MACD ถ้าอยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง?

MACD  คือ INDICATOR ที่พัฒนามาจาก MOVING AVERAGE

MACD (Moving Average Convergence Divergence อ่านว่า “Mac-Dee” หรือ “ M-A-C-D” ก็ได้) Indicator ตัวนี้เป็น Indicator ที่มีแนวคิดมาจากการวาด Moving Average ขึ้นพร้อมๆ กัน 2 เส้น แล้วนำมาวิเคราะห์ลักษณะที่เกิดขึ้นระหว่าง Moving Average ทั้ง 2 เส้น

จุดที่น่าสนใจเป็นพิเศษของ MACD คือ เป็น Indicator ที่สามารถให้ข้อมูลได้ 2 มุมมองพร้อม ๆ กัน ได้แก่

1) ทิศทางแนวโน้มของราคาหุ้น (Trend)

2) แรงส่งของราคาหุ้น (Momentum)

ด้วยจุดเด่นตรงนี้จึงทำให้ MACD เป็น Indicator ที่แม้ว่าจะถูกพัฒนาและใช้งานมานานแล้ว แต่ยังเป็น Indicator ที่ยอมรับและได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบันนี้

เนื่องจากบทความนี้เกี่ยวกับ MACD ซึ่งเป็น Indicator ที่ประยุกต์เอาลักษณะของเส้น Moving Average 2 เส้นมาวิเคราะห์ด้วยหลักการที่ซับซ้อนขึ้น ผู้อ่านคนไหนที่ยังไม่คุ้นเคยกับการแปลความหมายจากกราฟเส้น Moving Average ผมแนะนำให้ลองอ่านและทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Moving Average ก่อนแล้วค่อยอ่านบทความนี้ตามทีหลัง เพราะจะทำให้สามารถทำความเข้าใจลักษณะของ MACD ได้ง่ายขึ้น

อ่านบทความ “Moving Average ถ้าอยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง?” ได้ที่นี่

ที่มาของ MACD คือ ระยะห่างระหว่าง MOVING AVERAGE 2 เส้น

ผู้คิดค้น MACD คือ Gerald Appel ได้ประยุกต์เอาลักษณะของกราฟเส้น Moving Average ที่วาดขึ้นมา 2 เส้นพร้อม ๆ กันมาคำนวณเป็น Indicator ตัวใหม่คือ MACD จากชื่อของ MACD (Moving Average Convergence Divergence) ที่มีคำว่า “Convergence” ที่แปลว่า วิ่งเข้าหากันหรือลู่เข้าหากัน และคำว่า “Divergence” ทีแปลว่า ห่างออกจากกันหรือแยกออกจากกัน

การคำนวณค่า MACD จึงเป็นการวัดระยะห่างระหว่างเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 2 เส้น เพื่อดูว่าเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 2 เส้นกำลังเคลื่อนที่ลู่เข้าหากันหรือแยกออกจากกัน (เส้นไหนอยู่บน เส้นไหนอยู่ล่าง อยู่ห่างกันมากไหม)

สูตรในการคำนวณ MACD แบบดั้งเดิมจะนำเอาค่าของเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่แบบ Exponential ที่คำนวณจากข้อมูลราคาย้อนหลัง 12 วัน (EMA12) ลบกับ ค่าของเส้นค่าเฉลี่ยแบบ exponential ที่คำนวณจากข้อมูลราคาย้อนหลัง 26 วัน (EMA26)

MACD = EMA(12) – EMA(26)

หรือ

MACD = ผลต่างหรือระยะห่างของเส้น EMA(12) และ EMA(26)

MACD ถ้าอยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง?

รูปตัวอย่างแสดงลักษณะของเส้น EMA(12) และเส้น EMA(26) ที่ทำให้ค่า MACD มีค่าเป็น + และ –

หมายเหตุ : ผมเห็นบางคนอาจเปลี่ยนจำนวนวันย้อนหลังในการคำนวณเส้น EMA โดยไม่ใช้จำนวนวัน 12 วัน และ 26 วัน ถ้าใครมีสไตล์การซื้อขายที่ซื้อเร็วขายเร็วหรือระยะเวลาในการถือหุ้นไม่นานก็จะปรับจำนวนวันในการคำนวณเส้น EMA ให้สั้นลง แต่ถ้าใครมีระยะเวลาถือหุ้นที่นานอาจปรับจำนวนวันในการคำนวณเส้น EMA ให้ยาวขึ้นได้ (คล้ายกับหลักการในการปรับจำนวนวันในการคำนวณเส้น Moving Average)

วิธีแสดงค่า MACD

การวิเคราะห์ MACD จะคำนวณค่าของ MACD ออกมาจำนวนหลาย ๆ ค่าต่อเนื่องกัน และนำค่าเหล่านั้นมาวาดเป็นกราฟเส้นควบคู่ไปกับกราฟของราคาหุ้น แต่จะวาดกราฟเส้นของค่า MACD บนพื้นที่ใหม่แยกออกมาจากกราฟราคาหุ้น และในพื้นที่ของกราฟเส้น MACD จะมีการลากเส้นแนวนอนของค่า MACD = 0 ไว้ด้วย (เส้นแนวนอนของค่า MACD = 0 เรียกว่า Center Line ที่จุดนี้ แปลว่า EMA12 มีค่าเท่ากับ EMA26 เพราะลบกันได้ 0)

MACD ถ้าอยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง?

รูปแสดงการวาดกราฟเส้น MACD ควบคู่กับกราฟราคาหุ้น โดยมีเส้น Center Line (MACD=0) แบ่งพื้นที่ของกราฟเส้น MACD ออกเป็นเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่ด้านบน ค่าของ MACD มากกว่า (>) 0 และพื้นที่ด้านล่าง ค่า MACD น้อยกว่า (<) 0 (ที่มา : ASPEN Mobile)

MACD “เป็นบวก หรือ เป็นลบ”

ค่าของ MACD และลักษณะของกราฟเส้น MACD ที่วาดขึ้นสามารถอธิบายลักษณะของเส้น EMA(12) และ เส้น EMA(26) ได้ดังนี้คือ ดูว่าค่า MACD เป็นบวก (+), ลบ (-), หรือ ศุนย์(0)

1) ถ้า MACD มีค่าเป็นบวก แปลว่า EMA(12) มีค่ามากกว่า EMA(26) ถ้าดูจากกราฟจะเห็นได้ว่าเส้น EMA(12) ซึ่งเป็นเส้น EMA ระยะสั้น จะอยู่เหนือเส้น EMA(26) ซึ่งเป็นเส้น EMA ระยะยาว

2) ถ้า MACD มีค่าเป็นลบ แปลว่า EMA(12) มีค่าน้อยกว่า EMA(26) ถ้าดูจากกราฟจะเห็นได้ว่าเส้น EMA(12) ซึ่งเป็นเส้น EMA ระยะสั้น จะอยู่เหนือใต้ EMA(26) ซึ่งเป็นเส้น EMA ระยะยาว

3) ณ จุดที่ค่า MACD = 0 เป็นจุดตัดกันของเส้น EMA(12) และ EMA(26)

MACD ถ้าอยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง?

รูปแสดงตัวอย่างกราฟเส้น MACD และการแปลความหมายของค่า MACD และลักษณะของเส้น MACD เมื่อเปรียบเทียบกับเส้นลักษณะของเส้น EMA12 (สีฟ้า) และ EMA26 (สีชมพู) ที่ถูกวาดขึ้นพร้อมกัน โดยช่วงที่เส้น EMA(12) อยู่เหนือเส้น EMA(26) ค่า MACD จะเป็นบวก และช่วงที่เส้น EMA(12) อยู่ใต้เส้น EMA(26) ค่า MACD จะเป็นลบ (ที่มา : ASPEN Mobile)

MACD “บวกมากขึ้น หรือ บวกน้อยลง” “ลบมากขึ้น หรือ ลบน้อยลง”

4) ถ้า MACD มีเป็นค่าบวกและยิ่งมีค่าเป็นบวกมากขึ้น แสดงว่า เส้น EMA(12) อยู่เหนือเส้น EMA(26) และเส้น EMA(12) กับเส้น EMA(26) เคลื่อนที่แยกออกจากกัน ทำให้ความห่างระหว่าง EMA ทั้ง 2 เส้นเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเส้น EMA(12) ปรับตัวสูงขึ้นเร็วกว่าเส้น EMA(26) ทำให้เราเห็นว่าเส้น MACD เป็นเส้นที่มีแนวโน้มของทิศทางเป็นขาขึ้นในขณะที่มีค่าเป็นบวก (อยู่เหนือ Center Line)

5) แต่ถ้า MACD มีค่าเป็นลบและยิ่งเป็นค่าเป็นลบมากขึ้น แสดงว่าเส้น EMA(12) อยู่ใต้เส้น EMA(26) และเส้น EMA(12) กับเส้น EMA(26) เคลื่อนที่แยกออกจากกัน ทำให้ความห่างระหว่าง EMA ทั้ง 2 เส้นเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเส้น EMA(12) ปรับตัวลดลงเร็วกว่าเส้น EMA(26) ทำให้เห็นว่าเส้น MACD เป็นเส้นที่มีแนวโน้มของทิศทางเป็นขาลงในขณะที่มีค่าเป็นลบ (อยู่ใต้เส้น Center Line)

MACD ถ้าอยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง?

