รู้จักกลุ่มประเทศอาเซียน, CLMVT และ MSCI AC ASEAN INDEX

แม้ว่ากลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างประเทศเราและเพื่อนบ้าน มีการฟื้นตัวช้าทางเศรษฐกิจกว่าค่าเฉลี่ยของโลก วันนี้ เด็กการเงิน ขอพาทุกคนมารู้จักกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN) ว่ามีอะไรที่น่าสนใจ น่าลงทุนหรือไม่? และดูว่าแต่ละประเทศซ้ำซ้อนกับ CLMVT หรือไม่?

สิ่งที่จะได้จากบทความนี้

  1. กลุ่มประเทศอาเซียน และ CLMVT คืออะไร?
  2. รู้จักกลุ่มประเทศอาเซียนผ่าน MSCI AC ASEAN INDEX?
  3. ความน่าสนใจลงทุนของกลุ่มประเทศอาเซียน และ CLMVT
  4. กองทุนใดบ้างที่ลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน และ CLMVT?

กลุ่มประเทศอาเซียน และ CLMVT คืออะไร?

อาเซียน คือ การรวมตัวกันของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ย่อมาจาก Association of South East Asian Nations หรือ ASEAN จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและร่วมมือกันในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก ทั้งยังช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในกลุ่มประเทศเหล่านี้จากสิทธิประโยชน์ด้านภาษี ช่วยสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจได้อีกด้วย โดยอาเซียนประกอบด้วย 10 ประเทศได้แก่ บรูไน สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และไทย

CLMVT คือ กลุ่มอาเซียนในเขตภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Great Mekong Subregion: GMS) ที่มีเส้นทางคมนาคมติดต่อกัน ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และไทย

รู้จักกลุ่มประเทศอาเซียนผ่าน MSCI AC ASEAN INDEX?

กลุ่มประเทศอาเซียนนั้นมีทั้งหมด 10 ประเทศ แต่มีประเทศตามการจัดกลุ่มของ MSCI ที่อยู่ในกลุ่ม Developed Market เพียงประเทศเดียว นั่นก็คือสิงคโปร์ และอีก 4 ประเทศ Emerging Market ได้แก่ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย ที่เหลืออีก 5 ประเทศ ไม่ได้ถูกจัดกลุ่ม

ซึ่ง MSCI AC ASEAN INDEX ครอบคลุม 136 บริษัทใน 5 กลุ่มประเทศตามที่กล่าวไป ซึ่งสามารถเป็นตัวแทนได้ถึง 85% ของหุ้นในแต่ละประเทศ (คิดแบบ free float-adjusted market cap)

Country Weight

as of 30 Sep 2021

  • สิงคโปร์ 33.36%
  • ไทย 21.86%
  • อินโดนีเซีย 18.27%
  • มาเลเซีย 17.86%
  • ฟิลิปปินส์ 8.64%

Sector Weight 

as of 30 Sep 2021

  • Finance 35.76%
  • Communication Services 13.39%
  • Industrials 9.28%
  • Consumer Staples 8.61%
  • Real Estate 8.61%
  • Materials 6.32%
  • Consumer Discretionary 4.79%
  • Energy 4.53%
  • Health Care 3.76%
  • Utilities 3.59%
  • Information Technology 1.37%

Top 10 Stocks

as of 30 Sep 2021

  • DBS Group Holdings (SG) 6.89%
  • OCBC Bank (SG) 4.86%
  • Bank Central Asia (ID) 4.63%
  • United Overseas Bank (SG) 3.83%
  • Sea A ADR (SG) 3.75%
  • Bank Rakyat Indonesia (ID) 3.14%
  • Singapore Telecom (SG) 2.56%
  • Public Bank (MY) 2.42%
  • Telkom Indonesia (ID) 2.18%
  • PTT (TH) 1.97%

ความน่าสนใจลงทุนของกลุ่มประเทศอาเซียน และ CLMVT

1) กลุ่มประเทศอาเซียน และ CLMVT ค่อนข้าง laggard กลุ่มประเทศ Developed Market เนื่องมาจากโควิด-19 ที่ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ ซึ่งอุตสาหกรรมนี้เป็นรายได้หลักของหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน เมื่อดู YTD Gross return ณ สิ้นเดือนกันยายน พบว่า MSCI AC ASEAN -1.06% MSCI Emerging Market -0.99% ซึ่ง laggard MSCI ACWI ที่บวกถึง 11.49%

2) อัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง อัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น หลายประเทศก็เริ่มที่จะเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ

อัตราผู้ได้รับวัคซีนครบโดสภายในระยะเวลาหนึ่งเดือนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเทียบระหว่างวันที่ 22 กันยายน และ 22 ตุลาคม (https://ourworldindata.org/covid-vaccinations)

