กฎมีไว้แหก! 5 ความสัมพันธ์ของตลาดการเงินและเศรษฐกิจที่อาจแตกในปี 2023

ช่วงที่ความไม่แน่นอนมีมากมายในตลาดแต่ราคาสินทรัพย์ทางการเงินส่วนใหญ่กลับไม่เปลี่ยนแปลง ความผันผวนปรับตัวลดลง มักเป็นเวลาเหมาะสมที่นักลงทุนจะตั้งคำถามว่านี่คือ “คลื่นลมสงบก่อนเกิดพายุใหญ่” หรือ “แค่คลื่นรบกวนแต่ไม่ได้เป็นสาระสำคัญ”

สำหรับตลาดการเงิน ความแน่นอนมีอยู่เรื่องเดียวคือไม่มีใครที่จะหยั่งรู้อนาคต

แต่ถ้าอดีตสามารถบอกอะไรเราได้บ้าง การเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้มักเกิดจาก “กฎหรือความสัมพันธ์” ของเศรษฐกิจและตลาดการเงินกำลังผิดไปจากประวัติศาสตร์

กฎข้อแรก “บอนด์ยีลด์กลับทิศ” จะตามมาด้วยเศรษฐกิจถดถอยในไม่เกิน 18 เดือน

กลับทิศในที่นี้ผมหมายถึงการที่ยีลด์ระยะสั้นสูงกว่ายีลด์ระยะยาวหรือ Inverted  Yield Curve (IYC)

ตั้งแต่ปี 1950 กฎข้อนี้ทำนายเศรษฐกิจถดถอยถูกทุกครั้ง โดยเฉลี่ยเศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยภายใน 17-19 เดือนจากการกลับทิศเดือนแรก

รอบนี้ยีลด์ระยะยาว (10ปี) ต่ำกว่าระยะสั้น (2ปี) ตั้งแต่มีนาคม 2022 ดังนั้นเดือนสิงหาคมถึงกันยายนจึงเป็นช่วงที่ต้องจับตามากที่สุด

อย่างไรก็ดี การทำนายเศรษฐกิจถดถอยนั้นมักถูกต้องเสมอถ้าตลาดรอได้นานพอ เช่นในปี 1965 เศรษฐกิจถดถอยเกิดหลังยีลด์กลับทิศนานถึง 48 เดือน!

สำหรับครั้งนี้ผมมองว่า IYC เกิดด้วยเหตุผลอื่นไม่ใช่ภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เป็นไปได้สูงที่กฎข้อนี้อาจไม่จริงเป็นอย่างแรก

กฎข้อสอง ดอกเบี้ยขาขึ้นจะจบด้วยวิกฤติทางการเงิน

ย้อนกลับไปในอดีตที่ใกล้ที่สุด 40 ปี กฎข้อนี้เป็นจริงเสมอ เพราะมีทั้ง Great Financial Crisis ปี 2008 Dot Com ปี 2000 Asian Crisis ปี 1997 ไปจนถึง S&L Crisis ปี 1986 ทั้งหมดล้วนมีดอกเบี้ยขาขึ้นที่สูงเกินกว่า 5% เป็นองค์ประกอบของวิกฤติ

ครั้งนี้เริ่มเห็นวิกฤติภาคการธนาคารจากการไหลออกของเงินฝาก แต่ปัญหานี้อาจไม่ลามไปเป็นวิกฤติเพราะความแตกต่างเรื่องการใช้ตราสารทางการเงินที่น้อย โครงสร้างเศรษฐกิจอยู่บนธุรกิจที่ไม่ต้องพึ่งการกู้ยืม ขณะที่การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real residential investment) ต่อจีดีพีก็เหลือเพียง 2-3% จากในอดีตก่อน GFC ที่ราว 5-8% นี่เป็นกฏที่อาจแตกเป็นข้อสอง

