ความจริงในปี 2018 และจินตนาการในปี 2019

“จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” คือวลีอันอมตะที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ในโลกการเงิน ภาพจินตนาการของเศรษฐกิจรายปีก็สำคัญไม่แพ้กัน 

เมื่อช่วงปลายปีเวียนมาถึง นักวิเคราะห์อย่างผมก็มีหน้าที่ที่จะต้องสรุปความรู้จากปี 2018 รวมถึงจินตนาการสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจและตลาดการเงินทั่วโลกในปี 2019 ให้พร้อมที่จะแชร์กับทุกคน

ความจริงในปี 2018 และจินตนาการในปี 2019

สิ่งที่เรารู้แล้วก็คือปี 2018 เป็นปีที่ “ท่าดีทีเหลว” 

ปี 2018 กลายเป็นปีที่ความเสี่ยงเดิมอย่างความเข้มงวดของนโยบายการเงินหรือการเมืองที่ผันผวน กลับสร้างแรงกดดันในตลาดได้ เศรษฐกิจเล็กๆ ที่ใช้ดอลลาร์เป็นต้นทุนพบวิกฤติค่าเงิน ความเสี่ยงใหม่อย่างสงครามการค้าก็ทำให้อารมณ์ตลาดที่เหลืออยู่เสียไป และสุดท้ายเศรษฐกิจทั่วโลกจบที่การชะลอตัวลง มีเพียงสหรัฐเท่านั้นที่ยังไปต่อเพราะมีนโยบายภาษีเข้ามาช่วย สิ่งที่นักลงทุนจำคือ“ต้องระวังตัวอยู่เสมอและพร้อมกับเรื่องเซอร์ไพรซ์” สิ่งที่เหลือทิ้งไว้ในตลาดคือความหวังที่ไม่สูง ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ จินตนาการเศรษฐกิจปี 2019 จึงต้องให้ทิศทางที่ชัดเจน

มองแบบตรงไปตรงมา เศรษฐกิจสหรัฐจะ “คืนสู่สามัญ” ถ้าไร้การกระตุ้นเพิ่ม

สืบเนื่องจากที่พรรคริพับลิกันเสียเสียงข้างมากในรัฐสภาไปแล้ว แนวโน้มการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงมีโอกาสติดขัด ผลที่จะตามมาก็คือการเติบโตของเศรษฐกิจที่ร้อนแรงระดับ 3% ในปีนี้จะไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืน สวนทางกับเฟดที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่ออย่างน้อย 0.75% สิ่งที่ตามมาคือตลาดทุนสหรัฐที่ไม่พุ่งแรงแซงเพื่อนอย่างปีนี้ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจสหรัฐก็ยังเด่นที่กระตุ้นง่ายที่สุด เพราะผู้บริโภคยังมีความมั่นใจสูง ถ้าสงครามการค้าจบเร็ว หรือมีมาตราการภาษีใหม่ ตลาดก็อาจวิ่งรับข่าวได้ทันที

ที่ดูยากกว่าก็คือยุโรป ที่ไม่ว่าจะจินตนาการอย่างไรก็ดูมีปัญหา

ตลาดยุโรปปีหน้ายังปกคลุมไปด้วยเรื่อง Brexit การใช้งบประมาณที่ไม่สมดุลในอิตาลี หนี้เสียในภาคธนาคาร รวมไปถึงความตึงเครียดทางการค้าโลก มุมมองที่เป็นธรรมที่สุด คือจีดีพียุโรปอาจขยายตัวเพียงราว 1.7% ตัวช่วยในยุโรปเหลือเพียงธนาคารกลางที่พร้อมอุ้มทุกประเทศที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจ อีกทั้งช่วงตุลาคมก็จะหมดวาระของประธานธนาคารกลางยุโรป การขึ้นดอกเบี้ยจึงไม่น่าจะเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น เรียกว่า “ไม่โตแต่ก็ไม่ตาย” 

ข้ามมาฝั่งเอเชีย ดีที่สุดคือเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เป็นช่วง “ฟ้าหลังฝน”

ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ญี่ปุ่น เจอทั้งแผ่นดินไหว คลื่นความร้อน และภายุกระหน่ำ จนทำให้ศรษฐกิจหยุดชะงัก ปีหน้าจึงควรเป็นปีที่มีโอกาสเร่งตัวกลับจากการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน แม้เดือนตุลาคมจะมีการปรับภาษีบริโภคขึ้น (จาก 8% เป็น 10%) แต่ในอดีตทั้งในปี 1997 และปี 2014 ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง อีกทั้งครั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นก็มีมาตราการทางภาษีอื่นๆเข้ามาช่วงพยุงรายไปพร้อมกัน ปีหน้าจึงอาจเป็นปีที่เราเห็นเศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับมาโตได้ใกล้เคียง 2.0% หนุนให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนขยายตัวได้ 8-10%

ที่ต้องอาศัยจินตนาการมากที่สุด คือเศรษฐกิจจีนที่ต้องก้าวข้ามมรสุมทั้งในและนอกประเทศ

การตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐกับสินค้าจีนทั้งหมดที่ระดับ 25% ในปีหน้าจะส่งผลให้เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงราว 0.8% ซ้ำกันกับเศรษฐกิจในประเทศที่กำลังชะลอตัวลงทั้งในฝั่งสินเชื่อและอสังหาริมทรัพย์ การขยายตัวของจีดีพีทั้งปีของจีนจะเหลือเพียง 6% ในปีหน้า ทางรอดของจีนคือภาครัฐต้องช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งจากดอกเบี้ยและภาษีแต่ต้องคุมให้ค่าเงินไม่อ่อนค่า ไม้เด็ดของจีนจะอยู่ที่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและเปิดรับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นเร็วก็จะลดความกังวลและพลิกทิศทางของเศรษฐกิจจีนให้ฟื้นตัวกลับมา

สุดท้ายกลับเข้ามาในฝั่งไทย ความน่าสนใจจะอยู่ที่การเลือกตั้งและความต่อเนื่องของทิศทางเศรษฐกิจ

การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระดับ 4% ถือว่าไม่แย่ แต่อยู่ที่เราจะรักษาการเติบโตไว้ได้ไหม สิ่งที่ตลาดจะไม่วางใจในปีหน้าก็คือการเลือกตั้งที่น่าคาดเดาได้ยาก อย่างไรก็ตาม ถ้าการเลือกตั้งเกิดขึ้นและผลการเลือกได้รับการยอมรับ ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่ตามมาก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่หนุนให้ตลาดทุนไทย และเมื่อไหร่ที่นักลงทุนต่างชาติวางใจและกลับเข้าลงทุนในไทย ตลาดทุนก็จะสามารถก้าวผ่านความผันผวนในปีหน้าไปได้เช่นกัน

การมองภาพปี 2019 ต้องใช้จินตนาการมากมาย สื่อเป็นนัยว่าตลาดทุนจะเริ่มต้นปีอย่างระมัดระวัง แต่เมื่อความคาดหวังไม่สูง โอกาสที่จะเจอผลตอบแทนที่เหมาะสมก็จะมีไม่น้อยเช่นกัน

iran-israel-war