1 Fight 1 “ลดดอกเบี้ย” VS “เศรษฐกิจถดถอย”

ตั้งแต่ไตรมาสที่สองมาจนถึงปัจจุบัน ตลาดการเงินแทบไม่ต่างกับการเชียร์มวยคู่หยุดโลก

ระหว่างมุมน้ำเงิน “การลดดอกเบี้ย” กับมุมแดง “เศรษฐกิจถดถอย” ที่ต่างแลกหมัดกันอย่างรวดเร็วและรุนแรง

ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวง เพราะมีสินทรัพย์แทบทั้งตลาดเป็นเดิมพัน

มุมน้ำเงินออกนำก่อนในช่วงแรก โดยใช้หมัดแย็บ “หยุดขึ้นดอกเบี้ย”

ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้น 5.2% จากสิ้นไตรมาสแรกเพียงแค่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด บอกกับตลาดว่าดอกเบี้ยขาขึ้นจบลงแล้ว

แต่มุมแดงก็ไม่ยอมแพ้ รัวทวีตตีตื้นด้วยภาษีการค้า ฉุดดัชนีปรับตัวกลับลงมาถึง 6.8% ภายในหนึ่งเดือน

ยกต่อมามุมน้ำเงินเร่งเกมส์ หวังน็อคให้ได้ เสยอัพเปอร์คัท “ลดดอกเบี้ย 0.25%” หมัดเด็ดนี้ดึงตลาดให้กลับมาบวก 10.2% ภายในสองเดือน กดมุมแดงให้ล้มนับแปด

แต่ความกังวลเศรษฐกิจถดถอยก็ไม่หายไปง่ายๆ หนุนให้มุมแดงลุกกลับขึ้นมาสู้ต่อ

ล่าสุด ฝ่ายน้ำเงินกลับเริ่มหมดแรง ถูกสวนด้วยหมัดชุดจนดัชนีโซเซลดลงไป 6.2%

ถึงปัจจุบัน ทั้งตลาดเชื่อแล้วว่าสังเวียนการเงินครั้งนี้ไม่จบลงง่ายๆ คุ้มค่าที่จะทำความเข้าใจไสตน์ของนักชกทั้งสองฝั่ง ประเมินโอกาสจะชนะ รวมไปถึงผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดกับตลาดทุน

เริ่มด้วย มุมน้ำเงิน “ลดดอกเบี้ย” ศิษย์ธนาคารกลาง ทั้งก่อนชกและปัจจุบัน มีโอกาสเกิดสูงมาก และถ้าชนะจะเป็นบวกกับสินทรัพย์ทางการเงินแทบทุกอย่าง

ในปัจจุบันโอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ยเดือนกันยายนอยู่ที่ 100%

หมายความว่าเราต้องได้เห็นดอกเบี้ยสหรัฐฯ ลดลง “อีกครั้ง” เป็นอย่างน้อย และถ้าประมาณผ่านบอนด์ยีลด์ ตลาดก็หวังว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยในรอบนี้ได้อีก 0.75% จากระดับปัจจุบัน

การลดดอกเบี้ยในช่วง 30ปีที่ผ่านมา มีทั้งหมด 4 ช่วงหลัก คือปี 1988-92, 1995-98, 2001-02 และ 2007-08 ผลที่เคยเกิดขึ้น คือทั้งบอนด์และหุ้นทั่วโลกสามารถปรับตัวบวกขึ้น 4-6% โดยเฉลี่ย มีเพียงเงินสดเท่านั้นที่ให้ผลตอบแทนต่ำ (ทั้งดอลลาร์และบาท)

และถ้าการลดดอกเบี้ย ไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมภาวะ recession การลงทุนในสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets หรือ EM) ก็มักปรับตัวขึ้นได้ราว 10-30%

แปลว่านโยบายการเงินยัง “เป็นต่อ” และถูกมองว่า “มีโอกาสชนะสูง”