  • สิงคโปร์ จาก 77% ขึ้นมาเป็น 80%
  • ไทย 23% ขึ้นมาเป็น 38%
  • มาเลเซีย 59% ขึ้นมาเป็น 72%
  • อินโดนีเซีย 17% ขึ้นมาเป็น 24%
  • เวียดนาม 7.2% ขึ้นมาเป็น 20%

3) ประเทศอาเซียน โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม CLMVT นั้นถือเป็นฐานผลิตที่สำคัญเพราะค่าแรงต่ำ เรียกได้ว่ามีต้นทุนการผลิตที่แข่งขันได้ การลงทุนในกลุ่มประเทศเหล่านี้ยังได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี ทั้งยังมีความสะดวกในเส้นทางการขนส่งทางบกระหว่างกันอีกด้วย มาดูจุดเด่นของแต่ละประเทศกัน

สิงคโปร์ เป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีแรงงานที่มีการศึกษาสูง เป็น Financial Hub ที่สำคัญ ทั้งยังมีอัตราการลงทุนจากต่างชาติ (FDI) สูง ซึ่งมาจากการตั้งศูนย์ R&D และธุรกิจที่รองรับการเติบโตทางเทคโนโลยี

อินโดนีเซีย เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีประชากรกว่า 270 ล้านคน เป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียน และอยู่ในอันตับต้นๆ ของโลก การลงทุนที่เกี่ยวกับการบริโภคภายในประเทศจึงมีความน่าสนใจ นอกจากนี้ปัจจุบันอินโดนีเซียเปิดรับเศรษฐกิจดิจิทัลมาก มีการสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้มี Startup ระดับยูนิคอร์นอยู่หลายแห่ง เช่น แพลตฟอร์มการเรียกรถ Gojek, e-commerce อย่าง Tokopedia, ผู้ให้บริการด้านท่องเที่ยวอย่าง Traveloka เป็นต้น 

มาเลเซีย เป็นตลาดแรงงานฝีมือสูง ได้รับความนิยมจากนักลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมการผลิต โลจิสติกส์และบริการ

เวียดนาม มีการเติบโตทางเศรษฐกิจจากจำนวนประชากรที่อยู่ในวัยแรงงานจำนวนมาก มีค่าแรงที่อยู่ในเรทแข่งขันได้ ทำให้มีต้นทุนการผลิตต่ำ และประชากรส่วนมากอยู่ในชนชั้นกลาง ทำให้มีโอกาสเติบโตจากการบริโภคภายในประเทศอีกด้วย รวมถึงมีแผนพัฒนาของรัฐบาลในการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานในเขตนิคมอุตสาหกรรมที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งยังดึงดูดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติได้มาก หลายบริษัทมีการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาอยู่ที่เวียดนามมากขึ้น

ไทย มีโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC เพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ โดยมีพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน และเส้นทางการค้า การขนส่งที่สะดวก เหมาะสำหรับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและการขนส่ง

4) การจัดอันดับความน่าสนใจในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานจากบริษัท CMS ที่ได้เผยแพร่ดัชนีโครงสร้างพื้นฐาน ประจำปี 2564 โดยดูจากปัจจัยหลัก 6 ด้าน ได้แก่ 1) สถานะทางเศรษฐกิจ 2) ความยั่งยืนและนวัตกรรม 3) สภาพแวดล้อมด้านภาษี 4) ความมั่นคงทางการเมือง 5) ความสะดวกในการทำธุรกิจ และ 6) การมีส่วนร่วมของภาคเอกชน พบว่าสิงคโปร์มีความน่าสนใจในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นอันดับ 1 ของโลก มาเลเซีย อันดับที่ 29 ไทย อันดับที่ 32 อินโดนีเซีย อันดับที่ 33 เวียดนาม อันดับที่ 40 ฟิลิปปินส์ อันดับที่ 42 และกัมพูชา อันดับที่ 47

อย่างไรก็ตาม ประเทศกลุ่มอาเซียนและ CLMVT ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประเทศ Emerging Market รวมไปถึง Frontier Market อย่างเวียดนาม ดังนั้นจึงแนะนำให้ลงทุนในกลุ่มนี้โดยมีร่วมกับกองทุนอื่นใน Emerging Market รวมกันไม่เกิน 20-30% หรือตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของแต่ละคน

รู้จักกลุ่มประเทศอาเซียน, CLMVT และ MSCI AC ASEAN INDEX

กองทุนใดบ้างที่ลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน และ CLMVT?

กลุ่มประเทศอาเซียน

กลุ่ม CLMVT

เด็กการเงิน DekFinance

ที่มาบทความ: https://www.facebook.com/DekFinance101/posts/281684797182324


คำเตือน

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | กองทุนอาจลงทุนกระจุกตัวในหมวดอุตสาหกรรมและประเทศที่ลงทุน จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน | สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE “@FINNOMENAPORT”