิดพลาดได้ดีที่สุด เมื่อหุ้นกำลังขึ้น เขาจะจ่ายเงินซื้อหุ้นสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง เมื่อหุ้นกำลังตก จะเทขายออก ณ ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น มีนาคม ปี 2000 ราคาหุ้นบรืษัท Inktomi Corp. ทำ All-time high พุ่งไป 1,900% ตั้งแต่เข้าตลาด เพราะ ใน่ช่วง 3 เดือนปลายปี 1999 บริษัททำรายได้ไป 36 ล้านเหรียญสูงกว่าปี 1998 ทั้งปี

บริษัทขาดทุนไม่เคยเห็นกำไรเลย ปี 2002 ราคาลงมาเหลือแค่ 25 เซ็นต์ เกิดจากความบ้าคลั่งแห่เข้าซื้อทำให้ราคาคิดเป็น 250 เท่าของรายได้ ลงเหลือ 0.35 เท่าของรายได้ ปลายปี 2002 Yahoo ประกาศซื้อบริษัทที่ราคาหุ้นละ 1.65 เหรียญ “เมื่อมิสเตอร์มาร์เก็ตทำให้ราคาหุ้นถูก ก็จะมีคนมาซื้อบริษัทต่อจากเขา”

คิดด้วยตัวเอง

คุณควรปล่อยให้ตลาดอันบ้าคลั่งนำพาความคิดของคุณหรือ? นักลงทุนผู้ชาญฉลาดไม่ควรละเลยสิ่งนั้น แต่คุณควรทำธุรกิจกับมิสเตอร์มาร์เก็ต ตลาดเพียงเสนอราคาซื้อขาย คุณเพียงตัดสินใจว่าราคาดังกล่าวทำให้คุณได้เปรียบหรือเปล่า?

คุณจะสามารถเอาชนะมือโปรในเกมของพวกเขาได้หรือเปล่า?

“นักลงทุนผู้กังวลต่อการลดลงอย่างไร้เหตุผลของตลาดจะเปลี่ยนข้อได้เปรียบเป็นเสียเปรียบ” หนึ่งในมุมมองอันทรงพลังของเกรแฮม ข้อได้เปรียบคืออิสระทางความคิด มันไม่มีเหตุผลที่จะบอกว่า คุณไม่สามารถทำได้ดีเหมือนกับพวกมืออาชีพ เพียงแต่คุณจะเอาชนะพวกมือโปรในเกมของพวกเขา? และต่อไปนี้คือข้อเสียของผู้จัดการกองทุน

  • บริหารเงินก้อนใหญ่ ซื้อครั้งละหลายล้านเหรียญ ทำให้กองทุนรวมถือหุ้นราคาแพงเหมือนๆ กัน
  • นักลงทุนมักนำเงินไปลงทุนในกองทุนรวมเมื่อตลาดขึ้น กองทุนต้องนำเงินไปซื้อหุ้น ดันให้ราคาหุ้นสูงขึ้นไปอีก
  • นักลงทุนมักขายเมื่อตลาดตก กองทุนต้องขายหุ้นเพื่อระดมเงินสด ส่งผลให้หุ้นตกอีก

ในเมื่อพวกเขายังชนะในเกมของพวกเขาไม่ได้ การลงทุนที่ฉลาดเป็นเรื่องของสิ่งที่ควบคุมได้

เช่น ค่าคอมมิชชั่น, ความคาดหวัง (ไม่ใช่เพ้อฝัน), พฤติกรรมของตัวเอง และต้องป้องกันไม่ให้ซื้อขายหุ้นเพียงเพราะตลาดบอกให้ซื้อหรือขาย นอกจากนั้น ต้องไม่ตัดสินใจความสำเร็จทางการเงินของตัวเองจากสิ่งที่คนอื่นทำ แต่คือการได้เงินมากพอต่อความต้องการของคุณ และจุดสำคัญ คือ คุณไปถึงเส้นชัยหรือไม่?

เงินของคุณและสมองของคุณ

สมองของเราได้รับการออกแบบให้มองหาแนวโน้มและคาดการณ์ แม้ว่าอาจไม่มีตัวตนอยู่เลย เมื่อมันเกิดขึ้น สมองจะรู้สึกเป็นสุข ท้ายที่สุดคุณจะเสพติดการคาดการณ์ หากขาดทุนสมองจะถูกกระตุ้น เกิดการตอบสนองแบบ “สู้หรือถอย” ฉะนั้นความเจ็บปวดจากการขาดทุนจะรุนแรงเป็นสองเท่าของความยินดีจากกำไร

อีกส่วนหนึ่ง นักลงทุนทั่วๆ ไป จะได้ประโยชน์มากกว่าหากหุ้นไม่มีราคาตลาด เพราะไม่ต้องกังวลต่อความคิดที่ผิดพลาดของคนอื่น คุณจะยังเบิกบานใจไหม หากมีรายงานราคาตลาดของบ้านคุณอย่างละเอียดทุกวัน

สำหรับผู้ที่จะลงทุนตลอดช่วงหลายปีข้างหน้า การลดลงของราคาหุ้นเป็นข่าวดี และอ้าแขนต้อนรับตลาดหมี “คุณจะรู้สึกมีอำนาจควบคุมมากขึ้น หากตระหนักว่ามีอะไรมากมายที่ควบคุมไม่ได้”

ด้วยการยอมรับว่าคุณมีโอกาสซื้อแพงขายถูก จึงเห็นถึงความจำเป็นของแผน DCA และการทำ Rebalancing หยุดสนใจอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ของตลาด

ขายตามมิสเตอร์มาร์เก็ตแบบสมเหตุสมผล

เกรแฮมสอนว่า คุณควรซื้อเมื่อตลาดบอกให้ขาย แต่การขายเมื่อตลาดบอกให้ขายดูสมเหตุสมผล เมื่อคุณได้รับสิทธิทางภาษี กรมสรรพากรสหรัฐฯ อนุญาตให้นำผลขาดทุนที่เกิดขึ้นแล้วไปหักรายได้ปกติได้ 3,000 เหรียญ เช่น คุณซื้อหุ้น Coca-Cola ในปี 2000 จากนั้นขาดทุนไป 3,200 เหรียญ คุณมีทางเลือกเข้าควบคุมสถานการณ์ ก่อนหมดปี 2002 ขายหุ้นออกไปขาดทุน 3,200 เหรียญ จากนั้นรออีก 31 วันตามกฎ ค่อยซื้อหุ้นกลับ สามารถนำผลขาดทุนไปหักรายได้จำนวน 3,000 เหรียญ ในปี 2002 และ 200 เหรียญ ในปี 2003

ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการทำให้ตลาดดูสมเหตุสมผล คุณจะบ่นกับใครได้?