รูปแสดงตัวอย่างกรณีที่กราฟเส้น MACD มีค่าเป็นบวกมากขึ้น และกรณีที่กราฟเส้น MACD มีค่าเป็นลบมากขึ้น เกิดจากเส้น EMA(12) และ เส้น EMA(26) เคลื่อนที่แยกออกจากกัน

6) ถ้า MACD มีเป็นค่าบวกแต่มีค่าเป็นบวกลดลง แสดงว่า เส้น EMA(12) ยังอยู่เหนือเส้น EMA(26) และเส้น EMA(12) กับเส้น EMA(26) เคลื่อนที่ลู่เข้าหากัน ทำให้ความห่างระหว่างเส้น EMA 2 เส้นลดน้อยลง เนื่องจากเส้น EMA(12) ปรับตัวสูงขึ้นช้ากว่าเส้น EMA(26) หรือเป็นช่วงที่เส้น EMA(12) เริ่มจะปรับตัวลดลง แต่เส้น EMA(26) ปรับตัวลดลงในจังหวะที่ช้ากว่า ทำให้เห็นว่าเส้น MACD เป็นเส้นที่มีแนวโน้มของทิศทางเป็นขาลงในขณะที่มีค่าเป็นบวก (อยู่เหนือเส้น Center Line)

7) แต่ถ้า MACD มีค่าเป็นลบแต่มีค่าเป็นลบน้อยลง แสดงว่าเส้น EMA(12) ยังอยู่ใต้เส้น EMA(26) และเส้น EMA(12) กับเส้น EMA(26) เคลื่อนที่ลู่เข้าหากัน ทำให้ความห่างระหว่างเส้น EMA 2 เส้นลดน้อยลง เนื่องจากเส้น EMA(12) ปรับตัวลดลงช้ากว่าเส้น EMA(26) หรือเส้นเป็นช่วงที่เส้น EMA(12) เริ่มจะปรับตัวสูงขึ้น แต่เส้น EMA(26) ปรับตัวเพิ่มขึ้นในจังหวะที่ช้ากว่า ทำให้เห็นว่าเส้น MACD เป็นเส้นที่มีแนวโน้มของทิศทางเป็นขาขึ้นในขณะที่มีค่าเป็นลบ (อยู่เส้น Center Line)

MACD ถ้าอยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง?

รูปแสดงตัวอย่างกรณีที่กราฟเส้น MACD มีค่าเป็นบวกน้อยลง และกรณีที่กราฟเส้น MACD มีค่าเป็นลบน้อยลงเกิดจากเส้น EMA(12) และ เส้น EMA(26) เคลื่อนที่ลู่เข้าหากัน

ข้อมูล 2 อย่างจาก MACD

จากที่ผมได้เกริ่นนำมาก่อนหน้านี้ว่าจุดแข็งของ MACD ที่เป็น Indicator ที่สามารถให้ข้อมูลได้ 2 อย่าง คือ

1) ทิศทางแนวโน้มของราคาหุ้น (Trend) และ

2) แรงส่งของราคาหุ้น (Momentum)

พร้อมๆ กัน ถ้าเราพิจารณาลักษณะของกราฟเส้น MACD จะสามารถแปลความหมายของกราฟเส้น MACD ได้ดังนี้

MACD ให้ข้อมูลของทิศทางแนวโน้มของราคาหุ้น (TREND)

ถ้ายังจำวิธีในการวิเคราะห์กราฟเส้นของ EMA กันได้ ประเด็นที่เกี่ยวกับการแปลความหมายของกราฟเส้น EMA ที่ถูกวาดขึ้นพร้อมกัน 2 เส้น ที่บอกว่า 1) ถ้าเส้น EMA ระยะสั้น อยู่เหนือเส้น EMA ระยะยาว จะแปลความหมายได้ว่า ทิศทางแนวโน้มของราคาหุ้นมีโอกาสสูงที่จะมีทิศทางของแนวโน้มเป็นขาขึ้น และ 2) ถ้าเส้น EMA ระยะสั้นอยู่ใต้เส้น EMA ระยะยาว จะแปลความหมายได้ว่า ทิศทางแนวโน้มของราคาหุ้นมีโอกาสสูงที่จะมีทิศทางของแนวโน้มเป็นขาลง

ช่วงที่ค่า MACD มีค่าเป็นบวก (+) หรือกราฟเส้น MACD อยู่เหนือ Center Line (เส้นที่แสดงค่า MACD = 0) แปลว่า เส้น EMA(12) ซึ่งเป็นเส้น EMA ระยะสั้นอยู่เหนือเส้น EMA(26) ซึ่งเป็นเส้น EMA ระยะยาว จึงแปลความหมายได้ว่าแนวโน้มของราคาหุ้นมีโอกาสสูงที่จะมีทิศทางเป็นแนวโน้มขาขึ้น

และในช่วงที่ค่า MACD มีค่าเป็นลบ (-) หรือกราฟเส้น MACD อยู่ใต้เส้น Center Line (เส้นที่แสดงค่า MACD = 0) แปลว่า เส้น EMA(12) ซึ่งเป็นเส้น EMA ระยะสั้นอยู่ใต้เส้น EMA(26) ซึ่งเป็นเส้น EMA ระยะยาว จึงแปลความหมายได้ว่าแนวโน้มของราคาหุ้นมีโอกาสสูงที่จะมีทิศทางเป็นแนวโน้มขาลง

MACD เป็นบวก กราฟราคาหุ้นน่าจะกำลังอยู่ในแนวโน้มที่เป็นขาขึ้น

MACD เป็นลบ กราฟราคาหุ้นน่าจะกำลังอยู่ในแนวโน้มที่เป็นขาลง

MACD ถ้าอยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง?

รูปตัวอย่างแสดงการใช้ MACD เพื่อให้ข้อมูลทิศทางแนวโน้มราคาหุ้น

เมื่อพูดถึง MOMENTUM ในมุมมองของ DADDY

เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันเกี่ยวกับคำศัพท์ Momentum เวลาที่พูดถึง Momentum หรือแรงส่งของราคา ผมจะแบ่ง Momentum ออกเป็น 2 ทิศทาง โดยใช้ทิศทางของแนวโน้มเป็นตัวกำหนดว่าจะพูดถึง Momentum ในทิศทางไหน

ถ้าช่วงที่กราฟราคาหุ้นมีแนวโน้มเป็นทิศทางขาขึ้น (ซึ่งผมกำหนดจากการที่เส้น EMA ระยะสั้นอยู่เหนือเส้น EMA ระยะยาว) เมื่อพูดถึง Momentum ให้หมายถึง Momentum ในทิศทางขาขึ้นเพราะในช่วงที่ราคาหุ้นมีแนวโน้มทิศทางเป็นขาขึ้นผมจะถือว่าฝั่งแรงซื้อจะเป็นฝั่งที่ควบคุมตลาดหรือเป็นฝั่งที่ควบคุมทิศทางของราคาหุ้น

ในทางกลับกันถ้าช่วงที่กราฟราคาหุ้นมีแนวโน้มเป็นทิศทางขาลง (ซึ่งผมกำหนดจากเส้น EMA ระยะสั้นอยู่ใต้เส้น EMA ระยะยาว) หากพูดถึง Momentum ให้หมายถึง Momentum ในทิศทางขาลงเพราะช่วงที่ราคาหุ้นมีแนวโน้มทิศทางเป็นขาลงผมจะถือว่าแรงขายจะเป็นฝั่งที่ควบคุมตลาดหรือเป็นฝั่งที่ควบคุมทิศทางของราคาหุ้น

Momentum ในทิศทางขาขึ้น จะหมายถึงแรงซื้อหรือความสนใจของคนในตลาดว่ามีความต้องการซื้อหุ้นตัวนั้น ๆ มากหรือน้อย และมีความเร่งรีบหรือกระตือรือร้นในการซื้อหุ้นมากหรือไม่ ถ้า Momentum ในทิศทางขาขึ้น ยิ่งมีค่ามากแสดงว่าคนในตลาดมีความต้องการซื้อหุ้นเป็นจำนวนมากและมีความเร่งรีบในการซื้อหุ้นมากด้วย ราคาหุ้นจึงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ถ้า Momentum ขาขึ้น มีค่าน้อยแสดงว่ามีความต้องการซื้อหุ้นตัวนั้นมีจำนวนน้อยหรือไม่ค่อยมีความสนใจอยากซื้อหุ้นสักเท่าไหร่ ราคาหุ้นจึงเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ หรืออาจะอยู่นิ่งๆไม่ขึ้นไม่ลง เวลาที่กราฟราคาหุ้นมีทิศทางของแนวโน้มเป็นขาขึ้นเรามักจะสรุปว่ายังมี Momentum หรือแรงส่งในทิศทางขาขึ้นอยู่ แต่ Momentum หรือแรงส่งในทิศทางขาขึ้นจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงหรือเท่าเดิมนั้นก็ขึ้นอยู่กับลักษณะการเคลื่อนที่ของราคาหุ้น

Momentum ในทิศทางขาลง จะหมายถึงแรงขายหรือความสนใจของคนในตลาดว่ามีความต้องการขายหุ้นตัวนั้น ๆ มากหรือน้อย และมีความเร่งรีบหรือกระตือรือร้นในการขายหุ้นมากหรือไม่ ถ้า Momentum ในทิศทางขาลง ยิ่งมีค่ามากแสดงว่าคนในตลาดมีความต้องการขายหุ้นเป็นจำนวนมากและมีความเร่งรีบในการขายหุ้นมากด้วย ราคาหุ้นจึงลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ถ้า Momentum ขาลง มีค่าน้อยแสดงว่ามีความต้องการขายหุ้นตัวนั้นมีจำนวนน้อยหรือไม่ค่อยมีความสนใจอยากขายหุ้นสักเท่าไหร่ ราคาหุ้นจึงลดลงอย่างช้าๆ หรืออาจะอยู่นิ่งๆไม่ขึ้นไม่ลง เวลาที่กราฟราคาหุ้นมีทิศทางของแนวโน้มเป็นขาลงเรามักจะสรุปว่ายังมี Momentum หรือแรงส่งในทิศทางขาลงอยู่ แต่ Momentum หรือแรงส่งในทิศทางขาลงนั้นจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงหรือเท่าเดิมก็ขึ้นอยู่กับลักษณะการเคลื่อนที่ของราคาหุ้นเช่นเดียวกัน