กฎข้อสาม ธนาคารกลางสหรัฐจะไม่ลดดอกเบี้ยในช่วงที่การว่างงานต่ำและเงินเฟ้อสูง

ย้อนกลับไปในอดีต ช่วงการลดดอกเบี้ยที่ใกล้เคียงที่สุดคือปี 2019 และ 2001 อัตราการว่างงานต่ำราว 4% แต่ต้องเงินเฟ้อต่ำติดเป้าหมายที่ 2% ด้วย หรือการลดดอกเบี้ยปี 1970 และ 1987-89 เงินเฟ้อสูง 6-7% เท่าปัจจุบัน แต่การว่างงานก็ต้องสูงเกิน 5%

ครั้งนี้ความแตกต่างอยู่ที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ถ้าไม่นับราคาที่อยู่อาศัยและรถมือสอง ล่าสุดปรับตัวลงและคาดว่าจะกลับมาที่เป้าหมายได้แล้ว ขณะที่รายงานใน Beige Book ก็ชี้เช่นกันว่าการว่างงานที่ต่ำไม่ได้เกิดจากเศรษฐกิจดี แต่มาจากความกังวลกับการหาแรงงานใหม่จนไม่กล้าปลดคนงานต่างหาก

กฎข้อสี่ เพดานหนี้มีไว้ต่อรองแต่จะผ่านได้ด้วยการเพิ่มหนี้ทุกครั้ง

แม้ครั้งที่แย่ที่สุดในปี 2011 จะนำไปสู่การลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ แต่ในทุกครั้งนักการเมืองก็ตกลงกันได้เสมอ

ผมเชื่อว่าครั้งนี้แม้อาจหาทางออกได้ แต่จุดเริ่มต้นมาจากระดับหนี้ต่อจีดีพีที่สูงสุดในประวัติศาสตร์และแทบไม่มีทีท่าที่จะหาทางหยุดการขาดดุลการคลังได้อาจทำให้ปัญหาไม่จบ

เพดานหนี้อาจพัฒนาไปเป็นเกมส์การเมืองเพื่อกดดันพรรค Democrats สำหรับการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2024 ปัญหานี้จึงอาจจบไม่สนิท และเลื่อนข้อตกลงจนเศรษฐกิจสหรัฐต้องเข้าสู่ภาวะถดถอยระยะสั้น เป้าหมายไปจบที่กฎการเมืองอีกข้อว่า ประธานาธิบดีที่บริหารเศรษฐกิจจนถดถอยจะแพ้เลือกตั้งในสมัยหน้า

กฎข้อห้า ตลาดหุ้นจะปรับฐานก่อนเศรษฐกิจถดถอยและจะฟื้นตัวเมื่อเศรษฐกิจแตะจุดต่ำสุด

ในอดีต S&P500 มักทำจุดต่ำสุดก่อนเศรษฐกิจถดถอย การปรับตัวลงมักเกิดขึ้นใกล้กับการเกิด Recession ราว 30-50 วัน โดยเฉลี่ยนจะปรับตัวลงราว 15-20%

แต่ครั้งนี้ ผมมองว่าเป็นไปได้สองกรณี แบบแรกคือไม่สนใจเศรษฐกิจเลยเพราะ หุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ทำให้ตลาดหุ้นไม่ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจสหรัฐเหมือนทุกครั้ง ความต่างนี้อาจทำให้การปรับตัวลงดูเบา และไม่รุนแรงถึงกับเป็นจุดต่ำสุดใหม่

หรือแบบที่สองคือผลพวงจากเศรษฐกิจถดถอย ถึงจะทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมาเช่นวิกฤติภาคการธนาคาร นั่นหมายความว่า Recession อาจเกิดขึ้นก่อน Market Bottom ไม่ใช่ที่ตลาดจะปรับฐานก่อนเหมือนทุกครั้ง

ผมมองว่าความ “คิดต่าง” เหล่านี้เป็นแรงต้านที่ทำให้ตลาดไม่ปรับตัวลงทันที หรือความเสี่ยงอาจถูกเลื่อนออกไปไกลว่าที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพราะตลาดการเงินก็ไม่ต่างจากสังคมที่ “กฎมีไว้แหก” และ “ความสัมพันธ์มีไว้ทำลาย”

ความเชื่อของตลาดและการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบายเปลี่ยนแปลงได้เสมอ และเราจะได้เห็นพร้อมกันจากนี้เป็นต้นไปครับ

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์

iran-israel-war