5 เรื่องที่เราคิดว่าแน่ แต่อาจไม่เป็นไปตามคาดในตลาดการเงินช่วงสิ้นปี 2022

ในโลกการเงิน เรื่องที่เราไม่รู้มักไม่ใช่ความเสี่ยงน่ากลัวที่สุด แต่เป็น “เรื่องที่เราคิดว่ารู้แต่สุดท้ายกลับไม่เป็นไปตามคาด” ที่มักสร้างความเสียหายให้กับพอร์ตลงทุนของเรามากที่สุด เช่น การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มาที่ระดับ 3.25% ในปัจจุบัน ทั้งที่ปลายปี 2021 แทบไม่มีใครเชื่อว่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ถึง 1.0% หรือการที่ทางการจีนยังคง Lockdown อยู่ทั้งที่ตลาดต่างเชื่อว่าจะเปิดประเทศได้ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา หรือสงครามยูเครนรัสเซียแทบไม่มีใครเชื่อว่าจะเกิดได้ แต่ทุกอย่างกลับสวนทางกับสิ่งที่คิด ช่วงท้ายปีนี้ผมจึงลองหา “ห้าเรื่องที่เราคิดว่าแน่แต่อาจไม่เป็นไปตามคาด” ชวนรู้ให้ทันตลาดว่าเรื่องเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร และนักลงทุนเตรียมรับมือได้แบบไหน

1. ตลาดคาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไม่เกิน 5.0% แต่เฟดเลือกที่จะไปไกลว่านั้น

นโยบายการเงินสุดโต่งเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายที่ผมมองว่าเกิดขึ้นได้ง่ายที่สุด

เพราะปัจจุบัน เงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐ (Core PCE) อยู่ที่ 4.9% และสูงกว่า 4.0% ติดต่อกันมาถึง 11 เดือน การที่จะเห็นดอกเบี้ยสูงกว่าเงินเฟ้อตาที่เฟดหวังถ้าไม่เกิดจากเศรษฐกิจถดถอยจนราคาสินค้าปรับฐาน ก็ต้องใช้ดอกเบี้ยที่สูงผิดปกติ

ถ้าเกิดขึ้น ความเสี่ยงคือยีลด์จะปรับตัวขึ้น ราคาบอนด์ลดลง หุ้นปรับฐาน ราคาทองคำย่อตัว แต่แรงกระแทกไม่น่าจะรุนแรงเหมือนต้นปี ผมมองเป็นจุดเริ่มต้นที่จะสะสมบอนด์กลุ่ม Investment Grade กลับเข้ามาในพอร์ต

2. ตลาดเชื่อว่ายุโรปจะรับมือกับปัญหาพลังงานขาดแคลนได้ แต่สุดท้ายกลับหนีไม่พ้นวิกฤติเศรษฐกิจถดถอย

นโยบายที่ยุโรปนำมาใช้ในปัจจุบันคือ ลดการใช้พลังงานช่วงพีคลง 5-10% กำหนดกรอบกำไรของบริษัทผลิตไฟฟ้า และเพิ่มภาษีน้ำมันขึ้น 20% ไปที่ 33%

ความเสี่ยงไม่ได้อยู่ที่ราคาพลังงานจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่ แต่อยู่ที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวมากแค่ไหนจากนโยบายกดดันการบริโภคเหล่านี้

ปัจจุบัน Bloomberg Consensus คาดการณ์เศรษฐกิจยุโรปในไตรมาส 3 แค่จะไม่เติบโต ดังนั้นถ้าเห็นการหดตัวลงทันที อาจสร้างแรงกดดันด้านเศรษฐกิจให้กับตลาดหุ้นยุโรป ยีลด์ทั่วยุโรปจะสูงขึ้นจากความเสี่ยงด้านเครดิต

อย่างไรก็ดี ส่วนตัวผมมองว่าเป็นโอกาสสะสมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทางเลือกในยุโรป ซึ่งคาดว่าจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐไปพร้อมกับวิกฤติด้วยเช่นกัน

3. ตลาดคาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นไม่มีทางขึ้นดอกเบี้ย แต่ BOJ กลับลำเหมือนธนาคารกลางใหญ่อื่น ๆ

เหตุการณ์นี้อาจเกิดขึ้นได้ถ้าเงินเยนอ่อนค่าทะลุ 150 เยนต่อดอลลาร์

ทางเลือกของ BOJ มีมากมายไม่ว่าจะเป็นขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ปรับคาดการณ์ดอกเบี้ย หรือปรับ Yield Curve Control

ถ้านโยบายการเงินของ BOJ เข้มงวดจะส่งแรงกระเพื่อมไปทั่วตลาดบอนด์ ยีลด์ทั่วโลกมีโอกาสปรับตัวขึ้น ส่วนเงินเยนแข็งค่ากลับ 10% จะกดรายได้ของบริษัทญี่ปุ่นลงได้ถึง 6-12%

ผมมองเหตุการณ์นี้จะเป็นลบกับทั้งบอนด์ ดอลลาร์ และหุ้นเอเชีย แต่อาจได้ที่หลบพักเงินกลับมาทั้งเยน หยวน และยูโร

4. ตลาดคาดว่าสหรัฐและจีนแค่ขู่ แต่กลับลายเป็นสงครามการค้ารอบใหม่

แม้ทั้งตลาดมองว่าสหรัฐและจีนไม่สามารถกกลับมาเป็นพันธมิตรกันได้ แต่กลับไม่มีใครคิดว่าแรงกดดันของสองมหาอำนาจจะนำไปสู่สงครามการค้ารอบใหม่

สำหรับผมความเสี่ยงนี้เกิดขึ้นได้ถ้าจีนต้องการตอบโต้สหรัฐหรือมองว่าการเมืองสหรัฐอ่อนแอลง

ถ้าเกิดขึ้น หุ้นทั่วโลกอาจปรับฐานลงทั้งหมด ดอลลาร์จะแข็งค่าระยะสั้นจากตลาดที่ปิดรับความเสี่ยง แต่ธนาคารกลางอาจต้องหยุดขึ้นดอกเบี้ย เงินจะไหลไป Safe Haven เก่าอย่างเงินเยนหรือทองคำ

5. ตลาดมองว่าดอลลาร์ต้องหยุดแข็ง แต่กลับทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่องไปถึงสิ้นปี

เพราะแนวโน้มของดอลลาร์สหรัฐ ถูกขับเคลื่อนด้วยสามปัจจัยหลัก คือทิศทางนโยบายการเงิน เศรษฐกิจสหรัฐเทียบกับทั่วโลก และการเปิดรับความเสี่ยงของตลาด (Risk-On Risk-Off)

ความเสี่ยงนี้เกิดขึ้นได้ในกรณีที่เศรษฐกิจทั่วโลกไม่ฟื้น หรือขึ้นดอกเบี้ยไม่ไหว หรือเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศ EM ขนาดใหญ่

อย่างไรก็ดี ผมเชื่อว่าต่อจากนี้ผลจากดอลลาร์แข็งจะสะท้อนกลับมาสู่เศรษฐกิจสหรัฐ มีแนวโน้มสูงที่จะนำไปสู่การหาข้อตกลงร่วมกัน เช่นเดียวกับ Plaza Accord ในปี 1985

นั่นอาจเป็นโอกาสของสกุลเงินประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐมาก ๆ เช่นจีน แคนาดา หรือเม็กซิโก

ส่วนตัวผมมองว่าเรื่องที่เราคิดว่ารู้แต่สุดท้ายอาจไม่เป็นไปตามคาดเหล่านี้ มีโอกาสเกิดต่ำมาก แต่เมื่อหลายเรื่องในตลาดไม่เป็นไปตามคาดบ่อยครั้งขึ้น ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ

คิดกลยุทธ์รับมือไว้ ถ้าสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นเราก็จะรู้ทัน และพร้อมรับมือกันครับ

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์

iran-israel-war