MOMENTUM ในทิศทางขาขึ้นเพิ่มสูงขึ้น

ในช่วงที่แนวโน้มของราคาหุ้นอยู่ในทิศทางขาขึ้น (MACD มีค่าเป็น บวก (+)) การที่ราคาหุ้นในช่วงปัจจุบันมีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าอัตราการเพิ่มสูงขึ้นของราคาหุ้นในอดีต (เทียบจากระยะเวลาเท่ากัน แต่ราคาเพิ่มขึ้นมากกว่า) ยกตัวอย่างเช่น

เปรียบเทียบราคาจากวันที่ 1 ถึงวันที่ 10 ราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้น 2% (สมมติ 10 วันทำการ)

ถ้าเทียบเปรียบเทียบราคาจากวันที่ 2 ถึงวันที่ 11 ราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้น 3% (ระยะเวลา10 วันทำการเท่ากัน)

และเปรียบเทียบราคาจากวันที่ 3 ถึงวันที่ 12 ราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้น 4% (ระยะเวลา10 วันทำการเท่ากัน)

ก็จะแปลความหมายได้ว่า ตลอดเวลา 3 วันที่ผ่านมา Momentum ในทิศทางขาขึ้น เพิ่มขึ้นตลอดทั้ง 3 วันเพราะคนในตลาดมีความต้องการซื้อหุ้นตัวนี้เป็นจำนวนมากและมีความรีบเร่งในการซื้อหุ้นอีกด้วย จึงทำให้ราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่เร็วขึ้น

ถ้าแนวโน้มของราคาหุ้นมีทิศทางเป็นขาขึ้น เส้น EMA(12) จะอยู่เหนือเส้น EMA(26) และถ้าราคาหุ้นในช่วงปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าอัตราการเพิ่มสูงขึ้นของราคาหุ้นในอดีต จะทำให้เส้น EMA(12) หรือเส้น EMA ระยะสั้น ปรับตัวสูงขึ้นเร็วกว่าเส้น EMA(26) หรือเส้น EMAระยะยาว ทำให้ระยะห่างของเส้น EMA(12) กับเส้น EMA(26) เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กรณีนี้ MACD ที่มีค่าเป็นบวก (+) ก็จะเป็นบวกเพิ่มขึ้น

MACD ถ้าอยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง?

รูปแสดงลักษณะของกราฟเส้น MACD ที่ให้ข้อมูลว่า Momentum ในทิศทางขาขึ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น

MOMENTUM ในทิศทางขาขึ้นลดต่ำลง

ในช่วงแนวโน้มของราคาหุ้นอยู่ในทิศทางเป็นขาขึ้น (MACD มีค่าเป็น บวก (+)) การที่ราคาหุ้นในช่วงปัจจุบันมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่ช้ากว่าอัตราการเพิ่มสูงขึ้นของราคาหุ้นในอดีต (เทียบจากระยะเวลาเท่ากัน แต่ราคาเพิ่มขึ้นน้อยกว่า) ยกตัวอย่างเช่น

เปรียบเทียบราคาจากวันที่ 1 ถึงวันที่ 10 ราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้น 4% (สมมติ 10 วันทำการ)

ถ้าเทียบเปรียบเทียบราคาจากวันที่ 2 ถึงวันที่ 11 ราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้น 3% (ระยะเวลา10 วันทำการเท่ากัน)

และเปรียบเทียบราคาจากวันที่ 3 ถึงวันที่ 12 ราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้น 2% (ระยะเวลา10 วันทำการเท่ากัน)

ก็จะแปลความหมายได้ว่า ตลอดเวลา 3 วันที่ผ่านมา Momentum ในทิศทางขาขึ้นลดลงตลอดทั้ง 3 วันเพราะคนในตลาดมีความต้องการซื้อหุ้นตัวนี้อยู่ ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น แต่สังเกตว่าอัตราการเพิ่มของราคาลงลง ไม่ค่อยมีความเร่งรีบในการซื้อหุ้นเหมือนในอดีต

ถ้าแนวโน้มของราคาหุ้นมีทิศทางเป็นขาขึ้น เส้น EMA(12) จะอยู่เหนือเส้น EMA(26) ถ้าราคาหุ้นในช่วงปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่ช้ากว่าอัตราการเพิ่มสูงขึ้นของราคาหุ้นในอดีต จะทำให้เส้น EMA(12) หรือเส้น EMA ระยะสั้น ปรับตัวสูงขึ้นช้ากว่าเส้น EMA(26) หรือเส้น EMAระยะยาว ทำให้ระยะห่างของเส้น EMA(12) กับเส้น EMA(26) ลดลงเรื่อยๆ กรณีนี้ MACD ที่มีค่าเป็นบวก (+) ก็จะเป็นบวกลดลง

ข้อสังเกต : จะเห็นได้ว่าเมื่อ Momentum ในทิศทางขาขึ้นที่มีจำนวนมากแต่เริ่มลดลงไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีคนสนใจซื้อหุ้นตัวนั้น ๆ แล้ว แต่เป็นการบอกว่าความสนใจซื้อหุ้นที่มากเริ่มมีปริมาณลดน้อยลง แต่ยังมีคนสนใจซื้อหุ้นอยู่ ดังนั้นเมื่อ Momentum ทิศทางขาขึ้นเริ่มปรับตัวลดลง ราคาหุ้นไม่จำเป็นต้องลดลงในทันทีและยังอาจจะเพิ่มขึ้นต่อไปได้อีก การที่ Momentum ทิศทางขาขึ้นปรับตัวลดลงจึงเป็นเพียงสัญญาณเตือนให้เราติดตามการเคลื่อนที่ของราคาหุ้นให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นว่าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงทิศทางในอนาคตหรือไม่

MACD ถ้าอยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง?

รูปแสดงลักษณะของกราฟเส้น MACD ที่ให้ข้อมูลว่า Momentum ในทิศทางขาขึ้นปรับตัวลดลง

MOMENTUM ในทิศทางขาลงเพิ่มสูงขึ้น

ในช่วงที่แนวโน้มของราคาหุ้นอยู่ในทิศทางเป็นขาลง (MACD มีค่าเป็น ลบ (-)) การที่ราคาหุ้นในปัจจุบันปรับตัวลดลงในอัตราเร็วที่มากกว่าอัตราการลดลงของราคาหุ้นในอดีต (เทียบจากระยะเวลาเท่ากัน แต่ราคาลดลงมากกว่า) ยกตัวอย่างเช่น

เปรียบเทียบราคาจากวันที่ 1 ถึงวันที่ 10 ราคาหุ้นลดลง 2% (สมมติ 10 วันทำการ)

ถ้าเทียบเปรียบเทียบราคาจากวันที่ 2 ถึงวันที่ 11 ราคาหุ้นลดลง 3% (ระยะเวลา10 วันทำการเท่ากัน)

และเปรียบเทียบราคาจากวันที่ 3 ถึงวันที่ 12 ราคาหุ้นลดง 4% (ระยะเวลา10 วันทำการเท่ากัน)

ก็จะแปลความหมายได้ว่า ตลอดเวลา 3 วันที่ผ่านมา Momentum ทิศทางขาลง เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะคนในตลาดไม่ค่อยสนใจซื้อหุ้นตัวแต่กลับสนใจที่จะขายหุ้นมากกว่าและยิ่งมีความกระตือรือร้นในการอยากขายหุ้นมากขึ้น จึงทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงในอัตราที่เร็วขึ้น

ถ้าแนวโน้มของราคาหุ้นมีทิศทางเป็นขาลง เส้น EMA(12) จะอยู่ใต้ EMA(26) ถ้าราคาหุ้นในช่วงปัจจุบันลดต่ำลงในอัตราที่เร็วกว่าอัตราการลดต่ำลงของราคาหุ้นในอดีต จะทำให้เส้น EMA(12) หรือเส้น EMA ระยะสั้น ปรับตัวลดลงเร็วกว่าเส้น EMA(26) หรือเส้น EMAระยะยาว ทำให้ระยะห่างของเส้น EMA(12) กับเส้น EMA(26) เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กรณีนี้ MACD ที่มีค่าเป็นลบ (-) ก็จะเป็นลบเพิ่มมากขึ้น

MACD ถ้าอยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง?

