Bond Connect เตรียมเขย่าบอนด์ยีลด์ทุกสถาบัน

ในวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา ตราสารหนี้จีนกลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์อีกครั้งหลังจากที่ทางการจีนประกาศเริ่มให้นักลงทุนฝั่งฮ่องกง สามารถซิ้อบอนด์ของจีนแผ่นดินใหญ่ได้อย่างเป็นทางการที่รู้จักกันในชื่อโครงการ Bond Connect

ความน่าสนใจของหมากจีนเกมนี้ ไม่ใช่แค่เพราะตลาดบอดน์จีน เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ถึง 69 ล้านล้านหยวน (เป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐและญี่ปุ่น) แต่ก้าวนี้เทียบได้กับความพยายามที่จะเปลี่ยนสถานะจาก “เจ้าหนี้” ของโลกมาเป็น “ลูกหนี้”และไม่ช้าก็เร็ว ความเคลื่อนไหวนี้ของจีนจะส่งผลให้ตลาดการเงินทั่วโลกต้องมีการปรับตัวตามอย่างแน่นอน

นี่ไม่ใช่ความพยายามครั้งแรกของจีน แต่รอบนี้มีโอกาสสำเร็จด้วยหลายเหตุผล

จุดแรก

จีนแสดงให้ทั่วโลกเห็นมากกว่าทุกครั้งถึงความพยายามที่จะเปิดเสรีการเงิน มองย้อนกลับไปในอดีต จีนอนุญาติให้นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อบอนด์ได้ในวงจำกัดตั้งแต่ปี 2011 แต่ในความจริงการซื้อบอนด์ในจีนแผ่นดินใหญ่เป็นเรื่องที่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนแบบราชการจีน ส่งผลให้สัดส่วนนักลงทุนต่างชาติเป็นเพียง 1% ของตลาดซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศเอเชียอื่น (สัดส่วนต่างชาติ 10-30%) การไม่ไปเสียเวลาปรับขั้นตอน แต่เลือกใช้ตลาดฮ่องกงที่มีความพร้อมอยู่แล้ว ถือเป็นแนวทางที่เป็นสากล รวดเร็ว และชัดเจนมาก

เรื่องที่สอง

ผลตอบแทนของบอนด์จีนสูงเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจและภาพรวมความเสี่ยง นอกจากพันธบัตรรัฐบาลจีนจะให้ยีลด์สูงถึง 3.5% แล้ว จีนยังเป็นไม่กี่ตลาดในโลกที่เส้นผลตอบแทนแบนมาก (flat yield curve) ส่งผลให้นักลงทุนสามารถเก็บยีลด์ได้โดยไม่ต้องรับความเสี่ยงดูเรชั่น และถ้าสามารถรับความเสี่ยงที่สูงกว่าภาครัฐได้ บริษัทเรทติ้งดีต่าง ๆ ในจีนที่ก็พร้อมที่จะจ่ายยีลด์ 5-7% ได้เพราะเศรษฐกิจเติบโตสูง ทำให้ตลาดจีนดูดีกว่าหลายตลาด

จุดที่สาม

การที่ทางการจีนเข้ามาดูแลตลาดการเงินรอบนี้ส่งผลให้นักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้น ไม่ใช่แค่ดูแลให้ค่าเงินหยวนเคลื่อนไหวตามตลาด (แข็งค่า) ในปีนี้ แต่ยังเข้ามาจัดการกับปัญหา Shadow banking เหมือนเป็นการบอกทางอ้อมว่า ทางการจีนเลือกตลาดการเงินที่เติบโตอย่างยั่งยืนมากกว่าตลาดที่เปราะบางจากการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น

นองจากนี้ เรายังเห็นว่านักลงทุนหันมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ล่าสุด EPFR รายงานว่ามีเงินลงทุนสุทธิไหลเข้าบอนด์ตลาดเกิดใหม่ถึง 1.2 หมื่นล้านเหรียญในช่วงต้นปีสูงกว่าทั้งปีที่ไปแล้ว เป็นการยืนยันว่าช่วงเวลานี้ เป็นเวลาที่ค่อนข้างเหมาะสมในการเปิดตลาด และคงมีนักลงทุนที่รอการเปิดตลาดของจีนอยู่ไม่น้อย

มาถึงตรงนี้ นอกจากความน่าสนใจในฐานะนักลงทุนแล้ว ผมมองว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ของจีนจะค่อย ๆ กดดันและทำให้การเคลื่อนย้ายของเงินทุนทั่วโลกเปลี่ยนไปในไม่ช้า

แม้ตอนนี้เราอาจยังไม่เห็นตลาดเคลื่อนไหวมากนัก แต่ใน 1-2 ปีข้างหน้าตลาดบอนด์เอเชียที่ความเสี่ยงไม่ต่างกับจีน จะทยอยได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายของเงินทุนจากที่ผลตอบแทนต่ำไปสูงแน่นอน โดยจะส่งผลให้บอนด์ยีลด์ทั่วเอเชียต้องถูกปรับตามผลตอบแทนของบอนด์จีนในไม่ช้า

และถ้าจีนจะยังจะพัฒนาต่อไปจนเข้าสู่การเปลี่ยนสถานะตัวเองจาก “เจ้าหนี้รายใหญ่” มาเป็น “ลูกหนี้รายใหญ่” ของโลก ก็ต้องตามดูว่าลูกหนี้รายอื่น ๆ ทั้งอเมริกาและยุโรป จะเดินหมากแก้เกมนี้ของจีนอย่างไร เพื่อไม่ให้กระทบกับต้นทุนในประเทศ ขณะที่สภาพคล่องถูกดูดกลับจีนไปเรื่อย ๆ

เรียกว่าเป็นเกมที่เดิมพันกันด้วยเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องตามดูกันยาวแน่นอนครับ

ผลตอบแทนของตราสารหนี้สหรัฐ จีน และไทยตามอายุคงเหลือ
ที่มา: Bloomberg และ KTB Global Markets ก.ค. 60
http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/641887