“ฉากเปิดตัว” สามแบบของตลาดการเงินหลังวิกฤติโควิดที่นักลงทุนต้องเตรียมพร้อม

ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ผมให้มุมมอง “ฉากจบ” ของวิกฤตโคโรนาไวรัสกับตลาดการเงินไว้สี่แบบ จากวันนั้นถึงวันนี้ ความกลัวโคโรนาไวรัสผ่อนคลายลงมากแต่ตลาดการเงินกลับเคลื่อนไหวในแบบ K Shape โดยมีการฟื้นตัวของกลุ่มสินทรัพย์เติบโตสูง (Growth) เป็นผู้นำ สวนทางกับการลงทุนเน้นมูลค่า (Value) ที่ยังจมอยู่ก้นเหว รอการกลับมากิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเดิม

ครั้งนี้ ผมจึงชวนมองภาพ “ฉากเปิดตัว” ของตลาดการเงินหลังวิกฤตโคโรนาไวรัส รับไตรมาสที่สี่ โดยเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เป็นไปได้มีด้วยกัน “สามกรณี”

ดีที่สุด คือวัคซีนมาเร็วตั้งแต่ไตรมาสนี้ ส่งผลให้ทุกอย่างฟื้นกลับมาได้ตั้งแต่ต้นปี 2021

กรณีนี้ถือว่าดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ ซึ่งจะเกิดได้ด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุขทั่วโลก โอกาสเกิดมีอยู่ราว 20%

ความเร็วของวัคซีนจะหนุนให้ทั้งเศรษฐกิจแบบเก่าที่ได้รับผลกระทบจากโควิดสามารถกลับมาทำกิจกรรมแบบเดิม ๆ ได้เร็ว การจ้างงานเกิดขึ้นต่อเนื่อง กรณีนี้การลงทุนในสินทรัพย์วัฏจักร (Cyclical) เช่นในทวีปยุโรปหรือญี่ปุ่น ไปจนถึงกลุ่ม Value จะน่าสนใจที่สุด

ส่วนสินทรัพย์ที่ถูกเลือกเป็นหลุมหลบภัย (Safe Haven) ในช่วงวิกฤติเช่นทองคำหรือเงินดอลลาร์อาจถูกขาย เพราะเมื่อไม่มีความกลัวไวรัส การลงทุนเหล่านี้ก็จะถูกลดความสำคัญลงอย่างเลี่ยงไม่ได้

ส่วนเหตุการณ์ที่ตลาดเชื่อว่าจะเกิดคือ “เรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกับไวรัส”

เนื่องจากยาต้านไวรัสอาจถูกพัฒนาสำเร็จเร็วที่สุดในช่วงกลางปี 2021

ในภาวะเช่นนี้ เศรษฐกิจและตลาดการเงินจะต้องดำเนินไปอย่างผสมผสาน เพราะข้อเสีย คือตลาดแรงงานทั่วโลกจะไม่กลับมาที่จุดเดิม หลายธุรกิจที่ต้องเลิกหรือเปลี่ยนกิจกรรมไปจากเดิม

แม้เราจะหวังได้ว่าภาครัฐทั่วโลกคงมีนโยบายการคลังหรือการเงินมาสนับสนุน แต่ด้วยระยะการกระตุ้นเศรษฐกิจที่นาน แรงต้านจากคนไม่เห็นด้วยกับการขาดดุลจะเพิ่มขึ้นจนสร้างความเสี่ยงด้านภาษี

ในเหตุการณ์นี้ การลงทุนที่มีจุดเด่นเฉพาะตัวอย่างเช่นหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐ หรือจีนจะได้รับความนิยมมาที่สุด ตรงข้ามกับตรารหนี้ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Markets) ที่ต้องระวัง เพราะยิ่งยาต้านไวรัสมาช้า กลุ่มธุรกิจที่ล้มหายตายจากก็จะมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ส่วนเหตุการณ์ที่ถือเป็นกรณีที่แย่ที่สุดคือ “บางประเทศต้องกลับไปล็อคดาวน์อีกครั้ง”