รูปแสดงลักษณะของกราฟเส้น MACD ที่ให้ข้อมูลว่า Momentum ในทิศทางขาลงปรับตัวเพิ่มขึ้น

MOMENTUM ในทิศทางขาลงลดต่ำลง

ในช่วงที่แนวโน้มของราคาหุ้นมีทิศทางเป็นขาลง (MACD มีค่าเป็น ลบ (-)) การที่ราคาหุ้นในปัจจุบันปรับตัวลดลงในอัตราที่ช้าลงกว่าอัตราการลดลงของราคาหุ้นในอดีต(เทียบจากระยะเวลาเท่ากัน แต่ราคาลดลงน้อยกว่า) ยกตัวอย่างเช่น

เปรียบเทียบราคาจากวันที่ 1 ถึงวันที่ 10 ราคาหุ้นลดลง 4% (สมมติ 10 วันทำการ)

ถ้าเทียบเปรียบเทียบราคาจากวันที่ 2 ถึงวันที่ 11 ราคาหุ้นลดลง 3% (ระยะเวลา10 วันทำการเท่ากัน)

และเปรียบเทียบราคาจากวันที่ 3 ถึงวันที่ 12 ราคาหุ้นลดง 2% (ระยะเวลา10 วันทำการเท่ากัน)

ก็จะแปลความหมายได้ว่า ตลอดเวลา 3 วันที่ผ่านมา Momentum ทิศทางขาลง ค่อยๆ ลดต่ำลงเรื่อยๆ เพราะคนในตลาดเริ่มสนใจที่จะขายหุ้นตัวนี้น้อยลง จึงทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงช้ากว่าการลดลงของราคาหุ้นในช่วงก่อนหน้า

ถ้าแนวโน้มของราคาหุ้นมีทิศทางเป็นขาลง เส้น EMA(12) จะอยู่ใต้ EMA(26) ถ้าราคาหุ้นในช่วงปัจจุบันลดต่ำลงในอัตราที่ช้ากว่าอัตราการลดต่ำลงของราคาหุ้นในอดีต จะทำให้เส้น EMA(12) หรือเส้น EMA ระยะสั้น ปรับตัวลดลงช้ากว่าเส้น EMA(26) หรือเส้น EMAระยะยาว ทำให้ระยะห่างของเส้น EMA(12) กับเส้น EMA(26) ลดลงเรื่อยๆ กรณีนี้ MACD ที่มีค่าเป็นลบ (-) ก็จะเป็นลบลดน้อยลง

ข้อสังเกต : จะเห็นได้ว่าเมื่อ Momentum ในทิศทางขาลงที่มีจำนวนมากแต่เริ่มลดลงไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีคนสนใจขายหุ้นตัวนั้น ๆ แล้ว แต่เป็นการบอกว่าความสนใจขายหุ้นที่มากก่อนหน้านี้เริ่มมีปริมาณลดน้อยลง แต่ยังมีคนสนใจขายหุ้นอยู่ ดังนั้นเมื่อ Momentum ทิศทางขาลงเริ่มปรับตัวลดลง ราคาหุ้นไม่จำเป็นต้องปรับตัวสูงขึ้นในทันทีและยังอาจจะปรับตัวลดลงต่อไปได้อีก การที่ Momentum ในทิศทางขาลงปรับตัวลดลงจึงเป็นเพียงสัญญาณเตือนให้เราติดตามการเคลื่อนที่ของราคาหุ้นให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นว่าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงทิศทางในอนาคตหรือไม่

MACD ถ้าอยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง?

รูปแสดงลักษณะของกราฟเส้น MACD ที่ให้ข้อมูลว่า Momentum ในทิศทางขาลงปรับตัวลดลง

เอา INDICATORS มาวิเคราะห์ MACD อีกชั้น

สำหรับเนื้อหาในส่วนถัดมาผมจะแนะนำให้รู้จักกับ Signal Line และ MACD Histogram ซึ่งเป็น Indictor ที่ใช้วิเคราะห์และให้ข้อมูลเกี่ยวกับเส้น MACD อีกต่อหนึ่ง ณ จุดนี้ ผมจึงขอย้ำประเด็นสำคัญให้ทำความเข้าใจกันก่อนอีกสักครั้งว่า Signal Line และ MACD Histogram ไม่ใช่ Indicator ที่ใช้สำหรับวิเคราะห์กราฟของราคาหุ้น แต่เป็น Indicator ที่ใช้วิเคราะห์ลักษณะที่เกดขึ้นของเส้น MACD ที่วาดขึ้นมาได้ (Indicator ของ MACD)

MACD เป็น Indicator เพื่อวิเคราะห์กราฟราคาหุ้น แต่ Signal Line และ MACD Histogram เป็น Indicator เพื่อวิเคราะห์ MACD (Indicator ของ Indicator)

เวลาที่เลือกใช้งาน MACD นั้นส่วนใหญ่โปรแกรมสำหรับวิเคราะห์กราฟหุ้นมักจะไม่วาดเส้น MACD ออกมาเดี่ยวๆ เพียงเส้นเดียว แต่จะวาดเส้น Signal Line และ MACD Histogram พร้อมๆ กันกับ MACD ในพื้นที่เดียวกัน (เลือกใช้งาน MACD แต่มี Indicator แสดงออกมาทั้ง3 ตัวพร้อมๆ กัน)

MACD ถ้าอยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง?

รูปแสดงตัวอย่างที่โปรแกรม Aspen Mobile ที่แสดงค่า 1) MACD (เส้นสีเขียว) 2) Signal Line (เส้นสีชมพู) และ3) MACD Histogram (แท่งสีเหลือง) พร้อมๆกัน เมื่อเลือกใช้งาน MACD (ที่มา : ASPEN Mobile)

หลังจากที่เห็นรูป Indicator ทั้ง 3 ตัวที่ถูกวาดพร้อมกันอย่าเพิ่งรีบงงนะครับ ค่อย ๆ อ่านเนื้อหาต่อไปเรื่อยๆ ผมรับรองว่าจะต้องได้รับความกระจ่างอย่างแน่นอน ? ? ?

SIGNAL LINE คือ MOVING AVERAGE ของ MACD

จากที่ผมได้เกริ่นนำมาก่อนหน้านี้ว่า Signal Line เป็น Indicator ของ MACD ซึ่ง Signal Line จะคือเส้นค่าเฉลี่ยแบบ Exponential (EMA) ของ MACD โดยค่าตั้งต้นมาตรฐานของ Signal Line จะคำนวณ EMA ย้อนหลังเป็นเวลา 9 ช่วงเวลาและแบบต่อเนื่อง (EMA(9)) และวาด Signal Line เป็นกราฟเส้นควบคู่ไปกับกราฟเส้นของ MACD บนพื้นที่เดียวกัน

การวิเคราะห์ Signal Line จะใช้หลักการหรือวิธีการเดียวกันกับที่เราใช้ EMA วิเคราะห์กราฟของราคาหุ้น แต่ต้องใช้จินตนาการเพิ่มขึ้นสักเล็กน้อยว่าตอนนี้เรากำลังวิเคราะห์ MACD กับ EMA ของ MACD เพื่ออยากรู้ว่า ทิศทางแนวโน้มของเส้น MACD เป็นอย่างไร

Signal Line = EMA(9) ของ MACD

Signal Line คือ เส้น Exponential Moving Average ของ MACD

วัตถุประสงค์ในการวาดเส้น Signal Line ควบคู่กับกราฟเส้น MACD เพื่อต้องการระบุว่าเส้น MACD มีทิศทางแนวโน้มเป็นขาขึ้นหรือขาลง โดยใช้หลักการของการวิเคราะห์เส้นค่าเฉลี่ยเคลือนที่ (Moving Average) คือ ถ้าเส้น MACD อยู่เหนือเส้น Signal Line ซึ่งเป็น EMAของตัวมันเอง ก็จะสรุปว่าเส้น MACD น่าจะมีโอกาสสูงที่จะกำลังอยู่ในช่วงทิศทางของแนวโน้มเป็นขาขึ้น แต่ถ้าเส้น MACD อยู่ใต้เส้น Signal Line ซึ่งเป็น EMA ของตัวมันเอง ก็จะสรุปว่าเส้น MACD น่าจะมีโอกาสสูงที่จะกำลังอยู่ในช่วงทิศทางของแนวโน้มเป็นขาลง ซึ่งเนื้อหากก่อนหน้านี้ผมได้ให้ตัวอย่างว่าการที่เส้น MACD มีทิศทางแนวโน้มเป็นขาขึ้นจะแปลความหมายได้อย่างไร และการที่เส้น MACD มีทิศทางแนวโน้มเป็นขาลงจะแปลความหมายได้อย่างไร

Signal Line เป็น Indicator ที่ให้ข้อมูเกี่ยวกับทิศทางแนวโน้มของเส้น MACD

ส่วนทิศทางแนวโน้มของเส้น MACD จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับ Momentum ของราคาหุ้น

การที่เราอยากรู้ว่าเส้น MACD มีทิศทางของแนวโน้มเป็นขาขึ้นหรือขาลง เนื่องจากทิศทางแนวโน้มของเส้น MACD จะบอกถึง Momentum ว่าเป็นอย่างไร เช่น

1) กรณีที่เส้น MACD มีค่าบวก (+) หรืออยู่เหนือ Center Line และมีทิศทางเป็นขาขึ้น แปลว่า Momentum ทิศทางขาขึ้นเพิ่มมากขึ้น

2) กรณีที่เส้น MACD มีค่าบวก (+) หรืออยู่เหนือ Center Line แต่มีทิศทางเป็นขาลง แปลว่า Momentum ทิศทางขาขึ้นมีการปรับตัวลดลง

3) กรณีที่เส้น MACD มีค่าลบ (-) หรืออยู่ใต้ Center Line และมีทิศทางเป็นขาลงแปลว่า Momentum ทิศทางขาลงมีเพิ่มมากขึ้น

4) กรณีที่เส้น MACD มีค่าลบ (-) หรืออยู่ใต้ Center Line และมีทิศทางเป็นขาขึ้นแปลว่า Momentum ทิศทางขาลงเริ่มลดลงม

จะเห็นได้ว่ากรณีที่ 1 และกรณีที่ 4 ทิศทางขาขึ้นของ MACD ให้มุมมองในเชิงบวกต่อราคาหุ้น แต่สำหรับกรณีที่ 2 และกรณีที่ 3 ทิศทางขาลงของ MACD ให้มุุมมองในเชิงลบต่อราคาหุ้น

MACD ถ้าอยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง?

รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าเมื่อเส้น MACD (เส้นสีเขียว) อยู่เหนือเส้น Signal Line (เส้นสีชมพู) ตัวเส้น MACD มีทิศทางของแนวโน้มเป็นขาขึ้น และเมื่อเส้น MACD อยู่ใต้เส้น Signal Line ตัวเส้น MACD มีทิศทางของแนวโน้มเป็นขาลง (ที่มา : ASPEN Mobile)

MACD HISTOGRAM คือ ระยะห่างระหว่าง MACD กับ SIGNAL LINE

MACD Histogram ถูกคิดค้นและแนะนำขึ้นโดย Thomas Aspray โดยค่าของ MACD Histogram จะเท่ากับส่วนต่างหรือระยะห่างระหว่างเส้น MACD กับ Signal Line โดยการคำนวณค่าของ MACD Histogram จะคำนวณแบบต่อเนื่อง และวาดเป็นกราฟแท่งควบคู่ไปกับเส้น MACD และ Signal Line

ค่าของ MACD Histogram ที่มีค่าเป็นบวก แปลว่า เส้น MACD อยู่เหรือเส้น Signal Line และค่า MACD Histogram ที่เป็นลบ แปลว่า เส้น MACD อยู่ใต้เส้น Signal Line ส่วนค่า MACD Histogram ที่เป็น 0 คือจุดตัดระหว่างเส้น MACD และ Signal Line

MACD Histogram = MACD – Signal Line

MACD Histogram จะเท่าเกับระยะห่างระหว่าง MACD และ Signal Line

MACD ถ้าอยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง?

รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่าง MACD, Signal Line, และ MACD Histogram โดยถ้า MACD อยู่เหนือเส้น Signal Line ค่าของ MACD Histogram จะมีค่าเป็นบวก และถ้าเส้น MACD อยู่ใต้เส้น Signal Line ค่าของ MACD Histogram จะมีค่าเป็นลบ (ที่มา : ASPEN Mobile)

หลักการหรือแนวทางในการคำนวณค่าของ MACD Histogram ที่ใช้วิธีคำนวณส่วนต่างเป็นการวัดระยะห่างระหว่าง MACD กับ Signal Line คือ หลักการเดียวกันกับที่ใช้ในการคำนวณ MACD ซึ่งเป็นการวัดระยะห่างระหว่าง EMA(12) และ EMA(26) เพื่อต้องการสักเกตว่า EMA(12) และ EMA(26) กำลังลู่เข้าหากันหรือกำลังแยกออกจากกัน แต่การคำนวณ MACD Histogram มีวัตถุประสงค์เพื่อสังเกตว่าเส้น MACD กับเส้น Signal Line กำลังลู่เข้าหากันหรือกำลังแยกออกจากกัน เพราะถ้าเส้น MACD และ Signal Line กำลังลู่เข้าหากันก็อาจจะมีโอกาสตัดกันได้

MACD ใชัสังเกตว่า EMA(12) และ EMA(26) ว่ากำลังลู่เข้าหากันหรือแยกออกจากกัน

MACD Histogram ใช้สังเกตว่า เส้น MACD และ Signal Line กำลังลู่เข้าหากันหรือแยกออกจากกัน

กรณีที่ MACD Histogram มีค่าเป็นบวกและมีค่าเป็นบวกเพิ่มมากขึ้น แสดงว่าเส้น MACD อยู่เหนือเส้น Signal Line และเส้น MACD ขยับตัวสูงขึ้นในอัตราที่เร็วกว่า Signal Line ทำให้เส้น MACD และ ระยะห่างระหว่างเส้น MACD และ Signal Line กว้างมากขึ้น (เส้น MACD และเส้น Signal Line แยกออกจากกัน , โอกาสตัดกันน้อยลง)

MACD ถ้าอยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง?

รูปตัวอย่างแสดงกราฟแท่ง MACD Histogram กรณีที่ MACD อยู่เหนือ Signal Line และเคลื่อนที่แยกออกจากกัน

แต่ถ้า MACD Histogram มีค่าเป็นบวกแต่มีค่าเป็นบวกลดน้อยลง แสดงว่าเส้น MACD อยู่เหนือเส้น Signal Line แต่เส้น MACD ขยับตัวสูงขึ้นในอัตราที่ช้ากว่า Signal Line ทำให้ระยะห่างระหว่างเส้น MACD และเส้น Signal Line แคบลง (เส้น MACD และเส้น Signal Line ลู่เข้าหากัน , โอกาสตัดกันมากขึ้น)

MACD ถ้าอยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง?

รูปตัวอย่างแสดงกราฟแท่ง MACD Histogram กรณีที่ MACD อยู่เหนือ Signal Line และเคลื่อนที่ลู่เข้าหากัน

กรณีที่ MACD Histogram มีค่าเป็นลบและมีค่าเป็นลบเพิ่มมากขึ้น แสดงว่าเส้น MACD อยู่ใต้เส้น Signal Line และเส้น MACD ขยับตัวลดต่ำลงในอัตราที่เร็วกว่า Signal Line ทำให้ระยะห่างระหว่างเส้น MACD และ Signal Line กว้างมากขึ้น (เส้น MACD และเส้น Signal Line แยกออกจากกัน , โอกาสตัดกันน้อยลง)

MACD ถ้าอยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง?

รูปตัวอย่างแสดงกราฟแท่ง MACD Histogram กรณีที่ MACD อยู่ใต้ Signal Line และเคลื่อนที่แยกออกจากกัน

แต่ถ้า MACD Histogram มีค่าเป็นลบแต่มีค่าเป็นลบลดน้อยลง แสดงว่าเส้น MACD อยู่ใต้ Signal Line แต่เส้น MACD ขยับตัวลดต่ำลงในอัตราที่ช้ากว่า Signal Line ทำให้ระยะห่างระหว่างเส้น MACD และเส้น Signal Line แคบลง (เส้น MACD และเส้น Signal Line ลู่เข้าหากัน , โอกาสตัดกันมากขึ้น)

MACD ถ้าอยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง?

รูปตัวอย่างแสดงกราฟแท่ง MACD Histogram กรณีที่ MACD อยู่ใต้ Signal Line และเคลื่อนที่ลู่เข้าหากัน

การที่เราวัดระยะห่างระหว่างเส้น MACD กับ เส้น Signal Line เพราะสนใจว่าเส้น MACD กับ เส้น Signal Line จะตัดกันหรือไม่ เพราะการที่เส้น MACD กับเส้น Signal Line ลู่เข้าหากันและตัดกัน แปลความหมายได้ว่า ทิศทางของแนวโน้มเส้น MACD มีโอกาสสูงที่กำลังจะเปลี่ยนทิศทาง เช่น จากเดิมเส้น MACD อยู่ใต้ Signal Line และมีการตัดเส้น Signal Line ขึ้นไปอยู่เหนือเส้น Signal Line จะแปลความหมายได้ว่า แนวโน้มของเส้น MACD มีโอกาสสูงที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงทิศทางจากทิศทางขาลงเป็นทิศทางขาขึ้น เนื่องจากเส้น MACD ได้อยู่เหนือเส้น Signal Line ซึ่งเป็นเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ของ MACD เป็นต้น

สัญญาณของ MACD

สัญญาณที่น่าสนใจจาก MACD ทั้ง 3 ประเภท ได้แก่

1) MACD ตัด Center Line

2) MACD ตัด Signal Line

3) Divergence

MACD ถ้าอยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง?

รูปตัวอย่างแสดงสัญญาณจาก MACD ทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ 1) MACD ตัด Center Line 2) MACD ตัด Signal Line และ Divergence

เรามาดูรายละเอียดของสัญญาณแต่ละประเภทกันครับ

เส้น MACD ตัดข้ามเส้น CENTER LINE

การที่ค่า MACD มีค่าเป็นบวก(+) หรือเส้น MACD อยู่เหนือ Center Line หมายความว่า เส้น EMA(12) อยู่เหนือเส้น EMA(26) และการที่ MACD มีค่าเป็นลบ(-) หรือเส้น MACD อยู่ใต้เส้น Center Line ก็หมายความว่า เส้น EMA(12) อยู่ใต้เส้น EMA(26) สำหรับเส้น Center Line คือ เส้นที่แสดงค่า MACD = 0 แปลว่าที่จุดนั้น เส้น EMA(12) กับ เส้น EMA(26) มีค่าเท่ากัน

MACD ถ้าอยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง?