แต่ฝั่งนี้เป็นมวยเน้นทักษะ ชกตามทฤษฎี และถ้าคิดว่าชนะแน่ (เศรษฐกิจดี) ก็อาจติดประมาท ไม่ไล่ต่อ มีความเป็นไปได้ที่จะแค่ชนะคะแนน ไม่สามารถน็อคความเสี่ยง recession ได้อย่างที่ตลาดหวัง

ฝั่งมุมแดง “ถดถอย” โดนัลด์ทรัมป์ยิม แม้โอกาสเกิดไม่มาก แต่ก็ดูจะมีหมัดเด็ดให้ตลาดเซอร์ไพรซ์ในทุกยก

ความแตกต่างที่ชัดเจน คือก่อนหน้านี้ตลาดไม่เชื่อเลยว่าเศรษฐกิจมีโอกาสถดถอย

เห็นได้จากช่วงที่ทรัมป์เข้ามารับตำแหน่งปี 2016 ความน่าจะเป็นในการเกิด U.S. Recession อยู่ในระดับต่ำเพียง 3% (ประมาณการณ์โดยเฟดนิวยอร์ค) แม้นานวัน การค้าจะทวีความรุนแรง เศรษฐกิจหลายที่ในโลกเริ่มหดตัว แต่โอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอยในอีก 12เดือนข้างหน้าก็ต่ำเพียง 32% ถือเป็น “มวยรอง” ที่มีโอกาสเกิดน้อยกว่าการลดดอกเบี้ย

อย่างไรก็ดี Recession เป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ เหมือนมวยวัด หมัดหนัก ที่ไม่มีอะไรจะเสีย ยิ่งถ้ารู้สึกแพ้ก็จะพุ่งเข้าใส่แบบเต็มตัว

ในอดีต U.S. recession ที่เกี่ยวกับตลาดการเงินไทยจะมีทั้งหมด 3 ช่วง คือปี 1991-92, 2001 และ 2008-09 ผลกระทบคือหุ้นทั่วโลกจะปรับตัวลงเฉลี่ยถึง 28-32% พร้อมกับสกุลเงิน EM ที่อ่อนค่า 5-10% มีเพียงบอนด์ที่บวกได้ในกรอบ 0-5% เนื่องจากมักมีการลดดอกเบี้ยเข้ามาประคอง

ดังนั้น เมื่อประเมินจากโอกาสและสไตล์การชก ผมยังเชื่อว่า “นโยบายการเงินจะชนะคะแนน” ในศึกนี้

แม้ระยะสั้นตลาดจะผันผวน แต่ถ้าเฟดไม่รีบร้อนก็สามารถลดดอกเบี้ย สวนกับความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยได้เรื่อยๆ ด้วยความเร่งในปัจจุบัน ดอกเบี้ยมีเพียงพอที่จะประคองตลาดได้ถึงปี 2020 หรือก่อนเลือกตั้งประธานาธิปดีใหม่ในสหรัฐฯ ถ้าสงครามการค้าไม่เกินไปกว่าการตั้งกำแพงภาษี ก็ยังยากที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในทันที

แต่สิ่งที่ผมอยากฝากไว้ เพียงแค่เราต้องไม่ตั้งอยู่ในความประมาท

แม้ผลมวยแมตช์นี้อาจเป็นไปตามที่หวัง แต่เราก็ต้องเตือนตัวเองไว้ด้วยว่า ยังมีกรณีเลวร้ายที่อาจเกิดหลังเกมส์

ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกของคนดู ที่ถูกใจหรือไม่ถูกใจกับผล

การรีแมตช์เร็ว หรือ Recession กลับมาเกิดตามหลัง ขณะที่ดอกเบี้ยลดหมดไปแล้ว

ซึ่งอาจเกิดถ้าสงครามการค้าลุกลามไปเกินกว่าแค่กับจีน

เพราะมวยหลายคู่ก็ไม่ได้จบลงแค่การชูเข็มขัดแชมป์

คู่หยุดโลกนี้อาจเป็นการเริ่มต้นของ “ดราม่าหลังเกมส์” ได้เช่นกัน

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์