หลังจาก ChatGPT กลายเป็นกระแสดังไปทั่วโลกเมื่อปลายปีที่แล้วมาถึงปัจจุบัน Artificial Intelligences หรือ AI ก็กลายเป็นธีมการลงทุนที่โดดเด่นที่สุดของปีนี้อย่างไร้คู่แข่ง

นักลงทุนหลายท่าน ตั้งคำถามว่าหุ้นธีม AI ที่ปรับตัวขึ้นนี้เป็นแค่ฟองสบู่ทางการเงิน หรือแนวโน้นเศรษฐกิจครั้งใหม่กันแน่ และถ้าอยากลงทุนกับธีมนี้ ควรวิเคราะห์อย่างไร

ผมจึงหาข้อมูลทั้งฝั่งเศรษฐกิจ และวิเคราะห์การลงทุนปัจจุบัน พบว่า AI มีโอกาสสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ในระดับเดียวกับไฟฟ้าช่วงทศวรรษ 1920s หรือ PC ในทศวรรษ 1990s ทีเดียว

เหตุผลสำคัญคือ AI ในตอนนี้กำลังจะเพิ่มประสิทธิภาพและเปลี่ยนแปลงกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลากหลายด้าน

ที่จริงแล้ว AI ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีงานวิจัยทั่วโลกมากมายที่สรุปว่าการใช้เทคโนโลยีจะสามารถทำให้ประสิทธิภาพในกิจกรรมทางเศรษกิจได้เฉลี่ย 3.0% ต่อปีในทศวรรษนี้ (เช่น Alederucci et.al (2022) Acemoglu et al.(2022) และ Bessen and Righi (2019))

ยิ่งไปกว่านั้น งานวิจัยก็ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าการผสมเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน จะก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ เห็นได้จากจำนวนงานใหม่ทั้งหมดในสหรัฐตั้งแต่ปี 1940 มีสัดส่วนกว่าครึ่งเป็นงานที่ไม่เคยมีมาก่อน (Autor et al. (2022))

แค่สองมุมนี้ ก็เห็นได้ชัดแล้วว่าการที่เทคโนโลยีได้รับการนำไปใช้อย่างแพร่หลายมีโอกาสสูงที่จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้นไปอีก ยิ่งเป็น AI ที่เกิดมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพอยู่แล้ว เมื่อเทคโนโลยีพร้อมตลาดจึงปรับตัวขึ้นรับกับความหวังครั้งใหม่นี้ทันที

อย่างก็ดี เมื่อมองในมุมนักลงทุน คำถามที่สำคัญไม่แพ้การเติบโตคือ มูลค่าหรือ Valuation ไม่เคยถูก

ในอดีต การปฏิวัติเทคโนโลยีด้าน Efficiency ที่ใกล้เคียงที่สุดมีสองช่วง คือการใช้ไฟฟ้าช่วงปี 1920s จำนวนครัวเรือนที่มีไฟฟ้าใช้เพิ่มขึ้นจาก 40% ไปเป็น 80% กับอีกครั้งคือการปฏิวัติเทคโนโลยี PC ที่จำนวนผู้ใช้ทั่วโลกพุ่งขึ้นจาก 25% ไปเป็น 75% ช่วงทศวรรษ 1990s ทั้งสองครั้ง Labor Productivity ในสหรัฐเพิ่มขึ้นปีละ 3-5% ตลอดทศวรรษ

ประสิทธิภาพที่สูงขึ้นนี้ ส่งผลให้ระดับมูลค่าของหุ้นพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว และเกิดเป็นภาวะฟองสบู่

Long-Term P/E ของ S&P 500 ปรับตัวขึ้นจากราว 5-10 เท่า ไปเป็น 35 เท่า ในช่วงปี 1919-1920 ขณะที่ช่วง 1996-2005 ดัชนี S&P 500 ขึ้นไปซื้อขายกันสูงสุดราว 45 เท่าจาก 15-20เท่า ก่อนหน้า

เทียบกับปัจจุบันที่ S&P 500 ระดับ 30เท่า จึงไม่ถูก แค่ไม่ได้อยู่ในระดับที่แพงจนฟองสบู่ต้องแตก ส่วน AI Penetration แม้จะรวดเร็วมาก แต่ยังอยู่ในช่วงตั้งต้น ต้องให้เวลาอีกหลายปีกว่าที่ 70% ของธุรกิจทั่วโลกจะประยุกต์ใช้ AI แค่ต้องลุ้นว่าตลาดจะสามารถรักษาระดับ Valuation ที่สูงขนาดนี้ไว้ได้นานพอไหม