รูปแสดงความหมายของค่า MACD ที่เป็นบวก(+) และเป็นลบ(-)

การที่เส้น MACD ตัดข้ามเส้น Center Line ขึ้นไป (MACD เปลี่ยนจากค่าลบ(-)ไปเป็นค่าบวก(+)) จึงแปลความหมายจากกราฟราคาได้ว่า เส้น EMA(12) ตัดเส้น EMA(26) ขึ้นไป จากเดิมที่เส้น EMA(12) อยู่ใต้เส้น EMA(26) ได้เปลี่ยนตำแหน่งมาอยู่เหนือเส้น EMA(26) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

การที่เส้น MACD ตัดข้ามเส้น Center Line ลงมา (MACD เปลี่ยนจากค่าบวก(+ )ไปเป็นค่าลบ(-)) จึงแปลความหมายจากกราฟราคาได้ว่า เส้น EMA(12) ตัดเส้น EMA(26) ลงมา จากเดิมที่เส้น EMA(12) อยู่เหนือเส้น EMA(26) ได้เปลี่ยนตำแหน่งมาอยู่ใต้เส้น EMA(26) นั่นเอง

ไม่แนะนำให้ใช้งาน MACD แบบนี้ (1)

มีคำแนะนำที่ผมเคยได้ยินอย่างแพร่หลายเกี่ยวกับการใช้งาน MACD โดยให้ลงมือซื้อหรือขายจากสัญญาณเส้น MACD ตัดข้ามเส้น Center Line คือ ลงมือซื้อหุ้นเมื่อ เส้น MACD ตัดเส้น Center Line ขึ้นไป และลงมือขายหุ้นเมื่อ MACD ตัดเส้น Center Line ลงมา ซึ่งผมอยากจจะบอกว่าวิธีนี้เป็นวิธีการใช้งาน MACD ที่ไม่ถูกต้อง

MACD ถ้าอยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง?

รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นการลงมือซื้อหุ้นทันที่มีเส้น MACD ตัดเส้น Center Line ขึ้นไป และลงมือขายหุ้นทันทีที่ MACD ตัดเส้น Center Line ลงมา

การลงมือซื้อหรือขายหุ้นทันทีที่ MACD ตัดเส้น Center Line ก็เหมือนกับว่าเป็นการลงมือซื้อหุ้นหรือลงมือขายหุ้นจากสัญญาณการตัดกันของเส้น EMA นั่นเอง โดยการลงมือซื้อขายเมื่อ MACD ตัดเส้น Center Line นั้นไม่สามารถทำให้ได้กำไรจากการซื้อขายหุ้นได้ทุกครั้งเสมอไป บางครั้งก็ซื้อขายแล้วได้กำไร บางครั้งก็ซื้อขายแล้วขาดทุน ทำให้วิธีนี้เป็นวิธีที่ผมไม่แนะนำให้ใช้ในการซื้อขายหุ้น

เส้น MACD ตัดเส้น SIGNAL LINE

ทิศทางของแนวโน้มเส้น MACD ที่เป็นทิศทางขาขึ้นจะให้เห็นมุมมอง Momentum ที่เป็นบวกต่อราคาหุ้นเพราะว่า เส้น MACD ที่มีทิศทางแนวโน้มเป็นขาขึ้น เกิดจากการที่ ราคาหุ้นเริ่มลดลงในอัตราที่ช้าลง หรือ ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นในอัตราที่เร็วขึ้น

ทิศทางของแนวโน้มเส้น MACD ที่เป็นทิศทางขาลงจะให้มุมมองของ Momentum ที่เป็นลบต่อราคาหุ้นเพราะว่า เส้น MACD ที่มีทิศทางแนวโน้มเป็นขาลง เกิดจากการที่ ราคาหุ้นเริ่มปรับตัวสูงขึ้นในอัตราที่ลดลง หรือ ราคาหุ้นปรับตัวลดลงในอัตราที่เร็วขึ้น

การที่เส้น MACD ตัดเส้น Signal Line ขึ้นไป จะทำให้เส้น MACD อยู่เหนือเส้น Signal Line ซึ่งเป็นเส้นค่าเฉลี่ยของตัว MACD เอง ซึ่งจะแปลความหมายได้ว่า เส้น MACD น่าจะเป็นแนวโน้มทิศทางขาขึ้นแล้ว จุดที่เส้น MACD ตัดเส้น Signal Line ขึ้นไป จึงเป็นจุดที่น่าสนใจ เพราะ MACD และ Signal Line ได้ส่งสัญญาณว่าหลังจากนี้น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่จากเดิม Momentum ให้มุมมองในเชิงลบกับราคาหุ้น เปลี่ยนเป็น Momentum ให้มุมมองในเชิงบวกกับราคาหุ้นแทน

และการที่เส้น MACD ตัดเส้น Signal Line ลงมา จะทำให้เส้น MACD อยู่ใต้เส้น Signal Line ซึ่งเป็นเส้นค่าเฉลี่ยของตัว MACD เอง ซึ่งจะแปลความหมายได้ว่า เส้น MACD น่าะเป็นแนวโน้มทิศทางขาลงแล้ว จุดที่เส้น MACD ตัดเส้น Signal Line ลงมา ก็จะเป็นจุดที่น่าสนใจ เพราะ MACD และ Signal Line ได้ส่งสัญญาณว่าหลังจากนี้น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่จากเดิม Momentum ให้มุมมองในเชิบบวกกับราคาหุ้น เปลี่ยนเป็น Momentum ให้มุมมองในเชิงลบกับราคาหุ้นแทน

ไม่แนะนำให้ใช้งาน MACD แบบนี้ (2)

การที่ลงมือซื้อทันที่ที่เส้น MACD ตัดเส้น Signal Line หรือลงมือขายทันที่ที่เส้น MACD ตัดเส้น Signal Line ลงมาทันทีนั้นเป็นวิธีการใช้งาน MACD ที่ผิดวิธี

MACD ถ้าอยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง?

รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นการลงมือซื้อหุ้นทันที่มีเส้น MACD ตัดเส้น Signal Line ขึ้นไปและลงมือขายหุ้นทันทีที่ MACD ตัดเส้น Signal Line ลงมา

หลังจากที่เส้น MACD ตัดเส้น Signal Line ขึ้นไปนั้นจะบอกกับเราว่า Momnetum ได้เปลี่ยนจากมุมมองเชิงลบต่อราคาหุ้นเป็นมุมมองเชิงบวกกับราคาหุ้นก็จริงแต่ว่าไม่ได้การันตีครับว่าราคาหุ้นจะต้องปรับตัวขึ้นเสมอไป แต่เป็นไปได้ว่าราคาหุ้นอาจจะปรับตัวขึ้นได้บ้าง แต่บางครั้งก็อาจเป็นการปรับตัวขึ้นเพียงชั่วคราวระยะเวลาสั้น ๆ ก็เป็นไปได้ ซึ่งเราไม่มีทางรู้ได้ล่วงหน้าว่า เมื่อ MACD ตัดเส้น Signal Line ขึ้นไปแล้วหลังจากนั้นราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นแบบชั่วคราวหรือราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน

และหลังจากที่เส้น MACD ตัดเส้น SIgnal Line ลงมาเป็นการบอกว่า Momentum ได้เปลี่ยนจากมุมมองเชิงบวกเป็นมุมมองเชิงลบต่อราคาหุ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าราคาจะต้องปรับตัวลดลงเสมอไปเช่นเดียวกัน และถึงแม้ราคาหุ้นจะปรับตัวลดลงหลังจากที่เส้น MACD ตัดเส้น Signal Line ลงมา เราก็ไม่รู้อีกเช่นเดียวกันว่าการปรับตัวลดลงของราคาหุ้นจะเป็นการปรับตัวลดลงแบบชั่วคราวหรือจะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องยาวนาน

การที่ลงมือซื้อหุ้นทันทีที่เส้น MACD ตัดเส้น Signal Line ขึ้นไป หรือขายหุ้นทันทีที่เส้น MACD ตัดเส้น Signal Line ก็จะเป็นอีกวิธีที่ซื้อขายแล้ว ไม่สามารถทำให้ได้กำไรเสมอไป ดังนั้นจึงเป็นวิธีที่ผมไม่แนะนำให้ใช้เพื่อลงมือซื้อขายครับ

DIVERGENCE

ความหมายของ Divergence ในการวิเคราะห์ Indicators คือ การที่ Indicators ให้ข้อมูลไม่สอดคล้องกับการเคลื่อนที่ของกราฟราคาหุ้น โดยการพิจารณาสัญญาณ Divergence มักจะใช้กับ Indicators ประเภทที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ แรงส่งของราคา (Momentum) และ Indicators ประเภทที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความแข็งแกร่งของแนวโน้ม (MACD ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแรงส่งของราคา)

ยกตัวอย่างกรณีที่กราฟราคาหุ้นกับกราฟ Indicators ไม่สอดคล้องกัน เช่น ราคาหุ้นมีการปรับตัวสูงขึ้นแต่ Indicators กลับให้ข้อมูลว่า Momentum หรือแรงส่งของราคาหุ้นในทิศทางขาขึ้นเริ่มอ่อนแรง หรือในทางตรงข้ามกรณีที่ราคาหุ้นมีการปรับตัวลดลงแต่ Indicaotors กลับให้ข้อมูลว่า Momentum หรือแรงส่งของราคาหุ้นในทิศทางขาลงเริ่มอ่อนแรง

วิธีการพิจารณาสัญญาณ Divergence ที่นิยมคือ การเปรียบเทียบจุดสูงสุดของกราฟราคาหุ้นกับจุดสูงสุดของกราฟเส้น Indicators และการเปรียบเทียบจุดต่ำสุดของกราฟราคาหุ้นกับจุดต่ำสุดของกราฟเส้น Indicators เพื่อดูว่ามีทิศทางเดียวกัน (Convergence) หรือทิศทางไม่สอดคล้องกัน (Divergence)

