new-years-resolution-finance

ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาหลายท่านคงออกมาตั้ง New Year’s Resolution หรือรายการของความตั้งใจและสัญญากับตนเองว่าจะทำอะไรให้สำเร็จในปีนี้ โดยในด้านการเงินผมเห็นหลากหลายแนวคิดในการวางแผน “ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้” กันเยอะ คำถามที่น่าสนใจก็คือ “ควรตั้งเป้าไปเลยไหมว่าจะทำอย่างไรดีกับเงินที่ได้มา” หรือ “มีอะไรที่ควรทำหรือไม่ควรทำในปี 2017” เพื่อให้เรามีมุมมองรอบด้านผมจึงรวบรวมแนวคิด New Year’s Resolution ดีดีจากคอลัมนิสต์ทั่วโลกการเงินมาฝากครับ เผื่อว่าใครจะเอาไปเป็น New Year’s Resolution ของตัวเองได้ในปีนี้

เริ่มด้วย Ken Fisher ผู้ก่อตั้ง Fisher Investments แนะนำตั้งเป้า “spoil your grandchildren” บอกว่าปีนี้จะเป็นอีกปีที่ดอกเบี้ยต่ำและควรใช้เงิน โดยเขาจะเจรจาต่อรองกับธนาคารเพื่อให้ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปอีกในปีนี้และจะใช้เงินฟุ่มเฟือยไปกับการเลี้ยงดูหลาน ๆ ด้านการลงทุนแนะนำซื้ออสังหาริมทรัพย์และหุ้นธนาคารในอิตาลี

iicgbank-index

ธนาคารอิตาลียังคงถูกรุมเร้าด้วยข่าวร้าย (ที่มา: Bloomberg)

เช่นเดียวกันกับ David Stevenson เจ้าของคอลัมน์ Adventurous Investor ออกโรงแนะนำ “take a punt on a property in Europe” มองว่าอสังหาริมทรัพย์ในยุโรปน่าสนใจมาก ยกตัวอย่างว่าเขาเองพึ่งไปขอปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารฝรั่งเศสแห่งหนึ่งมา ปรากฏว่าได้รับเทอมเป็นการกู้ดอกเบี้ยคงที่ 2% ไปอีก 20ปี! คำนวณกลับแล้วสามารถซื้อห้องพักราคาประมาณหนึ่งแสนปอนด์ (4.3 ล้านบาท) แล้วปล่อยเช่าเดือนละ 530 ปอนด์ (2.2 หมื่นบาท) ได้โดยไม่ขาดทุน

euro-reit-index

อสังหาริมทรัพย์ในยุโรปเริ่มฟื้นตัว (ที่มา: Bloomberg)

ร้ายไปกว่านั้น Martin Wolf หัวหน้านักวิเคราะห์เศรษฐกิจของ Financial Times ชวนตั้งเป้า “cashing in your final salary pension” หรือให้เอาเงินบำนาญออกมาใช้ซะ จะลงทุนหรืออะไรก็ได้ โดยให้ความเห็นว่าปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยต่ำเกินไปและการเก็บเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเสมือนการลงทุนในสินทรัพย์ที่เกินมูลค่า และยังกล่าวติดตลกว่าความเสี่ยงของการทำแบบนี้มีเพียงแค่อายุที่อาจจะยืนยาวเกินไปถึง 100 ปี ถ้าอย่างนั้นก็อาจหมดตัวได้

30-years

ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30ปี (ที่มา: Bloomberg, 10 ม.ค. 17)

ขณะที่ Gavin Oldham ผู้ก่อตั้ง Share Radio ชี้ว่าควร “prepare for a rate rise” ไว้บ้าง ไม่ควรทิ้งเงินกู้ที่จะสร้างภาระดอกเบี้ยเพิ่มเติม (เช่นเงินกู้ดอกเบี้ยลอยตัว) และควรรอจังหวะเพิ่มการออมเมื่อดอกเบี้ยขึ้น

ส่วนจะลงทุนอะไรดี Matthew Vincent ให้มุมมองในคอลัมน์ New Lombard ว่าปีนี้ควรตั้งเป้า “invest less like a numpty” ไม่ทิ้งเงินไปกับการลงทุนครองจักรวาลแบบไม่คิด (เช่นกองทุนหุ้นเติบโตสูงทั่วโลก) และจะเลือกลงทุนแบบเจาะจงในตลาดเกิดใหม่เช่นบราซิล รัสเซีย โปแลน หรือตุรกีที่หุ้นราคาไม่แพง ขณะที่จะลงทุนในกองทุนโครงสร้างฟื้นฐานตามกระแสการลงทุนโลกที่ประธานาธิปดีคนใหม่ของอเมริกาคุยโวไว้

สวนทางกับ Terry Smith ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Fundsmith ที่ให้สัญญากับตัวเองว่าปีนี้เขาจะไม่เชื่อนักวิเคราะห์อีกต่อไป (don’t get hung up on predictions) เนื่องจากเจ็บมามากในปีที่ผ่านมาทั้ง Brexit และการเลือกตั้งในอเมริกา โดยแนะให้เลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์ที่อาจขาดทุนหนักถ้าผิดทางและลงทุนโดยมองข้ามเหตุการณ์ที่ “เดาไม่ได้” เหล่านั้น

ในส่วนของผม มองว่าสิ่งที่ทุกคนน่าจะให้ความสนใจมากขึ้นในปีนี้คือ “มองหาผู้แนะนำทางการเงินให้ตัวเองสักคนครับ” สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปมากเมื่อมองย้อนกลับไปในปีที่ผ่านมาคือ เศรษฐกิจและเทรนด์การลงทุนที่เปลี่ยนรวดเร็วขึ้นมาก ขณะที่ข้อลดหย่อนทางภาษีที่มีหลายหลายขึ้นมากเช่นกัน ส่วนตัวผมเองถ้าถามว่าปีที่แล้วลงทุนอะไรหรือมีการปรับเรื่องภาษีอะไรไปบ้าง ผมจำไม่ได้หมดจนต้องกลับไปดูโน๊ตที่จดไว้เลยครับ

เชื่อว่าปีนี้คงเป็นอีกปีที่ตลาดการเงินโลกผันผวนและรัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการปรับสมดุลภาษี ไม่ง่ายที่คนนอกตลาดจะรู้ว่าควรทำอะไรเมื่อไหร่บ้าง ผมจึงเชื่อว่าผู้แนะนำทางการเงินน่าจะเป็นตัวช่วยสำคัญในปีนี้ครับ ส่วนในด้านการลงทุน ผมมองว่าปีนี้จะเป็นปีที่ควรหลีกเลี่ยงการลงทุนในบอนด์เป็นพิเศษเนื่องจากเทรนดอกเบี้ยขาขึ้นครับ

หวังว่าทุกคนจะสามารถทำตาม New Year’s Resolution ปีนี้ได้อย่างที่หวังนะครับ

ที่มาบทความ : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์รู้ทันโลกการเงิน วันที่ 11 ม.ค. 2017