สำหรับนักลงทุน ควรลงทุน AI แบบไหน สำหรับผมจะอยู่ที่เป้าหมายของแต่ละพอร์ตลงทุนเป็นหลัก

ในมุมของ Thematic Investor การลงทุน AI เป็น Secular Growth Theme อย่างไม่ต้องสงสัย กำไรของบริษัท AI มีโอกาสปรับตัวขึ้นจากการเพิ่มประสิทธิภาพด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ (Innovator) หรือวางตัวเป็น Enabler สร้างโครงสร้างด้าน AI ให้กับธุรกิจอื่นในเศรษฐกิจ หรือเป็น Disruptor แย่งส่วนแบ่งตลาดจากธุรกิจเดิมที่ Efficiency ต่ำ ในปัจจุบันการลงทุนจะกระจายตัวใน 3 ทวีปหลัก

กลุ่มแรก เจ้าของเทคโนโลยี AI ในฝั่งอเมริกา

ส่วนใหญ่เป็นบริษัทในกลุ่ม AI Big Data และ Next Generation Internet จุดแข็งของ AI สหรัฐคือการเป็นข้าวของเทคโนโลยี เป็นคนกำหนดทิศทางตลาด ดังนั้นจะเป็นได้ทั้ง Enabler และ Innovator ทำให้มีโอกาสขยายมูลค่าได้มากที่สุด

แต่จุดอ่อนคือ กำไรมักอยู่ในระดับต่ำ ต้องลงทุนมหาศาลต่อเนื่อง และปัจจุบันระดับ Valuation ค่อนข้างแพง ถ้าอยากลงทุนในกลุ่มนี้จึงต้องเน้นจับจังหวะ และระวังพองสบู่แตกให้ดี

กลุ่มต่อมาคือ อุตสาหกรรมผสานเทคโนโลยีฝั่งยุโรป

บริษัทส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ Autonomous Technology เพิ่มประสิทธิภาพของสายพานการผลิตอุตสาหกรรมเดิมด้วย AI จุดเด่นสำคัญคือรายได้ เนื่องจากมักเริ่มต้นกับอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่มีกำไรอยู่แล้ว Valuation จึงมันไม่แพงเมื่อเทียบกับ AI ฝั่งสหรัฐ

แต่จุดอ่อนหลัก ชัดเจนว่าการพัฒนาเทคโนโลยีมักจำกัดเฉพาะบางอุตสาหกรรม ทำให้ไม่มีโอกาสที่จะเป็น Enabler ให้กับธุรกิจอื่นได้ ดังนั้นถ้าจะลงทุนในกลุ่มนี้ต้องเน้นไปที่ผู้ประกอบการที่มีแบรนด์แข็งแกร่ง สร้างรายได้ทั่วโลกด้วยการใช้ AI เป็นส่วนเสริมในสายพานการผลิต

กลุ่มสุดท้าย AI ในเอเชีย ต้องใช้จุดเด่นเรื่องลูกค้าเป็นสำคัญ

แม้จะไม่มีปัญหาเรื่องเงินลงทุน แต่ผู้ประกอบการด้าน Tech ในเอเชียมักมีปัญหาเรื่องกฎเกณฑ์การเข้าถึงข้อมูล และภาษาที่แตกต่างกัน มักไม่สามารถพัฒนาไปเป็น Innovator หรือสร้างมาตรฐานระดับโลกได้เหมือนในสหรัฐ

อย่างไรก็ดี ปัญหาดังกล่าวทำให้ AI ในเอเชียจะไม่แพงในเชิงเปรียบเทียบ สามารถลงทุนได้ในระยะยาว นักลงทุนเพียงต้องเน้นไปที่ Tech ใหญ่ที่เป็น Enabler ให้กับบริษัทเล็กเพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้มากที่สุด หรือ Disruptor ที่สามารถเอาชนะเจ้าตลาดเดิมได้ด้วย Efficiency ที่สูงกว่า

โดยสรุป ผมมองว่า AI จะเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกแน่นอน แต่จะเปลี่ยนพอร์ตลงทุนของเราหรือไม่ อยู่ที่เราเลือกลงทุน AI แบบไหนครับ

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์

iran-israel-war