ยกตัวอย่างเช่น…

1) กรณีที่กราฟราคาหุ้นสามารถทำจุดสูงสุดใหม่ที่สูงกว่าจุดสูงสุดก่อนหน้า แต่กราฟ Indicators ประเภท Momentum ไม่สามารถสร้างจุดสูงสุดใหม่ที่สูงขึ้นได้เช่นเดียวกับกราฟของราคาคา ซึ่งแปลความหมายได้ว่า Momentum ที่จะเป็นแรงส่งให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นในครั้งนี้ต่ำลงกว่าก่อนหน้า จึงเป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้า ให้เราใกล้ชิดกับกราฟของราคาให้มากขึ้น เพราะในอนาคตราคาหุ้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงทิศทางของแนวโน้มจากทิศทางขาขึ้นเป็นทิศทางขาลงแล้วก็เป็นไปได้ (Bearish Divergence : คาดว่าราคาหุ้นน่าจะเปลี่ยนเป็นแนวโน้มขาลง)

2) กรณีที่กราฟราคาหุ้นทำจุดต่ำสุดใหม่ที่ต่ำกว่าจุดต่ำสุดก่อนหน้า แต่กกราฟ Indicators ประเภท Momentum ไม่สามารถสร้างจุดต่ำสุดใหม่ที่ต่ำลงได้เช่นเดียวกับกราฟของราคา ก็จะแปลความหมายได้ว่า Momentum ที่จะเป็นแรงส่งให้ราคาปรับตัวลดลงต่อในครั้งนี้เริ่มลดลงกว่าครั้งก่อนหน้า ก็จะเป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าให้ติดตามกราฟราคาหุ้นอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกัน เพราะในอนาคตราคาหุ้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงทิศทางของแนวโน้มจากทิศทางขาลงเป็นทิศทางขาขึ้นก็ได้ (Bullish Divergence : คาดว่าราคาหุ้นน่าจะเปลี่ยนเป็นแนวโน้มขาขึ้น)

MACD ถ้าอยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง?

รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นกรณีที่กราฟราคาหุ้นกับกราฟ Indicators ไม่สอดคล้องกัน (Divergence)

ไม่แนะนำให้ใช้งาน MACD แบบนี้ (3)

จากที่กราฟเส้น MACD เป็น Indicators ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ Momentum การที่ลงมือขายหุ้นทันทีที่ MACD ส่งสัญญาณ Beraish Divergence หรือลงมือซื้อหุ้นทันทีเมื่อ MACD ส่งสัญญาณ Bullish Divergence เป็นวิธีการใช้งาน MACD ที่ไม่ถูกต้อง เพราะสัญญาณ Divergence เป็นเพียงสัญญาณเตือนล่วงหน้าเท่านั้น ยังไม่ใช่สัญญาณที่จะให้ลงมือซื้อหรือขายหุ้นทันที

เหตุผลที่ไม่แนะนำให้ลงมือจากสัญญาณของ MACD

สิ่งที่ผมอยากจะแสดงให้เห็นคือ การลงมือซื้อขายทันทีที่เกิดสัญญาณจาก MACD ตัด Center Line หรือ MACD ตัด Signal Line หรือ สัญญาณ Divergence ไม่สามารถทำให้ผลการซื้อขายได้กำไรทุกครั้งเสมอไป บางครั้งซื้อขายแล้วก็ได้กำไร บางครั้งซื้อขายแล้วก็ขาดทุน แต่ถ้าซื้อซื้อขายด้วยวิธีนี้อย่างต่อเนื่องโอกาสที่ผลจากการซื้อขายโดยรวมจะออกมาเป็นขาดทุนน่าจะมีมากกว่าโอกาสที่ผลการซื้อขายโดยรวมรวมจะออกมาเป็นกำไร

ผมสังเกตว่าเวลาที่มีการนำเสนอสัญญาณจาก MACD เพื่อนำไปซื้อขายหุ้น ส่วนใหญ่จะแสดงตัวอย่างการซื้อขายหุ้นจากสัญญาณ MACD ตัด Center Line หรือ MACD ตัด Signal Line หรือ สัญญาณ Divergence แล้วได้ผลเป็นกำไร เพื่อให้ดูน่ามีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น

แต่….

ผมขอเสนอตัวอย่างการซื้อขายหุ้นจากสัญญาณ MACD ตัด Center Line และ MACD ตัด Signal Line หรือ สัญญาณ Divergence แล้วเกิดผลขาดทุน หรือขายหมู เพื่อให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่าการซื้อขายด้วยวิธีนี้แล้วขาดทุน ซึ่งทำให้คนที่ีเทคนิคนี้ในการซื้อขายไม่สามารถทำให้ได้กำไรและประสบความสำเร็จในการซื้อขายระยะยาว

MACD ถ้าอยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง?

รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นการลงมือซื้อหุ้นทันที่มีเส้น MACD ตัดเส้น Center Line ขึ้นไปและลงมือขายหุ้นทันทีที่ MACD ตัดเส้น Center Line ลงมา จะเห็นได้ว่ามีผลการซื้อขายออกมาเป็นขาดทุน (ที่มา : ASPEN Mobile)

MACD ถ้าอยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง?

รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นการลงมือซื้อหุ้นทันที่มีเส้น MACD ตัดเส้น Signal Line ขึ้นไปและลงมือขายหุ้นทันทีที่ MACD ตัดเส้น Signal Line ลงมา จะเห็นได้ว่ามีผลการซื้อขายออกมาเป็นขาดทุน (ที่มา : ASPEN Mobile)

MACD ถ้าอยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง?

รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นการลงมือขายหุ้นทันทีที่มีสัญญาณ Bearish Divergence แล้วราคาปรับตัวขึ้นต่อจึงขายหมู (ที่มา : ASPEN Mobile)

4 ข้อสังเกตเพิ่มเติมของสัญญาณจาก MACD

ก่อนที่จะเริ่มแนะนำวิธีใช้งาน MACD ที่ถูกต้องผมอยากจะให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมเกี่ยวกับสัญญาณจาก MACD ทั้ง 3 ประเภท ที่ได้แนะนำให้รู้จักไปก่อนหน้า ดังนี้ คือ

1) สัญญาณ MACD ตัดกับ Signal Line เป็นสัญญาณที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงแรงส่งของราคาหุ้น (Momentum) เป็นสัญญาณระยะสั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าราคาจะมีการกลับทิศทาง โดยที่การกลับทิศทางของราคาอาจจะเป็นแค่การกลับทิศทางระยะเวลาสั้น ๆ หรืออาจจะเป็นการกลับทิศทางของราคาหุ้นที่เป็นจุดเริ่มต้นของการกลับทิศทางของราคาครั้งใหญ่จนเกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางของแนวโน้มราคาหุ้นก็ได้

2) สัญญาณ MACD ตัดเส้น Center Line เป็นสัญญาณให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทิศทางแนวโน้มของราคาหุ้น (Trend) ถือว่าเป็นสัญญาณระยะกลาง จะเป็นการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นที่กินระยะเวลายาวนานกว่าการกลับตัวของราคา

MACD ถ้าอยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง?

รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นการกลับทิศทางของราคาหุ้นซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงระยะสั้น และการเปลี่ยนทิศทางของแนวโน้มราคาหุ้นซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงระยะกลาง

3) สัญญาณ MACD ตัด Signal Line ซึ่งเป็นสัญญาณระยะสั้น ส่วนสัญญาณ MACD ตัด Center Line เป็นสัญญาณระยะกลาง จะเห็นได้ว่า สัญญาณ MACD ตัด Signal Line จะเกิดบ่อยกว่า สัญญาณ MACD ตัด Center Line

MACD ถ้าอยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง?

รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าสัญญาณ MACD ตัด Signal Line จะเกิดบ่อยกว่าสัญญาณ MACD ตัด Center Line (ที่มา : ASPEN Mobile)

4) สัญญาณ Divergence จะเป็นสัญญาณที่พบได้น้อยครั้งที่สุดในบรรดา 3 สัญญาณที่น่าสนใจของสัญญาณ MACD ในความเห็นของผม สัญญาณ Divergence เป็นสัญญาณเตือนที่มีความน่าเชื่อถือและน่าสนใจมากที่สุด แต่อย่างไรก็ตามหลังจากเกิดสัญญาณ Divergence ก็ไม่ได้การันตีว่าราคาจะต้องกลับตัวเสมอไป การซื้อขายจากสัญญาณ Divergence จึงต้องติดตามกราฟราคาหุ้นให้ใกล้ชิดก่อนการลงมือซื้อขายจริง

MACD ถ้าอยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง?

รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าเมื่อเกิดสัญญาณ Divergence ครั้งแรกราคาหุ้นยังไม่กลับทิศทางทันที แต่เป็นแค่พักตัวชั่วคราวเพื่อเคลื่อนที่ไปต่อในทิศทางเดิม ส่วนสัญญาณ Divergence ครั้งที่สองแนวโน้มราคาหุ้นกลับตัวจากขาขึ้นเป็นขาลง

การใช้งาน MACD ที่ถูกวิธี

หลักการที่ผมจะแนะนำในบทความนี้ เป็นหลักการในการใช้งาน Indicators ทุกประเภท นะครับ ไม่ได้จำกัดเฉพาะ MACD เท่านั้น หลักการที่ว่าคือ คือ ต้องให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์กราฟราคาหุ้นมากที่สุด และใช้การวิเคราะห์ Indicators เป็นเพียงข้อมูลเสริมเพื่อประกอบการตัดสินใจเท่านั้น ดังนั้นห้ามให้ความสำคัญกับ Indicators มากกว่ากราฟราคาหุ้นเด็ดขาด และต้องไม่ตัดสินใจลงมือซื้อขายหุ้นจากข้อมูล Indicators แต่เพียงอย่างเดียว

ใช้ MACD เป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้า

เมื่อ MACD เกิดสัญญาณที่น่าสนใจออกมา ไม่ว่าจะเป็น MACD ตัด Center Line หรือ MACD ตัด Signal Line หรือ Divergence ก็ตาม เราจะใช้สัญญาณเหล่านี้เป็นสัญญาณที่บอกว่าหุ้นตัวนี้เริ่มมีความน่าสนใจ หรือเป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าว่าราคาหุ้นในอนาคตอาจมีการเปลี่ยนแปลงทิศทาง เพื่อให้เราติดตามกราฟราคาอย่างใกล้ชิดเพื่อหาจังหวะที่ลงมือซื้อหรือขายที่ดีต่อไป หรือเป็นสัญาณ แต่การหาจังหวะลงมือซื้อขายหุ้นที่ดีนั้น จะต้องกลับไปวิเคราะห์จากกราฟราคาหุ้นเสมอเนื่องจากกราฟราคาหุ้นเป็นข้อมูลที่ใช้แสดงพฤติกรรมของคนที่เข้ามาซื้อขายในตลาดได้ดีที่สุด

MACD ถ้าอยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง?