กรณีนี้คงเป็นสิ่งที่คนทั้งโลกไม่อยากให้เกิด แต่อาจเลี่ยงไม่ได้ถ้าการพัฒนายาต้านไวรัสไม่มีความคืบหน้า แต่ความกังวลเรื่องระบาดทั่วโลกกลับมาอีกครั้งในช่วงปลายปี

ความเป็นไปได้อาจมีน้อยกว่า 10% แต่ถ้าเกิดขึ้น จะกดดันให้แรงงานที่เคยถูกจ้างชั่วคราวต้องกลับไปตกงานใหม่ และทุกคนคงต้องยอมรับความจริงว่าเศรษฐกิจแบบเดิม ๆ ไม่กลับมาแล้ว

ในกรณีนี้ แม้เทคโนโลยีจะหนุนให้เราก้าวผ่านความยากลำบากครั้งนี้ได้ดีกว่าอดีต แต่รายได้ของคนทั่วไปไม่มีทางฟื้นตัวตามทัน หุ้นทั่วโลกจึงอาจปรับฐานลงได้ 10-15% และสินทรัพย์ทางเลือกอย่างทองคำ หรือสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างเงินดอลลาร์ จะวิ่งกลับไปทดสอบจุดดสูงสุดใหม่อย่างรวดเร็ว

และนั่นก็คือ “ฉากเปิดตัว” ทั้งสามแบบของตลาดการเงินหลังวิกฤตโคโรนาไวรัส

จากนี้ไปจึงควรจับตาดูทิศทางของดัชนีหลักไม่ว่าจะเป็น หุ้นสหรัฐ จีน ยุโรป ญี่ปุ่น และทองคำให้ดี เพราะสินทรัพย์เหล่านี้จะค่อย ๆ ส่งสัญญาณบอกเราว่าตลาดกำลังเชื่อในฉากแรกในแบบไหน

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นผมมองว่าสิ่งที่เหมือนกันในทั้งสามกรณีคือ (1) ทิศทางของ Globalization ที่ต้องลดบทบาทลง ทำให้การส่งออกไม่กลับมา (2) ความไม่เท่าเทียมที่สูงขึ้นที่จะไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองในหลายประเทศ แต่ (3) นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงิน (MMT) หรือช่วยซื้อสินทรัพย์เสี่ยง (QE) กลายเป็นนโยบายกระแสหลัก

ผมจึงมีความเชื่อมั่นและมองโลกในแง่บวกกับตลาดการเงินหลังวิกฤติครั้งนี้มากกว่าครั้งอื่น ๆ  เพราะ

“เป็นปรกติที่หลังวิกฤตจะมีสิ่งที่เราไม่รู้รออยู่อีกมาก แต่แทบไม่มีฉากแรกหลังวิกฤติครั้งไหน ที่นโยบายการเงินและนโยบายการคลังแบบสุดโต่ง จะได้รับการยอมรับมากเท่าครั้งนี้เช่นกัน ดังนั้นแม้จะเป็นฉากที่แย่ที่สุด ก็อาจไม่ได้แย่เท่ากับที่หลายคนคิด”

แค่เรามีสติ รู้ให้ทันว่าสินทรัพย์ไหนกำลังบอกอะไรเราอยู่ ก็ถือว่าพร้อมเริ่มต้นไปกับรอบใหม่ของตลาดการเงินครั้งนี้แล้ว และอย่าลืม “ปรับพอร์ต” เมื่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มาถึงด้วยนะครับ

“ฉากเปิดตัว” สามแบบของตลาดการเงินหลังวิกฤติโควิดที่นักลงทุนต้องเตรียมพร้อม

คาดการณ์ฉากเปิดตัวสามแบบของตลาดการเงินหลังวิกฤติโควิด-19
ที่มา: Chief Investment Office, SCB Securities

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์