รูปแสดงวิธีการใช้งาน MACD ที่ถูกวิธี เมื่อเกิดสัญญาณจาก MACD จะไม่ลงมือซื้อขายทันที แต่ให้ตัดสินใจลงมือซื้อขายจากการวิเคราะห์กราฟราคาหุ้น

MACD ถ้าอยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง?

รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นกรณีที่ MACD ส่งสัญญาณ Divergence แต่หลังจากติดตามกราฟราคาหุ้นอย่างใกล้ชิดแล้วไม่มีสัญญาณให้ขายจึงถือหุ้นต่อ (ไม่ทำ New Low ที่ระดับเส้นแนวนอนสีขาว) ทำให้ไม่ได้ลงมือขายหุ้นจากสัญญาณ Divergence ของ MACD ในครั้งนี้ (ที่มา : ASPEN Mobile)

MACD ถ้าอยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง?

รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นกรณีที่ MACD ส่งสัญญาณ Divergence และหลังจากติดตามกราฟราคาหุ้นอย่างใกล้ชิดพบว่ากราฟราคาหุ้นทำ New Low และ เบรก Trend Line หลังจากนั้น จึงใช้สัญญาณจากกราฟราคาในการลงมือขายหุ้น (ที่มา : ASPEN Mobile)

ให้ MACD เพิ่มความมั่นใจในการลงมือ

เราออาจจะใช้ MACD เพื่อช่วยสนับสนุนการตัดสินใจลงมือซื้อขายหุ้น โดยเริ่มจากวิเคราะห์กราฟราคาหุ้นเพื่อให้ได้จังหวะที่จะลงมือซื้อขาย และก่อนจะลงมือก็ค่อยมาวิเคราะห์ดูลักษณะที่เกิดขึ้นของ MACD ว่าสนับสนุนการลงมือซื้อขายหรือไม่ ถ้าลักษณะที่เกิดขึ้นของ MACD ไม่สนับสนุนทิศทางที่เรากำลังจะลงมือ เราก็จะไม่ลงมือซื้อขาย ยกตัวอย่างเช่น ในการซื้อขายหุ้นระยะกลางเมื่อเราวิเคราะห์กราฟราคาหุ้นแล้วกำลังอยากจะลงมือซื้อหุ้น แต่เส้น MACD ยังอยู่ใต้ Center Line ซึ่งให้ข้อมูลว่าทิศทางแนวโน้มของราคาหุ้นยังอยู่ในขาลง เราก็จะไม่ลงมือซื้อขาย หรือถ้ากำลังอยากซื้อหุ้นแล้วถือระยะสั้นๆ แต่ MACD อยู่ใต้เส้น Signal ซึ่งบอกถึงแรงส่งของราคาไม่สนับสนุนการซื้อหุ้น เราก็จะไม่ลงมือซื้อหุ้น เป็นต้น

MACD ถ้าอยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง?

รูปแสดงวิธีการใช้งาน MACD ที่ถูกต้อง เมื่อวิเคราะห์กราฟราคาหุ้นจนได้สัญญาณซื้อขายแล้ว จากนั้นวิเคราะห์ MACD เพื่อดูว่าลักษณะของ MACD สนับสนุนการลงมือหรือไม่

MACD ถ้าอยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง?

รูปตัวอย่างการใช้ MACD เพื่อสนับสนุนสัญญาณซื้อหุ้น

MACD ถ้าอยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง?

รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าเส้น MACD ไม่สนับสนุนการลงมือซื้อหุ้น

จากวิธีในการใช้งาน MACD ทั้ง 2 วิธีจะเห็นได้ว่าการตัดสินใจลงมือซื้อขายหุ้นในแต่ละครั้งถ้าเราให้ความสนใจที่สัญญาณจากกราฟราคาหุ้นมากกว่ากราฟ MACD จะช่วยลดความผิดพลาดของสัญญาณที่เกิดขึ้นจาก MACD ได้ หรือถ้ากำลังสนใจลงมือซื้อขายหุ้น ก็ลองใช้ MACD เป็นเครื่องมือสำหรับคัดกรองจังหวะซื้อขายที่ไม่ดีออกไป ก็จะช่วยให้เราได้โอกาสในการซื้อขายหุ้นได้มีกำไรมากกว่าโอกาสในการขาดทุนครับ

สรุป

MACD ซึ่งเป็น Indicator ที่บอกทั้งแนวโน้มของกราฟราคาหุ้น และ Momentum โดยมีวิธีการคำนวณค่า MACD จากส่วนต่างของ EMA(12) และ EMA(26) และแสดงค่าจะแสดงเป็นกราฟเส้นบนพื้นที่ใหม่ที่ไม่ใช่พื้นที่เดียวกันกับกราฟราคาหุ้น

ค่าของ MACD จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับทิศทางของแนวโน้มกราฟราคาหุ้น โดยที่ MACD ในช่วงที่มีค่าเป็นบวก (+) จะแปลความหมายได้ว่ากราฟราคาน่าจะกำลังอยู่ในมีทิศทางของแนวโน้มเป็นขาขึ้น ส่วนในช่วงที่ MACD มีค่าเป็นลบ (-) จะแปลความหมายได้ว่ากราฟราคาหุ้นน่าจะกำลังอยู่ในทิศทางของแนวโน้มเป็นขาลง

ทิศทางของเส้น MACD ที่เป็นทิศทางขาขึ้น จะให้ข้อมูลในเชิงบวกกับราคาหุ้น กรณีที่ MACD มีค่าเป็นบวกและเส้น MACD มีทิศทางขาขึ้นจะแปลความหมายได้ว่า Momentum ในทิศทางขาขึ้นเพิ่มมากขึ้น กรณีที่ MACD มีค่าเป็นลบ และเส้น MACD มีทิศทางเป็นขาขึ้นจะแปลความหมายได้ว่า Momentum ในทิศทางขาลงเริ่มอ่อนแรง

ทิศทางของเส้น MACD ที่เป็นทิศทางขาลง จะให้ข้อมูลในเชิงลบกับราคาหุ้น- กรณีที่ MACD มีค่าเป็นบวกแต่เส้น MACD มีทิศทางเป็นขาลงจะแปลความหมายได้ว่า Momentum ในทิศทางขาขึ้นเริ่มอ่อนแรง และกรณีที่ MACD มีค่าเป็นลบ และเส้น MACD มีทิศทางเป็นขาลงจะแปลความหมายได้ว่า Momentum ในทิศทางขาลงเพิ่มมากขึ้น

MACD เป็น Indicator ในการวัด Momentum ของราคาหุ้น หรือใช้เพื่อวิเคราะห์และติดตามการว่าราคาหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร แต่สำหรับ Signal Line และ MACD Historical จะเป็น Indicators ที่ใช้ในการวิเคราะห์และติดตามการเปลี่ยนแปลงของเส้น MACD เพื่อดูว่า Momentum มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร โดย Signal Line จะเป็น Indicator ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับทิศทางของแนวโน้มเส้น MACD และ MACD Histogram เป็น Indicator ที่ให้ข้อมูลว่า MACD เริ่มมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงทิศทางหรือไม่ ด้วยการวัดระยะห่างระหว่างเส้น MACD กับเส้น Signal Line

การวิเคราะห์ MACD เราสนใจสัญญา 3 อย่าง ได้แก่ สัญญาณจากเหตุการณ์ที่ MACD ตัด Center Line ที่เป็นการบอกถึงการเปลี่ยนแปลงทิศทางของราคาหุ้นในแนวโน้มระยะกลาง สำหรับสัญญาณจากกรณีที่เส้น MACD ตัดเส้น Signal Line จะให้ข้อมูลถึงการเปลี่ยนแปลง Momentum ซึ่งน่าจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของทิศทางราคาในระยะสั้น และสัญญาณ Divergence ที่ให้ข้อมูลว่าทิศทางของแนวโน้มราคาหุ้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นเดียวกัน

การลงมือซื้อขายหุ้นด้วยการวิเคราะห์ทางเทคนิคเราจะยกให้กราฟราคาหุ้นเป็นพระเอกเสมอ โดยการตัดสินใจลงมือซื้อขายหุ้นต้องตัดสินใจจากกราฟราคาหุ้นเท่านั้น และขอให้ MACD หรือ Indicators เป็นแค่พระรองช่วยส่งสัญญาเตือนหรือสนับสนุนการตัดสินใจซื้อขายเท่านั้น

ที่มา : http://daddytrader.guru/macd/